การเลี้ยงปลาแบบพึ่งตนเองเพิ่อรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม


ตอนนี้หลังจาก ๑ ปี ปลานิลก็ได้ตัวละครึ่งกิโล ปลาตะเพียนก็โตดีทีเดียวเพราะช่วงหลังระบบนิเวศได้พัฒนาดีขึ้นแล้ว

  ในพื้นที่นาของผม ๔ ไร่กว่า ในปีที่ผ่านมา ผมได้ทดลองเลี้ยงปลาหลายๆ ชนิด

  • ด้วยความอยากรู้
  • แต่ไม่ค่อยมีเวลา และ
  • ไม่ต้องการลงทุน
  • จึงปล่อยปลาแบบไม่ให้อาหาร

เพราะผมต้องการใช้ระบบการพึ่งพาตนเองเป็นหลักในการจัดการพื้นที่

ฉะนั้น ถ้าเราต้องไปพึ่งอาหารปลาจากภายนอก

  • ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการจัดการ และ
  • อาจจะทำให้ระบบนิเวศเสีย เนื่องจากอาหารปลาที่เราใส่เข้าไปนั้นจะเป็นตัวทำให้เกิดมลพิษ หรือ
  • ทำให้เกิดการเจริญเติบโตของสัตว์ที่ดูแลตัวเองไม่ได้ เช่นปลาบางชนิดที่กินอาหารเม็ด เป็นต้น

ถ้าเราไม่ให้อาหาร แต่เราอาจจะปรับปรุงระบบนิเวศบ้างเป็นบางเรื่อง ผมคิดว่าน่าจะเป็นวิธีการที่ดีกว่า ในการที่จะพัฒนาการพึ่งตนเอง

ฉะนั้น ผมจึงปล่อยปลาทั้งหมดยี่สิบกว่าชนิดจนผมจำไม่ได้ โดยการไปคุยกับสิษยืที่จบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านการประมงหลายปีมาแล้ว ผมไปปรึกษาเขาว่าจะเลี้ยงปลาอะไรดี ที่ไม่ต้องให้อาหารเขาก็ให้ปลามายี่สิบกว่าชนิด เท่าที่จำได้ก็มี ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลาจีน ปลาที่ปล่อยเป็นหลัก ก็คือปลาเปคูแดง (หรือปลาจาระเม็ดน้ำจืด) ปลาดุก

นอกจากนั้นยังมีปลาที่มาอยู่เองตามธรรมชาติอีก คือ ปลาช่อน ปลาหมอ ปลากระดี่ ปลาหลด เหล่านี้เป็นปลาที่อยู่ตามธรรมชาติซึ่งมีอยู่มากมายรวมทั้งปลาซิวด้วย ทำให้ระบบนิเวศตรงนี้มันพัฒนาตัวเองขึ้นมา

เท่าที่สังเกตดู ถ้าเลี้ยงแบบให้อาหารในช่วงแรกปลาจะโตช้า  แต่ผมก็ไม่ได้กังวลอะไร เพราะต้องการพัฒนาระบบนิเวศที่ตรงนี้ ซึ่งเจ้าของเดิมเค้าทำนาแบบระบบเคมี โดยใช้สารเคมี หรือใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก

ผมคิดว่าจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อยหนึ่งปี แต่พอทำจริงๆแล้ว ไม่ถึงปี ประมาณห้าหกเดือน ระบบนิเวศก็เริ่มฟื้นตัว

คำว่า ฟื้นตัว แปลว่า ผมเริ่มเห็นการเจริญเติบโตของทั้งปลาและพืชต่างๆอย่างสมบูรณ์ทั้งๆที่ไม่ได้ใช้สารเคมีหรือให้อาหารจากภายนอกเลย

ผมจะคอยสังเกตว่า ปลาชนิดไหนโตเร็วบ้าง ก็พบว่า ปลาที่โตได้เร็วดือปลาดุก และปลาเปคูแดง (หรือปลาจาระเม็ดน้ำจืด) พวกปลานิล ปลาไนจะโตค่อนข้างช้าในช่วงแรก  แต่ตอนหลังก็โตไวขึ้นมานะครับ

ตอนนี้หลังจาก ๑ ปี ปลานิลก็ได้ตัวละครึ่งกิโล ปลาตะเพียนก็โตดีทีเดียวเพราะช่วงหลังระบบนิเวศได้พัฒนาดีขึ้นแล้ว

เวลาหนึ่งปีผ่านไป ผมพบว่า

  • ปลาที่โตเร็วที่สุดคือ ปลาเปคูแดง 
  • อันดับสองคือปลาดุก
  • อันดับสามก็คือปลาจีน

สำหรับปลากินพืชค่อนข้างจะโตช้า อาจเป็นเพราะว่าพืชในแปลงนาผมมีไม่มากนัก เช่นปลาเฉา ปลากระโห้ ปลานิล ปลาตะเพียน 

ฉะนั้น ผมจึงได้ข้อสรุปว่า

  • การรักษาระบบนิเวศที่ดีนั้น จะต้องปล่อยปลาไปตามธรรมชาติ และดูแลให้เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด และ
  • ระบบธรรมชาติจะควบคุมกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาช่อน จะกินปลาเล็กๆ อื่นๆ ที่มีมากเกินไป
  • ปลาเปคูแดง หรือปลาจาระเม็ดน้ำจืดจะกินหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นศัตรูของข้าวหรือปัญหาในนาข้าว เวลาเราเดินอาจจะเหยียบบาดเท้าเป็นแผลได้
  • ปลาจาระเม็ดน้ำจืดจะเป็นควบคุมประชากรหอยเชอรี่ได้เป็นอย่างดี
  • ปลาดุกคาดว่าน่าจะกินสัตว์อื่นๆ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่ในระบบนิเวศหรือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ผมไม่แน่ใจว่ามันกินอะไร แต่ตัวมันโตมากเลยครับ

เพราะฉะนั้นปลาที่โตดีขนาดนี้ โดยไม่ให้อาหารเลยนั้น ก็จะมี

  • ปลาจาระเม็ดน้ำจืด
  • ปลาดุก
  • ปลาช่อน
  • ปลาจีน
  • และตามมาด้วยปลาตะเพียน ปลานิล
  • ส่วนปลาอื่นๆ ก็ไม่ค่อยเห็น รวมทั้งปลาบึกที่ผมปล่อยๆไปประมาณ 5 ตัว ผมไม่แน่ใจว่ามันยังอยู่หรือเปล่า
  • ปลาช่อนจะโตดีมากเลย ปลาหมอก็โตดี ปลากระดี่ก็เต็มไปหมด

นี่ก็คือ การจัดระบบนิเวศการเลี้ยงปลาตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องให้อาหาร โดยการพึ่งตนเอง รักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

สำหรับคนที่อยากจะปฎิบัติตามก็เชิญได้นะครับ

ถ้ามีอะไรจะหารือหรือแลกเปลี่ยนขอขอบคุณล่วงหน้านะครับขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 116623เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์

กราบขอบพระคุณมากๆ เลยครับ เห็นแล้วชอบมากครับ เพราะจินตนาการที่นาพร้อมบ่อปลาของอาจารย์ ที่เชื่อมต่อกัน สุดยอดแล้วครับผม เลี้ยงให้เค้าอยู่ร่วมกันครับ เค้าจะปรับตัวกันเอง และจะแข็งแรง จะมีการเกื้อกูลกันแบบกินกันเองบ้าง เป็นเรื่องธรรมดานะครับ

ครบระบบตามห่วงโซ่อาหาร ระบบนิเวศน์ที่เอื้ออำนวย ทำให้ผมนึกถึงบ่อที่บ้านก็เหมือนกันครับ มีสระเล็กๆ ที่มีปลาไหลและหอยโข่งด้วยครับ ผักกระเฉดและหลายๆ อย่าง ปลาที่โตเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องให้อะไรกิน เวลาจับได้ก็ตัวโตๆ อ้วนพีทุกตัวครับ หอยโข่งก็จับได้ง่ายๆ ด้วยการแช่ต้นกิ่งมะละกอลงไป พวกเค้าก็มากินกันเต็มเลยครับ ลองเอากิ่งมะละกอไปชวนหอยเชอรี่ไม่ทราบว่าจะได้ไหมครับ แต่หอยโข่งนี่มาแน่นอนครับ คาถาเรียกหอยครับ

ผมชอบปลาไหล ผมว่าเค้าเป็นเหมือนตัวพรวนดินใต้พื้นสระน้ำ บ่อปลาเลยนะครับ

ขอบคุณมากครับ

  • ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่ได้ทำให้ดูและนำผลมาแลกเปลี่ยน
  • ในอดีตระบบนิเวศน์ก็คงจะควบคุม-จำกัดให้มีความสมดุลย์อย่างเป็นธรรมชาติในแนวทางที่อาจารย์กำลังทำอยู่นี้นะครับ
  • เพลงในอดีตที่ผมเคยได้ยินตอนเป็นเด็กที่ว่า "เมืองไทยเรานี้ มีดีหนักหนา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" เดี๋ยวนี้ไม่เป็นเช่นนั้นเสียแล้วนะครับ
  • จะติดตามอ่านบันทึกของอาจารย์ต่อไปนะครับ

สวัสดีครับ

ขอบคุณมากครับ พอดีเหมือนว่าระบบมีปัญหา ต้องใส่ข้อความเข้าไปหนึ่งข้อความและจะอ่านอีกความเห็นได้ครับ

รบกวนอาจารย์ลบความเห็นนี้ทิ้งได้นะครับ

ขอบคุณมากครับ

อาจารย์ครับ

  • กลับมาจากบ้านครูบาเลยแวะกลับบ้าน
  • ตกใจมากที่เห็นน้ำในโอ่งใหญ่มันขุน
  • ชะโงกดูอีกทีปรากฎว่ามีปลาดุกวันละอ่อนอยู่
  • แม่บอกเกษตรเขาเอามาแจกและให้เลี้ยงแบบก่ออ่างปูน แม่ไม่มีปัญญาสรางจึงสละโอ่งนำกินหนึ่งใบ
  • มันเลี้ยงได้ผลจริงหรือครับ คุ้มค่าไหมครับ
  • ผมกลัวแม่เสียโอ่งน้ำกินไปนะครับ
  • จากการสังเกตุที่มหาชีวาลัยอีสาน  บ่อซีเมนต์ของท่านครูบาฯ  เกิดน้ำเน่าเสีย  จากอาหารเม็ด  ใบใผ่ที่ร่วงลงไปทับถม ไม่ย่อยสลายเพราะพื้นเป็นซีเมนต์ใช่ไหมครับท่าน
  • ปลาที่ใจเสาะที่สุดคือปลาจาระเม็ดน้ำจืด  แล้วก็ปลาทับทิมแดง  ปลาบึก  ปลาดุก  ตามลำดับ
  • ส่วนปลาที่ทนต่อสภาพน้ำเสียได้ดีคือ ปลานิลครับ  ขนาดหลุดออกไปนอกบ่อนอนดิ้นกะแด่วๆ  ผมจับโยนใส่บ่อ ว่ายน้ำปร๋อเลยครับ

 

 

สวัสดีค่ะ อาจารญ ดร.แสวง รวยสูงเนิน

  • ขอเรียนถามค่ะว่า...จริงไหม ? หากเราเลี้ยงปลาช่อนรวมกับปลาชนิดอื่น   ปลาช่อนจะกินปลาด้วยกัน
  • ที่นาของแม่เข้า โครงการไร่นาสวนผสม เลี้ยงปลานิล เป็นส่วนใหญ่...  ส่วนปลาช่อน ไม่ได้ปล่อยเลี้ยงแต่ก็ยังพบ  จึงไม่แน่ใจว่า ปลาช่อนกินปลาด้วยกันจริงหรือไม่
  • ตอนนี้เลี้ยงแบบธรรมชาติค่ะ บางวันจะมีรำไปโปรยให้
  • ขอบคุณค่ะอาจารย์

เรียน พันธมิตร

การเลี้ยงปลามีหลายวัตถุประสงค์

ถ้าเน้นผลผลิตสูงสุด ก็อาจกระทบทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ถ้าเน้นความยั่งยืน ผลผลิตจะลกลงมา แต่ผลตอบแทนอาจไม่ลด เพราะทุนต่ำ หรือลงทุนน้อย ที่ได้เป็นกำไร

ยิ่งลงทุนมากยิ่งเสี่ยงมาก แต่ก็อาจได้มาก ถ้าโชคดี

แต่ผมไม่ชอบเสี่ยง

เลยทำแบบทุนทำ ค่อยเป็นค่อยไป ทำไป เรียนไป ปรับไป

ปลาช่อน คือตัวคุมสูงสุดในระบบแหล่งน้ำ จะขาดเขาไม่ได้ แม้จะพยายามอย่างไรเขาก็จะมา

ปลาซิว เป็นตัวต่ำสุด จะขาดเขาไม่ได้เช่นกัน อย่างไรเขาก็มา

ทีนี้ตรงกลางเราจะเติมอะไร ทำไม เพื่ออะไร

นี่คือการจัดการความรู้ของผม

  • ที่ดีที่สุดเราต้องหนุนช่วยโครงสร้างประชากรปลาให้ได้สมดุล จึงจะรักษาระบบนิเวศน์ได้
  • สมดุลยปรับด้วย
  • ชนิด
  • ประชากร
  • อาหารที่มี หรือที่ให้ และ
  • ปริมาณน้ำ
  • ต้องลองครับจึงจะตอบได้
  • ตอนนี้ผมมีแค่แนวคิด กับผลเยื้องต้น
  • แต่จะรายงานเป็นระยะๆ ครับ

ขอขอบคุณที่สนใจ

 

คุณออดครับ

ปลาดุกในบ่อดูแลตัวเองไม่ได้ เราต้องเลี้ยงเหมือนลูกอ่อเลยครับ

ถ้าสะดวก ก็เชิญตามสบาย

นั้นดิครับอาจารย์

  • ไม่เข้าใจแนวคิดของเกษตรอำเภอสักเท่าไร
  • งง การส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรของเขาจัง
  • แต่คงต้องปล่อยให้แม่เรียนรู้ครับ ห้ามคงไม่ได้

 

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ผมเป็นข้าราชการครูสนใจการเลี้ยงปลามากอยากให้อาจารย์กรุณาชาวยแนะว่าควรเลี้ยงปลาอะไรดีที่ลงทุนน้อยใช้เวลาน้อยได้กำไรดี เลี้ยงในบ่อดิน

ต้องลองดูทุกอย่างแล้วจะรู้เองครับ

ผมไม่ทราบว่าในระบบของท่าน ท่านมีอะไรให้เป็นอาหารปลา

ปลาต้องกินอาหารจึงจะโต

มีอะไรก็เลี้ยงอย่างนั้น

จะไม่มีต้นทุนมาก แต่มีกำไรดี

อย่าลืมครับ

ไม่มีของฟรีในโลก จึงต้องค้นหาแล้วจะพบครับ ว่าทุนที่มีอยู่แล้วคืออะไร

ง่ายที่สุดคือ ลองทุกอย่าง อย่างที่ผมทำ

อะไรโต เราก็จะรู้ได้เลย ไม่ต้องไปคิดค้นมาก ให้เสียเวลา

ลองดูนะครับ

เรียนท่าน ดร. ครับ ตอนนี้ผมกำลังเลี้ยงปลา สวาย และปลาจาระเม็ดซึ่งตอนนี้ผมประสบปัญหาเรื่องการตายของปลาสวายครับ ผมอยากทราบว่าปลาจาระเม็ด จะกินปลาสวายหรือเปล่าครับ ตัวรุ่นราวคราวเดียวกันครับ และอีกเรื่อง ปลาจาระเม็ดกินอาหารอะไรบ้างครับ

ถ้าปลาตายต้องกลับไปดูน้ำครับ

กินกันก็หมด ไม่เห็นหรอกครับ

ปลาจารเม็ดน้ำจืดกินทุกอย่าง ทั้งพืชและสัตว์

ผมเลี้ยงไว้กินหอยเชอรรี่ครับ

ผมมีบ่อธรรมชาติและมีการกักน้ำไว้นานมากกว่า20ปีแล้วไม่ทราบว่าจะปล่อยปลาเปคูแดงได้ไหมครับ

น่าจะได้ครับ ปลาชนิดนี้ทนทุกสภาพแวดล้อม กินอาหารทุกประเภท ที่สำคัญช่วยกินหอยเชอรี่ได้ดีมากครับ

ผมมีบ่อขนาด1ไร่ มีปลาดุกกับสวายอยู่นิดหน่อยแต่พึ่งลงลูกปลาเปคูไป2หมื่นตัวได้3สัปดาห์แล้วตั้งความหวังว่าจะใช้เวลา4เดือนให้ปลาได้ นน.ครึ่ง กก. จะมีความเป็นไปได้ไหมครับ ตอนนี้ขนาดเท่ากล่องไม้ขีด เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดปลาดุก แล้วก็เศษขนมปัง เช้าเย็นวันละ10กก. ขอความกรุณาช่วยตอบด้วยน่ะครับ ขอบคุณมากครับ

ทุกอย่างมีที่มาครับ

อาหารที่ท่านให้จะกลายเป็นเนื้อปลาประมาณครึ่งหนี่ง ที่เหลือเป็นพลังงานที่ปลาใช้

ลองคำนวณเป็นรายวันได้เลยครับ ว่า ๔ เดือนจะได้ปลาหนักเท่าไหร่ และถ้าปลารอดหมด ก็เอาจำนวนตัวไปหาร ก็จะได้ขนาดปลาแต่ละตัว

ก็จะได้คำตอบคร่าวๆ ครับ

การเลี้ยงด้วยระบบธรรมชาติจะคิดยากกว่าครับ แต่ถ้าเคยเรียนวิทยาศาสตร์มาบ้างก็พอจะคำนวณได้เช่นกันครับ

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ ขออีก1คำถามสุดท้ายครับว่าความหนาแน่นของจำนวนปลา2หมื่นตัวกับพื้นที่1ไร่ น้ำลึกเฉลี่ย2เมตร เป็นอย่างไรบ้างครับ

ถือว่าหนาแน่นมากครับ ประมาณ ๗ ตัว ต่อลูกบาศก์เมตร ระบบนี้ไม่มีระบบนิเวศ มีแต่ที่ที่ว่ายน้ำ ถ้าจัดระบบไม่ดี มีโอกาสน้ำเสียได้โดยง่ายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท