อย่าเสียเพื่อน เพราะ "หูเบา" ... (บทกวีอารมณ์คิดไตร่ตรอง)


 

อย่าเสียเพื่อน เพราะ "หูเบา"

 

 

...

เกิดเป็นคน ควรทำตน ให้หูหนัก
คำพูดสลัก อักษร ดูอ่อนหวาน
แน่ใจหรือ ว่าเชื่อได้ คิดให้นาน
อย่าเสียกาล เวลา ผ่านพาไป

จะเสียมิตร ง่ายง่าย เพราะหูเบา
ปัญญาเขลา ไร้เหตุผล หลงกลได้
คนบางคน ภาพลักษณ์ ดีกว่าใคร
แต่หัวใจ ต่ำเตี้ย ระเรี่ยดิน

พุทธองค์ ทรงสอน แต่ก่อนมา
อันวาจา ควรค่า พิสูจน์สิ้น
ฟังคำพูด บางอย่าง สร้างราคิน
ให้เกาะกิน หัวใจ ทำลายกัน

หน้าตาดี ไม่ได้บอก เป็นคนดี
จิตใจนี้ อาจโสมม ดูผกผัน
ถึงเรียนสูง ไม่ควรเชื่อ ในฉับพลัน
พิสูจน์กัน ให้มัน รู้กันไป

เคยสัมผัส หัวใจเขา แล้วจริงหรือ
ถึงได้ถือ โอกาส สาดโคลนใส่
ยัดเยียด ความสกปรก สาดเข้าไป
ด้วยจงใจ จากอีกคน เท่านั้นเอง

เป็นเครื่องมือ ให้เขา คือทำบาป
จะถูกสาป กับเขา เท่าข่มเหง
ตกนรก หมกไหม้ ไร้หวั่นเกรง
ใจทุกข์เอง ไม่มีใคร ช่วยได้เลย

...

 

 

 

บ้านปลายดง แห่ง หางดอย

ณ เชียงใหม่

๓ ตุลาคม ๒๕๕๔

๐๐.๓๔ น.

 

 

......................................................................................................................................................................

อารมณ์คิดไตร่ตรอง ...

 

โลกทุกวันนี้ นอกจากเราคบกันแบบตัวเป็น ๆ มองเห็นกันทุกวัน

เรายังไม่สามารถไปรู้จักใครคนนั้นได้อย่างจริงจังและจริงใจเลย

แต่คนเรามักจะเลือกไป "ตัดสิน" คนอื่นเพียงแค่เชื่อจากคนอื่น อื่น อื่น มา

ทั้งอาจจะไม่เป็นความจริงใด ๆ เลยก็ได้

 

เมื่อโลกวิ่งเข้าสู่ระบบไม่พบตัวเป็น ๆ กันในโลกออนไลน์

ก็มีหลายคนที่ได้ "ตัดสิน" ประหารชีวิตคนที่ตนเองไม่รู้จักเขาจริง ๆ ไปแล้ว

ใส่ร้าย ป้ายสี ตีไข่ สารพัด เนื่องจากสิ่งที่ตนเองคิดว่า ไม่ชอบ และเชื่อว่า

เขาเป็นตามที่ตัวเองคิดอยู่คนเดียว

 

บางที ... การเสียเพื่อนสักคน เป็นเรื่องง่ายเหลือเกินในสังคมยุคใหม่นี้

ดั่งเช่น ยุคออนไลน์ Social Networking ... กลิ้งไปไหนก็ไม่ทราบ ;)...

 

พระพุทธองค์ท่านทรงสอนชัดเจนอยู่แล้วว่า

"อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เห็น" หากจะเชื่อ ต้องมีการพิสูจน์ความจริงนั้นก่อน เมื่อจริง แล้วจึงเชื่อ ก็ยังไม่สายเกินกาล

 

บุญรักษา ครับ ;)

 

......................................................................................................................................................................

 

หมายเลขบันทึก: 463530เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2011 00:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

"อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เห็น"... เป็นจริงหนอ      ควรรั้งรอพิจารณาว่าจริงไหม

รายละเอียดค้นหาว่าอย่างไร                       พิสูจน์ได้กลั่นกรองตรองให้ดี 

เมื่อวานเดินเข้าร้านจำหน่ายสินค้าแห่งหนึ่งในระหว่างถนนที่ทอดตัวกลับบ้าน.
พบวาทกรรมที่คุ้นตา คุ้นหูโปรยอยู่ที่ปกซีดีหนังเรื่องหนึ่ง...ว่า

"จริงหรือ
รักแท้เกิดได้มากกว่าหนึ่งครั้ง..."

ผมสะดุ้งเลย
ตายเลย...
ไม่มีใครลอกใคร  คิดพ้องกันได้
แต่ผมเขียนและเผยแพร่วาทกรรมนั้นมาร่วมปีแล้ว...

555

เหวอ..อนาคตในภาพนะ...:-)

ขอบคุณที่เตือนสติคะ

บ่อยครั้ง ตัดสินว่าเขาเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้

จากการอ่านที่ โพสต์ไว้ครั้งเดียว

ที่จริงการแยกแยะ "กริยา" ออกจาก " ประธาน" บ้าง ทำให้ใจเราสบายขึ้น

ความมหัศจรรย์ของความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เลยนะครับ คุณ แผ่นดิน ;)...

สบายดีอยู่นะครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

ไม่ทราบจะหาภาพไหนมาใส่ให้พ้องกับเรื่องราวน่ะครับ คุณหมอบางเวลา ป. กุ้งเผา ;)...

เลยเอาภาพ "ตุ๊กตาประเมินผลการเรียน" ของนักศึกษามาใช้ครับ

เรื่อง การ "ตัดสิน" ใครสักคนที่ไม่เคยพบพาน เป็นเรื่องง่ายเหลือเกินจริง ๆ ด้วยครับ ดังนั้น หากยังไม่เข้าใจ ไม่แน่ใจ ไม่ได้สัมผัส อย่าทำบาปเท่านั้นเองครับ ;)...

ขอบคุณมากครับ ;)...

  • ค้นพบช้าไปว่า "อาจารย์ Wasawat Deemarn" เป็น "คนเจ้าบทเจ้ากลอน" คนหนึ่ง ไม่งั้นคงได้นำไปยกตัวอย่างตอนที่นักศึกษาถามถึงลักษณะของคนเจ้าบทเจ้ากลอน ในกิจกรรมการตรวจสอบว่า ตนเองเป็นคนที่มีบุคลิกภาพสอดคล้องกับกลุ่มใด ใน 6 กลุ่มตามทฤษฎีของ John L. Holland ที่แบ่งกลุ่มอาชีพเป็น 6 กลุ่มตามบุคลิกภาพของผู้ประกอบอาชีพ ได้แก่ 1) Artistic 2) Conventional 3) Enterprising 4) Investigative 5) Realistic และ 6) Social จึงได้ยกตัวอย่างวาทกรรมท้ายรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ข้างหน้า แถวลาดกระบังครั้งที่ขับรถไปเยี่ยมลูก ความว่า "ดีใจจัง คันหลังก็ลาว" ...ทึ่ง...รู้ได้อย่างไร ว่าคันหลังก็ลาว (คนกทม.จะเรียกคนอีสานว่าเป็นคนลาว ซึ่งตนเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าคำนั้นแสดงถึงการดูแคลนแต่อย่างไร)
  • อ่านบันทึกนี้ทำให้นึกถึงความเชื่อตาม "หลักกาลามสูตร" ในทางพุทธศาสนา ที่ได้ใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้เรื่อง "การคิดอย่างมีวิจารณญาณ : Critical Thinking" ในรายวิชา "การพัฒนาทักษะการคิด" ค่ะ 
  • และคิดถึงเรื่องเล่าที่ว่า สาเหตุที่ผู้หญิงต้องใส่ต่างหู ก็เพื่อให้เป็นคนหูหนัก เพราะผู้หญิงมักจะหูเบาเชื่อคนง่ายมากกว่าผู้ชาย (จริงๆ แล้วการที่ผู้หญิงเชื่อคนง่ายกว่าผู้ชาย เกิดจากผู้หญิงใช้สมองซีกขวาซึ่งเป็นซีกที่มีบทบาทด้านอารมณ์มากกว่าซีกซ้ายซึ่งเป็นซีกที่มีบทบาทด้านเหตุผล การหลอกโดยวิธีทำตัวให้น่าสงสาร จึงทำให้ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อได้ง่ายกว่าผู้ชายที่จะใช้สมองซีกขวาในการพิจารณาสิ่งต่างๆ มากกว่า)
  • ปิดท้ายด้วยรบกวนช้วยแก้ "ยัดเหยียด" ในกลอนบทที่ 5 บาทที่ 3 เป็น "ยัดเยียด" ด้วยนะคะ (เป็นข้อชี้แนะตามบทบาทของสมองซีกซ้ายที่ใช้ในการรับรู้/เรียนรู้ด้านภาษา ค่ะ)

ท่านอาจารย์ ผศ. วิไล แพงศรี ครับ ... แบบฝึกหัดน่ะครับ ลองฝึกเขียนดูเฉย ๆ ;)...

ชอบกระบวนการที่อาจารย์ได้วิเคราะห์บันทึกนี้มากเลยครับ

หลัก "กาลามสูตร" ตรงอย่างที่อาจารย์บอกเลยครับ พระพุทธองค์ให้สอนความเป็นจริงที่สุดแล้วครับ แต่เราอาจจะหลงลืม

ขอบคุณความคิดเห็นของอาจารย์ครับ มีค่ามาก ๆ

ป.ล. แก้ไขคำที่ผิดเรียบร้อยแล้วครับ ;)...

สวัสดีค่ะอาจารย์

กลอนเพราะมากค่ะ ชื่นชมค่ะ

ไม่ตัดสิน แต่ยินดี ที่คบเขา

ไม่หูเบา จะเชื่อใคร ไตร่ตรองก่อน

เคารพ เห็นค่า เอื้ออาทร

ขอบคุณกลอน ดีดี ที่แบ่งปัน ...ค่ะ

คุณ ถาวร ก็แต่งกลอนเพราะใช่เล่นเลยนะครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

หากคุณรักใครสักคนจนล้นอก

คำโกหกของคนอื่นสักหมื่นแสน

ไม่อาจทำให้รักนั้นคลอนแคลน

เพียงหนักแน่นเท่านั้นรักมั่นคง

ขอบคุณ คุณยาย มนัสดา มาก ๆ เลยครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท