Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบอาจารย์อารดาเรื่องสัญชาติไทยของหญิงเชื้อชาติจีนที่เกิดในประเทศไทยและของบุตรที่เกิดนอกประเทศไทย


หากต้องการคำตอบที่ชัดเจนในประเด็นนี้ อ.อารดาจะต้องไปสืบข้อเท็จจริงให้ได้ว่า บิดาและมารดาของนาง ก. มีสัญชาติอะไร ? และหากเป็นคนต่างด้าว พวกเขาเข้าเมืองมาเมื่อไหร่ ? และมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวรหรือไม่ ? เราจะพิจารณาได้จากเอกสารการเข้าเมืองที่บุคคลถืออยู่ อาทิ หากถือใบถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ก็ถือว่า มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวร

มักมีคนอีเมลล์มาถามปัญหากฎหมายสัญชาติ ในอาทิตย์นี้ อ.อารดาอีเมลล์มาถามปัญหากฎหมายสัญชาติ ซึ่ง อ.แหววเห็นว่า รูปแบบของปัญหาน่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ จึงเอาคำตอบมาบันทึกในโกทูโนให้ได้อ่านกัน ดังนี้

"เรียน อาจารย์แหววที่เคารพรัก หนูมีเรื่องรบกวนถามอาจารย์ค่ะ  ข้อเท็จจริงมีว่า นาง ก. เป็นคนจีน เกิดในไทยเมื่อ ปี ๒๔๙๗ หลังจากนั้นได้ไปอยู่เมืองจีนตั้งแต่ยังเด็ก(ไม่ทราบว่าอายุเท่าไหร่) และได้แต่งงานกับชาวจีนมีบุตร คือ นาย เอ

นายเอ เกิดเมื่อ ปี ๒๕๒๒  ต่อนายเอเข้ามาอยู่เมืองไทยและสมรสกับหญิงไทยเมื่อปี ๒๕๔๕  ปัจจุบัน ได้หย่าขาดจากหญิงไทยแล้วเมื่อปี ๒๕๕๐ หากนายเอประสงค์จะได้สัญชาติไทยจะต้องดำเนินการอย่างไรคะ

ขอความกรุณาอาจารย์ด้วยนะคะ...หนูเข้าใจว่า นาง ก. ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด(หลักดินแดน) พ.ร.บ.สัญชาติ ๒๔๙๕ นาย เอ เกิดนอกราชอาณาจักรโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ได้สัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.แก้ไข ๒๕๓๕ ม.๗(๑) ประกอบมาตรา ๑๐ ....แต่ไม่ทราบว่าจะถูกหรือเปล่าเพราะลืมๆ ไปหมดแล้ว ไม่ค่อยแน่ใจค่ะ และการร้องขอสัญชาติเราต้องดำเนินการอย่างไรบ้างคะ  หรือว่าหนูสามารถศึกษาได้ที่ไหนคะ...รบกวนเวลาอาจารย์เพียงเท่านี้ค่ะ    

                                             ด้วยความเคารพรักอย่างยิ่ง

                                                          อารดา"

 ในประการแรก จะต้องพิจารณาก่อนว่า นางก.ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ?

จะเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่จะทำให้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนในยุค พ.ศ.๒๔๙๗ นั้น  ก็คือ (๑) บุคคลต้องเกิดในไทย และ (๒) มารดามีสัญชาติไทย

แต่ในข้อเท็จจริงที่ให้มา ไม่ปรากฏสัญชาติของมารดา จึงขอตอบเป็น ๒ ทาง หากมารดาเป็นคนสัญชาติไทย นาง ก.ก็จะมีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๙๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๙๖

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่านาง ก.จะมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ นาง ก.ย่อมจะได้สัญชาติไทยในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๐ โดยผลของมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมารดามิใช่คนไทยในระหว่างใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๖ ย่อมได้สัญชาติไทย" กล่าวคือ กฎหมายใน พ.ศ.๒๔๙๙ หันกลับมายอมรับที่จะให้สัญชาติแก่คนที่เกิดในประเทศไทยในช่วงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๖ ถึงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๐ ทั้งที่ไม่มีมารดาเป็นคนสัญชาติไทย กล่าวคือ เป็นบุตรของบิดาและมารดาที่เป็นคนต่างด้าว

ประเด็นที่สองที่จะต้องพิจารณา ก็คือ นาง ก.เสียสัญชาติไทยที่ได้มาแล้วยัง ? และเมื่อใด ?

จะต้องตระหนักว่า คนที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ จะเสียสัญชาติไทยหากมีข้อเท็จจริงตามที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ กำหนด กล่าวคือ (๑) เกิดในประเทศไทย และ(๒) บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองในลักษณะชั่วคราว หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย มารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองในลักษณะชั่วคราว

จะเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ให้มาไม่เพียงพอ จึงต้องตั้งสมมติฐานอีกครั้ง หากนาง ก.มีข้อเท็จจริงดังที่กำหนดใน ปว.๓๓๗ นาง ก. ก็ย่อมเสียสัญชาติไทย หรือหานาง ก.ไม่มีข้อเท็จจริงดังกล่าว นาง ก.ก็ย่อมไม่เสียสัญชาติไทย

หากต้องการคำตอบที่ชัดเจนในประเด็นนี้ อ.อารดาจะต้องไปสืบข้อเท็จจริงให้ได้ว่า บิดาและมารดาของนาง ก. มีสัญชาติอะไร ? และหากเป็นคนต่างด้าว พวกเขาเข้าเมืองมาเมื่อไหร่ ? และมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวรหรือไม่ ? เราจะพิจารณาได้จากเอกสารการเข้าเมืองที่บุคคลถืออยู่ อาทิ หากถือใบถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ก็ถือว่า มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวร

ประเด็นที่สามที่ต้องยกขึ้นมาวินิจฉัย ก็คือ การไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เด็กเป็นเหตุให้เสียสัญชาติไทยหรือไม่ ?

แม้จะฟังว่า นาง ก.ไม่เสียสัญชาติไทย โดยข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ ก็จะต้องมาพิจารณาประเด็นการเสียสัญชาติไทยเพราะไปอยู่ในต่างประเทศมาตั้งแต่เด็ก

จะเห็นว่า โดยหลักกฎหมายสัญชาติไทย การไปอยู่ในต่างประเทศของคนสัญชาติไทยเพราะเกิดในประเทศไทยอาจทำให้รัฐมนตรีมีคำสั่งให้เสียสัญชาติไทย แต่ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่า รัฐมนตรีมีคำสั่งดังกล่าว ก็คงต้องสรุปว่า นาง ก.ยังไม่เสียสัญชาติไทย

ประเด็นที่สี่ เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับสัญชาติของบุตรในขณะเกิด

อ.อารดาให้ข้อเท็จจริงว่า นาง ก.ได้แต่งงานกับชาวจีนในขณะที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน และมีบุตร ๑ คน คือ นาย เอ ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ 

จะเห็นว่า เมื่อบุตรเกิดจากบิดาสัญชาติจีน และเกิดในประเทศไทย หากมีการแจ้งเกิดบุตรในทะเบียนราษฎรจีน บุตรผู้นี้ก็ย่อมได้รับรองให้มีสถานะบุคคลเป็น "คนสัญชาติจีนโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและโดยหลักดินแดน"

ขอให้ตระหนักว่า หากฟังว่า นาง ก.เสียสัญชาติไทยแล้วโดยข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ก็ไม่มีประเด็นที่จะพิจารณาว่า นายเออาจได้สัญชาติไทยจากมารดา

แต่หากฟังว่า นาง ก.ไม่เสียสัญชาติไทยโดยข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ กรณีจะมีความซับซ้อนมากกว่า คงต้องแยกประเด็นออกเป็น ๒ ประเด็นย่อย กล่าวคือ (๑) ในขณะที่เกิด และ (๒) ภายหลังการเกิด

ในขณะเกิด กล่าวคือ พ.ศ.๒๕๒๒ ไม่อาจวิเคราะห์สถานะบุคคลของนายเอได้อย่างชัดเจน เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่สำคัญตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ สถานภาพการสมรสระหว่างบิดามารดา ซึ่งข้อเท็จจริงมีผลต่อปัญหาการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดจากมารดาสัญชาติไทยของบุคคลที่เกิดก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕

ดังนั้น การวิเคราะห์จึงต้องทำเป็น ๒ ทางตามความเป็นไปได้ของกรณี

ทางแรก ก็คือ หากมีการสมรสตามกฎหมายระหว่างบิดาและมารดา บุตรย่อมไม่มีสัญชาติไทยในขณะที่เกิดเลย แม้จะฟังได้ว่า นาง ก. ไม่เสียสัญชาติไทยโดยผลของ ปว.๓๓๗ ทั้งนี้ เพราะมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ กำหนดให้สัญชาติไทยเฉพาะแต่กับบุตรที่เกิดนอกประเทศไทยของมารดาสัญชาติไทยที่มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนไม่มีสัญชาติหรือที่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย

ทางที่สอง ก็คือ หากไม่มีการสมรสตามกฎหมายระหว่างบิดาและมารดา กรณีก็ยังวิเคราะห์ไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะข้อเท็จจริงที่ให้มา ยังชี้ไม่ได้ว่า นาง ก.ตกอยู่ภายใต้ข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ หรือไม่ ? ในการตอบจึงต้องแยกความเป็นไปได้ออกเป็น ๒ ทางย่อยอีกเช่นกัน

ทางย่อยแรก ก็คือ หากนาง ก. เสียสัญชาติไทยเพราะข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๒ นายเอย่อมไม่อาจมีสัญชาติไทยเลย เพราะเกิดจากมารดาที่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวสำหรับประเทศไทย

ทางย่อยที่สอง ก็คือ หากนาง ก. ไม่เสียสัญชาติไทยเพราะข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๒  ซึ่งในข้อสมมติฐานนี้ เมื่อนาง ก.ยังมีสัญชาติไทยและมิได้สมรสตามกฎหมายกับบิดาของนายเอ นายเอก็จะได้สัญชาติไทยเพราะเกิดในต่างประเทศจากมารดาสัญชาติไทยโดยไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย

ภายหลังการเกิด  โดยเฉพาะในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕  ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่อคืนสัญชาติให้แก่บุตรของมารดาสัญชาติไทยซึ่งอาจไม่มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในประเทศไทยหรือเพราะเกิดในต่างประเทศโดยมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว และกฎหมายนี้กำหนดให้บุตรของมารดาสัญชาติไทยที่เพิ่งได้สัญชาติไทยในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ นี้ มีสถานะเป็น "คนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา"  ซึ่งนายเอย่อมได้รับสัญชาติไทยและสถานภาพคนสัญชาติไทยโดยการเกิดนี้ด้วยหากฟังได้ว่า ใน พ.ศ.๒๕๒๒ นาง ก.ไม่เสียสัญชาติไทยเพราะข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗

จะเห็นว่า ในกรณีที่นาง ก. ยังไม่เสียสัญชาติไทย และได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายกับบิดาของนายเอ นายเอก็จะมีสัญชาติจีนเท่านั้นในขณะที่เกิด แต่เมื่อมีกฎหมายไทยยอมรับให้สัญชาติไทยแก่นายเอในวันที่ ๒๖ ดังกล่าว นายเอก็จะมีสัญชาติไทยอีกด้วย จึงมีสถานะเป็นคนสองสัญชาติ แต่หากบิดาและมารดามิได้

หรือหากในกรณีที่นาง ก. ยังไม่เสียสัญชาติไทย แต่มิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายกับบิดาของนายเอ นายเอก็อาจจะมีสัญชาติจีนโดยหลักดินแดนในขณะที่เกิด และมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยการเกิด ในสมมติฐานนี้ กฎหมายไทยในวันที่ ๒๖ ก็มิได้ส่งดีมากไปกว่าที่มีอยู่แล้ว นายเอเป็นคนสองสัญชาติ กล่าวคือ ไทยและจีนมาตั้งแต่เกิด

ประเด็นที่ห้า การสมรสของนายเอกับหญิงไทยในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕  และหย่าขาดเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ จะมีผลต่อสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ?

คำตอบ ก็คือ ก่อน พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งกำลังรอพระปรมาภิไธยของในหลวงเพื่อจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา การสมรสกับหญิงสัีญชาติไทยไม่เป็นเหตุในการใช้สิทธิร้องขอสัญชาติไทยโดยการสมรส แต่เมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ แล้ว กฎหมายนี้ไปแก้ไขมาตรา ๑๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ เพื่อให้ใช้การสมรสกับหญิงไทยเป็นเหตุในการร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยภายใต้เงื่อนไขพิเศษ

แต่เมื่อนายเอหย่าจากภริยาสัญชาติไทยแล้ว ก็จะไม่อาจใช้สิทธิตามกฎหมายใหม่ได้

ประเด็นที่หก จะทำอย่างไรให้นาง ก. ได้สัญชาติไทย ?

ไม่อาจให้คำตอบได้ชัดเจน เพราะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมารดาไม่เพียงพอที่จะวิเคราะห์สถานะบุคคลของทั้งนาง ก. และนายเอ ดังได้อธิบายข้างต้น

ตอบได้แค่ความเป็นไปได้ทางกฎหมายค่ะ

ในประการแรก หากนาง ก.เสียสัญชาติไทยเพราะข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ แล้ว ความเป็นไปได้ในประการแรกที่นาง ก.จะใช้ได้ ก็คือ การใช้สิทธิของคนที่เกิดในไทยแต่ได้รับผลกระทบของ ปว.๓๓๗ เพื่อกลับคืนสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ หากมีคุณสมบัติครบตามที่มาตรานี้กำหนด ซึ่งมาตราบัญญัติว่า

          "บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทย   แต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๑ และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๒ รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ  วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทยให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

          เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน"

กล่าวโดยสรุป ก็คือ บุคคลเป้าหมายที่จะใช้สิทธิตามมาตรา ๒๓ นี้ ก็คือ (๑) ผู้ได้รับผลกระทบของ ปว.๓๓๗ (๒) อาศัยอยู่จริงในประเทศไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และ (๓) เป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย

          แต่ อ.แหววไม่อาจวิเคราะห์กรณีของนาย ก. ได้ เพราะไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะทางทะเบียนราษฎรของนาง ก. จึงทำได้แค่ให้ความเป็นไปได้ทางกฎหมายเป็น ๒ ทาง กล่าวคือ

           ทางแรก หากนาง ก.อาศัยอยู่จริงในประเทศไทยและมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ตลอดจนมีความประพฤติดี นาง ก.จะได้สัญชาติไทยในวันที่มีการประกาศ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ในราชกิจจานุเบกษา และจะมีสิทธิเพิ่มชื่อใน ท.ร.๑๔ เมื่อพ้นกำหนด ๙๐ วันนับแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา

          ทางที่สอง ในข้อสมมติฐานว่า หากนาง ก. มิได้อาศัยอยู่จริงในประเทศไทย หรือแม้อาศัยอยู่จริง แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร หรือมีความประพฤติไม่ดี ก็คงจะไม่สามารถได้รับสิทธิในสัญชาติไทยอันนี้ได้

ในประการที่สอง หากนาง ก.เสียสัญชาติไทยเพราะข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ แล้ว และไม่อาจใช้สิทธิตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ความเป็นไปได้ที่เหลือ ก็คือ การร้องขอสัญชาติไทยโดยใช้สิทธิของคนที่เกิดในประเทศไทยจากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนต่างด้าวที่มีการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร ซึ่งวิธีการเป็นไปตาม (๑) มาตรา ๑๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ (๒) มาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ และ (๓) มาตรา ๗ ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑  

ในประการที่สาม หากนาง ก.เสียสัญชาติไทยเพราะข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ แล้ว และไม่อาจใช้สิทธิตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ความเป็นไปได้อีกประการ ก็คือ การร้องขอสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายไทยรับรองให้แก่คนต่างด้าวที่เคยมีสัญชาติไทย ซึ่งวิธีการเป็นไปตาม (๑) ตามมาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ (๒) มาตรา ๑๑ (๓)  แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ และ (๓) มาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

การร้องขอใช้สิทธิของคนต่างด้าวที่เกิดไทยหรือการร้องขอแปลงสัญชาติไทยของคนที่เคยมีสัญชาติไทยย่อมใช้วิธีการที่แตกต่างกัน และนำไปสู่สัญชาติไทยที่มีคุณภาพต่างกัน

ประเด็นที่เจ็ดและเป็นประเด็นสุดท้ายที่จะยกขึ้นพิจารณา ก็คือ จะทำอย่างไรให้นายเอได้สัญชาติไทย ?

ขอยืนยันอีกครั้งว่า ในสมมติฐานที่นาง ก.ไม่เสียสัญชาติไทย เพราะข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ นายเอก็ไม่ต้องร้องขอสัญชาติไทย เพราะอาจได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาในที่สุด ไม่ว่าจะมีการจดทะเบียนสมรสระหว่างบิดาและมารดาหรือไม่  สิ่งที่จะต้องทำ ก็คือ ต้องไปพิสูจน์สัญชาติไทยต่อนายทะเบียนราษฎรในท้องที่ที่นายเอมีภูมิลำเนาอยู่

แต่ในสมมติฐานที่นาง ก.ตกเป็นคนต่างด้าวเพราะเสียสัญชาติไทยเพราะข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ เพื่อที่จะมีสัญชาติไทย นายเอจึงต้องร้องขอสัญชาติไทย

ขอให้ตระหนักว่า แม้นางเอจะได้สัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ด้วยเหตุที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก ปว.๓๓๗ แต่นายเอซึ่งเป็นบุตรและตกเป็นคนต่างด้าวตามมารดา ไม่อาจใช้สิทธิตามมาตรา ๒๓ เพราะนายเอมิได้เกิดในไทย มาตรา ๒๓ เยียวยาสิทธิของคนที่เกิดในไทยและได้รับผลร้ายจาก ปว.๓๓๗ เท่านั้น

มีเพียงความเป็นไปได้เดียวที่นายเอจะได้สัญชาติไทย นั่นก็คือ การร้องขอสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายไทยรับรองให้แก่คนต่างด้าว แต่หากนาง ก.ได้รับอนุญาตให้มีสัญชาติไทยอีกครั้ง นายเอก็จะใช้สิทธิแปลงสัญชาติเป็นไทยภายใต้เงื่อนไขพิเศษได้ ด้วยอ้างเหตุที่เป็น "บุตรของผู้กลับคืนสัญชาติไทย" ซึ่งวิธีการจะเป็นไปตาม (๑) ตามมาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ (๒) มาตรา ๑๑ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘  และ (๒) มาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

โดยสรุปจากข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ มีความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่นาง ก. และนายเอ จะมีสิทธิในสัญชาติไทย ซึ่งอาจจะเป็นสิทธิที่มีอยู่แล้ว หรือเป็นสิทธิที่ต้องร้องขอ

----------------------------------------

ตอบอาจารย์อารดาเรื่องสัญชาติไทยของหญิงเชื้อชาติจีนที่เกิดในประเทศไทยและของบุตรที่เกิดนอกประเทศไทย

โดย รศ.ดร.พันธู์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วันจันทร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑

---------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 167370เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2008 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นคนไทยแต่งงานกับคนจีนถือสองสัญชาติได้ไหมขั้นตอนการขอ และการเตรียมเอกสารอะไรบ้ิางจดทะ้เบียนที่จีนลูกเกิดที่ไทยได้สัญชาติจีนไหมเอกสารที่ต้องเตรียม

อธิบายคำถามใหม่ ชัดๆๆ ซิคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท