ต้นกล้า ๒๐; ในความไม่เข้ากันอะไรคือความเข้ากัน


ครั้งที่๑; ปรากฏการณ์แห่งการทำความรู้จัก

...

หลังจากที่สมาชิกศูนย์ฯ มาเพิ่มอีก ๑๐ คน และกระบวนการปรับชีวิตปรับตัวตามแนวทางของพระอาจารย์ได้ผ่านไปห้าวัน ข้าพเจ้าก็เข้ามาต่อยอดเพิ่มเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของการเยียวยาและฟื้นฟูความชีวิตแห่งคนของเด็กๆ สมาชิกศูนย์ฟื้นฟูยาเสพติด วัดป่าหนองไคร้...ซึ่งข้าพเจ้ามักเรียกกระบวนการนี้ว่า "บ่มเพาะต้นกล้าแห่งอนาคต"

กระบวนการก่อนหน้านี้จะมีสมาชิกเข้ามาก่อน ๖ คน ซึ่งหกคนนี้ถือว่ามาเรียนรู้ปรับตัวปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต วิถีความคิดก่อน จากนั้นเมื่อสมาชิกที่เหลือเข้ามาเพิ่ม หกคนแรกจะทำหน้าที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยงให้กับสมาชิกใหม่ เพราะหากว่าเข้ามาพร้อมกันหมดทั้งเกือบยี่สิบคนนั้น จะเป็นภาระที่หนักมากสำหรับพระอาจารย์พี่เลี้ยงหนึ่งคน การปรับกระบวนการในกลุ่มเล็กๆ จนเขาสามารถประคองตนเองได้ภายใต้ความมี "สติ" และ "ปัญญา" ซึ่งจะวัดผลได้จาก ... วิถีชีวิตประจำวันที่อยู่ในวัดและกระบวนการคิด ตัดสินใจ และการแก้ปัญหาพอได้นั้น ถือว่าใช้ได้ ซึ่งย่างเข้าสามปีนี้ที่ข้าพเจ้าได้คลุกคลีด้วยในงานนี้พบว่า ประมาณไม่เกินสองสัปดาห์...เด็กๆ ก็สามารถเข้าสู่วิถีแห่งสติและพอคิดได้บ้าง

แม้แต่ทางกายภาพเช่น ภาพลักษณ์ภายนอกก็จะเปลี่ยนไปด้วย

บุคลิกท่าทางก็จะสำรวมขึ้น นิ่งขึ้น รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ รู้ข้อปฏิบัติสำหรับการอยู่วัด ใบหน้าก็จะดูผ่อนคลายและสดชื่นขึ้น แววตาก็จะมีประกายแห่งความสดชื่นสดใส ซึ่งจะยกเว้นเด็กที่ใช้ยาก่อนเข้ามาวัด ซึ่งสิ่งนี้ข้าพเจ้าถือว่าเป็นความบกพร่องของสำนักงานคุมประพฤติฯ ที่ขาดการตระหนักต่อการช่วยเหลือเด็กอย่างแท้จริง เพราะตั้งแต่กระบวนการเด็กถูกจับกุมดำเนินคดี พิจารณาคดี และส่งเด็กมาฟื้นฟูที่วัดนั้นถือว่า...อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของสำนักงานคุมประพฤติฯ

ในการทำงานด้านนี้ความสำคัญนั้นอยู่ที่ความร่วมมือและความจริงใจที่จะช่วยเหลือเยียวยาเด็กๆ...

รุ่น ๒๐ นี้รวมทั้งสิ้น ๑๖ คน ...อายุตั้งแต่ ๑๕ ปีถึง ๔๕ ปีถือว่ามีความห่างของช่วงอายุค่อนข้างมาก มีเข้ามาเป็นกลุ่มก๊วนเพื่อนเดียวกันและเติบโตมาในแหล่งที่มีการระบาดยาเสพติดอย่างแพร่หลายถึง ๔ คน เป็นเรื่องที่น่าคิดและน่าเป็นห่วง เพราะเคยมีบางรุ่นที่เด็กถูกส่งมาในลักษณะคล้ายกัน ข้าพเจ้าก็ตั้งข้อสังเกตแบบทางลบๆ ว่ามีการถูกส่งเข้ามาขยายเครือข่ายหรือไม่ ซึ่งในรุ่นนั้นผลพบว่ามีเด็กกลับไปเสพซ้ำและถูกจับซ้ำเยอะมาก

การที่เด็กมีช่วงอายุที่แตกต่างกันมากโอกาสของการเกิดวิถีของความเป็นลูกพี่จะเกิดขึ้น เกิดการคุมกันในหมู่พวกด้วยกัน ซึ่งหากเราเข้าใจปรากฏการณ์นี้เราจะมีเป้าหมายแปรเปลี่ยนพลังลบของเขาให้เป็นพลังบวก เลือกคนที่เป็นขาโจ๋-หัวโจก มานำพาเพื่อนไปในทางเชิงสร้างสรรค์แทน นำกิจกรรมที่ต้องใช้พลังและเปี่ยมด้วยคุณค่าให้เขาไปได้ แทนการไปตอกย้ำและกระตุ้นความคิดและอารมณ์ด้านลบเข้าไปในจิตใจเขา

ในส่วนที่ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกต...

การเยียวยาเราจะนำไปทางบวก (ทางธรรม) แม้ว่าเป้าหมายจะถูกส่งมาเพื่ออะไร แต่การที่เขาได้พากันเข้ามาวัดนั้น ในแง่มิติทางจิตวิญญาณและกระแสแห่งชีวิตของเขาถือว่านี่คือ "โอกาส" ดังนั้นนำหลักการน้ำดีเติมลงไปในน้ำเสีย ในขณะที่เราไม่สามารถกำจัดน้ำเสียได้ แต่ถ้าเราเติมปริมาณออกซิเจนผ่านน้ำดี ซึ่งในความหมายนี้หมายถือ "ศีลธรรม" เข้าไป จะช่วยทำให้พลังด้านลบของเขาเจือจางลงไปบ้าง

การนำพาเด็กๆ ...ด้วยวิถีแห่งศีลธรรม พระอาจารย์พี่เลี้ยงท่านจะพานำผ่านวิถีชีวิตประจำวัน ผ่านการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในวัด ใช้หลักการความเป็นกัลยาณมิตรภายใต้พลังแห่งความเมตตาธรรม ไม่มีการกักขัง หากแต่ใช้ "ศีล" เป็นเครื่องมือล้อมรั้วแทนด้วยการแปรเปลี่ยนศีล๕ มาเป็นกฏระเบียบข้อปฏิบัติของการอยู่ในวัดร่วมกัน

การทำงานด้านนี้ทำยาก ...แต่ในช่วงเวลาที่เด็กๆ อยู่ในวัด คือ ช่วงเวลาที่เราได้รับโอกาสเช่นกัน อันเป็นโอกาสปฏิบัตินำพาเขาอย่างเต็มที่เกื้อหนุนให้ได้เรียนรู้และซึมซับวิธีคิดทางด้านกุศลกรรมให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้เป็นประสบการณ์ติดตามตัวเขาไปในวันข้างหน้า อย่างน้อย ณ วันหนึ่งเขาจะได้รู้ว่าเมื่อเจอความร้อนแห่งชีวิต เขามีความเย็นเป็นที่พึ่งอยู่ ณ ที่หนึ่ง

ตามประวัติที่ได้พูดคุยในเด็กๆ รุ่น ๒๐ นี้ส่วนใหญ่เริ่มใช้ยาตั้งแต่วันเด็ก ๑๔-๑๕ ปี ส่วนมากจะเป็นเพื่อนชักชวน และอยากลอง เด็กๆ มาเริ่มต้นจากการสูบบุหรี่และดื่มสุรา เติมโตมาจากครอบครัวพ่อแม่แยกทางกัน ไม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ เพียงแค่ให้เติบโตตามวัยเท่านั้น แต่ไม่ได้รับการถูกฝึกในวิธีคิดและการแก้ปัญหา

ส่วนมากเรียนหนังสือในขั้นภาคบังคับไม่จบ ออกโรงเรียนกลางวัน อ่านหนังสือไม่ออก ... การประกอบอาชีพส่วนมากจะรับจ้างในขั้นกรรมกรใช้แรงงาน และโอกาสการใช้งานจากการทำงานมีสูง เพราะนายจ้างอยากให้ได้งานเยอะก็จะยาบ้ามาผสมน้ำให้ดื่มหรืออาจเสพด้วยวิธีสูบ

พฤติกรรมส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่ใน "บุหรี่-สุรา-ยาบ้า" บางรายมีการใช้สารระเหยร่วมด้วย เช่น ทินเนอร์ กาว และบางรายใช้กัญชา ในรายที่มีรายได้และเรียนสูงขึ้นมาหน่อยจะมีประการณ์การใช้ยาไอซ์มาบ้าง

แต่ประมาณร้อยละ ๙๐ ใช้ยาบ้าหาซื้อง่ายมาก กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลสูง การศึกษาต่ำมีผลสืบเนื่องต่อวิธีคิดของเด็ก และปัญหาครอบครัวคือช่องทางให้เด็กเข้าสู่ชีวิตเช่นนี้ได้ง่าย

ข้าพเจ้าตั้งโจทย์ต่อตนเองก่อนเสมอ ก่อนทำความรู้จักกับเด็กๆ...

รุ่นนี้มีความแตกต่างกันมา แต่ก็มีลักษณะร่วมบางอย่าง ข้าพเจ้าพบพฤติกรรมบางอย่างของเด็ก...คือ

  • กลุ่มแรกนี่เป็น "ลูกพี่" ขาโจ๋คุมน้องๆ...กลุ่มนี้มีอยู่สามคนดูจะมีอิทธิพลต่อคนอื่นๆ พอสมควร
  • กลุ่มที่สอง เริ่มเรียนรู้ความเป็นลูกพี่...แสดงพฤติกรรมเลียนแบบกลุ่มแรก โดยมีกลุ่มแรกคอยหนุน
  • กลุ่มที่สามคอยเป็นลิ่วล้อตาม กลุ่มนี้จะไม่กล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงออก แต่เมื่อกลุ่มแรกสั่ง หรือกลุ่มที่สองข่มขู่ก็จะทำตามคำสั่งได้เร็ว
  • กลุ่มที่สี่ มีจำนวนน้อย กลุ่มนี้มีพลังด้านดีเยอะมาก ...ฟื้นตัวได้เร็ว มีความสดชื่น สติและปัญญาดี มักจะไม่สุงสิ่งกับทั้งสามกลุ่ม และมักจะคอยติดตามทำงานกับพระอาจารย์พี่เลี้ยง

ข้าพเจ้าทดลองให้คนที่มีลักษณะความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมนิสัยใกล้เคียงกัน ทำงานเป็นคู่กัน "สะท้อนคิดความดีของเพื่อนและทำนายอนาคต" ซึ่งในกิจกรรมนี้ทำให้เขาได้มองเห็นคล้ายกระจกตนเอง เป็น Reflextion เป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มบ่มเพาะพลังด้านดี หรือพลังด้านกุศลกรรมที่มีอยู่ในจิตใจของเขา

การมุ่งพาคิดพาพูดคุย และทบทวนเรื่องราวดีดีที่เป็นกุศลกรรมนั้น เสมือนกับเรากำลังใช้น้ำเย็นรดน้ำเมล็ดพันธุ์ในจิตใจเขาให้งอกเงย

ข้าพเจ้าเลือกนำ "กุศลกรรมบท ๑๐" มาแปลงสู่การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในวิถีชีวิตประจำวันของเขา ถือเป็นองค์ประกอบเสริมที่ทางพระอาจารย์ท่านจะใช้หลัก "ทาน ศีล ภาวนา" มาแปลงเป็นกิจกรรมในการดำเนินวิถีชีวิตในวัด ... เนียนเนื้อพุทธธรรมเข้าไปในชีวิตประจำวันอย่างที่เขาไม่รู้ตัวว่านี่ เขากำลังได้รับการปฏิบัติธรรม

หนึ่งวันเต็มที่ข้าพเจ้าได้ทำความรู้จักเด็กๆ...

ได้เข้าใจพื้นฐานแห่งความเป็นมาของเขา ทำความเข้าใจกระบวนการคิด อารมณ์ และอุปนิสัย พร้อมกันนั้นค้นหาพลังด้านบวกที่มีอยู่ ที่เป็นพลังแห่งความดีงามอันเป็นข้อดีในชีวิตของเขา

ช่วงบ่ายข้าพเจ้าให้เขารวมตัวกันกลุ่มละ ๔ คน

และตั้งโจทย์เพียงว่า "ภาพฝันในอนาคต" โดยที่ไม่อธิบาย ไม่ให้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติม ข้าพเจ้าต้องการดูตั้งแต่ การเริ่มต้นทำงานในกลุ่ม สัมพันธภาพ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของกลุ่ม การคิด ความสร้างสรรค์ และการสะท้อนเรื่องราวผ่านเป็นภาพออกมา รวมถึงการใช้เลือกใช้สีที่แต่งแต้มลงไปในภาพ

สามกลุ่ม...ยังมีความร่าเริงและสดใส มีความสนุกในตนเอง แต่การคิดการทำงานเป็นกลุ่มยังเป็นแบบแยกส่วน ไม่เชื่อมโยงกัน มีอีกหนึ่งกลุ่มที่มีสมาชิกที่เป็นขาโจ๋หัวโจกกลุ่มนี้สีที่เลือกใช้จะเป็นสีหม่นๆ หมองๆ แต่ในความงามของภาพที่ข้าพเจ้าเจอคือ "พวกผมอยากมีวิถีชีวิตที่พอเพียง" ... ภาพทั้งสี่คนสะท้อนออกมาเป็นภาพเดียว เห็นวิถีชีวิตที่เขาปรารถนาอยากให้เกิดในชีวิตของเขา

ความท้าทายของการทำกระบวนการเนียนเนื้อวิถีพุทธสู่วิถีแห่งชีวิตเด็กๆ พวกนี้คือ การพยายามจูนคลื่นของอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมที่เป็นพลังด้านบวกซึ่งแต่ละคนจะมีไม่เท่ากัน มาเชื่อมโยงสอดรับสอดคล้องกันให้ได้มากที่สุด ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะทำได้ง่ายเมื่อเด็กๆ ผ่านกระบวนการปรับเปลี่ยนของพระอาจารย์พี่เลี้ยงมาก่อน ... ซึ่งช่วงแรกๆ ที่ข้าพเจ้ามาทำนั้นประมาณสองสัปดาห์จึงได้เริ่มกระบวนการแต่พอหลัง ... ประมาณสองสามวันแรกๆ...หรือไม่ถึงสัปดาห์ก็สามารถเข้ามาเชื่อมต่อกับกระบวนการของพระอาจารย์ได้เลย

ใช้พลังงานเยอะ อันเป็นพลังทางใจแต่...พอเสร็จแล้วเดินสักพักหรือนั่งสมาธิคลายพิษ (toxin) ออกความสดชื่นก็กลับมา และยิ่งเห็นเด็กมีแววตาที่มีความสุขความเมื่อยล้าก็หายไป

...

รุ่น ๒๐ สิงหาคม

 

 

หมายเลขบันทึก: 452768เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2011 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท