BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

หัวครก ๑


หัวครก

กัลยาณมิตรอ้างถึง ม่วงเม็ดล่อ ผู้เขียนนึกสนุก จึงขอเล่าบ้าง... แต่ขอตั้งชื่อบันทึกว่า หัวครก เพราะชื่อนี้ เป็นชื่อที่ผู้เขียนรู้จักเป็นครั้งแรก...

มะม่วงหิมพานต์ มีชื่อหลากหลายในปักษ์ใต้ เช่น หัวครก เม็ตล่อ เล็ตล่อ ท้ายเล็ต กาหยู ยาร่วง (อาจมีชื่ออื่นอีก แต่ตอนนี้นึกได้แค่นี้)... และจำได้ว่าเคยเขียนขยายความศัพท์เหล่านี้ไว้ครั้งหนึ่งนานแล้ว แต่ก็จำไม่ได้ว่าที่ไหน ซึ่งอาจมิใช่ที่ GoToKnow

เมื่อตอนเด็กๆ เมื่อเจอหนังสือที่แนะนำเกี่ยวกับจังหวัดต่างๆ ผู้เขียนก็มักจะพลิกไปอ่านจังหวัดสงขลา และอย่างหนึ่งที่เจอก็คือ สินค้ามีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลาได้แก่ เม็ตมะม่วงหิมพานต์... ซึ่งผู้เขียนค่อนข้างแปลกใจ ว่ามันจะมีชื่อเสียงได้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่ธรรมดา  ค่อนข้างจะไร้สาระ เป็นสิ่งที่เด็กๆ เท่านั้นทำกินเล่น...  จึงขอเล่าช่วงชีวิตบางตอนที่เกี่ยวข้องกับมะม่วงหิมพานต์ในฐานะที่เกิดในท้องถิ่นที่ผลไม้ชนิดนี้มีชื่อเสียง

..............

การละเล่นของเด็กๆ อำเภอสทิงพระอย่างหนึ่งก็คือ ซัดราว หรือ ซัดโม้ง ... วิธีการเล่นก็เอาไม้ไผ่ผ่าซีกหน้ากว้างประมาณหนึ่งนิ้ว ส่วนด้านยาวก็ ๒๐ ซม. ขึ้นไปจนถึงเมตรกว่าๆ (แล้วแต่จะเล่นกิ่คน หรือลงคนละกิ่โม้ง ... เม็ตหัวครก  แถวบ้านเรียก  โม้งหัวครก)

ตี่ต่างว่า ลงกองกลางคนละ ๑๐ โม้ง เล่นกัน ๔ คน ก็เอาโม้งหัวครกทั้งหมดไปเรียงบนราว (ไม้ไผ่ผ่าซีก) โดยราวนี้ จะต้องรองด้วยก้อนหินเล็กๆ ที่ปลายราวไม้ไผ่สองข้างเป็นหมอน.... ต่อจากนั้น แต่ละคนก็ถอยห่างไปจากราวประมาณ ๓-๕ เมตร แล้วก็จับฉลากว่าใครจะซัดก่อน... ส่วนวัตถุที่ใช้ซัดนั้น เรียกว่า เกยหรือ แม่เกย

เกยนี้แล้วแต่จะตกลงกัน บางครั้งอาจเป็นก้อนหินเล็กๆ... บางครั้งอาจเป็นโม้งหัวครกธรรมดา โดยผู้เล่นแต่ละคนจะคัดเลือกโม้งที่ใหญ่และหนักเป็นกรณีพิเศษ เพื่อนำมาเป็นเกย... และยังมี เกยหยอดกั๋ว (กั๋ว คือ ตะกั๋ว) ซึ่งต้องเตรียมมาก่อน วิธีการทำเกยหยอดกั๋วก็คือ เอามีดปาดท้ายโม้งหัวครกนิดหน่อย แล้วก็ใช้มีดเล็กๆ เขี่ยเนื้อภายในออกให้หมดจนเป็นช่องว่าง แล้วก็หยอดน้ำตะักั๋วเข้าไป ทิ้งไว้จนแห้งและแข็ง ก็จะได้เกยหยอดกั๋ว ซึ่งหนักกว่าโม้งทั่วไป (นี้แหละ ภูมิปัญญาเด็กสมัยก่อน 5 5 5)

เมื่อใช้เกยซัดไปยังราวโม้งหัวครกนั้น ถ้าถูกที่ราวแล้วโม้งจำนวนเท่าใดหล่นจากราว ผู้ซัดก็จะได้โม้งจำนวนนั้นไป...  ก็จะผลัดกันซัดอย่างนี้ จนกระทั้งโม้งบนราวหมดจึงมีการลงขันกันอีกครั้ง...  หรือบางครั้งซัดกันหลายรอบแล้ว แต่โม้งยังไม่หมด  ก็อาจ  เติม  อีกคนละกิ่โม้ง ก็แล้วแต่ตกลง... ซึ่งการเติมนี้ ก็คือการเพิ่มจำนวนโม้งบนราวนั้นเอง เช่น บนราวเหลือ ๔ โม้ง ก็อาจเติมอีกคนละ ๕ โม้ง เป็นต้น...

นอกจากนั้น ยังมีกติกาอื่นๆ อีก เช่น หล่นโม้งได้หมด หมายความว่า ถ้าใครซัดไปที่ราวแล้ว บังเอิญถูกราวแล้วโม้งหล่นมาเม็ตเดียว ถือว่ามีความสามารถ ก็เอาไปทั้งราวเลย... และ หล่นหมดเรียงใหม่่ หมายความว่า ถ้าใครซัดไปที่ราวแล้ว บังเอิญถูกตำแหน่งสำคัญ ทำให้ราวหล่นจากก้อนหินที่เป็นหมอน แล้วโม้งหล่นจากราวทั้งหมด ถือว่าฟาวล์ ผู้ซัดจะไม่ได้โม้ง (5 5 5)...

กติกาตามที่เล่ามา ทำให้ซัดราวค่อนข้างจะยาก เพราะซัดหล่นเม็ตเดียวได้ทั้งราว แต่ซัดหล่นหมดทั้งราวไม่ได้แม้แต่เม็ตเดียว.... นอกจากนั้น ยังมีกติกาปลีกย่อยอื่นอีก เช่น ห้ามซัดที่หินซึ่งเป็นหมอนหนุนราว... ถ้าราวหล่นจากหมอนข้างเดียวไม่ได้ ราวต้องไม่หล่น หรือหล่นทั้งสองข้าง... กติกาเหล่านี้ แล้วแต่จะตกลงกันก่อน ซึ่งภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า ชันชี กันก่อน (ชันชี แปลว่า ข้อตกลง)

.............

เฉพาะเรื่องซัดราวหรือซัดโม้งก็ยาวพอสมควร เรื่องอื่นๆ จึงขอยกยอดไปเล่าตอนต่อไป... แต่ก่อนจบจะขยายความบางชื่อของผลไม้ชนิดนี้...

ที่ได้ชื่อว่า มะม่วงหิมพานต์ เพราะเป็นมะม่วงที่นำมาจากป่าหิมพานต์ โดยมีตำนานว่า มนุษย์เข้าไปยังป่าหิมพานต์ เจอผลไม้ชนิดนี้ คนแก่กินแล้วก็กลับเป็นคนหนุ่มคนสาว คนหนุ่มคนสาวกินแล้วก็กลับเป็นเด็ก จึงนำมาเผยแพร่ ต่อมาคุณวิเศษนี้ก็เสื่อมหายไป.... (ตำนานเล่าแตกต่างกันหลายสำนวนเป็นพรานป่าบ้าง พระราชาบ้าง ผู้เขียนก็ลืมๆ ไปแล้ว)

ที่ได้ชื่อว่า หัวครก เพราะผลของมัน เมื่อเด็ดเมล็ดออกแล้วตั้งทรง ก็จะมีรูปลักษณ์เหมือนกับครก ดังนั้น จึงได้ชื่อว่าหัวครก

ที่ได้ชื่อว่า เม็ดล่อ เพราะ เมล็ตของมัน มิได้อยู่ภายในผล แต่โผล่ออกมา... ซึ่งคำว่า เมล็ด ภาษาใต้เรียกสั้นๆว่า เม็ด ส่วนคำว่า โผล่ ภาษาใต้ใช้ว่า ล่อ ... ดังนั้น เม็ดล่อ จึงอาจแปลตามตัวตรงๆ ได้ว่า เมล็ดโผล่

อีกอย่างหนึ่ง คำว่า เมล็ด หรือ เม็ด นั่นเอง ภาษาใต้ใช้ว่า เล็ด ได้บ้าง... ดังนั้น จากคำว่า เม็ดล่อ จึงใช้เป็นคำว่า เล็ดล่อ ได้บ้าง...

  • ส่วนชื่ออื่นๆ ค่อยนำมาขยายความในตอนต่อไป....

 

หมายเลขบันทึก: 180111เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2008 00:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

นมัสการครับ โหย เม็ดเดียวมีตั้งหลายชื่อ

ถ้าเป็นชื่อสมุนไพร มิงงกันตายหรือครับ

P

Conductor

 

แต่ละท้องถิ่นมักเรียกเพียงชื่อเดียว แต่มีการเล่าสู่กันฟังว่า ที่โน้นเรียกอย่างนั้น ทำให้คนทั่วไปมักจำได้...

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าใครเรียกผิดไปจากท้องถิ่นนั้น แสดงว่ามาจากท้องถิ่นอื่น...

เจริญพร

กราบนมัสการค่ะท่าน

จำได้ว่าตอนเด็กๆ ตลกชอบเอาคำว่า หัวครกมาเล่นทายกัน

ก็เลยได้รู้ไปด้วยว่าหัวครกหมายถึงอะไร

แต่พอมาอ่านบันทึกของท่าน ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากมายจริงๆ

ขอบคุณค่ะ

นมัสการพระอาจารย์

  • บ้านเกิดกระผมที่อีสาน ก็มีการละเล่นคล้าย ๆ กันนะครับ แต่จะใช้เม็ดมะขามแทนครับ สนุกมากครับ แต่ระยะหลัง ๆ นี้ไม่ค่อยเห็นเด็กเขาเล่นอย่างนี้กันแล้วครับ

P

นิโรธ

 

  • เด็กๆ เดียวนี้ ชอบเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์... และคิดว่าคงจะเหมือนๆ กันทั้งประเทศ (หรืออาจเป็นไปทำนองเดียวกันทั้งโลก)

เจริญพร

บ้านผมเรียก ไอ้ครกมั้ง หัวครกมั้ง ยาร่วงมั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท