BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เผล้ง


เผล้ง

 P ครูนงเมืองคอน แนะนำว่า ควรจะเขียนเรื่อง เผล้ง ด้วย เพื่อจะได้คู่กับ ป้อย ที่เขียนไปแล้ว... ลองค้นดูภาพในเน็ตก็ไม่เจอที่เหมาะสม จึงถือโอกาสบรรยายตามที่คิดว่า น่าจะพอสื่อให้เห็นภาพได้...

เผล้ง เป็นภาชนะดินเผาประเภทเดียวกับ หม้อ และ ไห ( ไห ปักษ์ใต้บางท้องถิ่นเรียกว่า เนียง )... เผล้ง คล้ายคลึงกับหม้อและไห หรืออาจกล่าวเชิงขำๆ ได้ว่า บิดาของเผล้งคือไห ส่วนหม้อเป็นมารดาของเผล้ง ดังนั้น เผล้งจึงเป็นลูกครึ่ง กล่าวคือ ครึ่งหม้อครึ่งไห

หม้อดิน จะทรงเตี้ย แต่ตรงกลางจะป้อมออกมา... เผล้งก็ทรงเตี้ยเหมือนหม้อ แต่ตรงกลางจะป้อมออกกว้างกว่าหม้อดินทั่วไป... สำหรับคนที่เคยเห็นหม้อดินและเผล้ง ก็จะแยกออกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเผล้งหรือหม้อดิน....

ไห (เนียง) จะทรงสูง ส่วนตรงกลางจะป้อมออกมาเพียงเล็กน้อย... ที่คอของไหจะคอดกิ่วกว่าหม้อดินทั่วไปแล้วก็บานออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเผล้งก็เป็นเช่นนั้น... กล่าวคือ  ที่คอและและที่ปากของเผล้งจะคล้ายๆ ไห ไม่เหมือนหม้อ ส่วนที่ตรงกลางจะป้อมออกมาคล้ายๆ หม้อ ไม่เหมือนไห... สาเหตุที่เผล้งจะดูป้อมๆ กว่าหม้อเพราะคอกิ่วๆ คล้ายไหนั่นเอง...

ผู้เขียนไม่ทราบว่า เผล้ง ในภาษากลางเรียกว่าอย่างไร ลองค้นหาดูก็ยังไม่เจอ หรือว่าเผล้งเป็นภูมิปัญญาปักษ์ใต้เท่านั้น ไม่มีในท้องถิ่นอื่นๆ....

สำหรับปักษ์ใต้ เผล้งเป็นภาชนะที่พบเห็นทั่วไป จนกระทั้งคำพังเพยบางสำนวนของปักษ์ใต้มีคำว่าเผล้งอยู่ด้วย ซึ่ง นายช่างใหญ่ เคยเล่าไว้บ้างแล้ว ผู้สนใจ คลิกที่นี้

.............

ตามที่เคยเห็น เผล้งไม่นิยมใช้เป็นภาชนะปรุงอาหารเหมือนหม้อ  และไม่นิยมเก็บของหมักดองเหมือนไห (เนียง)  แต่เผล้งนิยมใส่ข้าวสาร น้ำตาลทราย หรือน้ำกินน้ำใช้ทั่วๆ ไป.... กล่าวได้ว่า ท้องถิ่นปักษ์ใต้บ้านเราตอนผู้เขียนเล็กๆ นั้น เผล้งพบเห็นทั่วไป เช่น ตามศาลาพักร้อนริมทางก็มีเผล้งใส่น้ำไว้บริการคนเดินหนทั่วไป .... ข้างบันไดก่อนขึ้นบ้านก็มีเผล้งใส่น้ำไว้ล้างเท้า.... หรือในครัวก็มีเผล้งใส่ข้าวสาร น้ำตาลทราย  เป็นต้น

สำหรับผู้เขียนเอง ผูกพันกับเผล้งมาตั้งแต่เล็กๆ เพราะครอบครัวผู้เขียนเลี้ยงเป็ดเก็บไข่มาตลอด (เลี้ยงสองสามร้อยตัว มากบ้างน้อยบ้างตามโอกาส) และหน้าที่ตักน้ำใส่เผล้งให้เป็ด จึงเป็นของผู้เขียน...

ตอนเช้า หลังจากเก็บไข่เป็ดเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องล้างเผล้งให้สะอาด แล้วก็ตักน้ำใส่ให้เต็มเป็ดจะได้กิน... ตอนบ่ายๆ ก็ตักน้ำไปเติมในเผล้งอีกครั้งโดยไม่ต้องล้างเผล้ง และเย็นๆ จึงล้างเผล้งแล้วเติมน้ำให้เต็มอีกครั้ง... นี้เป็นหน้าที่

แต่ผู้เขียนขี้เกียจ ไม่ค่อยรับผิดชอบ มักโดนโยมแม่ดุด่าประจำว่า อยู่พรื้อ ! ให้เผล้งแตกแหง ! (น้ำในเผล้งแห้งสนิท จนก้นเผล้งแตกระแหง)... และบางครั้งก็ถูกลงโทษ เพราะปล่อยให้เผล้งแตกแหงนี้เอง...

...........

เผล้ง นอกจากจะใช้ใส่ข้าวสาร หรือน้ำกินน้ำใช้แล้ว... ผู้เฒ่าผู้แกบางท่านก็นิยมใช้เผล้งเป็นตู้ยาสามัญประจำบ้านด้วย กล่าวคือ นำยาชนิดต่างๆ ใส่รวมๆ ไว้ในเผล้ง แล้วก็ตั้งไว้มุมหนึ่งตามความเหมาะสมภายในเรือน ซึ่งทุกคนจะรู้ว่า เผล้งหน่วยนั้นใช้ใส่ยา เมื่อใครเกิดเจ็บป่วยต้องการยาชนิดไหนก็ไปหาเอาเองในเผล้ง....

ผู้เขียนคิดว่า แม้ปัจจุบัน ยังมีเผล้งใช้อยู่ แต่คงจะใช้ใส่น้ำดื่มเท่านั้น และโดยมากก็ใช้ทำนองอนุรักษ์หรือนำมาใช้ทำนองเป็นเครื่องประดับประจำเรือนเท่านั้น มิใช่ใช้เป็นภาชนะจำเป็นประจำบ้านดังเช่นสมัยก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา....

กล่าวได้ว่า เผล้ง ได้สูญเสียสถานภาพในการเป็นภาชนะตัวจริงให้แก่สิ่งอื่นๆ เช่น ตู้เย้น คูลเลอร์ ถังพลาสติก กล่องพลาสติก ถุงพลาสติก เป็นต้น.... หรืออาจกล่าวได้ว่า เผล้ง ขึ้นชั้นเป็นภาชนะลายคราม ที่คนบางคนเท่านั้นนิยมชมชอบ หรือเก็บไว้ประดับบารมี...  

คำสำคัญ (Tags): #เผล้ง
หมายเลขบันทึก: 179307เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2008 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 07:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ผมยังทันใช้เผล้งครับ ที่บ้านปู่และบ้านตาตอนสมัยเด็กๆ ครับ

มีภาชนะอีกอันหนึ่งที่สืบโยด สาวย่าน

ก่อนตักสารใส่เผล้ง คือแล่ง

ทำด้วยพรกเหมือนป้อย

ใหญ่กว่าป้อย

ใช้ตวงข้าวเปลือกใส่สอบนั่ง

ตักข้าวสารใส่เผล้ง

แล้วเอาป้อยตักสารนางกลายจากเผล้ง

ใส่หม้อดิน(เผล้ง)หุงด้วยไม้ฟืน

พอเดือดรินน้ำหม้อใส่ชาม ใส่เกลือสามเม็ด(เกลือผงไม่มี)

น้ำตาลไม่ใส่ (ไม่มี)

อาหารเสริมอย่างดีทุกครัวเรือน

(เหตุที่ใช้ข้าวนางกลายหุง เพราะมีคุณลักษณะพิเศษ

เมล็ดส้นใหญ่

น้ำหนักดี

นวดง่ายหุงขึ้นหม้อ

ให้แป้งสูง

เหมาะกับคนลูกมาก)

ไม่มีรูป

vorya9451

 

  • น้ำหม้อกินดี...

เจริญพร

นมัสการอาจารย์

บันทึกอาจารย์ ทำให้ผมนึกถึงของเก่าๆ หลายชิ้นครับ

อาทิ หมาทั้ง (น้ำ), หวัก, โคม, เจี้ยนทิ, พร้อน้ำ, ดานเฉียง ฯลฯ

P

Thawat

  • หมาทั้ง = ภาชนะใช้ตักน้ำ
  • หวัก = จวัก เป็นช้อนขนาดใหญ่ 
  • โคม = กะละมัง หรือถ้วยขนาดใหญ่
  • เจี้ยนทิ = ตะหลิว
  • พร้อมน้ำ = ภาชนะใช้ตักน้ำดื่ม
  • ดานเฉียง = เขียง ใช้สำหรับรองรับในการหั่น หรือสับ ซึ่งผัก ปลา หรือเนื้อเป็นต้น

เจริญพร

นมัสการพระอาจารย์

...ภาชนะใส่น้ำสำหรับดื่มวางอยู่ด้วยเสมอ มักมีโอ่งน้ำดินเผาพื้นเมืองขนาดย่อมๆ ที่ชาวปักษ์ใต้เรียก"เผล้ง"...ของนายช่างใหญ่

ถ้าเป็นทางเหนือเรียกน้ำต้น เป็นภาชนะใส่น้ำแบบล้านนาชนิดหนึ่ง เป็นภาชนะดินเผาแรงไฟต่ำ มีลักษณะทรงสูงคล้ายขวด ตัวน้ำต้นอ้วนกลม มีคอยาว ปากเล็ก มีขนาดประมาณ 6.5 นิ้ว (วัดที่ตัวน้ำต้น) สูงประมาณ 10 นิ้ว ทั่วไปมักจะมีสีแดงอิฐ

การปั้นน้ำต้น  นิยมขึ้นรูปโดยการใช้แป้นหมุนและปั้นด้วยมือเป็นส่วน ๆ นำมาประกอบกันเมื่อดินยับไม่แห้งมีการตกแต่งด้วยลายกดประทับและลายขูดขีด บางชนิดพบว่ามีฝาเล็ก ๆ ปิดที่ปากด้วย

ประโยชน์ใช้สอย  น้ำต้นใช้สำหรับใส่น้ำไว้ใช้ดื่มบนเรือนและใช้รับแขกโดยวางไว้ที่เติน (อ่าน เติ๋น) หรือห้องอเนกประสงค์

แหล่งผลิตน้ำต้นที่สำคัญในเชียงใหม่ คือ บ้านเหมืองกุง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

P

วัชรา ทองหยอด

 

  • น้ำในน้ำต้น เย็นชื่นใจ...

อาตมารู้จักน้ำต้นดี เพราะเคยอยู่ภาคเหนือหลายสถานที่ เช่น อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และหลังสุดก็ไปเรียนที่เชียงใหม่อยู่ ๓-๔ ปี... 

บางวัดสร้างเป็นศาลาเล็กๆ มีน้ำต้นเรียงเป็นแนวดูสวยงาม...

อนึ่ง ภาคเหนือยังรักษาแบบอย่างเก่าๆ ไว้ได้เยอะ  โดยเฉพาะบนดอยสูงๆ  ซึ่งต่างจากปักษ์ใต้ที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว...

เจริญพร

ท่านพระมหาชัยวุธครับ นมัสการนะครับ

เข้ามาช้าไปหน่อย ขออภัย ต้องขอขอบคุณท่านพระมหาชัยวุธที่ฉลองศรัทธาผมด้วยเรื่องเผล้ง 1 บทความ นึกไม่ถึงว่าท่านพระมหาชัยวุธจะยอนขึ้นเหมือนกัน เต็มอิ่มเลยครับท่าน

เผล้ง คือลูกครึ่งของนายหม้อกับนางไห

เผล้งถูกรุกไล่จนหาที่ยืนในสังคมนี้ไม่ได้แล้ว

เผล้ง คือตัวแทนของอีกหลายเรื่องที่กำลังจะสูญสิ้นไป

อนิจจา!

P 

ครูนงเมืองคอน

 

  • เดียวนี้ ไม่ค่อยรับปากใครง่ายๆ เรื่องเขียนหนังสือ เพราะขี้เกียจ... รับปากโยมคุณครูแล้วก็ต้องเขียน...

เจริญพร

กราบนมัสการ...พี่หลวงชัยวุธ

  • เผล้งเป็นภาชนะดินเผาลักษณะคล้ายหม้อดิน ส่วนปากกว้าง ตรงกลางป่อง ส่วนใหญ่จะใช้ใส่ข้าวสารถูกต้องครับ...
  • เผล้งสาร จะอยู่คู่กับป้อย ซึ่งทำจากกะลา (พล็อกพร้าว) ถ้าหาได้กะต้องเป็นพล็อกตาเดียว
  • ถ้าหากเป็นที่ใส่น้ำ สงขลาบ้านผมเขาจะใส่ "ออม" เป็นภาชนะดินเผาส่วนปากเล็ก ตั้งขันลายปิดได้พอดี  เวลากินน้ำทีต้องข่มคอรินน้ำออกมา น้ำในออมจะเย็นชื่นใจครับ...   

Pครูราญเมืองคอน คนนอกระบบ

 

  • ออม !

ออม ตามที่นายหนังอธิบายว่ามีขันวางอยู่ที่ปากปิดได้พอดีนั้น ก็เห็นอยู่ทั่วไป... แต่เท่าที่จำความได้ ออม คำนี้ ไม่เคยได้ยินใครเรียก เค้าก็เรียกว่า เผล้ง เหมือนกัน คงจะเรียกต่างกันออกไป...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท