หลักสูตรใหม่มีวิธีเรียนวิธีเดียว, โปรแกรม IT, ผู้รับจ้าง หสม.หดหู่, ใบ รบ.ไม่จบจริง, ต่างด้าว, หสม.ทำงานนอกเวลา


โปรแกรม IT รุ่นใหม่ ดึงข้อมูลประวัตินักศึกษา จากระดับชั้นเดิม มาลงได้, วิธีลงทะเบียนเรียนย้อนหลัง ให้ถอนการลงทะเบียนภาคเรียนหลัง ๆ ออกก่อน แล้วลงทะเบียนใหม่ตามลำดับภาคเรียน

สัปดาห์นี้ มีเรื่องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังนี้

         1. วันที่ 1 พ.ย.53 นายภาสกร ชมภูบุตร  ขรก.ครู กศน.อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทรบุรี  โทร.มาถามเรื่อง โปรแกรม IT กศ.พื้นฐาน  2 เรื่อง

            1.1  โปรแกรม IT หลักสูตรใหม่ ทำไมไม่มีที่ให้ระบุวิธีเรียน  จะบันทึกข้อมูลการเรียนแบบต่าง ๆ อย่างไร   ตอบว่า  หลักสูตรใหม่ มีวิธีเรียนวิธีเดียว คือวิธีเรียน กศน.   ส่วน ทางไกล ตนเอง พบกลุ่ม ชั้นเรียน และอื่น ๆ นั้น ไม่ใช่วิธีเรียน แต่เป็นรูปแบบการเรียน  ซึ่งนักศึกษาแต่ละคนสามารถเลือกรูปแบบการเรียนแตกต่างกันในแต่ละรายวิชาหรือแต่ละเนื้อหา ในภาคเรียนเดียวกันถ้าเรียน 4 รายวิชา ก็อาจเรียน 4 รูปแบบ  จึงระบุไม่ได้ ว่า นักศึกษาคนนั้นเรียนรูปแบบใด  ฉะนั้นจึงไม่ต้องบันทึกทั้งวิธีเรียนและรูปแบบการเรียนลงในโปรแกรม IT

            1.2  มีนักศึกษาเรียนจบ ม.ต้น จากหลักสูตร 2544  มาเรียนต่อ ม.ปลาย หลักสูตร 2551  แต่เมื่อบันทึกข้อมูลลงโปรแกรม IT หลักสูตรใหม่ รุ่นวันที่ 15 มิ.ย.53  ปรากฏว่าโปรแกรมบอกว่า เลขประจำตัวประชาชนของนักศึกษาซ้ำกับหลักสูตร 2544  จะแก้ไขอย่างไร ต้องลงโปรแกรม IT หลักสูตร 2551 ไว้คนละเครื่องกับโปรแกรม IT หลักสูตร 2544 หรือไม่   ตอบว่า ปกติโปรแกรมคนละหลักสูตรสามารถลงไว้ในเครื่องเดียวกันได้  ให้ลองเปลี่ยนไปใช้โปรแกรม IT หลักสูตร 2551 รุ่นใหม่ รุ่นวันที่ 1 พ.ย. 53 ( รุ่นนี้ เมื่อพบเลขบัตรซ้ำจะแสดงรายละเอียดของนักศึกษาที่ซ้ำว่าเป็นหลักสูตร 44 หรือ 51 และแสดงวันเกิด ชื่อบิดามารดา สถานภาพ   กรณีที่ซ้ำกับนักศึกษาที่จบ ลาออก หมดสภาพ ก็สามารถดึงประวัติมาลงได้โดยไม่ต้องกรอกประวัติใหม่ )


         2. วันที่ 2 พ.ย.53  นางพรรณี  หนุนอนันต์  หัวหน้างานการเงิน สนง.กศน.จ.อย. โทร.มาเรื่องการจ้างผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดฯ ตามระเบียบพัสดุ ให้ถูกต้อง เช่น การค้ำประกันสัญญาจ้างต้องใช้ทรัพย์ไม่ใช่ใช้คนค้ำฯ   ผมบอกว่า ตามหนังสือสำนักงาน กศน. ที่ ศธ 0210.117/2782 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2553 ได้ส่งหนังสือเวียนของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไปให้ทุกจังหวัด ซึ่งระบุว่า

             ปัจจุบันส่วนราชการหลายแห่งได้ดำเนินการจ้างเอกชนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ( กศน. ก็จ้างผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดฯด้วยวิธีจ้างเอกชนที่เป็นบุคคลธรรมดา ) เพื่อปฏิบัติงานในลักษณะเช่นเดียวกับการจ้างแรงงาน  ที่ไม่ถูกต้อง  ทำให้ผู้รับจ้างคิดว่าเป็นบุคลากรของรัฐ และเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้เหมือนบุคลากรของรัฐ
             ดังนั้นเพื่อลดปัญหาข้อโต้แย้ง จึงให้ส่วนราชการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเคร่งครัด ดำเนินการจ้างตามระเบียบพัสดุ ไม่ใช่ระเบียบลูกจ้าง

             - จ้างดำเนินงานเฉพาะโครงการหรือเฉพาะครั้งคราวที่มีความจำเป็นเพื่อเสริมการปฏิบัติงานในหน้าที่ปกติของส่วนราชการ ไม่จำเป็นต้องจ้างเต็มปีงบประมาณ และมิให้ทำสัญญาจ้างในลักษณะต่อเนื่อง

             - อัตราค่าจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายตามวุฒิการศึกษา แต่ให้เป็นอัตราค่าจ้างปกติทั่วไปที่เป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมกับงานนั้น โดยให้คำนึงถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วย

             - ไม่ถือเป็นบุคลากรของรัฐที่จะมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ จากทางราชการ แต่เป็นเพียงผู้รับจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม แต่ผู้รับจ้างสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ตามมาตรา 40 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

             ผมได้โทรศัพท์ไปถามความชัดเจนในการจ้างตามระเบียบพัสดุ จากคุณดำรงศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัสดุ กลุ่มงานคลัง กศน.  ท่านยกตัวอย่างการจ้างตามระเบียบพัสดุว่า การค้ำประกันสัญญาจ้างต้องใช้ทรัพย์ไม่ใช่ใช้คนค้ำฯ  และไม่จ้างในลักษณะต่อเนื่อง คือไม่ใช้วิธีประเมินผลงานแล้วจ้างคนเดิมต่อเหมือนลูกจ้างชั่วคราว แต่ต้องดำเนินการเรื่องจ้างใหม่ทุกครั้ง ซึ่งอาจจะได้คนเดิมหรือไม่ก็ได้
            ( อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้หลายแห่งไม่อ่าน หลายแห่งอ่านไม่เข้าใจ จึงคงมีบางแห่งทำเหมือนเดิม   อ.พรรณี ให้ผมส่งหนังสือสำนักงาน กศน. และหนังสือกระทรวงการคลังนี้ไปให้  ผมได้ส่งไปให้ทางอีเมล์ )


         3. วันที่ 3 พ.ย.53  มีผู้ถามหลายเรื่อง เช่น

             3.1  ผอ.กศน.อ. แห่งหนึ่ง ส่ง FAX ใบ รบ.กศ.ผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จระดับที่ 4 ของโรงเรียนผู้ใหญ่แห่งหนึ่ง  มาให้ดูว่าจบระดับ 4 จริงหรือไม่  โดยในใบ รบ. ระบุ “เหตุที่ออก” ว่า เรียนจบระดับที่ 4   ( นักศึกษารายนี้ ใช้ใบ รบ.นี้ มาสมัครเรียน ม.ปลาย ที่ กศน.อ.แห่งนี้ จนจบแล้ว เมื่อขอจบ ม.ปลาย จึงมีการพิจารณาหลักฐานเดิมนี้แล้วพบว่าไม่น่าจะจบระดับ 4 หรือ ม.ต้น )
                   ผมก็ลืมโครงสร้างหลักสูตร กศ.ผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จระดับที่ 4 ไปแล้ว  แต่ในใบ รบ. นี้ ระบุคำชี้แจงไว้ตอนท้ายว่า เกณฑ์การจบหลักหลักสูตรของผู้เรียนที่ไม่ได้เป็นพระภิกษุสามเณร ต้องสอบได้วิชาบังคับ 23 หน่วยกิต  วิชาเลือกไม่น้อยกว่า 27 หน่วยกิต   และในใบ รบ.นี้ระบุว่านักศึกษาหญิงคนนี้สอบได้รวมหน่วยกิตวิชาบังคับ 20 หน่วยกิต วิชาเลือก 30 หน่วยกิต   ซึ่ง ถือว่า ไม่ผ่านเกณฑ์การจบหลักสูตร
                   ถ้านักศึกษารายนี้ เพิ่งจะมาสมัครเรียนต่อ ผมคงแนะนำให้ปรึกษากลุ่มพัฒนา กศน.  แต่ กศน.อ.นี้ รับนักศึกษารายนี้เข้าเรียนจนจบ ม.ปลายแล้ว  ผมจึงเสนอว่า ควรปล่อยเขาจบไป


            3.2 นางศุภกร  อรรถโสภา  พนักงานราชการ กศน.อ.บางปะหัน  โทร.มา 2 เรื่อง คือ

                   3.2.1  ปรึกษากัน หาวิธีลงทะเบียนเรียนย้อนหลังในโปรแกรม IT   หลังจากทดลองกันแล้วสรุปว่า ใช้วิธีถอนการลงทะเบียนในภาคเรียนหลัง ๆ ออกก่อน ( จดข้อมูลไว้ ) แล้วลงทะเบียนเรียนใหม่เรียงตามลำดับภาคเรียน

                   3.2.2  โปรแกรม IT หลักสูตร 2544 ระดับ ม.ปลาย พิมพ์ใบประกาศนียบัตรไม่ได้ โดยโปรแกรมบอกว่า ไม่มีข้อมูล   ตอบว่า คงจะไม่มีข้อมูลเฉพาะบุคคล  ให้ลองใช้เมนู 1-7-1 ( ตรวจสอบนักศึกษาจบหลักสูตร ), 1-7-2 ( รายงานนักศึกษาจบหลักสูตร ) ดูว่า มีชื่อนักศึกษารายนั้นจบหลักสูตรหรือยัง


            3.3  นายภาสกร  ชมภูบุตร  กศน.อ.โป่งน้ำร้อน โทร. มาถามเรื่องการจ้างผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดฯ ว่า จะจ้างตลอดปีงบประมาณได้หรือไม่ ต้องทำสัญญาจ้างหรือไม่ ใช้คนหรือเงินค้ำประกัน ใช้เงินเท่าไหร่ค้ำประกัน ใช้ชื่อว่าเจ้าหน้าที่ห้องสมุดได้หรือไม่   ตอบว่า จ้างตลอดปีงบประมาณก็ได้    ดูจากวงเงินและระยะเวลาทำงานแล้ว คงต้องทำสัญญาจ้าง ( กำหนดไว้ในระเบียบพัสดุเกี่ยวกับการซื้อการจ้างว่า อย่างไรต้องทำสัญญา อย่างไรไม่ต้องทำสัญญา )    ที่ถูกต้อง ต้องใช้เงินค้ำประกัน โดยคำนวณจากวงเงินค่าจ้างตลอดสัญญาจ้าง เช่น ถ้าจ้างเดือนละ 7,940 บาท ทำสัญญา 12 เดือน วงเงินค่าจ้างจะ = 7,940 X 12 บาท ( จำนวนเงินประกันสัญญาดูในระเบียบพัสดุ )    ใช้ชื่อว่าเจ้าหน้าที่ห้องสมุดก็น่าจะได้ ( อาจจะใช้ชื่อว่า พนักงานห้องสมุดฯ )

 

            3.4  น.ส. นิภาพร  กล้ากรกิจ ครู ศรช. กศน.อ.ลาดบัวหลวง  โทร. มาถามว่า นักศึกษาที่ยังเรียนวิชาบังคับไม่หมด ในภาคเรียนนี้จะให้เรียนเฉพาะวิชาเลือก ได้หรือไม่ ( คือ นักศึกษานำร่องรุ่น 1/52 เรียนวิชาบังคับหมดแล้ว ภาคเรียนนี้เรียนเฉพาะวิชาเลือก  จึงอยากให้นักศึกษานำร่องรุ่น 2/52 เรียนวิชาเหมือนกับนักศึกษารุ่น 1/52 เพื่อสะดวกในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ )   ตอบว่า ได้


         4. วันที่ 4 พ.ย.53  อ.เอมอร  บริบูรณ์ ครู คศ.3 กศน.อ.พระนครศรีอยุธยา  โทร. มาบอกข้อมูลโปรกแกรม IT  รวม 3 เรื่อง คือ

             4.1  กรอกเลขประจำตัวประชาชน คนต่างด้าว ตามที่มหาดไทยออกให้แล้ว โปรแกรมก็ยังบอกว่าเลขประจำตัวประชาชนไม่ถูกต้อง    ผมได้บอกเรื่องนี้ต่อไปยังคุณสุขุม ผู้พัฒนาโปรแกรม  คุณสุขุมบอกว่าจะตรวจสอบและอาจพัฒนาแก้ไขในโปรแกรมรุ่นต่อไป ตอนนี้ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนที่โปรแกรมออกให้ไปก่อน โดยคลิกที่ปุ่มรูปไม้กายสิทธิ์ ด้านขวาของช่องสำหรับกรอกเลขประจำตัวประชาชน แล้วเลือก “ต่างด้าว, ตกลง” จะมีช่อง “หมายเหตุการณ์ออกเลข” มาให้กรอกเหตุผลที่ใช้โปรแกรมออกเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งจะกรอกว่าอย่างไรก็ได้ ( ไม่กรอกก็ได้ )
                   กรณีคนสัญชาติไทย ไม่ใช่คนต่างด้าว แต่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 คุณสุขุมบอกว่าอาจจะต้องแก้ไขในการบันทึกประวัติไม่ให้เช็คเลขบัตรสำหรับคนที่มีเลขขึ้นต้นด้วย 0 ในโปรแกรมรุ่นถัดไป ตอนนี้แก้ไขโดยให้ใส่เป็นเลข 0 ทั้ง 13 หลักไปก่อน หรือใส่แค่ 12 หลัก โปรแกรมจะคำนวณหลักที่ 13 ให้

             4.2  จันทนา  กิ่งพุฒิ  พนักงานราชการ กศน.อ.บางปะอิน  บอก อ.เอมอร ว่า โปรแกรมรุ่น 1 พ.ย.53  เมื่อบันทึกประวัตินักศึกษา ม.ปลายบางคน จะฟ้องว่า เลขประชาชนซ้ำกับระดับ ม.ต้น ( ที่จบแล้ว )    ผมบอกว่านั่นแหละดีแล้ว เขาตั้งใจพัฒนาโปรแกรมให้มันตรวจสอบอย่างนี้ ซึ่งการพบว่าเลขประจำตัวประชาชนซ้ำ ไม่ได้แปลว่าขึ้นทะเบียนไม่ได้ แต่ช่วยให้เราสามารถเลือกให้โปรแกรมอ่านข้อมูลประวัติเก่ามาลงได้เลย ไม่ต้องเสียเวลากรอกข้อมูลประวัติใหม่

             4.3  ชื่อไฟล์ BACKUP จากโปรแกรมทั่วประเทศ คือ ITWDATA.ZIP  เหมือนกับกับชื่อไฟล์ BACKUP จากโปรแกรมนำร่อง ทำให้ถ้าเก็บไฟล์ไว้ในดิสค์หรือโฟลเดอร์เดียวกัน ไฟล์จะทับกัน     เรื่องนี้ผมยังไม่ได้บอกผู้พัฒนาโปรแกรม แต่คิดว่า ถ้าชื่อไฟล์ไม่เหมือนกัน อาจจะนำไฟล์ BACKUP จากโปรแกรมนำร่อง เข้าไปในโปรแกรมทั่วประเทศไม่ได้


         5. วันที่ 5 พ.ย.53  นายภาสกร  ชมภูบุตร จาก กศน.อ.โป่งน้ำร้อน  โทร.มาถามว่า  พนักงานห้องสมุดฯ ( ผู้รับจ้างปฏิบัติงานห้องสมุดฯ ) เบิกค่าปฏิบัติงานนอกเวลาราชการได้หรือไม่    ตอบว่า เรื่องนี้ คุณอุดมศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัสดุ กลุ่มงานคลัง กศน. เคยบอกว่า ปกติเบิกไม่ได้  ผมถามว่าแล้วทำไมส่วนกลางจัดสรรงบประมาณค่าทำงานนอกเวลาฯให้  คุณอดมศักดิ์บอกว่าถึงจะจัดสรรให้ก็ไม่เบิกก็ได้   แต่ในหนังสือกรมบัญชีกลาง ระบุเรื่องนี้ว่า “ ... สำหรับค่าตอบแทนอื่น ๆ เช่น ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ เป็นต้น ควรกำหนดให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยให้ส่วนราชการผู้ว่าจ้างเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจากงบประมาณประเภทงบดำเนินการ ... ”
             คือ สามารถเบิกจ่ายได้ ถ้ากำหนดไว้ในข้อตกลงหรือสัญญาจ้างหรือเอกสารแนบท้ายสัญญา ว่าให้เบิกได้

หมายเลขบันทึก: 406637เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2010 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2013 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

1. อยากจะบอก อ.เอกว่า ที่ทำผิด ๆ น่ะ คิดว่าถูกเพราะที่ผ่านมาไม่มีใครบอกว่าถูกหรือผิด ทำให้ทำผิดอีก ยอมรับค่ะไม่ค่อยเรียนรู้วักเท่าไหร่ ครั้งต่อ ๆ ไปก็จะศึกษาให้ละเอียดค่ะ (เรื่องจ้างเหมาบุคคลภายนอกนีแนบเอกสารคนค้ำค่ะ)

2. นี่ก็อีกกรณีหนึ่งคะ อาจารย์พอมีเอกสารการรับสมัครนักศึกษาที่อายุไม่ถึง5 ปีแล้วเรียนกศน.ได้ไหมคะ เมื่อ 1/53 รับสมัครนักศึกษาเรียนต่อ ม.ต็น เนื่องจาก มี ป.ภ.1 จากโรงเรียนบอกว่าจบช่วงชั้นที่ 2 อายุ 13 ปี 4 เดือน ที่รับเพราะมาอยู่ในโรงเรียนสอนศาสนา ไม่ได้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อมาออกจากโรงเรียน ทำเรื่องฝากเรียนไปที่ กศน.ตะกั่วทุ่ง ขอวัดประเมินผล ก็แนะนำให้ลาออก ไปเรียนที่ กศน.ตะกั่งทุ่ง ก็ทำเรื่องลาออกให้ แต่อยู่ระหว่างปริ้นรบ.เพราะเป็นหลักสูตร 51 ต้องสั่งซื้อ แต่มีปัญหา กศน.จังหวัดพังงา ไม่รับเรียนถ้าอายุไม่ถึง 16 ปี ผู้ปกครองต้องไปขอหนังสือส่งตัวจากเขตพื้นที่การศึกษา ผู้ปกครองไปแต่เขตไม่ออกให้ ตอนนี้เลยปวดหัวค่ะ แนะนำให้เขาไปอธิบายให้เขตพื้นที่ฟังว่า เด็กไม่อยากเรียนในระบบแล้ว อาย แล้วก็เรียนนอกระบบมา 1 เทอมแล้ว ไม่รู้ผลออกมาอย่างไร อ.เอกแนะนำหน่อยได้ไหมคะ นี 085-9125383

แนะนำให้โทรศัพท์ไปทำความเข้าใจกับ กศน.อ.ตะกั่วทุ่ง ว่า กศน.อำเภอ สามารถรับผู้ที่ยังไม่พ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับเ้ข้าเรียนได้แล้ว โดย

         ถ้าเป็นหลักสูตร 2544 จะกำหนดไว้ในหลักการของหลักสูตร ข้อ 1. เลยว่า "เป็นการศึกษาสำหรับผู้พ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ" ( ดูในคู่มือการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544   ถ้าเป็นเล่มที่พิมพ์ปี 2547 จะอยู่ในหน้า 9 )
         แต่หลักสูตร 2551 ได้ตัดหลักการข้อนี้ออกไป และกำหนดไว้ใน "กลุ่มเป้าหมาย" ของหลักสูตร ว่า "กลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551"
   หมายความว่า ถ้าไม่เรียนในระบบโรงเรียนก็เรียน กศน.ได้ ถึงแม้จะยังไม้พ้นเกณฑ์ารศึกษาภาคบังคับก็ตาม ( ดูในหลักสูตรเล่มสีแดง หรือ คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ปกสีเหลือง หน้า 2   อยู่ในชุด 9 เล่ม ที่แจกให้ครูทุกคนตอนอบรมหลักสูตรใหม่ )
         ตอนที่ผมอบรมวิทยากรแกนนำหลักสูตรใหม่ เขาก็สรุปเปรียบเทียบหลักสูตรเก่ากับหลักสูตรใหม่ไว้ว่า กลุ่มเป้าหมายหลักสูตรเก่าคือผู้พ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ แต่กลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรใหม่คือประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียน ( ดูตารางเปรียบเทียบนี้ได้ใน ข้อความ 17 ที่ http://gotoknow.org/blog/nfeph999/330144#2212787 )

         อนึ่ง สำนักงาน กศน. เคยแจ้งตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ 0210.03/2695  ลงวันที่ 29 พ.ค.51 ว่า "ให้สถานศึกษาสังกัดสำนักงาน กศน. รับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับหรืออายุต่ำกว่า 15 ปี บริบูรณ์ และไม่สามารถเรียนในสถานศึกษาของการศึกษาในระบบได้ตามปกติ เรียนในสถานศึกษาสังกัด กศน. โดยให้ผู้อำนวยการ กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร ประสานงานแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบ"   ไม่ใช่แจ้งเพื่อ "ขออนุญาต" แบบเดิม แต่เป็นการ "แจ้งเพื่อทราบ" ข้อมูลสถิติว่า เด็กในเขตรับผิดชอบของเขายังไม่เข้าเรียนหรือไปเรียนที่ไหน


มีโอกาสเข้ามาอ่านบันทึกจาก บล็อกของอาจารย์หลายครั้งแล้วค่ะ ได้ความรู้ทุกครั้งเลย ขอบคุณสำหรับความรู้ต่าง ๆ นะคะ แล้วจะเข้ามาอ่านทุกบันทึกเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท