นิทานไทยกับนิสัยเสียๆ


เด็กๆเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ทำ เช่น วาดรูป ฟังนิทาน อ่านหนังสือ หรือร้องเพลง ผู้ใหญ่จึงมักใช้กิจกรรมเหล่านี้ในการสอน

นิทานไทยเรื่อง “ยายกะตาปลูกถั่วงาให้หลานเฝ้า” เชื่อว่าเราหลายๆคนคงคุ้นเคยกันดี เพราะได้รับการบอกเล่ากันมาตั้งแต่ยังเด็ก

         

เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า

ยายกะตา ปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า หลานไม่เฝ้า ปล่อยให้กามากินถั่วกินงา

ยายมา ยายก็ด่า ตามา ตาก็ตี

หลานร้องไห้ ไปหานายพรานให้ช่วยไปยิงกา

 “กงการอะไรของข้า”

นายพรานว่า

          หลานจึงไปหาหนู ขอร้องหนูให้ช่วยไปกัดสายธนูของนายพราน

          หนูว่า “กงการอะไรของข้า”

หลานจึงไปหาแมว ขอให้แมวไปไล่กัดหนู

แมวเฉยอยู่และว่า “กงการอะไรของข้า”

          หลานจึงไปหาหมา ขอให้หมาไปช่วยกัดแมว

          หมาฟังแล้ว

          “กงการอะไรของข้า”

          หมาว่า

หลานจึงไปหาค้อน ขอให้ค้อนช่วยไปตีหัวหมา

ค้อนก็ว่า “กงการอะไรของข้า”

         หลานจึงไปหาไฟ ขอให้ไฟไปไหม้ค้อน

          ไฟไม่สนใจและว่า “กงการอะไรของข้า”

หลานจึงไปหาน้ำ ขอให้น้ำไปช่วยดับไฟ

น้ำยังคงไหลรินต่อไปและว่า “กงการอะไรของข้า”

          หลานจึงไปหาตลิ่ง ขอให้ตลิ่งไปพังทับน้ำ

          ตลิ่งฟังแล้วนิ่ง ตลิ่งว่า

          “กงการอะไรของข้า”

หลานไปหาช้าง ขอให้ช้างไปช่วยพังตลิ่ง

ช้างก็ว่า “กงการอะไรของข้า”

          หลานจึงไปหาแมลงหวี่ ขอให้แมลงหวี่ไปช่วยตอมตาช้าง

          แมลงหวี่รับอาสาหลาน

          จึงไปตอมตาช้าง

ช้างจึงไปพังตลิ่ง ตลิ่งจึงไปพังทับน้ำ น้ำจึงไปช่วยดับไฟ ไฟจึงไปไหม้ค้อน ค้อนจึงไปตีหัวหมา หมาจึงไปกัดแมว แมวจึงไปกัดหนู หนูจึงไปกัดสายธนูของนายพราน นายพรานจึงไปยิงกา กาจึงไม่มากินถั่วกินงา

ยายมายายไม่ด่า

ตามาตาไม่ตี

หลานจึงมีความสุขตลอดไป

 

อ่านนิทานเรื่องนี้แล้วคิดอย่างไรคะ

การที่หลานมีความสุขตลอดไปเพราะ สามารถไม่รับผิดชอบหน้าที่ต่อไปได้  หรือ  สามารถทำความผิดต่อไปได้โดยไม่ถูกลงโทษ เพราะมีผู้อื่นมากมายคอยให้การช่วยเหลือ ไม่น่าจะเป็นการจบเรื่องของนิทานที่ผู้ใหญ่ควรใช้ในการสอนเด็กนะคะ

ลองมองดูในสังคม พบว่าคนอย่างหลานมีอยู่จริงๆ

หรือนิทานไทยบางส่วน มีส่วนในการสร้างนิสัยนี้ให้คนไทย และหากเราเล่านิทานไทยเรื่องนี้ให้เด็กฟัง เราควรชวนเด็กคิดยังไงบ้าง

คุณคิดยังไงคะ

หากมองในแง่พุทธศาสนา จะพบว่าทั้งหลานและตัวละครในเรื่องขาดธรรมในหลายองค์ธรรมด้วยกัน

ในแง่ของหลาน  

พบว่าหลานขาดการนำธรรมะมาใช้ในชีวิต คือ ขาดการคิดแบบโยนิโสมนสิการ (ซึ่งมี 10 วิธีคิด),  ขาดสัปปุริสธรรม 7,ขาดอิทธิบาท 4 ขาดคิหิวินัย และขาดธรรมที่ทำให้เป็นบุคคลที่หาได้ยาก

1 ขาดการคิดแบบโยนิโสมนสิการ เช่น

การคิดแบบวิภัชชวาท สามารถนำการพูดการคิดแบบนี้มาประยุกต์กับการแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันได้โดย แยกเป็นหลายๆแนวทาง หลายๆแง่มุม แล้วจึงหาข้อสรุป เช่น หากคิดว่า การช่วยยายกับตาเฝ้าถั่วงา ส่งผลดีและผลเสียอย่างไร

จะได้ว่า

คิดในทางที่เกิดคุณต่อตายาย ตายายชื่นใจที่หลานกตัญญู ตอบแทนบุญคุณที่เลี้ยงดูมาด้วยการเป็นหูเป็นตา ดูแลทรัพย์สินของครอบครัว  

คิดในแนวที่เกิดคุณแก่หลาน หลานเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ที่ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างไม่บกพร่อง ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ รวมไปถึงการได้รับการยกย่องจากบุคคลทั่วไปได้รับการยกย่องจากบุคคลทั่วไป

การคิดในทางที่เกิดโทษต่อหลาน  หลานหมดโอกาสที่จะได้เล่นสนุกกับเพื่อน ลดโอกาสได้เรียนรู้โลกกว้าง

หากหลานได้คิดว่าผลจะเป็นอย่างไรตามวิธีต่างๆแล้ว เมื่อนำมาประเมิน หลานคงตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง ซึ่งผลอาจไม่ได้เป็นตามที่เกิดในนิทานก็ได้ (เช่น อาจรับอาสาเฝ้าถั่วงาอย่างเต็มใจ เอาใจใส่ แต่ขอแบ่งเวลาจากตายายเพื่อไปวิ่งเล่นบ้าง)

การคิดแบบสืบสวนต้นเค้า หรือสืบสาวหาปัจจัย ตามหลักธรรมอิทัปปัจยตา ปฎิจจสมุปบาท เช่น เมื่อคิดจากผลที่หลานถูกตี ย้อนลงไป จะพบว่าเป็นเพราะการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั่นเอง หรือจากการที่แมงหวี่ไปตอมตาช้าง ส่งผลต่อกาอย่างไร เป็นต้น

(วิธีคิดที่เหลือคือ วิธีคิดแบบแยกองค์ประกอบ, วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ หรือรู้เท่าทันธรรมดา,วิธีคิดแบบอริยสัจจ์,วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์, วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและหาทางออก, วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม,วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม และวิธีคิดแบบปัจจุบันธรรม)

2 ขาดบางข้อในองค์ธรรม สัปปุริสธรรม 7 เช่น

ไม่ รู้จักเหตุ ไม่รู้ว่าการไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่จะส่งผลต่อตนอย่างไร

ไม่ รู้จักผล ไม่รู้ว่าที่ตนถูกตีมาจากเหตุอะไร

ไม่ รู้จักตน ไม่รู้ว่าตนมีศักยภาพอย่างไร มีหน้าที่อะไร

ไม่ รู้จักกาล ไม่รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร

(องค์ธรรมที่เหลือคือ รู้จักประมาณ เช่น ประมาณในการรับประทานอาหาร ไม่ให้อิ่มมากเกินไป ประมาณระยะเวลาในการทำงานใดงานหนึ่ง, รู้จักบุคคล คือรู้ว่าบุคคลใดมีอุปนิสัยอย่างไร ควรปฏิบัติตอบอย่างไร และรู้จักบริษัท คือรู้จักสังคมของตน การปฏิบัติตนตามหน้าที่ ฐานะ ที่มีในสังคมด้วยความรับผิดชอบ)

3 ขาดอิทธิบาท 4

คือขาดฉันทะ วิระยะ จิตตะ และวิมังสา เพราะขาดความรักในงาน จึงขาดความอุตสาหะ ขาดการเอาใจใส่ และการตรวจสอบงานให้ได้รับผลดีอยู่เสมอ จึงได้ปล่อยปละละเลยงานที่ได้รับมอบหมายจนเกิดความเสียหายขึ้น อันนำไปสู่ความเดือดร้อนของทั้งตนเอง และผู้อื่น

4 ขาดคิหิวินัย

คือมีความเกียจคร้าน ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเป็นประพันธ์คาถาใน สิงคาลกะสูตร ว่า

          “ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลย

หนุ่มสาวที่ละทิ้งการงาน

โดยอ้างว่า “เวลานี้หนาวเกินไป

เวลานี้ร้อนเกินไป เวลานี้เย็นเกินไป” เป็นต้น

          ส่วนผู้ใดทำหน้าที่ของบุรุษ

ไม่ใส่ใจความหนาว ความร้อน ยิ่งไปกว่าหญ้า

ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมไปจากความสุข”

 

5 สำหรับบุคคลที่หาได้ยาก 2 นั้น คือ บุพการี อันหมายถึงผู้อุปการะก่อน ผู้ทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน และ กตัญญูกตเวที อันหมายถึงผู้รู้อุปการะที่เขาทำแล้ว ผู้รู้จักคุณค่าแห่งการกระทำดีของผู้อื่น และแสดงออก เพื่อบูชาความดีนั้น หรือกระทำการตอบเพื่อทดแทนบุญคุณ หากหลานรู้ถึงบุญคุณที่ตายายได้เลี้ยงดูมา ก็คงรับอาสาทำงานให้ด้วยความเต็มใจ

ในแง่ของตัวละครอื่นๆ

ตัวละครทั้งหมด ขาดบางข้อในกัลยาณมิตรธรรม เป็นมิตรเทียมตามคิหิวินัย และขาดพรหมวิหาร 4 และสังคหวัตถุ 4

1 ขาดกัลยาณมิตรธรรม คือ

ขาด  การรู้จักพูดให้ได้ผล การพูดอธิบายเหตุผลให้เข้าใจ การเป็นที่ปรึกษาที่ดี

ขาด การอดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟัง ซักถาม เสนอ และวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ฉุนเฉียว

(องค์ธรรมอื่นๆคือ น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจ ชวนให้อยากเข้าไปใต่ถาม, น่าเคารพ ในฐานประพฤติประพฤตสมควรแก่ฐานะ ทำให้รู้สึกว่าเป็นที่พึ่งได้, น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานที่มีความรู้และเป็นผู้อบรมตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่างและอ้างถึง, แถลงเรื่องลึกล้ำได้ ในฐานที่อธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายๆ และไม่ชักนำในอฐาน คือไม่แนะนำเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย)

และเพราะช่วยเหลือเพื่อนเมื่อตนมีภัย จึงจัดเป็นมิตรเทียม ตามคิหิวินัย (ตามที่ปรากฏในสิงคาลกะสูตรเช่นกัน)

2 ขาดพรหมวิหาร 4

แมงหวี่ ได้ชื่อว่าขาดธรรมในข้ออุเบกขา เพราะเมื่อเพื่อนทำผิด นอกจากจะไม่เป็นกัลยาณมิตร ไม่อธิบายเหตุผลให้เข้าใจ เพื่อแก้ไขพฤติกรรม ยังช่วยเหลือให้ได้ทำผิดต่อไป ไม่วางใจเป็นกลาง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรม

ส่วนเพื่อนคนอื่นๆ ถือว่าขาดกรุณา คือ เมื่อเห็นเพื่อนมีทุกข์ ไม่มีความปรารถนาให้เพื่อนพ้นทุกข์ นิ่งดูดาย ไม่ให้แม้คำพูดอธิบายให้เข้าใจเหตุผล อันนำไปสู่การขาดสังคหวัตถุ 4 ตามมา

3 ขาดสังคหวัตถุ 4

หรือธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวใจบุคคล หลักในการสงเคราะห์ อันประกอบด้วย ทาน การให้ คือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, ปิยวาจา พูดจาด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวาน มีวาจาเป็นที่รัก, อัตถจริยา ขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น, และสมานัตตตา ความมีตนเสมอ คือเสมอต้นเสมอปลาย (ที่จริงนายพรานมีอัตถจริยานะคะ แต่เป็นไปในทางที่ไม่พึงประสงค์)

4 เป็นมิตรเทียม

เพราะช่วยเหลือเพื่อนเฉพาะเมื่อมีภัย ตามที่พระพุทธองค์เทศนาแก่สิงคาลกมาณพดังนี้

[๒๕๕] คหบดีบุตร คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการ คือ

๑.เป็นผู้ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว

๒.เสียน้อย ปรารถนาได้มาก

๓.เมื่อตัวเองมีภัยจึงทำกิจของเพื่อน

๔.คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์

คหบดีบุตร คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว เธอพังทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล

เหล่านี้เป็นองค์ธรรมที่สัมพันธ์กับนิทานเท่าที่นึกออกในขณะนี้ค่ะ

เหตุที่เขียนบันทึกนี้ขึ้น เพราะอยากเสนอว่า หากเราสอนพุทธศาสนาเด็กๆด้วยนิทาน โดยชวนเด็กคิดตาม อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยให้เด็กๆนำพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันได้

การนำองค์ธรรมมาสัมพันธ์กับนิทานนั้น ไม่ยากค่ะ แต่ที่ยากคือ ทำอย่างไร เด็กๆจึงจะสนุกกับการฟังนิทานที่มีการแจกธรรมอย่างนี้

 

หมายเลขบันทึก: 402737เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2010 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

อรุณสวัสดิ์คะ พี่ณัฐรดา :

  • มนุษย์เราติดสบาย กลัวที่จะเหนื่อย กลัวที่จะต้องทำงานหนัก กลัวที่จะต้องถูกลงโทษ เลยพยายามมองหาสิ่งที่จะมาช่วยไม่ให้เราต้องลำบาก จึงมองหาคน(ผู้อื่นที่ไม่ใช่ตนเอง) สัตว์ สิ่งของเพื่อมาช่วยผ่อนแรง และเริ่มมีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์มากมาย และพัฒนาการไปเรื่อยๆ  อย่างเช่น เครื่องจักรกลเริ่มจากเพียงนำมาช่วยผ่อนแรง จนกลายมาเป็นทำงานแทนมนุษย์ได้ จนมนุษย์ต้องตกงาน ไม่ต้องทำงาน เลยได้สบายจริงๆ แต่แล้วก็มีปัญหาต่อไปอีก เริ่มเรียกร้อง อะไรต่างๆ นานา มองหานายพราน มองหาหนู หาตลิ่ง ฯลฯ ต่อไปอีก ... เฮ้อ มนุษย์ ^^"
  • พี่ณัฐรดาสบายดีนะคะ ^^

เรียนคุณณัฐรดาครับ

หลวงพ่อพุทธทาสใช้นิทานเรื่องนี้สอนเรื่องอิทัปปัจจยตา หรือเรียกอีกอย่างอีกว่า ปฏิจจสมุปปบาท ซึ่งเป็นธรรมขั้นสูงในพระศาสนา หลักฐานอีกอย่างหนึ่ง มีนิทานเรื่องนี้เป็นภาพลงรักปิดทองอยู่ที่บริเวณโบสถ์วัดพระเชตุพน เนื้อเรื่อง(นิดๆนะ ผมมีความรู้นิดเดียว) สรรพสิ่งในโลกนี้เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ใบไม้บนยอดไม้เกี่ยวเนื่องกับใบไม้ที่ร่วงหล่นบนพื้นดินอย่างไร เมฆบนฟ้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำบนพื้นดินอย่างไร ชีวิตปัจจุับันเกี่ยวเนื่องกับชีวิตที่วนเวียนเกิดดับไม่รู้สิ้นอย่างไร แบบเนี๊ยะครับ 

เอ ผมทำให้งงกว่าเดิมหรือเปล่าครับ

สวัสดียามเช้าค่ะ....

เด็กสมัยนี้เขาไม่ค่อยอ่านนิทานแบบนี้หรือผู้ใหญ่ก็ไม่เล่านิทานทำนองนี้ให้ฟัง

ส่วนมากสื่อทางด้านอื่นๆมากกว่าที่ทำให้เด็กเปลี่ยนนิสัย

รวมทั้งสภาพการเลี้ยงดูทางบ้านด้วย  ทำให้คนเราเดี๋ยวนี้ขาดความรับผิดชอบ

เห็นแก่ตัว  เอาดีใส่ตัว  ไม่ค่อยจริงใจและอีกสารพัดอย่างที่ทำให้สังคมตกต่ำ..

คิดถึง อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ควรสอนคู่นิทานเรื่องนี้ ค่ะ

สวัสดีค่ะพี่

...ชอบร้องเพลงนิทานยายกับตาปลูกถั่วงา ให้ลูกฟัง

เนื้อเพลงมีดังนี้ค่ะ

ยายกับตา ปลูกถั่วงา ตามประสาคนดอย ให้หลานเฝ้าคอย คอยดูแลถั่วงา แต่หลานจอมซน ไม่สนใจ ไม่นำพา ปล่อยให้อีกา มากินถั่งงา ของตา กับยาย ยายมายายก็ด่า ตามาตาก็ตี เจ้าหลานตัวดี วิ่งหนีไปหานายพราน นายพรานได้ฟังก็ง้างธนูขึ้นฟ้า เล็งศรไปถูกอีกา บังเอิญบินมาเสียบอุราพอดี ยายมายายไม่ด่า ตามาตาไม่ตี เจ้าหลานยิ้มจนแก้มปรี่ ไม่ถูกตีแล้วสิเรา.....(จบค่ะ)

...........จริงด้วยค่ะ นิทานเรื่องนี้ มีนายพรานเข้ามาช่วยคนไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ให้รอดจากการถูกทำโทษจริงๆด้วย

...................................ขอบคุณสำหรับแง่คิดค่ะ / เจ้าหลานร้ายจริงๆฮา........................

สวัสดีค่ะอาจารย์ณัฐพัชร์

ขอบคุณค่ะที่แวะมาเจิมให้

ทั้งๆที่หัวฟูอยู่นะคะนี่

ขอบคุณคุณโสภณ เปียสนิทด้วยค่ะที่มาแสดงความเห็น

ไปฟังธรรมตามกาลที่บ้านมาแล้วค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ณัฐรดา

อ่านนิทานเรื่องนี้แล้วนึกถึงตอนเด็ก เคยฟังค่ะแต่จำเนื้อหาได้ไม่หมด ถึงฟังตอนนั้นก็ไม่ได้คิดวิเคราห์อะไรค่ะ ขอบคุณที่นำมาเล่าและชวนคิดค่ะหลานจึงมีความสุขตลอดไป เหมือนจะจบลงด้วยดีนะค่ะ คล้ายๆส่งเสริมให้ทำ

ในเรื่องนี้หลานทำผิดจริง ตายายก็เลยว่าให้

หลานหาทางออก หาทางแก้ปัญหา ไม่อยากให้กามากินถั่วงา

เป็นการแก้ปัญหาที่มีแต่การทำลายค่ะ ไม่สร้างสรรค์ ในเรื่องจะเห็นว่าถูกปฏิเสธบ่อยๆแต่ไม่ละความพยายาม

ถ้าเอาความมานะมาใช้ที่สร้างสรรค์คงจะดีค่ะ ทำอย่างไรกาจะไม่มากินถั่วงา ทบทวนตัวเองเราเฝ้าไม่ดีหรือเปล่า มีความรับผิดชอบพอไหม ถ้าทำดีแล้วแต่กายังมากินก็ต้องสื่อสารดีๆกับตายาย หาทางแก้ปัญหากัน

ขอบคุณบันทึกดีๆนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะ

                 ถ้าเล่านิทานเรื่องนี้ให้เด็กฟัง เด็กเล็กๆก็คงชอบฟัง หลานกลายเป็น

เด็กวิเศษที่พูดกับใครๆก็ได้ มองในมุมหนึ่งก็สอนให้เขามีความพยายามนะ แต่

เป็นนิทานกล่อมนอนฟังยังไม่ทันจบเด็กนอนหลับปุ๋ยไปเลยก็ดีนะ

  • สวัสดีครับพี่ รัฐรดา
  • มาฟังนิทานครับผม
  • ผมเองก็ชอบเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง
  • มีความสุขนะครับ

สวัสดีค่ะ มาอ่านนิทานค่ะ

ของไทยเรานั้นสอนใจ สอนคนได้ดีนักแล

แต่สมัยนี้คนสอนมักมองข้าม เด็กไทยไม่รู้จักนิทานไทย

เป็นเรื่องน่คิดค่ะ ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีครับ
  • แวะมาอ่านนิทานครับ
  • นิทานเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผลในทุกกาลเวลานะครับ
  • แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไป มีสื่อมากมายก็ตาม
  • ขอบคุณครับ

คุณคิดยังไงคะ.....ผมคิดอย่างนี้ครับ

  • ความสามัคคี การรวมพลังเชิงสร้างสรร ย่อมขจัดปัญหาอุปสรรบางประการได้เสมอ
  • ความเกื้อกูล การมีน้ำใจและจิตอาสา เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับสังคม ที่ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ..ครับ

 

สวัสดีค่ะพี่ณัฐ ศิลปะช่วยจรรโลงใจ เสริมจินตนาการเด็กๆ ชอบ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท