ชุมชนต่อรองอำนาจรัฐได้ ถือว่าสุดยอดของความเข้มแข็ง


 

ในการทำงานกับชุมชน ผมเห็นปรากฏการณ์หลายอย่าง และปรากฏการณ์ที่พบเห็นสำคัญอย่างยิ่ง ในการทำงานชิ้นใหม่ๆร่วมกับชุมชน

 

ช่วงหลังทำงานวิจัย ประเด็น "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" ในประเด็นที่ทั้งเจาะลึก และแนวกว้าง คือระดับประเทศ ผมเห็นปรากฏการณ์ที่เป็นบทเรียนที่ดีซ่อนอยู่ในชุมชนเหล่านั้น

 

ประเด็น- - -ความเข้มแข็งของชุมนที่สร้างจากชุมชน เป็นเรื่องค่อนข้างเข้าใจยาก แต่เราพูดกันง่าย อาจเพราะมาตรฐานอย่างไรก็ไม่รู้ ที่เราบอกว่า "เข้มแข็ง" ดังนั้นแข็งนิดๆ แข็งพอประมาณ หรือ แข็งโป๊ก ก็ถือว่าแข็งทั้งนั้น การเหมาสรุปรวมว่าชุมชนเข้มแข็งจึงต้องทบทวนให้ชัด

สำหรับผมความเข้มแข็งที่ผมมองว่า "ชุมชนเข้มแข็ง" คือ ชุมชนสามารถต่อรองกับอำนาจข้างนอกได้ นั่นคือสุดยอดของความเข้มแข็ง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความตั้งใจจะพัฒนาตนเองโดยพึ่งตนเองเป็นหลัก

ตัวอย่างที่หมู่บ้านกระเหรี่ยงกลางดอยสูงในจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ที่ไม่ยอมรับโครงการพัฒนาของรัฐที่จะไปสร้างสิ่งก่อสร้าง ที่มีวัตถุประสงค์ที่บอกว่าเพื่อความสะดวกสบายของชุมชน ชาวบ้านบอกว่า เขาไม่รับได้มั้ย..เพราะเขายังไม่จำเป็นในขณะนี้  และอีกอย่างโครงการนี้เข้าไปจะทำลายระบบนิเวศ ป่าไม้ที่เขารักษา และหวงแหนกันมานาน

ชาวบ้านจำนวนหนึ่งไปยื่นข้อเสนอนี้ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

จนในที่สุดโครงการพัฒนาโดยรัฐ นั้นได้ยกเลิกไป...

ผมชื่นชมวิธีคิดของชาวบ้านกระเหรี่ยงหมู่บ้านนี้เป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่เคยได้รับ รางวัลลูกโลกสีเขียว และเป็นพื้นที่ศึกษาดูงาน ประเด็น การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน

นี่เป็นผลผลิตของการพัฒนาที่มุ่งให้ความสำคัญพลังชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาที่เน้นการเสริมพลังปัญญาจากฐานราก ..แม้เราจะใช้เวลาในการพัฒนา ร่วมกันเรียนรู้ยาวนานบ้างตามธรรมชาติของการเรียนรู้ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชน   หายเหนื่อยครับ!!!

บ้านของผม

ถ่าย ๑๖ ก.ค.๕๐

 

 

หมายเลขบันทึก: 112166เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2007 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

คุณเอกคะ..เวลาที่มีโครงการแบบนี้ไม่ทราบว่าทางรัฐได้ปรึกษาหารือกับชุมชนก่อนหรือไม่..และชุมชนมีสิทธิในการตัดสินใจรับหรือไม่รับโครงการต่างๆที่เข้ามาภายในถิ่นตัวเอง.งไม่ทราบว่าขอบเขตของสิทธินี้มีได้มากขนาดไหนคะ

แต่ที่ฟังจากคุณเอก..บางทีเหมือนพวกเค้าไม่ได้มีสิทธิซักเท่าไร..แต่ก็ดีใจที่ชุมชนแข็งแรงในการต่อต้านกระแสข้างนอกได้..หายเหนื่อยด้วยอีกคนค่ะ..

ขอบคุณนะคะ..สำหรับการแสดงแนวคิดดๆออกสู่ชุมชนค่ะ..(ตัวเองก็เพิ่งจะรู้เหมือนกันค่ะ..)

สวัสดีค่ะ

ปัจจุบันหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่เคยได้รับ รางวัลลูกโลกสีเขียว และเป็นพื้นที่ศึกษาดูงาน ประเด็น การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน

นี่เป็นผลผลิตของการพัฒนาที่มุ่งให้ความสำคัญพลังชุมชนท้องถิ่น

อ่านแล้วก็ชื่นชมนะคะ แสดงว่า ชุมชนนี้ มีผู้นำที่เข้มแข็งทีเดียว

รางวัลลูกโลกสีเขียวมีมานานเกือบ10ปี เป้นการแสดงจุดยืนของวิถีแห่งความพอเพียง แบ่งปันระหว่าง คน น้ำ ป่า โดยป่ายังอยู่ไม่โดนถางไปหมด

เป็นการสะท้อนแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี

และก็เป็นแนวเดียวกับ Small is beautiful ของชูมาเกอร์

ที่เป็นนักมนุษย์นิยมค่ะ

สวัสดีครับครูแอ๊ว

P

ชุมชนอยู่ภายใต้การดูแลทุกข์ สุข จากภาครัฐครับ การเข้าไปพัฒนาโดยตรงของภาครัฐก็เป็นความชอบธรรม แต่ว่าด้วยวิธีคิดบางอย่าง บางคน บางหน่วยงานองค์กรที่ความจริงใจน้อย และ  "ไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง" การพัฒนาจึงเกิดขึ้นและต่อมาได้สร้างปัญหามากในชุมชน

ชุมชนมีสิทธิเต็มที่ครับ ตาม รธน. แต่ว่าชุมชนเองก็ไม่ได้ใช้สิทธินั้น เพราะปัจจัยหลายอย่าง หากเขียนคงยาวครับครูแอ๊ว

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนา ในรูปแบบไหนก็ตาม เราสามารถพัฒนา และ empower ชุมชนระดับตั้งแต่ปัจเจคได้  โดยเฉพาะคุณครูในโรงเรียนครับ ผมว่าปลูกฝังตั้งแต่เด็กได้ จะดีมากๆครับผม

ขอบคุณครูมากนะครับ

ในเรื่องของชุมชนนั้น  ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจ  ที่คนในชุมชนนั้นจะเลือกเช่นไร  เพราะวิถีชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นยังคงต้องอยู่ในชุมชนนั้นสืบนานต่อไป

แต่โครงการของรัฐนั้น  บางครั้ง คนของภาครัฐเองก็ไม่อยากทำ  แต่ที่ทำเพราะมีงบประมาณมาให้ และในการทำตามงบประมาณนั้นพื้นที่ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่ผ่านมา  ยกเว้นเป็นโครงการต่อเนื่อง   จึงเป็นยากลำบากที่คนของรัฐในพื้นที่จะตัดสินใจ  เพราะการสั่งการนั้นย่อมทอดกันตามตามสายของงาน  ตามขั้นลำดับ  และผู้ทำย่อมเป็นผู้น้อยที่ต้องทำตามคำสั่ง

และบางโครงการก็ต้องตอบว่า  ผู้มีอิทธิพล  เหนือราชการมีส่วนด้วย  (อย่างมากๆ) ถามว่าทำไมผู้มีอิทธิพลนั้นทำได้  ก็ต้องตอบว่า  เวลาท่านเลือกบรรดานักการเมืองทั้งหลายเข้าไปในระบบ  สส. ก็ดี  สว. ก็ดี  อบต.ก็ดี ท่านเลือกคนเช่นไร  พวกเขาเหล่านั้นก็ตอบสนองกลับเช่นนั้นตามพฤติกรรมที่แท้จริงของคนนั้น  ถ้าท่านเลือกคนดีมีศีลธรรม  มีความรักต่อสภาพแวดล้อม  คำนึงถึงผลเสียหายต่อโลกใบกลมๆ นี้  และไม่เป็นผู้โลภมากจนถึงขนาดโกงกินทุกอย่างได้  ท่านก็จะได้คนที่ทำอะไรคำนึงถึงส่วนรวม  นึกถึงสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตแห่งชุมชนส่วนรวม  แต่ถ้าท่านเลือกคนไม่ดีหละ  คนเหล่านั้นก็จะเอาทุกวิถีทางเพื่อที่จะเอาประโยชน์แห่งตน  แห่งพวกพ้องน้องพี่ตนเอง  แห่งพรรคพวกตนเอง โดยไม่คำนึงผลระยะยาวที่จะตามมา  และอีกทั้งตัวบทกฏหมายของประเทศก็อยู่ในเงื้อมือของคนเหล่านั้นที่จะแก้ไข  ดัดแปลง สั่งการ ให้ทำตามใจปรารถนาย่อมได้  รวมทั้งมีอำนาจเหนือข้าราชการเสียด้วยซ้ำ  เพราะสามารถสั่งการข้าราชการได้ เนื่องจากคนที่ท่านเลือกนั้นไม่มีตัวบทกฏหมายที่จะลงโทษอย่างแท้จริง  และแก้ไขกฏหมายเพื่อตนเองไม่มีผิดอย่างแท้จริงได้

บางครั้ง  จึงเป็นที่น่าสงสารและเห็นใจประเทศไทย และคนไทยทุกคน  (ที่ต้องบอกทุกคนเพราะถือบัตรประจำตัวประชาชนเหมือนกันแต่อาจจะมีหน้าที่ต่างกัน)  ที่มีคนที่มีอำนาจเหล่านี้มาสั่งการ และทำลายซึ่งความดีงามของคนอีกส่วนใหญ่ที่ต้องทำงานตามหน้าที่  เพราะถูกกฏระเบียบ วินัย บังคับ

โครงการหลายโครงการในชุมชน  จึงมีทั้งคนดีและคนไม่ดีเข้าไปอยู่  เข้าไปแสวงหาประโยชน์ 

และเป็นสิ่งที่ดียิ่งที่ในยุคปัจจุบัน  คนหันมาสนใจที่จะให้วิถีแห่งชุมชนนั้น  ให้คนในชุมชนนั้นเลือกได้ด้วยตนเอง  จนถึงกระทั้ง พณฯ รองนายกรัฐมนตรีฯ และรัฐมนตรีของกระทรวงฯ หนึ่ง ก็พยายามผลักดันให้มีกฏหมายของชุมชน  ซึ่งในระยะยาวนั้นนับว่าได้ประโยชน์มาก  แต่จะได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ที่ว่า  ผู้นำในชุมชนนั้นท่านเลือกคนประเภทไหนเข้าไปเป็นผู้นำด้วย  และบุคคลเหล่านี้ก็จะทำโครงการเพื่อชุมชนของตนเอง  ตามวิถีที่ชุมชนตนเองต้องการ 

 

 

สวัสดีค่ะคุณจตุพร ความเข้มแข็งที่แท้จริง คือความเป็นอิสระจากอำนาจใดๆ

ใช่ค่ะ คนทำงานที่เข้าใจชุมชนจะมีความสุขและปิติที่เห็นชุมชน "กล้า"ที่จะแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกของตน และประสบความสำเร็จตามสิ่งที่เขาคิด เป็นเหมือนน้ำทิพย์ ที่ทำให้หายเหนื่อย แม้ที่ใดยังไม่สำเร็จ ก็ยังมีแรง มีความเพียรต่อในสิ่งที่มุ่งมั่น

ตัวอย่างจากความสำเร็จควรได้รับการบอกกล่าวต่อๆไปให้กว้างไกล ให้ได้วิเคราะห์ปัจจัยของความสำเร็จ นำมาใช้

เข้าใจประเด็นที่คุณ "คนข้างหลัง"เขียน แต่รู้สึกว่าปัจจุบัน ทางการก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หากนักพัฒนาที่จะเข้าไป รู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล หรือความไร้เหตุผลของโครงการ ขอให้หาแนวร่วมมาช่วยกันทำให้สังคมรับรู้(เช่นสื่อมวลชน) อยู่แต่ว่านักพัฒนากลุ่มนั้นๆจะมีความเข้มแข็งทางความคิด และกล้าที่จะทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นหรือเปล่า ใช่ไหมคะ

สวัสดีครับ

พี่ศศินันท์

P

ชุมชนที่นำมายกตัวอย่าง เป็นชุมชนกระเหรี่ยง โดยปกติคนกระเหรี่ยงชอบความสงบ ไม่ค่อยเรียกร้อง แต่เมื่อมีอำนาจจากภาครัฐเข้ามา และชุมชนเป็นชุมชนที่เรียนรูตนเอง มั่นใจในการต่อรอง จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เราสนใจ

ที่แม่ฮ่องสอนมีหลายๆชุมชน ช่วงแรกผมก็ตั้งใจจะนำเสนอเข้ารับรางวัลลูกโลกสีเขียว แต่มองดูภาระของกระผมเองมากมายจนไม่ค่อยมีเวลา เพราะอาจต้องนั่งเขียน นั่งลุ้นพอสมควร

เป็นปรากฏการณ์หนึ่งครับ ที่เป็นชุมชนเข้มแข็งโดยที่ชุมชนสามารถต่อรองกับชุมชนได้ และเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ครับ

สวัสดีครับ

ไม่มีรูป
คนข้างหลัง

ขอบคุณความคิดเห็นเติมเต็มครับ ข้อคิดเห็นแบบนี้ทำให้มองถึงทุกมิติในชุมชนที่เป็นจริง

อยากให้ชุมชนตระหนักเช่นนี้ครับ เพราะชุมชนคือที่อยู่ที่อาศัยของพวกเขาเอง ดังนั้นการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตจึงสำคัญที่อญุ่ เจ้าบ้านจะตัดสินใจในการพัฒนา ผลของการคิด การพัฒนาส่งผลอย่างยิ่งต่อภาพของชุมชนในอนาคต

ส่วนกรณีของโครงการรัฐ  บ่อยครั้งที่ชาวบ้านอาจไม่พึงพอใจ และจำเป็นต้องยอมรับตามข้อเสนอที่รัฐเสนอ ในส่วนมุมมองรัฐตามปรากฏการณ์นี้

"แต่โครงการของรัฐนั้น  บางครั้ง คนของภาครัฐเองก็ไม่อยากทำ  แต่ที่ทำเพราะมีงบประมาณมาให้ และในการทำตามงบประมาณนั้นพื้นที่ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่ผ่านมา  ยกเว้นเป็นโครงการต่อเนื่อง   จึงเป็นยากลำบากที่คนของรัฐในพื้นที่จะตัดสินใจ  เพราะการสั่งการนั้นย่อมทอดกันตามตามสายของงาน  ตามขั้นลำดับ  และผู้ทำย่อมเป็นผู้น้อยที่ต้องทำตามคำสั่ง"

คอรัปชั่นสูงมากที่จังหวัดชายแดนที่ผมอยู่ในอดีต การกินต่อกันเป็นทอดๆจนเหลือถึงชุมชนไม่เท่าไหร่ การจำลองการคอรัปชั่นระดับประเทศลงสู่ การบยริหารส่วนย่อยในท้องถิ่นแทบไม่ต่างกัน ยิ่งจังหวัดที่โครงสร้างสิ่งก่อสรางยังน้อย ก็เป็นช่องทางในการฉ้อโกงมากขึ้น

ส่วนหนึ่งก็เป็น ข้าราชการการเมืองท้องถิ่นในแต่ละระดับที่มีกิจการผู้รับเหมาอยู่ด้วยแทบทุกราย เป็นการยากที่จะเยียวยาตรงนั้น แต่ก็เป็นบทเรียนให้ชุมชนคิดย้อนกลับ หากมีการเลือกตั้งอีกครั้ง จะเลือกคนแบบไหน หลายครั้ง(ส่วนใหญ่)ก็แพ้อำนาจเงินครับ

ดูเหมือนหมดหวัง แต่ยังมีชุมชนที่พัฒนาตนเองเสริมสร้างความเข้มแข็ง สามารถต่อรองกับรัฐได้ นี่ก็เป็นส่วนน้อย นับชุมชนได้ มีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งเรื่องผู้นำ ผู้นำก็ต้องแกร่งจริง ผู้สนับสนุน เครือข่าย

มองเรื่อง "เครือข่าย" เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมาก ผมมองเห็นเครือข่ายในแต่ละระดับชัดเจนและมียุทธศาสตร์ในการทำงานเพื่อผดุงสิทธิ์ตนเองเพิ่มมากขึ้น นั่นคือ ปัจจัยในการเดินต่อของชุมชนที่เข้มแข็งหลายระดับเกี่ยวเข้าด้วยกัน นักพัฒนาควรมองในเรื่อง "เครือข่าย" มากขึ้นครับ

 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

สวัสดีครับ อาจารย์

P

ยินดีและเป็นเกียรติครับในการเข้ามาเสนอแนะครับ

ผมเห้นด้วยครับ เรื่องการถอดบทเรียนชุมชนเข้มแข็ง ที่แม่ฮ่องสอนมีหลายๆชุมชนด้วยกัน และ การพัฒนาในชุมชนเหล่านี้เป็นรูปธรรมชุมชนมีคุณภาพชีวิตและมีความสุขที่เห็นได้ชัดเจน

มีการต่อรองอำนาจรัฐ มีการปฏิเสธในสิ่งที่ส่งผลเสียต่อชุมชน และการบริหารงานที่เป็นระบบน่าชื่นชม

ผมมีส่วนบ้างในการเป็นนักพัฒนาครับ แต่ก็เชื่อมเข้าไปเชิงประเด็น ด้วยที่เขาแข็งอยู่แล้ว งานที่นำเข้าไปก็สำเร็จเป็นอันดีครับ

ทั้ง go และ ngo ก็คงต้องปรับตัวเข้าหากัน ชุมชนเองก็ต้องเรียนรู้ทั้งตัวเองและภายนอกให้รู้เท่าทัน จึงจะไปรอดและอยู่ได้

ขอบคุณอาจารย์มากๆครับ

* * * มีโอกาสจะไปคารวะท่านอาจารย์ถึงที่บ้านสักครั้ง ได้ยินอาจารย์บอกกล่าวเรื่องราวที่บ้านพักอาจารย์น่าสนใจมากครับ

บ้านน่าอยู่จริงๆ  บรรยากาศดี ไว้จะไปเที่ยว

ยินดีต้อนรับพี่เหลียงครับ

มีเวลา มีโอกาสเชิญชวนมาเที่ยวได้ครับ ที่

"เมืองปาย"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท