เรียนโครงงานกับครูชำเลือง ตอนที่ 1


โครงงาน ผู้เรียนเป็นผู้เลือกด้วยตนเอง

เรียนโครงงานกับครูชำเลือง

ตอนที่ 1  (เกี่ยวกับโครงงาน) 

1. ย้อนอดีต (ภาพเก่าของวิชาโครงงาน)         

    โครงงาน เป็นวิชาบังคับเลือกที่มีในหลักสูตร ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) โดยเรียกว่า รายวิชา  ง 321 และ ง 322 โครงงาน....... แต่เดิมอยู่ในกลุ่มวิชาการงาน ต่อมาสามารถเปิดสอนได้ทุกกลุ่มวิชา จึงมีจุด ๆ ต่อท้ายโครงงานเอาไว้  หมายถึงสามารถเติมชื่อต่อท้ายได้ตามความสนใจ เช่น โครงงานเขียนสีไม่มีซ้ำ โครงงานเพลงพื้นบ้านที่ฉันรัก  เป็นต้น           คำอธิบายรายวิชาโครงงาน  ง 321 และ ง 322 โครงงาน........ศึกษาหลักการและวิธีการเกี่ยวกับโครงงานที่เลือก  วิเคราะห์  วางแผน  ลงมือผลิตชิ้นงาน  และปรับปรุงการทำงาน  เพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้องตามกระบวนการ ประหยัด ปลอดภัย และได้ชิ้นงานที่นำเอาไปใช้ประโยชน์ได้           วิชาโครงงานจึงเป็นรายวิชาสามัญที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกทำโครงงานได้ตามความสนใจของตนเอง หลักสูตรจึงบังคับให้นักเรียนทุกคนต้องเรียนวิชานี้ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนมาก โครงงานเป็นวิชาที่มองเห็นชิ้นงาน มองเห็นภาพการนำเอาผลงาน หรือชิ้นงานไปใช้ได้จริง ๆ (ถ้าครูสอนตามหลักสูตรจริง)           ขอบข่ายของวิชาโครงงาน เป็นการดำเนินงานโดยนักเรียน นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกโครงงานเอง เป็นผู้วางแผน คิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นผู้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง  จะทำโครงงานเดี่ยว ๆ คนเดียว หรือทำเป็นกลุ่ม 3-5 คน (ตามความเหมาะสม) ก็ได้  นักเรียนเป็นผู้ปรับปรุงผลงาน เขียนรายงานและนำเสนอผลงานต่อครูที่ปรึกษา ส่วนครู อาจารย์ เป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำปรึกษา เท่านั้น (มิใช่คุณครูช่วยทำนะ) หรือนำเอาวิชาโครงงานไปสอนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (ไม่ตรงหลักสูตร)          ความหมายของวิชาโครงงาน โครงงานคือการจัดการแก้ปัญหาหรือข้อสงสัย หาคำตอบโดยใช้กระบวนการที่น่าเชื่อถือ      

2. ประเภทของโครงงาน แบ่งออกเป็น  4 ประเภท คือ

    1. โครงงานประเภทพัฒนางาน (หลักการ ทฤษฎี)  เช่น สร้างเครื่องอบกล้วย   เพ้นท์สีบนกรอบรูป

     2. โครงงานประเภทศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เช่น ศึกษาความแตกต่างของสี 2 ชนิด

    3. โครงงานประเภทสร้างสิ่งประดิษฐ์  เช่น ประดิษฐ์ของชำร่วย ออกแบบเสื้อผ้า วาดภาพ

    4. โครงงานประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล เช่น สำรวจคนเพลงพื้นบ้าน สำรวจราคาวัสดุศิลปะ

       ก่อนที่ผู้เรียนจะทำโครงงาน จะต้องทำการวิเคราะห์โครงงานเสียก่อนว่า ตนเองมีความสามารถหรือถนัดในงานประเภทใด ใน 4 รูปแบบโครงงานนั้น โดยให้ผู้เรียนเขียนชื่อผลงาน/กิจกรรมที่ตนเองถนัดขึ้นมาให้มากที่สุด และจำแนกออกไปตามประเภทของโครงงาน แล้วเลือกชื่อผลงานที่อยู่ในประเภทของโครงงานที่นักเรียนถนัด สนใจ เช่น วิเคราะห์ได้ว่ามีอยู่จำนวน  5 ผลงาน ที่อยู่ในประเภทโครงงานสร้างสิ่งประดิษฐ์ ได้แก่ งานประดิษฐ์ดอกไม้ งานเพ้นท์สีบนผลิตภัณฑ์ งานประดิษฐ์ของชำร่วย งานแสดงเพลงพื้นบ้าน  งานดนตรีประเภทให้จังหวะ          ในการที่นักเรียนจะเลือกทำโครงงานใด ในจำนวนประเภทที่ถนัดหรือมีความสามารถ จะต้องนำเอางานทั้ง 5 อย่างนั้นหรือมากกว่านั้น ไปทำการวิเคราะห์ตามหลักของโครงงานคือ งานนั้นตรงกับความสนใจ  ความถนัด  ความสามารถ ประสบการณ์  ความพร้อม ประโยชน์  ประหยัด  ปลอดภัย ได้ชิ้นงาน และไม่ซับซ้อน (หรือตามประเด็นอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับตัวนักเรียน)         

      ผมได้รับหนังสือเชิญจากสำนักงาน หน่วยศึกษานิเทศก์ เขตการศึกษา 5 จังหวัดราชบุรี ให้เข้าร่วมประชุมสัมมนาครูผู้สอนวิชาโครงงานชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในงานมหกรรมการศึกษาเพื่อสามัญ เขตการศึกษา 5 ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องโสตทัศนศึกษา โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่  15 กันยายน 2536  สำหรับเป็นแนวทางให้ครูที่สอนวิชาการงานได้นำความรู้ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน วิชาโครงงาน ง 321 และ ง 322 ในการประชุมครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 160 คน (ครูที่สอนวิชาโครงงานอื่น ๆ นอกจากกลุ่มวิชาการงานก็ไปกันด้วย) ผมเป็นครูผู้สอนวิชาศิลปะ ผมเปิดสอนวิชาโครงงานที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ในปี การศึกษา 2535 ผมจึงไปร่วมสัมมนาในครั้งนี้ด้วย ผมได้รับเอกสาร โครงสร้างของการจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงาน ได้รับเอกสารประกอบการสัมมนาของกรมสามัญศึกษา ที่หน่วยศึกษานิเทศก์ได้อัดสำเนามาแจก จนถึงวันนี้ผมยังเก็บเอาไว้ใช้ศึกษาประกอบการสอนอยู่ ยังไม่ล้าสมัย เพราะว่าเมื่อย่ามที่ผมมีข้อสงสัย ผมยังมีข้อมูลให้สืบค้น และหาได้จากเว็บ เรื่องของโครงงานยังคงมีหลักสูตรและคำอธิบายรายวิชาคงเดิมหรือแปลกออกไปบ้างเล็กน้อยแต่ก็มิได้ผิดความหมายไปจากเดิมเลย

3. สิ่งสำคัญของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาโครงงาน          

    รายวิชานี้ นักเรียนจะต้องผลิตชิ้นงานที่เป็นวัตถุ (กระดาษ เทป เอกสาร วิดีโอ แฟ้ม อาหาร ผลิตภัณฑ์ สิ่งของ เครื่องมือ ภาพถ่าย ฯลฯ) ออกมาและสามารถที่จะนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของนักเรียนเอง โดยมีหลักในการจัดกิจกรรมวิชาโครงงานว่า เปิดโอกาสให้นักเรียนคิด ค้นหาความสามารถ ความถนัด ความสนใจของตนเอง วิเคราะห์ วางแผน รวบรวมข้อมูล ลงมือปฏิบัติงาน (แก้ปัญหา) ประเมินผลงาน ปรับปรุงผลงานให้มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงความประหยัด ความปลอดภัย สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และเศรษฐกิจของผู้เรียนด้วย

4. ความสำคัญของวิชาโครงงาน         

    เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ ความรู้ ประสบการณ์ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง (มิใช่ครูเป็นผู้สอน) พัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ มีระบบในการเรียนรู้ที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการ วิเคราะห์ วางแผน ลงมือปฏิบัติ ประเมิน ปรังปรุง นำเสนอ เผยแพร่ผลงาน เป็นการพัฒนาเจตคติ เห็นคุณค่าของชีวิต ที่จะต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง คิดเป็นทำเป็นแก้ปัญหาได้ มีความรับผิดชอบในการทำงาน และมีวินัยในตนเอง ผู้เรียนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเกิดความรักความสามัคคี (ในกรณีที่ทำงานเป็นกลุ่ม)5. มาถึงวันนี้ (มองภาพวิชาโครงงานในปัจจุบัน)         

     ในปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เป็นหลักสูตรสถานศึกษา แต่ยังมีการบรรจุรายวิชาโครงงานเอาไว้เป็นวิชาเพิ่มเติม หรือจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำโครงงานเสนอครูผู้สอนได้ในทุกรายวิชา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ยังจัดให้มีการแสดงผลงานประเภทโครงงานของนักเรียน และมีการจัดประกวดโครงงานของนักเรียนทุกปี นับว่าการจัดทำโครงงานมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ แบบผู้เรียนเป็นสำคัญมาก แต่การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบนี้ครูผู้สอน (ครูที่ปรึกษา) จะต้องมีความรู้ มีความเข้าใจในลักษณะของวิชาโครงงาน  และศึกษาหลักสูตรในปัจจุบันอย่างละเอียด เพื่อให้เห็นความสำคัญที่ต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้จัดทำโครงงาน หรือเรียนรู้แบบโครงงานเพื่ออะไร (บางท่านจัดสอนไปในทิศทางอื่น เพราะท่านไม่เข้าใจก็ปรับเปลี่ยนได้) การเรียนวิชาโครงงานเป็นการเรียนรู้เชิงระบบ คือ เรียนรู้ตามกระบวนการทำงาน  การที่นักเรียนได้ประมวลวิชา  ได้นำเอาความรู้ที่ตนเองมีอยู่ทั้งหมดมาจัดทำโครงงาน  นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อน ๆ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน ๆ ในกลุ่มใหญ่ ทั้ง 30-40 คน (ต่างความคิด ต่างความถนัด ต่างความสนใจ) เป็นสิ่งที่มิใช่จะเกิดขึ้นมาได้ง่าย ๆ (เป็นความสมบูรณ์ในการเรียนรู้ หรือองค์รวม) มีคุณธรรม และความพอเพียง เหมาะสมกับผู้เรียน แต่ถ้าเมื่อใดทั้งผู้สอน และผู้เรียนยังไม่เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ที่ดีอย่างนี้ ก็จะทำให้นักเรียนพลาดโอกาสที่จะได้ คิด วิเคราะห์ การค้นหาตนเอง โดยใช้ระบบการเรียนรู้ตามความสามารถ ความสนใจ การตัดสินใจเลือกที่แท้จริง จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้พัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐานที่สูงขึ้นด้วย         

ขั้นตอนในการจัดทำโครงงาน (ตามแนวของครูชำเลือง อาจจะมิใช่ความถูกต้องที่สุดนะครับ)         

     1. การคิด วิเคราะห์โครงงาน  นักเรียนได้ฝึกคิด วิเคราะห์ตนเอง และเรียนรู้ประเภทของโครงงาน         

     2. การตัดสินใจเลือกสิ่งที่ตนมีความสนใจ ความสามารถ ถนัด ประสบการณ์ด้วยตนเอง

     3. การวางแผน ทำงานอย่างมีขั้นตอนด้วยตนเอง หรือกลุ่มที่มีนักเรียนสนใจในเรื่องเดียวกัน

     4. การปฏิบัติงาน หรือลงมือทำงานด้วยตนเอง ตามที่ได้วางแผนเอาไว้

     5. ประเมินผลงานและปรับปรุงข้อพกพร่อง ตามที่ผู้ประเมินเสนอแนะ จนได้ผลงานที่สมบูรณ์  

     

     ถ้ามีครูผู้สอนมีความเข้าใจในหลักสูตรตรงกัน เห็นคุณค่า ความสำคัญของรูปแบบการเรียนแบบโครงงานอย่างลึกซึ้งจริง ๆ คำพูดที่ยังได้ยินอยู่ คือ นักเรียนขาดการคิด วิเคราะห์ ก็คงเบาลงหรือเหลือน้อย เพราะนักเรียนได้มีเรียนรู้โดยการคิด วิเคราะห์มามากแล้วนั่นเอง ที่น่าเสียดายมากก็คือ น่าเสียดายโอกาสของนักเรียนแทนที่เขาจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเมื่อตอนนำเสนอผลงาน ตอนที่ให้เพื่อน 2-3 คนประเมินและนักเรียนได้รับฟังข้อเสนอแนะจากเพื่อน นำเอาไปปรับปรุงผลงาน (เป็นการยอมรับในความคิดของผู้อื่น) นักเรียนได้นำผลงานมาแสดง นำเสนอวิธีดำเนินงานที่หน้าชั้นเรียน (ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน)

มาจนถึงวันนี้ คำว่า ยกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้น และทำให้มีความเท่าเทียมกัน ยังเป็นความหวังที่อยากจะได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลง หรือว่าเพียงแค่ได้เห็นภาพจริง/ภาพลวง (นักเรียนทุกคนมีความแตกต่างกัน  มีความสามารถไม่เท่ากัน มีความสนใจไม่เหมือนกัน ให้ได้เรียนรู้วิชาพื้นฐานทุกคน  ให้เขาได้เลือกเรียนวิชาเพิ่มเติมตามความถนัด  ตามความสามารถ โดยการตัดสินใจของนักเรียนเอง)  จึงจะเรียกว่า   นักเรียนเป็นสำคัญ 

 (ติดตาม ตอนที่ 2  การวางแผนโครงงาน  / ชำเลือง มณีวงษ์) <p> </p>

คำสำคัญ (Tags): #ศิลปะ
หมายเลขบันทึก: 99881เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 01:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
คุณพ่อสบายดีรึปล่าวค่ะ ป้อมเห็นเว็บโดยบังเอิญเนื้อหาดีนะค่ะตอนนี้ป้อมสอนอยู่ที่ราชภัฏอุดรธานีและเปิดโรงเรียนสอนศิลปะด้วยค่ะ

ป้อม (กุลจิต  เส็งนา)

  • มันเป็นความรู้สึกที่บอกหนูไม่ได้ พ่อ แม่ และน้องตุ๋มยังคิดถึงหนูเสมอมา
  • พ่อมีบล็อกอยู่ใน gotoknow.org จำนวนมาก
  • ส่วนใหญ่จะเป็นคำหลักเกี่ยวกับศิลปะ ภูมิปัญญา เพลงพื้นบ้าน ทำขวัญนาค ฯลฯ โดยถอดมาจากประสบการณ์จริงทั้งหมด
  • ขอให้กิจการมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นตลอดไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท