พรสวรรค์หรือการฝึกปฏิบัติ


ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเก่งได้ ถ้าให้เเวลาฝึกปฏิบัติ

พรสวรรค์หรือการฝึกปฏิบัติ

<p style="margin: 0cm 0cm 0pt; text-indent: 36pt; text-align: center" class="MsoNormal" align="center"></p>

  

        คำว่า พรสวรรค์ บางท่านอาจจะนึกถึงคำว่า พระเจ้าสร้างมาให้ กำหนดส่งลงมาให้ตั้งแต่เริ่มแรก มีติดตัวมาแต่ดั้งเดิม แต่ในความเป็นจริง พรสวรรค์ เกิดขึ้นได้จากการปลูกฝัง โดยมีที่มาจากผู้ที่อุปการะเลี้ยงดู คือ บิดา มารดานั่นเอง หรือมาจากคนรุ่นหนึ่งถ่ายทอดต่อมายังคนอีกรุ่นหนึ่ง ได้แก่ ความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่คุณปู่ทวด ถ่ายมอดมาให้คุณปู่ จากคุณปู่ ถ่ายทอดต่อมายังคุณพ่อ และจากคุณพ่อ ถ่ายทอดต่อมาถึงตัวเรา ทำนองเดียวกัน งานด้านการบ้าน การเรือนของลูกผู้หญิงไทย จากคนรุ่นเก่ายุคสมัยคุณยายทวด ปลูกฝังค่านิยมในความเป็นไทยมาให้คนรุ่นยาย จากคุณยายถ่ายทอดมายังคุณแม่ และจากคุณแม่ ถ่ายทอดมายังรานลูก ดังนั้น ต้นแบบจึงมีความสำคัญต่อคนรุ่นหลัง ๆ ต่อมา ผมขอยกตัวอย่างคนใกล้ตัวผม ได้แก่ ลูกชาย ผมเป็นครูสอนศิลปะ วาดภาพสีน้ำ สีน้ำมัน ชอบทำงานช่าง และอีกอย่างชอบร้องเพลงลูกท่ง (ชาย เมืองสิงห์) และเพลงแหล่ผมไม่เคยฝึกหัดให้ลูกวาดภาพเลย และผมก็ไม่เคยสอนให้ลูกร้องเพลง แต่ผมปฏิบัติสิ่งเหล่านั้นอยู่ในสายตา อยู่ในชีวิตประจำวันของเขาอยู่แล้ว วันนี้ลูกชายผมทำงานด้านสถาปัตยกรรม (ออกแบบภายใน) จบการศึกษาปริญญาโทศิลปะสมัยใหม่ และที่น่าแปลกคือ แกชอบฟังเพลงลูกทุ่งของชาย เมืองสิงห์ (เหมือนผมเลย) บางท่านอาจจะคิดว่า เอ้า ก็พ่อลูกกันมันก็เหมือนกันได้โดยสายเลือด (มีส่วน) แต่ว่าไม่ใช่เสียเลยทีเดียว ถ้าเช่นนั้นลูกผมก็ต้องร้อง เล่น แสดงเพลงพื้นบ้านได้อย่างผมด้วยซิ ส่วนลูกสาวอีกคน เมื่อตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษา ผมใฝ่ฝันที่จะให้เข้ารับราชการครูเหมือนพ่อ (ตัวเรา) แต่คำตอบที่ลูกพูดตอบกลับมาว่า พ่อ หนูไม่ชอบเป็นครู คนนี้เขาเรียนทางภาษา และการสื่อสารพัฒนาการ (จบปริญญาโท) คำนี้คงเป็นสิ่งที่น่าคิดไปอีกนาน เชิญท่านผู้รู้ได้ช่วยต่อเติมเสริมต่อในประสบการณ์ให้ด้วยครับ           

         ตอนที่ผมรับราชการได้ประมาณ 9-10 ปี ผมได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ให้ทำเรื่องย้ายมาสอนที่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา เป็นโรงเรียนประจำอำเภอดอนเจดีย์ ในฐานะครูสอนศิลปะ (วุฒิ พ.ม.ช.) เป็นวุฒิสอบของกรมอาชีวศึกษา หรือ (ว.อ.) วาดเชียนเอกเดิม เมื่อมาอยู่ที่นี่ผมต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่ จากเดิมสอนวิชาพลศึกษา สุขศึกษา เกษตร หัตถกรรม อยู่โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา จะต้องมาสอนศิลปะ ถามว่าชอบไหม ก็ตอบได้เลยว่า ชอบที่สุด ศิลปะเป็นสิ่งที่ผมรักและปฏิบัติมานานตลอดชีวิต ถึงแม้ว่าภาพเขียนของผม ณ วันนี้ จะมีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 2 X 6 นิ้วไปจนถึง 8X8 นิ้ว และอยู่บนผลิตภัณฑ์ขนาดต่าง ๆ (งานเขียนสีลวดลาย) แต่วันที่เริ่มต้นกับงานศิลปะ ผมสอนไปและก็มองหาลูกศิษย์ที่มีความชอบหรือสนใจเหมือนเหมือนกับเรา จะได้มีคนมาเป็นเพื่อนเขียนภาพ

         ประมาณ ปี 2523 พบคนที่สนใจศิลปะ ชื่อ น.ส.จินตนา ขันตี (ปะ) เป็นนักเรียนชั้น ม.5 ผมถ่ายทอดวิธีการเขียนภาพด้วยดินสอ และสีน้ำให้ แต่เด็กเขาเก่งลายไทย เรียกว่าฝีมือครูกับศิษย์พอ ๆ กันเลย (น่าจะผลงานลูกศิษย์ละเอียดกว่านิด ๆ) ผมพอทำได้ไม่ถนัดลายไทยมากนักเขียนได้แต่ไม่ถึงขั้นผูกลายสด ๆ เป็นเรื่องราวได้ ผลที่ตามมา คือ ผมถูกผู้ปกครองฃองลูกศิษย์มาตำหนิถึงหน้าบ้าน เรียนไปทำไมวาดวาดเรื่องวาดรูป เปลืองค่าสีเปลืองค่าไฟฟ้า ไม่เห็นจะมีประโยชน์ (เหตุการณ์ในระยะต่อมาขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ) วันนี้ นางจินตนา ขันตี เปิดบริษัทเป็นโรงงานผลิตเครื่องประดับ ผลงานประเภทออกแบบ เป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศ มีรายได้เดือนละหลายแสนจนถึงล้านบาท มีความเป็นอยู่อย่างสบายพร้อมทั้งแม่ของเขาก็ไปอยู่ด้วย และยังรับรุ่นน้องเข้าไปทำงานในบริษัทอีกเป็นจำนวนมาก           

        ประมาณปี 2525-2526 (อาจจะคลาดเคลื่อนไปสักปี) ผมขอเปิดโปรแกรมศิลปะในระดับ ชั้นมัธยมศึกษา ตอนต้น มีนักเรียนมาสมัครเรียน จำนวน 41-43 คน (เต็มห้อง) ผมได้สอนศิลปะให้กับนักเรียนร่วมกับ อาจารย์สนั่น ยงค์ไพบูลย์ (เป็นครูรุ่นน้อง) จบจากโรงเรียนเพาะช่าง เรา 2 คน คู่หูกันดีมาก ตกเย็นนั่งวาดภาพแล้วนำเอไปติดตามผนังห้องเรียน เรียกว่าไม่ให้มีที่ว่างเลย พอตกเย็นเด็ก ๆ ก็มายืนดูผมกับอาจารย์สนั่นวาดภาพกันเต็มห้องไปหมด ผมวาดอยู่ประมาณ 1 ภาคเรียนต้องหยุด (ไม่มีเวลาวาด) เรา 2 คนต้องเอาเวลาไปใช้ในการแนะนำนักเรียนชั้น ม.2 ที่สนใจวาดภาพ เขาอยู่วาดภาพกับครูในตอนเย็น (บรรยากาศอย่างนั้นไม่มีให้ดูอีกแล้วครับ) ในกลุ่มนั้นมีนักเรียน 2-3 คน คือ ด.ช.อัฐพล คำวงษ์ ด.ช.ชุติธร ด.ช.แสง นานมากแล้วจำได้ไม่หมด มาฝึกก่อน และ 2 ใน 3 คน ผมพาไปแข่งขันได้รับรางวัลในระดับจังหวัด เมื่อปี พ.ศ. 2527 (ต่อจากนั้นขอละไว้ ข้ามไป) นายอัฐพลไปเรียนต่อด้านออกแบบที่โรงเรียนเพาะช่าง จบออกมาทำงานได้รับเงินเดือนเหมาะสม จน กระทั่งยุคเศรษฐกิจตกต่ำ เขาตกงานเกือบ 5 ปี ผมได้เจอลูกศิษย์คนนี้และยืนคุยกันบนสะพานหน้าบ้านเขาเมื่อปี 2544 หลังจากที่ตกงานไป 4-5 ปี ก็ไม่มีรายได้เลยไปฝึกแกะสลักทองทำแหวนและเครื่องประดับอยู่กับร้านทอง และไปเปิดร้านผลิตแหวนและเครื่องประดับสด ๆ ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ปรากฏว่ามีผู้ค้ำชูเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์ชอบในผลงานมาซื้อแหวนและสร้อยข้อมือไป ท่านช่วยประชาสัมพันธ์ในวงคนชั้นสูงจนทำให้ อัฐพล เป็นศิลปินเดี่ยวที่โด่งดัง (วันนี้เขามีความเป็นอยู่อย่างดีมาก)  

         

       ปี พ.ศ. 2536 ผมได้สอนวิชาเขียนสีลวดลายในระดับชั้น ม.2 รุ่นนี้มีนักเรียนที่สนใจศิลปะมากขึ้น ที่เป็นคนรักวาดภาพจริง ก็ ได้แก่  น.ส.สุขสันต์ คงใจดี, น.ส.ปัทมา  รักอู่ และมีคนอื่น ๆ อีก 4-5 คน ปัทมา รักอู่ เป็นคนที่ชอบวาดภาพสีน้ำ เขาได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด 2 ครั้ง และได้รับรางวัลในระดับเขตการศึกษา 5  ส่วน สุขสันต์ คงใจดี เป็นเด็กที่เขียนภาพไม่เป็น วาดภาพดอกไม้พอดูออก วาดภาพสัตว์ดูคล้าย ๆ ถ้าหากให้วาดภาพคน ต้องสาบานว่า เขาวาดภาพคน จึงจะเชื่อถือได้ สุขสันต์ฝึกวาดภาพอยู่กับผมในตอนเย็นหลังเลิกเรียน 18.00 น. คุณพ่อเขาจึงจะมารับกลับบ้าน เช่นเดียวกับปัทมา นึกได้แล้วอีกคนหนึ่ง นายอนุชา เปลี่ยนราศรี คนนี้มีฝีมือในการตัดสติ๊กเกอร์สวยมาก (ปัจจุบันทำงานอาชีพอิสระส่งผลิตภัณฑ์ออกนอก) ส่วนสุขสันต์ คงใจดี ใช้เวลาเกือบ 1 ปี จึงพอที่จะเขียนลายสันได้ บางครั้งผมลืมตัวไปดุเขาเข้าบ้างก็มี นี่เธอไม่ดูครูละบอกให้ลากเส้นโดยสายตามองที่ปลายปากกามันจึงจะควบคุมทิศทางตำแหน่งได้ เขาก็สวนมาทันที ตาหนูก็ดูที่ปลายปากกาอยู่นี่ แต่มือมันทำไม่ได้ (เหตุการณ์ต่อมาขอละไว้) เมื่อสุขสันต์เขียนภาพได้อย่างสวยงามแล้วผมพาเขา 3 คน ไปแข่งขันศิลปะในงานต่าง ๆ จนถึงงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ปี 2541 สุขสันต์ คงใจดีได้รับรางวัลที่ 1 เพ้นท์ภาพบนขวด ระดับประเทศ, ปัทมา รักอู่ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับเขตการศึกษา ส่วนอนุชา เปลี่ยนราศี ได้รับรางวัลที่ 3 ออกแบบโฆษณา ตัดสติ๊กเกอร์ ระดับประเทศ            ผมนำเอาประสบการณ์จริงที่ปฏิบัติมาเล่าให้ฟัง เพื่อที่จะมองหาคำอีกคำที่มักได้ยินคู่กับคำว่าพรสวรรค์ คือ พรแสวง การเข้าไปหา การฝึกฝนตนเอง การฝึกปฏิบัติ ถ้า น.ส.สุขสันต์ คงใจดี มิใช่นักต่อสู้ ที่อดทน มีความมานะพยายามแล้ว เขาหรือจะมายืนแนวหน้ารับรางวัลสุดยอดของนักเรียนศิลปะในปี 2541 ได้

        จากประสบการณ์ตรงนี้ ทำให้ต้องย้อนกลับไปมองในอดีตบ้าง เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ คุณสมบัติ รูปแบบของการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณค่า นำเอากลับมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน วิธีการเขียนสี วาดภาพระบายสี เป็นลีลา เป็นเทคนิคเฉพาะตัวที่อาจจะมีความแตกต่างกันของท่วงท่าและกระบวนการ แต่ในที่สุดก็จะได้ผลงานออกมาสวยงาม น่าสนใจ และที่สำคัญที่สุดก็คือ การจัดการเรียนรู้จะต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนของเราได้มีโอกาส มีเวลาได้พัฒนาตามศักยภาพของเขา อย่างเต็มที่ บางทีเราอาจจะต้องใช้เวลาในการรอคอยเพื่อดูความเจริญเติบโตของลูกศิษย์ ที่อาจจะช้าไปบ้าง แต่เป็นความปลื้มใจที่มิอาจหาได้นอกจากประสบการณ์ครับ  ใครมีพรสวรรค์ที่มีติดตัวมาถือว่า เป็นโชคดี แต่พรแสวง หาเก็บเกี่ยวได้ในกลุ่มผู้รู้  ผมขอแสดงความเคาพอย่างยิ่ง 

</span>

คำสำคัญ (Tags): #ศิลปะ
หมายเลขบันทึก: 96890เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2007 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สวัสดีครับคุณPชำเลือง
 แอบมาคัดลอกข้อความดีๆ ไปรวมในที่ดีๆครับ   ขออนุญาติครับ  http://gotoknow.org/blog/mrschuai/99502    ขอบคุณมากครับ

ตัวว่าของผมเป็นพรสวรรค์

เกิดมาไม่เคยฝึกเคยเรียน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท