ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 1)


ความเดิม: ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 0) -- สิทธิพื้นฐานและทางเลือกของคนใช้เน็ต

คำเตือน กรุณาใช้วิจารณญาณในการอ่านบันทึกนี้  

ผมเขียนบันทึกนี้ ทั้งที่ตระหนักดีว่าเป็นไปได้มากว่าท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่าผมพูดถึงใครบางคนหรือหลายคนที่ท่านรู้จัก แต่เรื่องนี้เป็นความเห็นกลางๆ เกี่ยวกับ "ตัวตน" ซึ่งไม่ว่าจะถูกหรือผิด ก็ไม่ได้เจาะจงไปที่ผู้ใดทั้งสิ้น 

กรุณาอ่านคำแนะนำข้อ 2 ท้ายบันทึกที่แล้ว -- บันทึกนี้เป็นตัวอย่างของการเขียนในสไตล์ generalization (เหมารวม) แต่เป็น non-assertive (ไม่ยัดเยียดให้เชื่อ ไม่มีรายการให้ปฏิบัติ ไม่ใช้คำว่าต้อง ไม่ถือว่าผู้เขียนถูกเสมอ) เพื่อเสนอการวิเคราะห์ ด้วยความหวังว่าจะนำไปสู่ความเข้าใจในตัวตน ตลอดจนแรงผลักดันต่างๆ ที่ทำให้ผู้ใช้เน็ตเป็นอย่างที่เป็นอยู่

นอกจากนั้น ก็ยังเป็นตัวอย่างของ Troll (วางเหยื่อล่อปลา) ในคำแนะนำข้อ 10 อีกด้วย

หากท่านรู้สึกว่ารับไม่ได้ เพ้อเจ้อ ไร้สาระ แนะนำให้ข้ามบันทึกนี้ไปเลยครับ ไม่ต้องอ่านให้จบ

รูปแสดงบุคลิกภาพตามทฤษฎของฟรอยด์ตัวตนของคนใช้เน็ต

ผมไม่ได้เป็นนักจิตวิทยา แต่คิดว่าไม่ว่าจะอธิบายตามแนวของ Sigmund Freud หรือตามแนวคิดของ Carl Gustav Jung ก็ตาม ตัวตนคนใช้เน็ต น่าจะเป็นส่วนของ Ego ที่อยู่ในระดับของ Conscious (จิตสำนึก) คือเป็นสิ่งที่สมองเลือกสรรและปรุงแต่ง เพื่อแสดงออกให้ผู้อื่น(ชื่น)ชม

Ego ในบริบทของจิตวิทยา ไม่เหมือนกับอีโก้ที่ใช้เป็นคำทับศัพท์ในภาษาไทยซึ่งมักจะออกมาในความหมายเชิงลบ 

แต่ Ego ในความหมายของบันทึกนี้ เป็นจิตสำนึก ที่พบปะ-ติดต่อกับโลก เป็นส่วนหนึ่งที่ควบคุมโดยความคิด การรับรู้ ตามประสบการณ์ ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ด้วยการกระทำ และปฏิกริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นครับ

ในเมื่อตัวตนเป็นจิตสำนึก จึงถูกปรุงแต่ง ได้โดยความรู้สึกนึกคิด; ในสถานการณ์บนเน็ตซึ่ง "โดยปกติ" ไม่ค่อยมีการพบปะกัน ตัวตนจึงถูกจิตสำนึก ปรุงแต่งให้มีลักษณะเข้าใกล้อุดมคติของผู้ใช้เน็ตแต่ละคน รวมทั้งการหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด อันเป็นประสบการณ์ที่ผู้ใช้เน็ตเคยประสบหรือเรียนรู้มา หากไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของการล่อลวง/หลอกลวง

ผู้ใช้เน็ต จึงต้องประเมินพิจารณาข้อมูลต่างๆ ให้ดี สิ่งใดที่ดีหรือร้ายจนผิดปกติ-แม้ว่าจะดูมีเหตุผลมากหรือน่าเชื่อถือก็ตาม ยังมี "ความจริง" ที่อยู่เหนือ "เหตุผล" อีก

จริงใจหรือไม่ ใครจะไปรู้

ก็นั่นน่ะซิครับ ใครจะไปรู้

ผู้ใช้เน็ตแสดงตัวตนผ่าน Conscious Ego ซึ่งถูกความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งได้ และตัวตนบนเน็ตอาจจะไม่เหมือนกับตัวตนที่แท้จริง เช่นตัวตนที่แสดงบนเน็ตเป็นกักขฬะคนหยาบช้าลามก ในขณะที่ในชีวิตจริงเป็นคนเรียบร้อย เงียบๆ "เป็นเด็กเรียน" หรือมีสถานะทางสังคมที่มีผู้ยกย่องจนรู้สึกว่าต้องรักษา "ฟอร์ม" (ตัวตนอีกอันหนึ่ง) ไว้ -- ตัวอย่างนี้ อาจจะเห็นได้ชัดว่าเป็นการใช้เน็ตปลดปล่อยแรงกดดันภายในจิตใจ

จากคำอธิบายเรื่อง Self-concept ที่เหมือนกับมี self (ตน) อยู่สามอย่างคือ (คำอธิบายของคุณเบิร์ด ซึ่งบันทึกนั้นน่าอ่านทั้งบันทึกและความคิดเห็นทุกอัน) ขออนุญาตเปลี่ยนคำเรียกขาน แม้ไม่ตรงกับตำรานะครับ

  • ตนที่มองเห็น (Perceived self) เรานึกว่าเราเป็นอย่างนั้น แต่อาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ คนอื่นเห็นเราว่าเป็นอย่างนั้น ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ 
  • ตนที่เป็น (Real self) บางที และส่วนใหญ่ กลับหาตัวเองไม่เจอ
  • ตนที่อยากเป็น (Ideal self) <-- นี่ไง นี่ไง ตัวตนในเน็ตสร้างมาจากตนอันนี้

บางคนอยู่กับครอบครัวเป็นอย่างหนึ่ง เวลาทำงานเป็นอีกอย่างหนึ่ง กับเพื่อนที่รู้ไส้กันก็อีกแบบหนึ่ง แล้วเวลาใช้เน็ตก็เป็นอีกแบบหนึ่ง 

ผู้ที่มีลักษณะ self-esteem / self-actualization สูง มีโอกาสมากกว่าที่ตัวตนเสมือนบนเน็ตอาจจะไม่ได้ถูกปรุงแต่ง (แต่ก็เป็นไปได้ที่จะโม มาเช่นกัน) เพราะเขาทราบดีว่าตัวมีค่า และความเห็นของผู้อื่น ไม่ได้ทำให้ค่าของเขาเพิ่มขึ้น (โดยการยกย่องชื่นชม) หรือลดลง (ถูกตำหนิ) คุณค่าของคนเหล่านี้ เพิ่มขึ้นด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เข้าใจจนพลิกแพลงปรับประยกต์ใช้ในชีวิตของเขาได้ จนกระทั่งนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น และได้ "คุณค่า" ตอบแทนกลับมา 

หากมีใครสักคน มาบอกท่านว่าเขาเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น ท่านคิดว่าเขาพยายามจะแสดงตัวตนแบบใด

เฉลย: อาจเป็นได้ทั้ง Real self และ Ideal self แต่ส่วนใหญ่แล้วคงจะเป็น Ideal self; ส่วนถ้าเป็น Real self ก็มีวิธีช่วยตรวจสอบ ดังจะกล่าวต่อไป

เพราะคุณค่า เกิดจากการกระทำ...

...และการกระทำในเน็ตนั้น เพียงแต่ส่งข้อความที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้รับปฏิกริยาในเชิงบวกกลับมาเป็นรางวัล ดังนั้นจึงเป็นคำอธิบายในแง่หนึ่งว่า

  • ทำไมจึงมีการสร้างบุคลิกภาพใหม่ ซึ่งทั้งสะดวก และ(เกือบ)ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นใคร; หากตัวตนเสมือนที่สร้างขึ้นนี้ ไม่เป็นไปตามที่คิด ก็เปลี่ยนแปลงวิธีการ แล้วเริ่มใหม่ เหมือนเล่นวิดีโอเกม "แพ้" แล้วเริ่มใหม่ -- บุคลิกภาพในเน็ตที่สร้างขึ้นนี้ เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของ "ตน" ให้ได้รับความพึงพอใจ ซึ่งอาจหาได้ยากกว่าในชีวิตจริง
  • ทำไมผู้ใช้เน็ตจึงชอบอ่านเรื่องเชิงบวกที่ไม่มีข้อสรุป ซึ่งไม่ต้องเลือกข้างใดเรื่องที่ขัดแย้งกัน -- ความขัดแย้งเป็นเรื่องในเชิงลบ ไม่ยุ่งได้ก็ดี ยุ่งแล้วไม่ได้อะไร เป็นกองเชียร์ดีกว่า
  • ทำไมเวลาเรียกระดมความร่วมมือบนเน็ต กลับยากกว่าในชีวิตจริง -- เพราะเน็ตเป็นโลกเสมือน เข้าออกเลือกสรรได้ตามใจ ไม่มีใครมาบังคับได้ และมีข้ออ้างอยู่มากเช่นกัน เช่น ไม่เห็น ไม่ว่าง ไม่รู้ ไม่เกี่ยว ผู้ใช้เน็ตอยู่กันเป็นอิสระ อยู่กันคนละที่ ไม่มีแรงกดดันทางสังคมจากการพบหน้ากันบ่อยๆ 

อาการติดเน็ต

เนื่องจากตัวตนเสมือนที่แสดงบนเน็ต สามารถรับความพอใจหรือไม่พอใจได้ แต่เป็นตัวตนที่ควบคุมได้ ละทิ้งได้ ไม่เหมือนชีวิตจริง

  • เด็กเล่นเกมส์ออนไลน์ จ่ายเงินจ่ายทอง โดดเรียน ไม่นอน เพียงเพื่อให้ได้รับรางวัลเป็นคะแนน (หรือ items) ซึ่งเป็นสิ่งเสมือนทั้งนั้น [แต่ผู้ให้บริการรับเงินจริง แม้พล่ามว่ารักชาติ แต่ทำอย่างนี้กับลูกหลานไทย]
  • ตัวอย่าง คนเล่นกอล์ฟ
    • เพิ่งเริ่มเล่น ตี 100 สโตรค พอใจ 18% ตอนลูกลงหลุม ใช้เวลา 5 ชั่วโมง Endorphin หลั่งทุก 17 นาที ซึ่งมากกว่าที่พบในชีวิตประจำวันโดยทั่วไป
    • ฝีมือดีขึ้นมาจนเข้าสู่ไฟลต์เอ แฮนดิแค็ป 10 ตี 82 สโตรค (8 พาร์ 10 โบกี้) ใช้เวลา 4 ชั่วโมง; เวลาได้พาร์ ต้องตีดีทุกลูก ส่วนเวลาได้โบกี้ อาจไม่ได้ดั่งใจไปลูกหนึ่ง ดังนั้นใน 82 สโตรค พอใจถึง 72 ครั้ง ทำให้ Endorphin หลั่งครั้งหนึ่งทุก 3-4 นาที แทบจะทุกครั้งที่ตีลูก
    • การที่ Endorphin หลั่งด้วยอัตราที่มากกว่าในชีวิตปกติมาก เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนติดกอล์ฟ (Endorphin แรงกว่า Morphine สองร้อยเท่า)
  • แล้วคนเล่นเน็ต จะไปเอา Endorphin มาจากไหน: ก็มาจากการใช้ตัวตนเสมือนครับ [อธิบายละเอียดนักก็อาจจะแรงไป]

ปรากฏการณ์ GotoKnow

ไม่ว่าจะเป็นด้วยอัจฉริยภาพหรือเป็นไปตามธรรมชาติ มีสิ่งที่ทำให้ GotoKnow แตกต่างจากชุมชนออนไลน์อื่นๆ ในหลายด้าน; มีคำแนะนำซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในโครงสร้างสำคัญทางสังคม อันช่วยให้ GotoKnow แตกต่างจากชุมชนออนไลน์อื่นๆ ในแง่ที่

  • สมาชิกเป็นจำนวนมาก ผ่านการอบรมการใช้งานเรื่องการจัดการความรู้ตามรูปแบบ และรู้ว่าใช้ GotoKnow เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับ KM ได้ -- การเข้ามาเป็นกลุ่มก้อนด้วยเป้าหมายเดียวกันนั้น ช่วยสืบสานวัฒนธรรมของสังคม GotoKnow ไว้ได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดและแนะนำจากผู้ที่ใช้แล้วเห็นผลดี
  • Positioning ของ GotoKnow นั้น ชัดเจน เป็นชุมชนออนไลน์ของคนทำงาน -- โดยปกติก็จะมี maturity สูง (แต่สรุปเหมารวมว่าทั้งหมดเป็นอย่างนี้ไม่ได้)
  • มีคำแนะนำให้ใส่หน้าประวัติด้วย credentials จริง แม้ไม่ได้บังคับ แต่สมาชิกส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตามคำแนะนำ -- คำแนะนำนี้ ช่วยให้เหล่าสมาชิก คบหากันด้วยความสนิทใจมากขึ้น แต่ก็มีด้านลบบ้างเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบประวัติว่าตรงกับความจริงหรือไม่
  • มีการพบปะสังสรรค์กันตามอัธยาศัย และมีงานกาารจัดการความรู้แห่งชาติ (NKM) เป็นประจำ เกิดลักษณะ Face-to-face นอกเหนือไปจากการแลกเปลี่ยนผ่านบล็อก (Blog-to-blog)
  • มีเฮฮาศาสตร์ (Heart-to-heart) นอกเหนือไปจากการมีปฏิสันถารตามปกติ

สิ่งใดในตัวตนที่ปรุงแต่งได้ยาก (สิ่งบ่งชี้ถึง Real self)

  1. ความเร็วในการตอบ -- คำตอบที่มาเร็ว มีแนวโน้มที่จะปรุงแต่งน้อยกว่าคำตอบที่ไปคิดตรึกตรองอยู่หลายวัน
  2. ความมั่นคงทางอารมณ์ -- เป็นปฏิกริยาที่แสดงออกต่อความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก คนเราที่ยังไม่หลุดพ้น เบื่อได้ ท้อแท้ได้ โกรธได้ หงุดหงิดได้ ผิดหวังได้ ดีใจได้ แสดงอารมณ์ต่างๆ เป็นธรรมชาติ แต่ถ้านิ่งและยืนหยัดได้ละก็ หาได้ยากจริงๆ
  3. คุณค่าที่ให้กับผู้อื่น -- เป็นการให้โดยบริสุทธิ์ใจ ให้แล้วให้เลย ไม่ต้องการการยกยอ/ขอบคุณตอบแทน
  4. จุดยืนบนการกระทำ (Persistence) -- ไม่ใช่แค่จุดยืนทางความคิดซึ่งปรุงแต่งผ่านตัวหนังสือที่เขียนได้
  5. ความไม่สมบูรณ์แบบ -- เป็นอาการหลุด อาจสังเกตได้ด้วยเวลาที่คบกันยาวนาน ส่วนใครดีสมบูรณ์แบบ ควรเชิญเข้าพิพิธภัณฑ์

ควรค้นหาตัวตนของผู้อื่นหรือไม่ ท่านกำลังหาอะไรกันแน่

ไม่มีใครตอบแทนผู้อื่นได้ว่าควรจะทำหรือไม่ทำอะไร ถ้าท่านคิดจะค้นหา อย่างน้อยก็ขอให้ชัดเจนก่อนว่าจะหาอะไร

  • Perceived self -- หาได้โดยไม่ต้องสอบทาน คิดว่าอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น และอาจผิดไปจากตัวตนจริงได้มาก
  • Real self -- อันนี้ ถึงเข้าใจก็ไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่ นอกจากว่าจะคบกันไปนานๆ
  • Ideal self ซึ่งเขาจะพยายามแสดงออกมาให้ดูอยู่ดี ไม่ต้องขวนขวายอะไรมาก

แต่ถ้าท่านคิดว่าหน้าประวัติคือตัวตนที่ท่านค้นพบแล้วละก็ ท่านคงยังไม่ได้มองหาอะไรเลย แต่หยุดค้นไปแล้วครับ

ตัวตนของผู้อื่นสำคัญต่อท่าน หรือสิ่งที่เขานำมาให้แล้วท่านสามารถไตร่ตรองกลั่นกรอง เลือกเชื่อ เลือกรับได้นั้น เป็นประโยชน์ต่อท่านมากกว่ากันครับ

ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 2) -- ชุมชนออนไลน์

หมายเลขบันทึก: 163831เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2008 01:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)
อ่านแล้ว ได้รู้ ได้คิด ได้ประโยชน์ ต้องขอบคุณผู้เสนอ  ที่ให้มีข้อมูลที่เป็นสาระในเรื่องนี้ไว้ประกอบการพิจารณาว่า..เจ้าเป็นไผ
อยากขออนุญาตเสริมเรื่องความเป็นศิลปินได้ไหมคะ นั่นคือ จะแสดงความเห็นก็ต่อเมื่อมีอารมณ์ร่วม (อย่างแรง) หากต้องจริตแต่ไม่มีอยากเขียน ก็จะเป็นตัวแอบต่อไป...

สุดยอดกระบี่ไร้เทียมทาน ครับ

วิเคราะห์ได้ถึงแก่นกระดองใจจริงๆครับ

ที่ผมว่าน่าจะหาคนศึกษาเรื่องนี้ ไม่ต้องแล้วครับ

ที่อยากฟังตอนต่อไปคือ

"เราจะทำอย่างไร ที่จะลดผลกระทบทางลบ และเพิ่มทางบวกให้กับสังคมไทยครับ"

 

จะร้องเพลงรอ

ขอบคุณล่วงหน้าครับ

P
Conductor

ตามความเห็นส่วนตัว การที่เราอ่านบันทึกของคนใดคนหนึ่ง (หรือรับอย่างอื่นมาด้วยเช่น ภาพ เสียงเพลง หรือคริปวีดีโอ ฯลฯ) เป็นเพียง การรับรู้ ทางประสาทสัมผัส แล้วเราเอาสิ่งที่รับรู้ได้นั้นมา แปลความหมาย และสิ่งที่ถูกแปลความหมายมาก็จะถูกกลไกลของจิตมาถักทอเพื่อสร้างให้เป็น ตัวตน ของเจ้าบันทึกที่เราได้รับรู้มา...

ดังนั้น ตัวตน ของเจ้าบันทึกนั้นๆ จะเป็นอย่างไร เราไม่สามารถรับรู้ได้ สิ่งที่รับรู้ก็เป็นเพียง ตัวตนเสมือน ที่เราสร้างขึ้นจากสิ่งที่ได้รับรู้มาจากบันทึกเท่านั้น... ดังนั้น ตัวตนเสมือน ทำนองนี้ พล่ามัวหรือลางเลือนอย่างมาก เมื่อเทียบกับชีวิตจริง....

ตามหลักของพระพุทธศาสนา สิ่งที่เรารับรู้จากภายนอกด้วยประสาทสัมผัส จัดเป็น โลก และการจะเข้าถึงหรือรู้แจ้งโลกนั้น จัดเป็น อจินไตย (เรื่องไม่ควรคิด) อย่างหนึ่ง ซึ่งอาจ บ้า  ได้ ถ้าหมกมุ่นเกินไป...

ดังนั้น การค้นหาตัวตนของเจ้าบันทึกก็อาจเป็นไปทำนองนี้...

เจริญพร

เรื่องตัวตนบนโลก online นี้เป็นเรื่องที่งานทาง information systems ให้ความสนใจมากครับ เป็นโจทย์ที่ซับซ้อนมากครับ

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ: ชอบใจความคิดเห็นที่เขียนด้วยตัวหนังสือสีน้ำตาล ดำ น้ำเงิน และแดง คือชอบหมดเลยครับ [อจินไตย ๔ ในพระไตรปิฎก]

พ่อครูบา: ผมนึกไม่ถึงเจ้าเป็นไผ เลยนะครับเนี่ย หากได้เป็น real self ก็จะช่วยให้เข้าใจถึงความรู้ ประสบการณ์ ของแต่ละท่าน ซึ่งเมื่อนำมาเชื่อมต่อกัน ก็จะเกิดการรวมพลัง ปิดจุดอ่อนของกันและกัน ช่วยกันทำงานใหญ่ได้ ถึงแม้ได้มาเป็น ideal self ก็ยังช่วยให้เข้าใจเป้าหมายครับ 

คุณ [ minisiam ]: แอบอยู่นานไปแล้วมั๊งครับ อารมณ์ร่วมอาจเกิดได้จากความสามารถในการหว่านล้อม ผลประโยชน์ร่วม และความต้องการที่จะถูกรวมเข้าไปในกลุ่มครับ อารมณ์ร่วมไม่จำเป็นต้องเกิดจากข้อเท็จจริง หลายครั้งที่เท็จปนจริง สร้างอารมณ์ร่วมได้แรงกว่าเยอะ ผู้ทำงานการเมืองเก่งทางนี้ 

อาจารย์แสวง: บันทึกนี้คงเป็นได้เพียงผลงานของ กบาล-ไร้เทียม-ถี่ ครับ  เคยเห็นการขอเพลงบ่อยๆ แต่ที่ขอเป็นบันทึกเลยนี่ ก็จัดให้ได้เหมือนกัน ขอนำไปแทรกในโครงร่างสำหรับตอนต่อๆ ไปนะครับ และขอเวลาหน่อยด้วยครับ 

อาจารย์ธวัชชัย: ผมยังหวังว่าครูบาอาจารย์ผู้มีความรู้ความชำนาญผู้ค้นคว้าแสวงหาในเรื่องนี้ จะกรุณาช่วยแก้ไขเติมเต็มบันทึกให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านมากขึ้น ช่วยกันเรียนครับ 

สวัสดีค่ะ

จริงๆแล้ว บันทึกนี้ สมบูรณ์ จนไม่ทราบจะมาให้ความเห็นเสริมในประเด็นใดได้อีกแล้ว

และพี่เห็นด้วยที่คุณConductorบอกว่า บันทึกยาวหน่อย แต่ได้ประเด็นชัดๆ ว่า ผู้บันทึกอยากจะสื่ออะไร ดีกว่า บันทึกสั้นๆ  อ่านแล้ว งงๆๆ เพราะไม่แน่ใจ ว่าผู้เขียน ตั้งใจจะบอกอะไรแก่ผู้อ่าน

ในฐานะที่เป็นสมาชิกของที่อื่นมาก่อน เมื่อมาเปรียบเทียบกับที่นี่ บอกได้เลยว่า ที่นี่ดีกว่าที่อื่นมากค่ะ

ขออนุญาตcomment G2K เฉพาะในประเด็นข้างล่างนี้เท่านี้ก่อนนะคะ....

ในประเด็น เรื่อง สิ่งใดในตัวตนที่ปรุงแต่งได้ยากสำหรับที่นี่

1.ความเร็วในการตอบ....ที่g2kนี่ ส่วนใหญ่ ตอบกันเร็วนะคะ ทันใจดีมาก ยกเว้น คนที่ไม่ว่างในช่วงนั้น แสดงว่า สมาชิกใจจดใจจ่อ กับที่นี่มาก

2.ความมั่นคงทางอารมณ์นี้ ถ้าจะให้วิเคราะห์แบบตรงไป ตรงมา คิดๆๆๆว่า....     ก็ดีค่ะ

3.คุณค่า ที่ให้กับผู้อื่น อันนี้ เต็ม ร้อยเลย

4.ความไม่สมบูรณ์แบบ---มีอยู่บ้าง แต่ไม่ได้หลุดมากมายอะไร จนผู้คนรู้สึกอึดอัด

ส่วนตัวคิดว่า....สังคมในG2Kนี้ ไม่ถึงกับ เป็น ภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำ (iceberg)  อย่างในเรื่องเรือไททานิกหรอกค่ะ

จากการอ่านบันทึกที่กัลยาณมิตรเขียนกันบ่อยๆ   ก็พอจะจินตนาการได้ ว่าตัวตนของท่านเหล่านั้น เป็นอย่างไร  อย่างน้อย ก็ถูก 70%

เพราะทุกท่าน ก็เต็มใจจะเปิดเผยตัวเอง ไม่มีใครอยากปกปิดอะไร

เพียงแต่ บางครั้ง ลีลาการเขียน อาจจะเข้ม หรือ เบากว่า ตัวตนจริงๆไปบ้าง ก็ไม่ใช่ เรื่องใหญ่ เพียงแต่ อาจจะมีประหลาดใจเล็กๆเท่านั้นเอง มันอยู่ที่เรื่องที่เขียนนั้น   แต่ทุกคนก็เขียนอย่างสุภาพค่ะ

ยกตัวอย่าง อาจารย์ยุวนุช ตัวจริงที่เห็นและคุยกัน ณ วันนั้นที่พบกัน  ก็คล้ายๆกับที่เขียนนั่นแหละค่ะ

ปกติในสังคมออนไลน์แบบนี้  เราไม่อาจเดาใจใครได้อย่างชัดเจนเต็มที่   เพราะเราไม่ได้พบหน้าค่าตากันจริงๆนี่คะ (ยกเว้น ท่านที่พบกันบ่อยๆ)

แต่ในด้านความรู้สึกร่วมในสิ่งเดียวกัน แม้ไม่พบหน้ากัน ก็มีความรู้สึกร่วมในสิ่งเดียวกันได้ไม่ยาก และพิสูจน์ให้เห็น หลายครั้ง หลายครา เป็นที่ประจักษ์กันทุกคน 

ในG2K ภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ในใจ  อยู่ไม่ลึกค่ะ เพราะเราเข้ามาเป็นกลุ่มก้อนด้วยเป้าหมายเดียวกัน ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ด้วยความตั้งใจ ไม่ใช่ ตกกระไดพลอยโจน

ตอนนี้ ถ้าจะคิดว่า G2Kเป็นองค์กร ก็เป็นองค์กร ที่มีวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองแล้วค่ะ  มีทั้งที่เห็นได้ชัดๆ และทั้งที่อาจจะยังคลุมเคลืออยู่บ้างก็ไม่มากนักค่ะ

ขออภัย ถ้าเขียนอะไรที่อาจจะ ตรงไปบ้างนะคะ...

ถ้า อ่านซ้ำๆอีกหลายๆรอบ แล้ว นึกอะไรออกอีก จะเข้ามาเขียนเพิ่มอีกค่ะ

ขอมาแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับการใช้อินเตอร์เน็ตบ้างค่ะ ตัวตนของแต่ละคนในนี้สำคัญแค่ไหนมันขึ้นอยู่กับเราเองว่าให้ความสำคัญอะไรกับสิ่งที่เห็น และใส่ใจแค่ไหน

โดยส่วนตัวนั้นใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการเสาะหาข้อมูลใหม่ๆ แต่บนนี้ก็ต้องพกตะแกรงร่อนติดตัวไว้เสมอ เลือกดูสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้จริงเท่านั้น อ่านแล้วเชื่อเลย หรือเชื่อในสิ่งที่เห็นทั้งหมดหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้นวิจารณญาณ (สมอง) จะมีไว้ทำไม?

ตัวอย่าง: เห็นคนใช้เน็ตที่เชื่อข้อมูลที่ได้รับจากฟอร์เวิร์ดเมล ไปอ่านเรื่องราวมาจากเว็บบอร์ดหรือเว็บต่างๆ แล้วชอบเอามาเขียนต่อโดยไม่มีบทวิเคราะห์เพิ่มเติม หรือความคิดต่อยอด พวกนี้น่าจะเชื่อในทฤษฎีโลกแบนด้วย เพราะหลายครั้งที่เห็นความเชื่อแบบไม่ผ่านกระบวนความคิด ไม่หาข้อมูลประกอบ หรือกรองด้วยวิจารณญาณสักเล็กน้อย คือเชื่อเลยทันทีที่เห็น ตกใจมาก ตื่นเต้นมาก โอ๊ว!!! อย่างนี้ต้องส่งต่อ ต้องเผยแพร่เพราะคิดว่าตนเองเป็นคนเดียวในโลกนี้ที่ได้รับ ถ้าเผยแพร่ข้อมูลนี้ออกไปจะช่วยกู้โลกได้ 

เราเป็นคนหนึ่งที่ต้องใช้เน็ตในการทำงานแทบทั้งวันทั้งคืน แต่ไม่เคยคิดที่จะเอาชีวิตไปผูกติดไว้ในโลกเสมือนนี้ และไม่เคยคิดจะทำด้วย เพราะกดปุ่ม shutdown ก็คือจบ

"ทำไมเราควรเลือกที่จะใช้ชีวิตในโลกแห่งความจริง" ทั้งที่ดูออกจะแห้งแล้ง ไร้สีสัน โลกไซเบอร์ต่างหากที่สร้างฝันให้เป็นจริง เพราะมันเปลี่ยนได้สารพัดทั้งความร่ำรวย ชาติตระกูล การศึกษา หรือบุคลิกภาพใหม่ แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัสบนคีย์บอร์ด บางคนอาจจะ endorphine หลั่งทะลักสุดยอดเมื่อได้หลอกคนอื่นว่าเป็น...ในสิ่งที่ทั้งชีวิตก็ไม่มีโอกาสจะเป็น หลอกตัวเองว่าเป็น หรือพยายามจะเป็นทั้งที่ไม่ได้เป็น ได้แสดงความคิดที่ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งที่ปกติไม่เคยแสดงความคิดหากต้องเผชิญหน้าไม่ได้หลบอยู่หลังจอ ได้กลายเป็น somebody ในขณะที่ในโลกธรรมดาไม่เคยเป็น ใช้เวลาหมกมุ่นสนุกสนานจนลืมคิดไปว่าโลกไซเบอร์ไม่มีอยู่จริง มันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ความสุขในนี้จึงไม่จริงด้วย ความสุขในการท่องเน็ตก็เหมือนกับที่เราต้องอิงอาศัยวัตถุจึงจะมีความสุขได้ แต่นั่นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้ต้องมาจากตัวตนข้างใน ไม่ต้องอิงอาศัยหรือพึ่งพิงสิ่งใด

สวัสดีค่ะ คุณconductor

  • เรื่องของจิตวิทยาในมนุษย์  พฤติกรรมมนุษย์มีหลายทฤษฎี  ให้เลือกอ่าน ....สุดแท้แต่ว่าเราจะชอบ  จะเชื่อทฤษฎีไหน  ....มีหลายกลุ่มเหลือเกินค่ะ.....
  • เมื่อเดือนที่แล้วไปสัมมนา   บังเอิญให้มีการบรรยายว่า  คนเราแบ่งได้หลายแบบ   และนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งในการแบ่งคน...

             พวกที่ 1. ฉันดี เธอก็ดี

             พวกที่ 2. ฉันดีหมด  เธอไม่ดีเลย

             พวกที่ 3. ฉันไม่มีดี  เธอดีเหลือเกิน  และ

             พวกที่ 4. ฉันไม่ดี  เธอก็ไม่ดีเหมือนกัน

        ...พวกไหนน่าคบ  พวกไหนไม่น่าคบ  ..เราจะอยู่พวกไหน  หรือเลือกที่จะเป็นพวกไหนดี.....คงต้องคิดเอาเอง....

       .....เพราะมนุษย์มีความแตกต่างและต่างก็ต้องการเป็นที่ยอมรับ   โลก internet ก็ทำใจเชื่อแบบที่มันเป็นเถอะค่ะ ....

  • โอย!.....คุยเรื่องของนี้แล้วปวดหัว....ไปหละ

บันทึกนี้ใช้เวลาเขียนหลายคืนครับ มีเรื่องที่ต้องค้นมากและพยายามดึงข้อสรุปจากหลายแนวคิด ให้เข้ามาในบันทึกเดียวกัน ในระหว่างที่เรียบเรียงอยู่นั้น หากมีกัลยาณมิตรโผล่มาใน MSN หรือ gtalk บางทีผมก็เปิดให้อ่านก่อน ได้ความเห็นเกี่ยวกับรูปมาหลายอันครับ 

  • ติดเรตติ้ง ฉ ด้วย
  • รูปภูเขาน้ำแข็งเหมือน "อึ" (iceburg แต่ท่านเรียกอย่างนี้)
  • รูปคนแกะสลักตัวเอง หินเป็นของแข็งจะแกะสลักตัวเองได้อย่างไร เหมือนตัวตนเสมือนที่สร้างจากตัวตนจริงผสม id ego และ super-ego กับสิ่งที่อยากเป็น

พี่ศศินันท์: บันทึกลักษณะประยุกต์ที่เขียนโดยผู้ที่ไม่ได้เทรนมาโดยตรง อาจจะถูกบ้างผิดบ้าง ไม่สมบูรณ์หรอกครับ เชื่อว่ามีช่องเสริมได้ อย่างน้อยก็ "ปรากฏการ GotoKnow" และ "ข้อสังเกตเกี่ยวกับ  real self" น่าจะมีมากกว่า 5 bullets กับ 5 ข้ออีกมาก 

ผู้ใช้ GotoKnow นี้ ผ่าน learning curve อันสูงชันมา ผ่านประสบการณ์ที่เขียนแล้วมีคนอ่านน้อยรู้สึกไม่คุ้มค่ากับความตั้งใจ ไปจนได้รับความคิดเห็นแรก จนมีเพื่อนมีแฟนคลับ ผูกมิตรไมตรีไปทั่ว แม้ระบบเคยขลุกขลักหลายครั้ง แต่เราก็อยู่กันมาได้ -- ถ้าไม่ตั้งใจจริง ถ้าไม่เห็นคุณค่าในนี้ คงเผ่นไปแล้วครับ

คุณซูซาน: ไหว้เจ้าเมื่อคืน เทพเจ้าซินไฉฮั้วประทับทรงหรือครับ

เรื่อง forward mail หรือจดหมายลูกโซ่ในลักษณะที่เข้าข่าย viral marketing นั้นผมมีความรู้สึกคล้ายๆ กันครับ อันที่ร้ายแรงคือการแอบอ้างข้อความว่าเป็นพระบรมราโชวาทโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาจากหนังสือที่พิมพ์ขายครับ ของจริงนั้นตรวจสอบได้ และพระราชทานให้คนไทยอ่านได้ฟรีครับ ถ้าเป็นของจริง ในหนังสือน่าจะมีจดหมายกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตด้วยครับ (เห็นของ DMG กับของ กบข.) 

อย่างไรก็ตาม ในบริบทของบันทึกนี้ แม้จะตีความตามคุณซูซานได้ แต่ผมคิดว่าสาเหตุคงไม่ใช่หรอกครับ -- น่าจะเป็นเพราะความรู้สึกอยากแบ่งปัน เมื่ออยากปุ๊บก็เขียนเลย ไม่ได้ตรวจสอบก่อนว่ามีบันทึกนี้อยู่หรือยัง

พี่ติ๋ว: นั่นนะซิครับ ในที่สุดแล้ว ก็เป็นตัวเราที่เลือกสรรว่าเราจะอ่านอะไร จะรับอะไร ว่าแต่ว่าก่อนเลือก จะไม่พยายามทำความเข้าใจก่อนหรือครับ ว่ากำลังจะเลือกอะไร [ไม่น่าเชื่อเลยว่าพี่ติ๋วจะแวะมายังบันทึกชวนปวดหัว]

ขอบคุณทั้งสามท่านนะครับ 

ใช่ค่ะ คุณconductor

  • ไม่อยากจะแอบบอกว่าจริงๆแล้วก็(แอบ)เลือกค่ะ...เลือกนักบันทึก..เลือกเรื่องที่บันทึก  เลือกสาระจากบันทึก  เลือกแนวคิด วิธีวิเคราะห์ในบันทึก....และสุดท้ายก็อดเห็นแก่ตัวไม่ได้ค่ะ  เลือกส่วนที่(ตนคิดไปเองค่ะ...ว่าอาจจะ)นำไปพัฒนาจิตใจและสมองตนเอง....(ทำได้บ้างมั้ยก็ไม่รู้)
  • อุ๊ย!.. ดูวิชาการ
เข้ากับรูปเด๊ะเลยครับ พยายามอย่างยิ่ง
รูปไอ้ตัวอ้วนกลม  หน้าย่นข้างล่างหรือคะ..น่ารักจริงๆ..อิ...อิ...

ที่บ้าน มีพันธุ์นี้อยู่ตัวหนึ่งครับ เคยเขียนเล่าเรื่องไว้ที่บันทึกหมากัดกัน เมื่อกลางปีที่แล้ว

ชอบมีคนถามว่าทำไมเขียนเรื่องการเมือง (เขียนบันทึกคืนก่อนตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำตัดสินคดียุบพรรค) แต่บันทึกนั้นเป็นเรื่องหมากันกันตรงๆเลยครับ ไม่มีอะไรแอบแฝง 

หลังจากนั้น ก็มีคนขอดูรูปครับ เลยไปหารูปมาจากเว็บของสมาคมหมาสหรัฐ เมื่อมีรูปแล้ว ก็ใช้แปะท้ายบันทึกตามโอกาสครับ

The question of "virtual identity" has been widely studied and covered in multiple fields of study. In this "Virtual Nation" paper, I wrote with my friend and school mate as we were intrigued by the question of virtual identify - who we "are" online, may or may not be the same as who we are offline.

Here's an except from the paper on the question of identity: 

Identity through Position - Contextual Identity

Just as we identify people by their occupations in face-to-face (F2F) communications, the Virtual Nation identifies its members through their positions in the online society - our contextual identification.  ...... different cultures view the role of the individual differently, specifically contrasting the importance of roles in society in the Japanese culture with the importance of the individual in Western culture.  Examples of some positions within the Virtual Nation include the following:

§         Hacker

§         Listowner

§         Newbie

§         Lurker

§         Flamer

Each of these positions identifies the individual within the Virtual Nation.  These positions hold various implications and expectations for behavior and responsibility.  For example, a Hacker is expected to be bright, rebellious, and arrogant while a Newbie is expected to be overly enthusiastic and uneducated in the ways of the community.

Identity through Interactions - External Identity

Our perception of ourselves is strongly affected by our interactions with others.  Once your ideas are available to others, they respond with their opinions.  These opinions affect our self-perception - our external identification.  ...new identities formed by people based on the opinions of others in the Virtual Nation.  Through language peculiarities  and content of communications, the citizens of the Virtual Nation judge the character of each member.  That judgement, coupled with the resulting relationship formed within the community, creates a new identity for the individual..

Identity through Self-Definition - Internal Identity

Within a community, we have a face, or perhaps multiple faces, that we show others.  This face represents a form of self-definition - our perception of ourselves, our internal identification.

This perception is affected by the medium of our communication with others as well as the virtual reality constructed within that medium. The opportunity exists to create personas or avatars wholly different than the ones created in our real life (RL), just as we may have different personas for work and social situations.  ..  These multiple personalities allow people to explore new identities in a relatively low-risk manner.  By removing the hazards of experimental personalities that exist in a F2F situation, the Virtual Nation promotes the internal identity created through self-definition.  An interesting area of study will be to find a correlation between online personalities and RL personalities, within the realm of internal identification.

Identity through Electronic Transactions - Digital Identity

The role of privacy – a sense of personal safety and security – is an important one in most societies..... while we are isolated physically from one another during online communication, we are leaving an electronic footprint of our actions that is easily recorded and observed - our digital identity.

=============================================

We wrote this paper in 1999 - that's a pre-blog era. The fact that communication forums have changed ie. from Usenet Newsgroups (hello?) to bloggings,  and social networks such as Facebook or  MySpace has perhaps given us a variety of tools and selections to create our virtual identity. In other words, our virtual identity is limited only by our imagination.

This is what we concluded in our paper:

It's a Beautiful Day in the Neighborhood: Conclusions

Despite its unconventional geography, cyberspace has proved another frontier for the human animal to expand, meet, create communities, and live.  Through Web TV, Internet appliances, and so on, the Virtual Nation is migrating closer to RL communities.  The impact of this non‑physical world becomes increasingly apparent in our physical lives, bringing the Virtual Nation into closer focus.  Unsurprisingly, this community appears no different than other societies we have formed in more conventional locations – it simply takes a different kind of transportation to get there.

 

A follow up on cross-disciplinary fields of study - literature review on the topic of virtual identity can be found below;

cROSSCross-Disciplinary study

Journals

f ¡ ® s T - m o ñ d @ ¥

Journal of Computer-Mediated Communication

The Information Society

Journal of Communication

Communication Research Reports

Communication Theory

Journal of Technical Writing and Communication

Scientific American

Western Folklore

Journal of the American Society for Information Science

Ethnos

The Communication Review

Computers in Human Behavior

Fields of Study

Ethonography

Sociology

Communications

Computer Science

Law

Economics

Engineering

Psychology

Information Science

 

ขอบคุณคุณ Bluebonnet สำหรับ paper และ references ครับ

Virtual Nation นี้ คงจะเป็นเวียดนามเพราะย่อเป็น VN

Speaking of Vietnam as a Virtual Nation and the ability of the country to "leapfrog."

VN's Internet Usage and Population Statistics:

YEAR

Users

Population

% Pop.

Usage Source

2000

200,000

78,964,700

0.3 %

ITU

2005

10,711,000
83,944,402
12.8 %

2007

16,737,129

85,031,436

19.7 %

VNNIC - July/07

2007

17,546,488

85,031,436

20.6 %

VNNIC - Sept/07

Source: Internet World Stats TH's Internet Usage and Population Statistics:

YEAR

Users

Population

% Pen.

GDP p.c.*

Usage Source

2000

2,300,000

61,528,000

3,7%

US$ N/A

ITU

2007

8,465,800

67,249,456

12.6%

US$ 2,750

ITU

Source: Internet World Stats

There's another statistics by NECTEC the number of Internet users in Thailand to be 13.15 million.

At any rate, these numbers tell us a thing or two about our "growth" in Internet users is behind that of our VN neighbour.

 

สวัสดีค่ะคุณ Conductor

บันทึกนี้ทำเอาเบิร์ดลืมผะหมีเลยค่ะ เพราะเป็นครั้งแรกที่วิ่งเข้าไปเล่นผะหมีแบบไม่ได้คิด..เพื่อจะกลับมานั่งอ่านบันทึกนี้เงียบๆหลายรอบด้วยความทึ่งและชื่นชมเป็นอย่างมากที่คุณ Conductor สามารถดึงเอาจิตวิทยาหลายทฤษฎีมาโยงกับการวิเคราะห์ชุมชนออนไลน์ได้อย่าง " ถึงกึ๋น " แบบที่ อ.แสวงกล่าวมา

เบิร์ดขออนุญาตเรียนตามตรงว่าถ้าเราเอาจิตวิทยามาวิเคราะห์ เราจะ " ลงลึก " เท่าที่จะทำได้โดยพยายามไม่ติดกับกรอบใดๆนะคะ เนื่องเพราะ จิตวิทยาคือการบอกให้รู้ว่าไม่ว่าเราหรือเขาล้วนมีตัวตนมีส่วนลึกเร้นด้วยกันทั้งนั้น  ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ.....บทส่งท้ายของคุณ Conductor จึงเป็น " ความจริง " ที่เราต้องถามตัวเองให้ชัดว่าจะรู้หรือจัดการ " ตัวตน " ของคนอื่นๆไปทำไม ?  เพราะแม้แต่การบำบัดรักษาเองเราก็จะ รู้เท่าที่จำเป็น เพื่อปรับหรือรื้อโครงสร้างให้เค้าสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยปกติสุขเท่านั้นค่ะ  ไม่ใช่รู้ทั้งหมด แม้ชีวิตของเราเองเราก็ยังไม่รู้ทั้งหมดโดยแท้จริงเลยนี่คะ

จากทฤษฎีทางจิตวิทยารวมกับความเห็นที่กัลยาณมิตรทุกๆท่านได้เข้ามาแลกเปลี่ยน เราจะเห็นความเป็นจริงของมนุษย์ว่า 

1. มนุษย์ย่อมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเสมอค่ะ
มนุษย์แต่ละคนจะมีสำนึกของความต้องการของตัวเองก่อนที่จะสำนึกรู้ถึง ตัวตน และ ความต้องการของผู้อื่น ความต้องการในที่นี้มิได้หมายถึงเฉพาะทรัพย์สินเท่านั้นนะคะ  แต่รวมถึงความสุข เกียรติยศ ชื่อเสียง การยอมรับ มุมมอง ทัศนคติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่เอื้อต่อการเกิดสันติสุขทั้งในสังคม และในชีวิตตัวเราเองเลยล่ะค่ะ  และมักเกิดการกระทบกระทั่ง การเข้าใจผิดหรือความหงุดหงิด ผิดหวัง ขุ่นเคืองใจ ฯลฯ ตามมาได้ทั้งนั้น


2. มนุษย์ชอบเล่นเกมคำจำกัดความค่ะ
เมื่อมนุษย์พูดถึงคนอื่นมักใช้ ความรู้สึกของตนประเมินผู้อื่น คำจำกัดความเหล่านี้ได้แก่ ดี ถูก ผิด แย่ เห็นแก่ตัว ใช้อำนาจ  ฯลฯ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายไม่ตายตัวแล้วแต่ความคิดเห็นของแต่ละคนร่วมกับความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้นๆ  สิ่งที่มักตามมาคือคำว่า " ทำไม " ไงคะ


3. มนุษย์มักเล่นเกมแบ่งฝ่ายนะคะ
จากความเป็นจริงของมนุษย์ทั้ง 2 ประการที่กล่าวมาแล้ว ทำให้มนุษย์มักเอาตัวเองไปเข้ากับฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ที่ตนเองเห็นว่าถูกและดี และฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายตนก็มักจะผิดเสมอ เราๆท่านๆส่วนใหญ่จึงมักใช้อารมณ์ ความรู้สึก หรือ สัญชาตญาณ มาร่วมกับการตัดสินใจ โดยไม่รู้ตัว ค่ะ

4. เรามีความแตกต่างระหว่างบุคคล
เช่นด้านของกายภาพ  อารมณ์  สังคม  เชาวน์ปัญญา  ทัศนคติ ฯลฯ ที่เรียกรวมๆว่าบุคลิกภาพ ( Personality ) โดยแบ่งเป็นบุคลิกภาพภายนอกแบบที่เราสัมผัสได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย  และบุคลิกภาพภายในที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เพราะเข้าถึงยากมาก

ในการวิเคราะห์ชุมชนออนไลน์ มีทฤษฎีจิตวิทยาที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งค่ะคือการวิเคราะห์การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ( Transactional Analysis ) ซึ่งนิยมเรียกกันว่า TA น่ะค่ะ

เพราะเป็นแบบจำลองความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับบุคคลอื่น โดยเน้นการวิเคราะห์บุคลิกภาพของบุคคลและวิธีการของเค้าในการตอบโต้ความคิดเห็นต่างๆ..แหมเบิร์ดนึกถึงบันทึกนี้ของ อ.วสวัตดีมาร จริงค่ะ.. เพราะหลักของ TA ให้ความสำคัญต่อภาวะของอัตตา ( ego state ) ในประเด็นปัญหาที่เราลองพิจารณาหาคำตอบดังต่อไปนี้ดูก็ได้นะคะ

1) ฉันมีพฤติกรรมอย่างไร ( เรามีการติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่นอย่างไร )
2) ทำไมฉันถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ (แรงผลักดันภายในและภายนอกของเรามีผลต่อพฤติกรรมอย่างไร )
3) พฤติกรรมนี้พัฒนามาอย่างไร (เข้าใจพัฒนาการของตนเองจากอดีตจนถึงปัจจุบัน)
4) ฉันเป็นใคร แบบที่ พ่อครู ฯ ถามให้เฮฮาศาสตร์ ตอบนั่นแหละค่ะ ...คำถามนี้เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดเลยนะคะ เพราะการตอบคำถามนี้จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเราในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ชัดเจนขึ้นเยอะค่ะ ( คำตอบจะเป็น real self , percieved self หรือ ideal self ก็ไม่สำคัญเลยนะคะ  เพราะต่างก็จะเป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมที่พึงปรารถนาตามมาได้ทั้งนั้นและพฤติกรรมดีๆใดๆก็ตามที่แสดงออกบ่อยๆก็จะกลายเป็นบุคลิกภาพที่ดีของเค้าได้เอง ก็เรามีภาพลักษณ์ที่ต้องรักษาไว้นี่นา ..สังคม G2K จะช่วยปรับหรือเสริมสร้างพฤติกรรมทางบวกได้ก็ด้วยเหตุนี้แหละค่ะ )

การแสดงพฤติกรรมของคนส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับท่าที หรือทัศนะที่บุคคลมีต่อตนเองและต่อบุคคลอื่น ค่ะ ซึ่ง TA เรียกว่า ทัศนะต่อชีวิต ( Life position ) หรือทัศนะทางจิตวิทยา ( Psychological position ) แบ่งได้เป็น 4 ทัศนะด้วยกันแบบที่ พี่ติ๋ว ยกมาเล่าข้างบนนู้นนั่นแหละค่ะ

1) "ฉันดี - เธอดี " ( I'm OK. - You're OK.)
เป็นทัศนะของผู้ที่บรรลุวุฒิภาวะ หรือมีสุขภาพจิตที่ดี มีความสามารถในการปรับตัว มองเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น..การสื่อสารที่ออกมาก็จะดูดี
2) "ฉันดี - เธอด้อย" (I'm OK. - You're not OK.)
เป็นทัศนะที่เห็นว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น กล่าวโทษผู้อื่น โยนความผิดพลาด ความบกพร่องไปให้ผู้อื่น หรือวางอำนาจข่มขู่ผู้อื่น เห็นว่าชีวิตของผู้อื่นมีคุณค่าน้อย  เรามักเห็นเสมอในชีวิตประจำวัน ในสังคมต่างๆ หรือในการประชุมค่ะ อิ อิ อิ 
3) "ฉันด้อย - เธอดี" ( I'm not OK. - You're OK.)
เป็นทัศนะที่เห็นว่าตนเองต่ำต้อยกว่าผู้อื่น กล่าวโทษตนเอง ดูถูกสบประมาทตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าน้อย ไม่มีความสามารถ ปฏิกิริยาที่แสดงออกมาก็คือจิตใจหดหู่ มองโลกในแง่ไม่สดชื่นงดงามมากนัก และไม่ค่อยคบค้าสมาคมกับผู้อื่นค่ะ ทัศนะแบบนี้มักเห็นได้เยอะเหมือนกันนะคะ

4)"ฉันด้อย - เธอด้อย" ( I'm not OK. - You're not OK.)
เป็นทัศนะที่ไม่เห็นคุณค่าอะไรทั้งสิ้น เห็นว่าชีวิตนี้ไร้ความหมาย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของตนเองและผู้อื่น  หดหู่ดีนะคะ


ทัศนะทั้ง 4 แบบนี้เป็นทัศนะพื้นฐานในชีวิตของบุคคล  และอาจมีทัศนะใดทัศนะหนึ่งใน 4 ทัศนะนี้ได้ทั้งนั้นค่ะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย ...> ตรงนี้ไงคะที่สังคม G2K จะช่วยกันได้

 

ก็ถ้าเราพยายามช่วยกันสร้างทัศนะที่ดีต่อตนเองและผู้อื่นแบบ " I'm OK. - You're OK. " ให้ได้เป็นส่วนใหญ่ของชีวิต เราก็จะได้ผลิตผลของผู้ที่มีสุขภาพจิตดี มีความสุขในการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมและสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ สังคมใหม่ๆได้ดีแม้แต่ใน G2K ที่ถือเป็นสังคมเสมือนแบบหนึ่งก็ตามเหอะน่า ! ...ก็การเดินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่นี่ถือว่าเป็นการปรับตัวและต้องศึกษาเช่นเดียวกันนี่คะ เพราะที่นี่ถือเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นของตัวเองในระดับหนึ่งแบบที่พี่ศศินันท์กล่าวจริงๆ ..ไม่ใช่สังคมเน็ตดื่นๆทั่วไปที่เพียงเปิดบล็อกก็สามารถจะเขียนอะไรก็ได้ตามใจ อยากจะโจมตีใครก็ทำ หรืออยากจะขายอะไรก็โฆษณา

 

Real self ที่คุณ Conductor ตั้งประเด็นมาเบิร์ดคงเพิ่มอีกนิดหน่อยในเรื่องของบันทึกและความเห็นค่ะ

 

  • บันทึกจะสะท้อนความคิด มุมมองของเจ้าของที่มีต่อเรื่องนั้นๆ และบอกเราได้ว่าเป็นความคิด....เป็นการเขียนเพื่อบอกเล่าหรือเป็นการคัดลอกมาเพื่อหาแนวทางเปิดตัวเองสู่สังคม โดยยังไม่ทราบว่าจะเขียนสิ่งใดดี เพราะสำนวนที่เขียนจะบอกชัดค่ะว่าเป็นตัวเองหรือเปล่า
  • ความเห็นจะเป็นส่วนที่บอกว่าเค้ามองสิ่งที่เค้าเขียนอย่างไร  และมีความมั่นคงทางอารมณ์ในการนำเสนอแค่ไหน เพราะการตอบความเห็นหลายๆความเห็นซ้อนๆกันนั้น ..เอาการเหมือนกันล่ะค่ะ ....ร่วมกับความเห็นต่างๆที่เค้าไปนำเสนอในที่อื่นๆด้วยนะคะ เพราะ การเข้าบ้านคนอื่นแบบเปิดเผย ต้องใช้ความเป็นตัวของตัวเองและความกล้าหาญพอสมควรเชียวล่ะค่ะ..ในการนี้คนที่ไม่นิยมตอบความเห็นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามจึงเสียเปรียบเล็กน้อยในเรื่องที่จะหาคนเข้าใจได้ยากหน่อย  ^ ^....
  • เวลาที่เราให้ค่ะ  ..เพราะถ้าเราอ่านแป๊บๆ หรือมองหน้าแล้วตัดสินโดยความเคยชินว่าเค้าเป็นแบบนั้น แบบนี้ คงจะเป็นการตัดสินที่ง่ายเกินไปนะคะ  
  • เบิร์ดเริ่มเวียนหัวกับการเขียนของตัวเองแล้วล่ะค่ะ  แต่จะติดตามตอนต่อไปอย่างไม่กระพริบตาเลยนะคะ..ชอบค่ะ ^ ^

 

สวัสดีค่ะ

เมื่อคืนเข้ามาอ่านอีกที ก็ได้ประเด็นกว้างๆที่จะสนทนาต่อได้ แต่เป็นมุมมองเล็กๆ  ส่วนตัวนะคะ และไม่ได้นึกถึงใครเป็นพิเศษด้วย

(ไม่ได้เจาะลึกในประเด็นเฉพาะเจาะจง เพราะมันจะกลายเป็นเรื่องยาว และบางทีคิดว่า ไม่ควรเขียนแบบทะลายภูเขาน้ำแข็ง)

1.สังคมอินเทอร์เน็ต  คือโลกเสมือนจริง     ผู้คน และตัวตนในสังคมอินเทอร์เน็ต ก็เลย "เสมือนจริง" ตามไปด้วย เป็นเรื่องที่ปกติธรรมดา  ซึ่งส่วนตัวไม่ได้ตั้งความหวังและไม่ได้คาดหวังอะไรนักค่ะ

โดยภาพรวมทั่วไป คนใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 90% ใช้นามแฝง หรือนามปากกา (Pseudonym) หรือไม่ก็ เป็นบุคคลไร้ชื่อ หรือ เป็นนายนิรนาม (Anonym) เพื่อการแสดงความคิดเห็นต่อกัน ทั้งนี้เพื่อไม่แสดงให้ใครต่อใครรู้ว่าเขาเป็นใครในโลกจริง ๆ

แต่ในโกทูโนนี้ ส่วนใหญ่ เรารู้กันว่า ใครเป็นใคร  (แม้จะไม่ได้ให้รู้ 100%)

 เราไม่ได้ปกปิดกัน เพียงแต่บางที อาจใช้นามแฝงด้วย  ซึ่งทุกคนมีสิทธิตามก.ม. ที่จะได้รับความคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

และเมื่อผู้คน ไม่ต้องติดอยู่ในกรอบบางอย่าง  เช่นระบบบังคับบัญชา ความเกรงใจ อิทธิพล บางอย่าง ก็ทำให้คนกล้าคิด กล้าเขียนมากขึ้น

จริงๆแล้วพี่คิดว่า มันเป็นการลดความกดดันหรือความขัดแย้งของคนด้วยซ้ำไป เพราะมีโอกาสได้ระบายออก เราจึงเห็นคนเขียนแรงๆกัน ในเว็บบอร์ดต่างๆเสมอๆ

แต่ปัญหาอยู่ที่ การเขียนลักษณะนี้ จะมาพร้อมกับความไม่รับผิดชอบ และบางที คนเดียวกัน ก็ใช้หลายชื่อ เพื่อสร้างกระแสด้วย  โดยเฉพาะ ที่เกี่ยวกับการเมือง

จึงดีใจมากที่ในโกทูโน ไม่มีลักษณะดังเช่นว่านี้เลย และเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ที่เราเป็นสังคมเสมือนที่ไม่ใหญ่ และรู้จักกันเป็นส่วนมาก    (ในเว็บ)

ในข้อนี้มีอีกนิดหนึ่งคือ ...เคยอ่านพบว่า มีหลายๆคนอยากให้ ใส่ชื่อจริง พร้อมรูป และประวัติจริงกันทุกคน ก็เลยมา นึกว่า....เราจะอธิบายหนังสือหรือข้อเขียนหรือบทความจำนวนมากที่ได้รับการยอมรับกันแพร่หลาย   แต่ภายใต้นามปากกาหรือนามแฝง ได้อย่างไร 

ในมุมนี้ เลยคิดต่อว่า...คนไทย ส่วนใหญ่มักจะเชื่อเรื่องอะไร ที่คนดังๆเขียนไว้ก่อน ไม่มีการตั้งคำถาม แต่ถ้า เป็นคนนิรนามเขียน แม้เนื้อหา จะดี ก็ไม่ค่อยมีคนสนใจนัก

ที่ยกตัวอย่างเช่นนี้ เพราะตัวเอง อ่านอะไรที่ใครบางคนที่ดังๆเขียนแล้ว   นึกแย้งอยู่ในใจ และยังเอาไป วิจารณ์ต่อในครอบครัวกับหมู่เพื่อนฝูง     ซึ่ง เราก็เห็นตรงกัน   แต่ก็ไม่ใช่เรื่อง ที่เราจะเอาไปพูดให้สวนกระแสในที่สาธารณะ

แต่สำหรับที่โกทูโน มีเอกลักษณ์พิเศษค่ะ นามแฝง เลยกลายเป็น ชื่อจริงไปแล้วค่ะ เพราะรู้จักและคุ้นเคยกันไปหมดแล้ว และข้อเขียน ส่วนใหญ่  ก็เป็นที่ยอมรับกันทุกคน จริงๆนะคะ

2.การค้นหาตัวตนของผู้อื่น  ประเด็นนี้นะคะ โดยส่วนตัว คงไม่ไปค้นหา  เพราะจากการเขียนในบันทึก ก็บอกอะไรได้   ไม่น้อยแล้ว และก็ไม่มีอะไรผิดด้วย    เพราะธรรมชาติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การแสดงออก ก็ไม่เหมือนกัน แม้ว่า จะสามารถจัดกลุ่มได้ก็ตาม

โดยส่วนตัว ไม่มีอคติกับใครสักคนเลย     และสนับสนุนด้วย  ถ้าใครจะพยายามแสดง Ideal self    ของเขาออกมา โดยไม่ได้ทำอะไรผิดหรือละเมิดใคร

3. พี่มีมุมมอง ในด้านของการบริหาร กับการตลาด สำหรับเรื่องชุมชนออนไลน์นี้อยู่ในใจ แต่คิดว่า ไม่น่าลงลึก เพียงแค่จะบอกว่า มีมุมมองนี้อยู่ค่ะ

บันทึกนี้ มีเรื่องคุยได้เยอะค่ะ เพราะมันอยู่ในทุกหัวข้อที่เขียนเลย  แล้วอาจจะมาใหม่นะคะ

ความคิดเห็นยาวคืบสองคืบที่ต่อยอดบันทึกเริ่มมารวมตัวกันโดยไม่ต้องร่ายคาถา "โอมจงมา... จงมา..." อย่างในการ์ตูนขายหัวเราะ-มหาสนุก ขอบคุณทุกท่านที่มาช่วยเติมเต็มนะครับ

ผมพูดมากไม่ได้ เดี๋ยวตอนต่อไปจะจืดหมดครับ ขอให้ความเห็นเฉพาะเรื่องจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของเวียดนามกับไทย มีความแตกต่างพื้นฐาน ซึ่งถ้าดูแต่ตัวเลขก็จะเข้าใจอย่างหนึ่งครับ

ในสไลด์ 5 กับ 6 จะเห็น teledensity (ความหนาแน่นของโทรศัพท์ต่อประชากร 100 คน) ซึ่งของไทยสูงกว่าของเวียดนามมาก ในแบบที่ใช้เวลาอีกห้าปีสิบปีก็ไล่ไม่ทัน ส่วนตัวเลขล่าสุดที่ฟรี หาไม่พบครับ (ขายพันห้าร้อยเหรียญ)

มีคำถามเกิดขึ้นว่าหาก teledensity ต่างกันมากขนาดนี้ ทำไมเวียดนามจึงมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าไทย ผมคิดเอาเองว่า

  • เวียดนามมีแผนสร้างชาติ (ที่ ambitious) ทุกเหล่าทุกฝ่ายมุ่งหน้าทางเดียวกัน เร่งสร้าง เร่งให้กำลังใจกัน ใส่ผงชูรสได้นิดหน่อยไม่ให้น่าเกลียด
  • ไทยมีแผนที่วางไว้บนโต๊ะ การปฏิบัติเกิดขึ้นยากด้วยติดขัดผลประโยชน์ของทุนขนาดใหญ่ แถม TOT กับ CAT ก็เหมือนโดนผงละลายกระดูกมาหลายชั่วโคตร จริงอยู่ที่มีเสียงบ่นให้ได้ยินอยู่เรื่อยๆ
  • สถิติของเวียดนาม เก็บโดย VNNIC จึงนับรวมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด รวมถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ด้วย เพราะเวียดนามรู้ว่าสถิติเหล่านี้ เป็นตัวเลขที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นตัวชี้วัดการพัฒนา; ไทยก็รู้ครับ แต่ไม่ทำ เอ... หรือว่าไม่รู้
  • สถิติของไทย มี teledensity เป็นของจริง (ควบคุมด้วยสัมปทาน และหน่วยงานของรัฐ) แต่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เป็นตัวเลขสุ่มโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ; ผมเชื่อว่ามีความถูกต้องตามหลักสถิติ แต่ตัวเลขก็ขึ้นกับกลุ่มตัวอย่าง -- เป็นอย่างนี้มาหลายปีแล้ว ผมลุ้นทุกปีไม่ให้ตัวเลขผู้ใช้เน็ตลดลง คิดว่าน่าขายหน้าครับ
  • เพราะเราพอใจเพียงความถูกต้องทางวิชาการ ถ้าเราคิดแยกส่วน ก็ได้แค่นี้ล่ะครับ ไม่รู้จะบ่นไปทำไม ดัชนี e-Government ทั่วโลกประจำปี 2007, สำหรับเมืองไทย ร่วงลงอีกแล้ว
  • ผมเชื่อตัวเลขของเนคเทคมากกว่า เนคเทคซึ่งทำการศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี  2535 จนกระทั่งตั้งกระทรวงไอซีที (สำนักงานสถิติแห่งชาติอยู่ใต้กระทรวงไอซีที) ตัวเลขของเนคเทค มาจาก IP recycling โดยดูที่ "sessions" ที่วัดได้ที่ truehits ซึ่งครอบคลุมการใช้งานจากบ้าน จากบริษัทห้างร้าน ส่วนราชการ สถานบันการศึกษา อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ไม่ว่าจะใช้ "บอดแบน" โมเด็ม หรือมือถือ
  • ทั้งหมดเป็นความเชื่อส่วนตัวครับ
มีอีกนิดหนึ่ง ที่คุณConductor ไม่ได้กล่าวถึง คือเรื่อง การแสดงเลขไอพี

แต่ก่อนนี้ เห็นมี แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว

หมายเลขไอพี      มีเพื่อจะระบุได้ว่าข้อความที่เขียนนั้น มาจากที่ใด หรือ ใครเป็นคนเขียน   แต่ถ้าใช้หมายเลขร่วมกันหลาย ๆ เครื่อง ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ใช่ไหมคะ

ไม่ทราบว่า การแสดงไอพี แปลว่า จะให้การเขียนบันทึก หรือการให้ความเห็น สว่างและโปร่งใสมากที่สุดหรือไม่ พอดีไปพบ   ที่เว็บหนึ่ง มีการเขียนไว้ดังนี้.....

เว็บบอร์ดเป็นพื้นที่สาธารณะ การแสดงความเห็นใน.......มีการแสดงหมายเลข IP
โปรดระวังการเขียนข้อความที่จะเป็นภัยต่อตัวท่านหรือเป็นโทษต่อผู้อื่น

แม้ไม่แสดงไอพี แต่ผมรู้แน่ว่า GotoKnow เก็บหมายเลขไอพีตามประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ.2550 ลงวันที่ 19 ต.ค. 2550 ที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ครับ -- อันนี้หมายความว่า ถ้าจะแสดงก็แสดงได้

เรื่องการแสดงหมายเลขไอพีนี้ ได้ขอให้พิจารณานำกลับมาหลังจากพบว่าหายไป แต่ช่วงนั้นทีมงานก็ยุ่ง แล้วเครื่องแม่ข่ายกำลังอาการหนัก 

ถ้าหากจะแสดงไอพี ผมคิดว่าไม่ควรแสดงถ้าล็อกอินครับ แต่ถ้าไม่ล็อกอิน กลับยิ่งควรแสดงไอพี

การแสดงหมายเลขไอพี ไม่เกี่ยวกับตัวตนในบันทึกนี้นะครับ

เมื่อเช้าโพสตอน 2 ไปแล้ว ก็กลับมาแลกเปลี่ยนในส่วนที่ขาดไปได้ครับ 

  • งานเขียนมีอานิสงส์ที่คิดไม่ถึงหลายอย่างครับ ในบริษัทผมตอนช่วงปี 2545-47 มี Writing Practice ครับ -- ใช่ครับ หัดเขียนเรียงความกันใหม่
    • งานเขียนคือการลำดับความคิดเพื่อถ่ายทอดไปสู่ผู้อ่าน 
    • ถ้าความคิดเป็นระเบียบ การถ่ายทอดก็จะหมดจดกว่าครับ 
    • โดย ส่วนตัว ผมไม่ได้ชอบเรื่องที่เข้าใจง่ายเหมือนละครทีวี แต่ผมชอบเรื่องที่เข้าใจได้นะครับ ถ้าจะเข้าใจได้ ก็หมายถึงเล่าแล้วรู้เรื่องว่าอะไรเป็นอะไร
    • โจทย์อันแรก ถามไปว่าจุดมุ่งหมายของบริษัทคืออะไร มีพนักงานคนหนึ่ง ตอบมาในตอนหนึ่งว่าอย่างนี้ครับ 
      ...ผมให้ความสำคัญกับแบบฝึกหัดอันนี้พอสมควรและยอมรับว่าเป็นแบบฝึกหัดที่ยากทีเดียว เนื่องจากผมได้ตระหนักว่าถึงผมทำงานที่[บริษัท]มา 8 เดือนแล้วนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสรุปความคิดของตัวเองที่มีต่อ[บริษัท]มาเรียบเรียงเป็นเรียงความเรื่องจุดมุ่งหมายของ[บริษัท] ผมคิดว่าบางทีผมก็ทำงานแค่หน้าที่ของตัวเองเท่านั้นจนลืมตระหนักถึงจุดมุ่งหมายของบริษัทซึ่งเป็นจุดที่สำคัญมากที่พนักงานทุกคนจำเป็นต้องรับทราบและ ตระหนักไว้ในความคิดอยู่เสมอ...
      เรียงความของเขาไม่ดีหรอกครับ แต่แค่อ่านตรงนี้ ผมคิดว่าเขาได้ประโยชน์จากแบบฝึกหัดมากกว่าอีก 69 คนที่เขียนเรียงความในแบบฝึกหัดนี้ได้ดีกว่าเขาเสียอีกนะครับ คนนี้เขาได้สติกลับมาครับ 
  • หากงานเขียนนั้น เป็นเพียงการคัดลอกข้อความของผู้อื่นมาปะ ซึ่งไม่มีแม้แต่ความเห็นของผู้เขียน (ชอบ-ไม่ชอบ ตรงไหน เพราะอะไร ฯลฯ) ผู้เขียนเป็นเพียงทางผ่านของข้อมูล โดยไม่ได้เพิ่มคุณค่าแต่อย่างใดครับ 
  • ผมเห็นด้วยกับคุณเบิร์ด #20 ตรงนี้ครับ "การเข้าบ้านคนอื่นแบบเปิดเผย ต้องใช้ความเป็นตัวของตัวเองและความกล้าหาญพอสมควรเชียวล่ะค่ะ
  • ผมเห็นด้วยกับพี่ศศินันท์ #21 ว่า GotoKnow เป็นชุมชนที่มีลักษณะพิเศษ (และมีความจริงใจ) อยู่มากครับ ไม่บอกไม่ได้แปลว่าปกปิด ถ้าอยากรู้จริงๆ ก็ถามได้ครับ -- เมื่อยังปิดอยู่ ก็สามารถเปิดได้; ส่วนถ้าเปิดไปแล้ว ปิดไม่ได้อีก
  • อืม อึ้งค่ะ
  • เป็นคนหนึ่งที่เข้ามาเพราะอยากเข้ามา
  • ไม่ได้มาเพราะเป้นส่วนหนึ่งของงานเพราะหน่วยงานบังคับ
  •  หรือเพราะเป็นที่รวมคนดังๆ
  • เห็นด้วยกับทุกความเห็นค่ะ
  • สองคนยลตามช่องไงค่ะ แต่ละมุมที่เรายืนทำให้เรามองต่างออกไป
  • นี่คือเสน่ห์ของที่นี่ค่ะ เราไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกัน ทำเหมือนกัน อย่างนั้นคงจืดชืดแย่
  • ความแตกต่างแต่ไม่แบ่งแยกต่างหากละคะ ที่ทำให้หลายคนเหนียวแน่นอยู่ที่นี่โดยไม่หนีไปไหน

ผมว่า...

กว่าจะเห็นตัวตนที่แท้จริงของใครได้คงต้องใช้เวลามาก ๆ ครับ กับคนที่เราเจอกันทุก ๆ วัน เรายังไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่า เขาเป็นคนยังงัย...

สำหรับชุมชนออนไลน์ เรารู้จักเขาเท่าที่เขาอยากให้เรารู้จัก ผมว่าก็เพียงพอแล้วครับ...

ส่วนคนที่เขาอยากให้เรารู้จักเขาเยอะขึ้น เขาก็จะค่อย ๆ เปิดตัวเขาออกมา เราก็คงต้องค่อย ๆ เรียนรู้กันไปครับ...

ขอบคุณมากครับ...

บรรทัดฐานของสังคม (norm) อาจเป็น "กรอบ" ที่ทำให้สมาชิกใหม่แต่ละท่าน กำหนดท่าทีของตนเอง เช่น ระเบียบราชการคือระบบจับผิดที่ไม่ไว้ใจใคร ดังนั้นคนในระบบราชการ จึงมักรู้สึกสบายกว่าที่จะทำไปตามคำสั่ง แทนที่จะทำในสิ่งที่ต้องทำ

แล้วเมื่อทำอย่างนั้นกันมากๆ เข้า ก็จะไปเสริม norm จนกลายเป็นวัฒนธรรมไปครับ (มีบันทึกที่กล่าวถึงการเกิดวัฒนธรรมองค์กรอยู่ที่นี่) การปฏิบัติไปตาม "คุณค่า" และวัฒนธรรม เป็นส่วนที่ Super-ego ควบคุมตัวตน 

เมื่อตัวตนเข้ากับวัฒนธรรมไม่ได้ จะเกิดความคับข้องใจและจากไป คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก แต่ถ้ารู้สึกว่าใช่ ผิดพลาดอย่างไรก็ให้อภัย จะเกิดการร่วมหัวจมท้าย ซึ่งนั่นบางทีเรียกว่า "ชอบอย่างจริงใจ"

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท