คนไทย คนญี่ปุ่น และมารยาทสังคม


เซมปัยฉันยืนตัวตรงเหมือนนายทหาร แล้วบอกฉันอย่างหน้านิ่งเรียบ และเสียงเข้มเหมือนทหารด้วย คือเน้นเป็นคำ ๆ ว่า "...นี่เป็นธรรมเนียมญี่ปุ่น!..."

 

bow

ยังมีให้เห็นอยู่ทุกวัน  และมีอะไรลึกซึ้งกว่าที่เราเห็นนั้นอีกมาก  ที่มาภาพ: http://farm1.static.flickr.com/93/232004616_d9c8390d9d.jpg

ถ้าท่านกำลังอ่านบทความนี้อยู่  อย่างน้อยคิดว่าท่านน่าจะเป็นคนไทย 

 

อยากเชิญให้ท่านลองถามตัวเองว่า  มีมารยาทสังคมไทย ๆ ใดบ้าง  ที่ท่านได้พบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  แล้วท่านรู้สึกประทับใจ 

 

ประทับใจถึงขนาดที่ท่านเองจะตั้งอกตั้งใจทำให้ดีที่สุดด้วย  เพื่อที่จะรักษามารยาทนั้นให้ยืนยงคงต่อสืบไป เหมือนที่บรรรพบุรุษไทยได้รักษาไว้ถึงทุกวันนี้

 

ติ๊ก...ต็อก...ติ๊ก...ต็อก...ติ๊ก...ต็อก.....

 

หมดเวลา!

 

ท่านนึกอะไรได้บ้าง?  กรุณาเขียนใส่ไว้ในคอมเม้นท์ด้านล่าง  เพื่อเราจะได้มาคุยกันต่อไป

สิ่งที่ฉันอยากจะมาเล่าวันนี้  คือ ความประทับใจบางอย่างในมารยาทสังคมที่ญี่ปุ่น 

 

ที่บอกว่าบางอย่าง  ก็เพราะว่ามีหลายอย่าง  อาจจะต้องมาเขียนเพิ่มวันหลังเป็นตอน ๆ 

 

แต่นี่เป็นเรื่องแรกที่นึกได้ จึงนำมาเล่าก่อน

 

เรื่องมีอยู่ว่า ฉันอยากจะเข้าใจจิตวิญญาณของซามูไรยุคโตกุกาว่าได้ดียิ่งขึ้น เพื่อจะได้นำไปใช้ในการเขียนวิทยานิพนธ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

  ฉันก็ได้เรียนวิชาดาบซามูไรจากในประเทศไทย และได้ไปเรียนต่อในสำนักเครือเดียวกันที่ญี่ปุ่นด้วย ระหว่างที่รับทุนวิจัยเมื่อช่วงสามเดือนที่ผ่านมานี้

 

ในวันแรกหลังจากที่ฝึกวิชาดาบซามูไรสารพัดชนิดจากสำนักดาบที่ชิบูย่า ในกรุงโตเกียวเสร็จ 

 

ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบสามทุ่มแล้ว พวกเราทั้ง ๓ คนกำลังเดินไปที่สถานีรถไฟชิบูย่า

 

ในสามคนนั้น นอกจากฉันแล้วก็มี  ทาบูจิเซนเซ  ผู้เป็นเจ้าสำนัก และ รุ่นพี่ผู้ชายชาวญี่ปุ่นสูงยาวเข่าดีคนหนึ่ง

 

ฉันจะขอเรียกเขาว่า เซมปัย  ซึ่งแปลว่า ศิษย์ผู้พี่ 

 

โดยเฉพาะในโดโจ (สำนัก) เซมปัยที่เซนเซสั่งให้มาดูแลเรา จะเสียสละการฝึกของตัวเองในวันนั้น ๆ มาประกบศิษย์ผู้น้องคนใหม่ หรือที่เรียกว่า โคฮัย 

 

เซมปัย จะดูแลทุกอย่างตั้งแต่การใส่ชุดและเครื่องป้องกันให้ถูกต้องไปจนถึงเทคนิคการใช้ดาบเบื้องต้น 

 

ถ้าใครดูภาพยนตร์เรื่อง The Last Samurai  คงจะจำฉากหนึ่งได้ที่แม่ทัพหนุ่มคนหนึ่งเดินมาตรวจดูทอม ครูซ ในวันที่จะออกรบครั้งสุดท้ายว่า ใส่ชุดเกราะถูกต้องแน่นหนาหรือไม่ 

 

นั่นก็คืออารมณ์เดียวกัน  เพราะวิชาดาบซามูไร  จะละเอียดมาก ไม่เฉพาะเรื่องความปลอดภัย 

 

ว่ากันว่า  เราสามารถบอกระดับของนักดาบได้จากวิธีการแต่งตัวและใส่เครื่องป้องกันของเขาด้วย

 

ซึ่งฉันว่ามันคือเรื่องของการเจริญสตินั่นเอง

เมื่อเดินมาถึงสถานี  เซนเซหันกลับมากล่าวให้โอวาทครั้งสุดท้ายสองสามคำ 

คนญี่ปุ่นโดยเฉพาะครูบาอาจารย์มักจะพูดคำว่า Gambatte อยู่เสมอ 

ความหมายแปลคร่าว ๆ ก็คล้ายกับว่าให้เรามีความเพียรพยายามให้มากเข้าไว้นะ  ก่อนที่ท่านจะหันกลับเดินจากไป

 

พวกเราทั้งสองคน  เซมปัย และ โคฮัย ก็โค้งรับคำท่าน และโค้งลาตั้งแต่ก่อนเซนเซหันหลังกลับแล้วคนละหลายที 

 

พอเซนเซหันหลังเดินไป  ฉันก็หันข้างจะเดินเข้าสถานีด้วย  เพราะเซนเซเดินออกไปด้านข้างที่ท่านจอดจักรยานไว้

 

ปรากฏว่าเซมปัยของฉัน กึ่งคว้า กึ่งกระชากแขนฉันมับแล้วบอกให้กลับมาก่อนแล้วให้ยืนรอส่งเซนเซ ฉันทำหน้างงเป็นไก่ตาแตก 

 

 

เซมปัยฉันยืนตัวตรงเหมือนนายทหาร แล้วบอกฉันอย่างหน้านิ่งเรียบ และเสียงเข้มเหมือนทหารด้วย คือเน้นเป็นคำ ๆ  ว่า "...นี่เป็นธรรมเนียมญี่ปุ่น!..."

 

 

ตายละวา  ไม่รู้นี่นา  ฉันก็เลยต้องยืนตรงกับเขาด้วย  และหางตาก็ชำเลืองดูพยายามเลียนแบบเซมปัย  เหมือนกับที่ฉันทำมาตลอดการเรียนในวันนั้น 

 

เซมปัยฉันมองตรงไปข้างหน้าในทิศที่เซนเซเดินไป  ฉันก็เลยมองไปด้วย

 

และก็จริงด้วย  ไกลออกไป  ฉันเห็นเซนเซหันกลับมามองและโบกมือให้พวกเรา

 

เซมปัยฉันโบกกลับแล้วโค้งด้วย  ฉันก็ทำบ้าง 

 

เป็นอย่างนี้สักพัก  เพราะเซนเซจะหันกลับมามองเป็นระยะ ๆ   แล้วก็ทำอย่างนี้เป็นระยะ ๆ

 

จนกระทั่งลับตาไป  และพวกเรามองไม่เห็นเซนเซอีก 

 

เซมปัยของฉันมองให้แน่ใจว่าเซนเซออกไปจากสายตาของพวกเราแล้ว  ถึงหันมาบอกด้วยสุ้มเสียงที่ดูเหมือนจะอ่อนโยนขึ้นแกมโล่งอกว่า 

 

"...เอาล่ะ...พวกเราไปกันได้แล้ว..."      ฉันถึงกล้าขยับแตกแถวออกมา

 

หลังจากนั้น หลังการฝึกทุกครั้ง  ซึ่งส่วนใหญ่พวกเราจะมีจำนวนกันมากกว่านั้น ฉันก็จะได้ร่วมยืนส่งเซนเซกับบรรดาเซมปัยทั้งหลาย

 

ในครั้งแรกนั้น  ฉันจำได้ว่าฉันเกิดความรู้สึกขึ้นมาสองอย่างพร้อม ๆ กัน 

 

อย่างแรกคือ "....โอ้โฮ....นี่ฉันอยู่ในกลางกรุงโตเกียวในศตวรรษที่ ๒๑ หรือเปล่านี่..." 

 

เพราะอารมณ์มันสุดแสนจะเป็นศตวรรษที่ ๑๗ มากเลย  โดยเฉพาะเมื่อนึกว่าต่างคนต่างพกดาบกันมาด้วยเนี่ยนะ ถึงแม้จะแพ็คในกระเป๋าอย่างมิดชิดก็เถอะ 

 

แถมเซนเซยังใส่ชุดแบบญี่ปุ่นของท่านอีก

 

แต่อย่างที่สองนั้น  ฉันกลับรู้สึกประทับใจในการให้ความเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์อย่างสูงสุดของคนญี่ปุ่น 

 

เพราะทุกครั้งที่ฉันยืนตรงเป็นนายทหารอยู่กับบรรดาเซมปัยทั้งหลายนั้น  ใจของฉันสัมผัสได้ถึงภาษาของร่างกาย หน้าตา สีหน้า แววตา

 

และอะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่มันทำให้ฉันรู้ได้ว่า  เขาไม่ได้ทำไปเพียงกิริยา  และไม่ได้ทำไปเพียงเพราะมันเป็น "มารยาทสังคม"  แต่ด้วยความเคารพจากใจจริง ๆ

 

แต่ก็นั่นแหละ  ฉันอาจจะโชคดีได้เรียนกับครูบาอาจารย์ที่เป็นครูโดยจิตวิญญาณเนื้อแท้ มีความเมตตากรุณาต่อลูกศิษย์ 

 

อีกทั้งฉันอาจโชคดีได้เรียนกับผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทิตาธรรมกันทั้งหมดก็ได้  ฉันเคยคิดอย่างนั้น

 

แต่เมื่ออยู่ ๆ ญี่ปุ่นไป  ฉันได้มีโอกาสสังเกตุ scene ลักษณะเดียวกันนี้อีกบ่อยมากอย่างนับครั้งไม่ถ้วน  ทั้งตามสถานีรถไฟ  และตามร้านอาหาร 

 

กล่าวคือ เวลาที่ผู้ใหญ่จะกลับไปก่อน  และกลุ่มผู้น้อยจะพากันพรวดลุกขึ้นยืนระวังตรง

 

คอยส่งท่านเป็นหมู่คณะจนลับสายตาไปด้วยความเคารพ 

 

จะไม่มีใครหลุกหลิก แตกแถว หรือแม้แต่ละสายตาไปจากที่อื่นเลย 

 

จนกระทั่งท่านลับสายตาไปจริง ๆ แล้วนั่นแหละ

 

นอกจากนี้  มารยาทอื่น ๆ ที่ฉันสังเกตุอีกก็คือ


 

  • คนญี่ปุ่นจะไม่พูดโทรศัพท์มือถือในรถไฟใต้ดิน หรือ บนดิน ก็เถอะ  เอาเป็นว่า public transportation ทั้งหมดนี่แหละ 

 

รวมทั้งในร้านอาหารด้วย  เพราะถือว่าเป็นการรบกวนผู้อื่น  เขาจะส่งแต่ข้อความกันเท่านั้น

 

 

  • คนญี่ปุ่นจะไม่ใช้ริงโทนกันเลยสำหรับมือถือ  ใช้แต่ระบบสั่นเท่านั้น  ด้วยเหตุผลเดียวกัน 

 

และถ้าใครบ้าจี้จะใช้จริง ๆ ในรถไฟจะมีประกาศขอความร่วมมือให้ทำเป็นแบบเงียบ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องประกาศก็ได้เพราะไม่มีใครทำอยู่แล้ว นอกจากคนต่างชาติมั้ง  

 

และรู้ไหมว่า ระบบสั่น หรือ เงียบ ของมือถือในญี่ปุ่นเรียกว่าอะไร?  เรียกว่า ระบบมารยาท ครับท่าน!! (Manner Mode) (マナーモダ)

 

 

  • เวลาใช้บันไดเลื่อน  ทุกคนจะยืนชิดซ้ายมากและเป็นระเบียบ  เลนขวาเปิดโล่งไว้ให้คนที่รีบมากหรือเหตุฉุกเฉิน 

 

คนที่ใช้เลนขวาไม่มีใครหยุดยืนเฉย ๆ เลย  ทุกคนรีบเดินหมด  หรือไม่ก็ปล่อยว่างไว้  ฉันชอบระบบนี้มาก  ทุกคนควบคุมตัวเอง อย่างมีระเบียบรู้ตัวทั่วพร้อมในทุกย่างก้าวดีจริง ๆ

 

ความจริงมีอีกเยอะ  แต่วันนี้ขอนำเสนอแค่นี้พอเป็นการเปิดประเด็นคุยกัน 

 

ส่วนตัวแล้วฉันอยากให้นำกม.การใช้มือถือและบันไดเลื่อนมาใช้เมืองไทยด้วย

ท่านคิดว่าคนไทยจะทำได้ไหม?

 

 

ว่าแล้วก็ขอฟังความเห็นท่านทั้งหลายเรื่องมารยาทสังคมของคนไทยที่ท่านพบเห็นในชีวิตประจำวันและประทับใจด้วย 

 

ให้สมกับเวบนี้เป็นเวบแห่งการ ลปรร

 

ขอบพระคุณอย่างยิ่งที่แวะมา

 

どうもありがと ございます!

(Doumo arigato Gozaimasu!)

 

Kraab

การฝึกการกราบแบบสติปัฏฐาน ๔ ทำให้ระลึกรู้ได้ว่า การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ของไทย กับการโค้งคำนับของญี่ปุ่นในลักษณะท่านั่งหน้าผากจรดพื้นในจังหวะสุดท้ายแทบจะไม่ต่างกัน  ทั้งตอนขึ้น และ ตอนลง  สถานที่: มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ ศูนย์ ๒   ภาพ: นิตยสาร Positioning



ความเห็น (13)
  • คนไทยชอบยิ้มครับ
  • ที่ผมชอบคือ คนไทยไหว้สวย แต่คนในกรุงเทพถ้าจะยิ้มไม่เป็นเสียแล้วครับคุณ Nash ถ้าต่อไปมีหลักสูตรการฝึกยื้ม คงแย่เหมือนกัน
  • ขอบคุณมากครับ

โอ้โฮ...คุณขจิต!!!

เปลี่ยนชื่อเป็น กามนิต ดีไหมคะ?  ทำไมถึงไวอย่างนี้!!  ตกใจหมดเลยค่ะ

ภาษาญี่ปุ่นจะอุทานว่า "Bikkuri shita!"  โดยเน้นเสียงที่คำว่า Bik น่ะนะคะ  แถมถ้าเป็นผู้หญิงก็เอามือป้องปากเล็กน้อยอย่างภาพที่คุณขจิตกรุณานำมาฝากก็จะดูดีมีมารยาทดีมากค่ะ ฮิ ๆ

เข้าใจหามาฝากได้เข้ากับเรื่องจริง ๆ ค่ะ  อย่างนีต้องไหว้ขอบพระคุณสวย ๆ หนึ่งที

จริงด้วยซิคะ  คนไทยชอบยิ้มเนอะ  และก็จริงอีกนั่นแหละเราไม่ค่อยได้ยิ้มกันแล้ว

คุณขจิตมาเปิดสอนยิ้มดีกว่าค่ะ ไม่ต้องสอนภาษาอังกฤษแล้ว ฮิ ๆ

สวัสดีค่ะ,

ณัชร

คิดว่า เรื่อง  ไหว้  นี่แหละ เอกลักษณ์ ของเรา....เวลาไปต่างประเทศ   ไหว้นี่  ....เด่นสุดๆ

เลยคะ.................. 

...เรื่องกราบพระ ก็ อีกแบบ...ตอนแรกกราบแบบไม่ถูกหลักเท่าไหร่

กลางปีที่แล้วไปอยู่ สวนโมกข์ กับเพื่อนๆ  พระท่านมา

เทศน์ให้ฟังทุกบ่าย และสอน วิธีกราบให้ด้วย

นึกในใจ ดีจัง...จะได้ไหว้แบบเดียวกันทั้งหมด

ให้เป็นจังหวะเดียวกันนั่นแหละคะ ไม่งั้น  ขึ้นลง

ไม่พร้อมกัน......... 

        เวลาอยู๋ค่ายกับเด็กญี่ปุ่น เขาก็จะประทับใจ

เราเวลายิ้ม คะ ....เราก็ยิ้มต้อนรับไว้ก่อนคะ.......

        อ่านเรื่องคุณณัชรแล้วเห็นภาพ จัง  เป็นบรรยากาศที่ดีมากเลยคะ รู้สึกถึงจิตใจ ที่ รุ่นพี่

ยืนส่ง เซนเซ  ด้วย ความเคารพรัก อย่างยิ่ง......

  ถ้าเป็นดิฉัน ...ส่งผู้ที่เราเคารพรักนะคะ ก็จะลงกราบงามๆที่เท้า และ สัมผัสเท้าของท่าน

มาแตะที่ศรีษะของเรา เพื่อเป็นสิริมงคลคะ.......
 

   

อ่านโจทย์คุณ nash แล้ว ประโยคแรกที่แว้บนึกขึ้นมาก่อนหมดเวลาคือ "ทำได้ตามใจคือไทยแท้" แต่น่าจะไม่ใช่คำตอบที่ใช่ งั้นเดี๋ยวขอไปคิดใหม่ครับ

สวัสดีค่ะคุณดอกแก้ว ที่รัก,

 

เห็นด้วยเลยค่ะ เคยผ่านประสบการณ์การได้รับการฝึกการกราบแล้วก็สามารถกราบได้พร้อมกันหมดแล้วก็รู้สึกว่าดีกว่าจริง ๆ ด้วย 

 

การกราบให้ถูกต้องนี่จะว่าไปแล้วเราก็มองข้ามกันเหมือนกันนะคะ  คือถ้าตัวเองไม่เคยได้ไปเข้าคอร์สนี่ก็จะไม่ทราบเลย 

 

ไม่ใช่ว่ารร.ไม่เคยสอนนะคะ  แต่อะไรที่มันไม่ได้ทำประจำ หรือ ไม่ได้เจริญสติทำนี่  รายละเอียดเล็กน้อยมันก็พลาด ๆ หรือลืม ๆ ไปได้เหมือนกันค่ะ

 

สรุปว่าตอนนี้ขอแบ่งคะแนนโหวตเป็นสองหมวดใหญ่ ๆ ก่อน  คือ  เรื่องการกราบไหว้  กับเรื่องยิ้ม

 

เรื่องยิ้มนี้เผลอ ๆ ก็กำลังจะเลือน ๆ ไปจากเมืองใหญ่ทั้งหลายแล้วเหมือนกันล่ะค่ะ 

 

ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทยนะคะ  ทั่วโลกน่ะค่ะ  คนโตเกียวเองก็บ่นว่าแต่ก่อนเมืองเขาไม่หน้าบึ้งกันขนาดนี้

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ธวัชชัย,

เป็นเกียรติมากค่ะที่อาจารย์กรุณาแวะมาให้ความเห็นด้วย  จะว่าไปแล้วตัวเองก็เห็นด้วยนะคะ  เพราะแวบแรกเลยที่นึกถึง "ความเป็นไทย" นี่ก็มักจะนึกอย่างเดียวกับอาจารย์นี่ล่ะค่ะ

 

ไม่รู้ว่าจะหัวเราะดี หรือว่าร้องไห้ดี  เป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูกเหมือนกันนะคะ  แหะ ๆ

 

คือมันสะท้อนความกินดี อยู่ดี สะดวกสบายของประเทศชาติเราน่ะนะคะ  คือสบาย ๆ ง่าย ๆ ไม่เดือดร้อน

 

แต่ในขณะเดียวกัน  มันก็ไม่มีระเบียบวินัยเอาเสียเลย  จนเกินคำบรรยายนั่นน่ะค่ะ

 

สรุปว่าไม่มีข้อสรุป ฮิ ๆ

 

เดี๋ยวจะรออาจารย์กลับมาจากการคิดอีกรอบนะคะ

  • มาทักทายอีกรอบ
  • ที่มหาวิทยาลัย Internet เร็วมากครับ
  • ผมตื่นเต้นแทนที่อาจารย์ ธวัยชัยมา
  • ปกติอาจารย์งานยุ่งมากครับผม

รับทราบ เข้าใจทุกประการ แต่ไม่ได้ยิน!!?...

ถ้าเป็นรินไซคุณคงเดาได้ว่าเขาจะทำอย่างไร ในเรื่องที่เล่ามา ไม่ได้ตั้งใจจะลบหลู่ล่วงเกินใดๆ ตามนั้น

ความเกรงใจ ความอ่อนน้อมถ่อมตน หัวอ่อนว่านอนสนง่ายของคนไทยไงครับ เห็นได้ชัดอยู่แล้ว "ไม่เป็นไร"..."ขอบคุณ"..."กินข้าวมารึยัง"..."กินข้าวกันไหม"...พอจะคุ้นไหมล่ะ กับคำเหล่านี้น่ะ

สวัสดีอีกรอบเช่นกันค่ะ คุณขจิต,

นี่ก็รอคำตอบอีกรอบอ.ธวัชชัยอยู่เหมือนกันล่ะค่ะ  ท่าทางจะไปตั้งใจตอบโจทย์อย่างเป็นจริงเป็นจังมาก  ทำให้คนออกโจทย์เริ่มเกร็งซะแล้ว ฮิ ๆ

ณัชร

สวัสดีค่ะ คุณ อนุเซน รินไซ ,

 

โอ้โฮ...คิดตรงกันเปี๊ยบเลยค่ะ เปิดมาคำแรกเรื่องคำว่า "ความเกรงใจ" นี่น่ะค่ะ

 

รวมถึงประโยคแรกที่ว่า "รับทราบทุกประการ แต่ไม่ได้ยิน" นี่น่ะค่ะ

 

มันก็สะท้อนความเกรงใจผู้อื่นด้วยใช่ไหมคะ?

 

คือเกรงใจที่จะต้องบอกเขาว่า  ....ง่า...ฉันไม่ได้ยินนะ

 

หรือเกรงใจที่จะให้เขาพูดใหม่

 

ชอบที่คำตอบของคุณอนุเซน  รินไซ  พุ่งเข้าไปที่ "ต้นเหตุ"  คือที่ "ใจ"  เลยนี่น่ะค่ะ

 

รอคำตอบประมาณนี้อยู่ ฮิ ๆ

 

ทำไมคุณ อนุเซน ไม่ล๊อกอิน  หรือ ไม่เขียนบล๊อกมั่งละคะ?

 

แบ่งปันความรู้กันบ้าง

 

จะได้ขอน้อมรับคำแนะนำด้วยคน

 

เพราะจริง ๆ แล้วคิดว่า  ไม่ว่าจะพี่ไทย หรือ พี่ยุ่น  เราต่างมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน

 

คือ "ใจ"  ที่ "เกรงใจ" และ "อ่อนน้อมถ่อมตน" นี่ล่ะค่ะ

 

เห็นชัดมาก ๆ แล้ว  มากถึงมากที่สุด

 

มันเป็นหัวใจของทุก ๆ สิ่งที่เราแสดงออกกันเลยนะคะ  ลองคิดดูดี ๆ 

 

ไม่ว่าจะกาย วาจา หรือว่า  ใจ

 

บางทีเราก็ยิ้มเพราะเกรงใจ  เคยไหมคะ?

 

หรือถ้าต้องการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน  เราก็ยิ้มอย่างสุภาพประกอบไปด้วย  (คนไทยยิ้มได้หลาย mode) ค่ะ

 

หรือเรื่องไหว้ นี่แหละ  ชัดมาก

 

เวลาคนเราไหว้ขอบคุณใครจากใจ  มันเห็นเลยนะคะความแตกต่าง

 

ภาษาร่างกาย ท่าทาง สายตา สีหน้าและน้ำเสียง

 

มันผิดกันลิบลับเลยใช่ไหมคะ 

 

ต่างกับหุ่นยนต์ที่เราไปป้อนข้อมูลให้มันยกมือยนต์ขึ้นพนมแล้วส่งเสียงว่า ขอออบบบ  คุณณณณ คร้าบบบ ไหมคะ?

 

ต่างกันตรงไหน?

 

ต่างกันตรง "ใจ" ไงคะ

 

หุ่นยนต์ไม่มี "ใจ" น่ะค่ะ  มันไม่สามารถสื่อออกมาได้  ไม่ว่าเราจะพยายามสร้างให้เหมือนแค่ไหนก็ตาม

 

เพราะสิ่งที่จะรับรู้การแสดงออกตรงนั้นได้

 

ก็คือ "ใจ" ของผู้รับอีกนั่นแหละค่ะ

 

มันเป็นการสื่อสารจาก "ใจ" ถึง "ใจ" อย่างแท้จริง

 

ก็เพราะว่ากระบวนการทางสังคมที่แท้มันเป็นอย่างนี้แหละค่ะ  จึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกท่านลองสำรวจใจตัวเอง

 

ว่าเราหมั่นเคาะสนิม "ใจ" เราเองในฐานะเครื่องรับให้ใสสะอาดพอที่จะรับสิ่งที่ "ใจ" อื่น ๆ รอบข้างส่งมาให้ได้หรือเปล่า

 

ยังไม่ต้องถึงขั้นว่า เราเป็นฝ่ายเครื่องส่งที่ดีออกไปหรือยังด้วยซ้ำนะคะ

 

เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว

 

ท่านเองนั่นแหละ

 

ที่อาจจะต้องเสีย "ใจ"

 

สวัสดีค่ะ,

 

ณัชร

ผมนึกตั้งนาน ผมขอ vote ให้ "เกรงใจ" ครับ ผมคิดว่าคำว่า "เกรงใจ" นี่ละครับ เป็นสิ่งที่ซับซ้อนและเฉพาะตัวที่สุดแล้วในวัฒนธรรมของไทยครับ

"เกรงใจ" นี่อธิบายชาวต่างชาติได้ยาก จะเป็นบวกก็ได้ จะเป็นลบก็ได้ แถม "เกรงใจ" มีหลายแบบ "เกรงใจ" ผิดแบบผิดเวลาจากดีก็กลายเป็นไม่ดี "เกรงใจ" มากเกินก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี กลายเป็นศิลปะในการเลือก "เกรงใจ" ให้ถูกซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้เยอะอยู่เหมือนกันครับ ดังนั้นผมเลือก "เกรงใจ" นี่ละครับ ให้เป็นเอกลักษณ์ของไทยครับ

เย้ ๆ  ดีใจจัง อ.ธวัชชัย กลับมาตอบแล้ว

 

โอ้โฮ...อาจารย์อธิบายได้ดีจังเลยค่ะ  (สมกับที่แว่้บไปคิดมารอบนึง)

 

จริงด้วยสิคะ  ในแง่ที่ว่า  ความเกรงใจนี้ อธิบายเป็นบวกก็ได้  เป็นลบก็ได้  แถมมีอีกหลายแบบ

 

และเกรงใจผิดเวลา  จากดีก็กลายเป็นไม่ดี  อัีนนี้ลุ่มลึกจริง ๆ ค่ะ  ราวกับสามก๊ก

 

แต่ตอนจบนี้ หนูขอมีเซอร์ไพรส์ให้อาจารย์เล็กน้อย  ที่ว่า  มันอาจจะไม่ใช่เป็น "เอกลักษณ์" เฉพาะของไทยชาติเดียวน่ะสิคะ

 

คือญี่ปุ่้นนี่ล่ะค่ะ  จอมขี้เกรงใจสูสีกับพี่ไทยเลยน่ะค่ะ

 

แค่คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับคำว่า "เกรงใจ"  "อย่าเกรงใจ"  หรืออะไรคล้าย ๆ กันนี้  ก็มีเยอะจนหนูจำไม่หมดแล้ว

 

และพออาจารย์มาอธิบายเรื่องความเกรงใจ มีได้หลายกรณี  หนูยิ่งเห็นภาพชัดใหญ่เลยค่ะ

 

เพราะญี่ปุ่นนั้นเหมือนเราเป๊ะ ๆ เลย

 

คือจะเกรงใจทั้งในแง่ไม่อยากทำความลำบากเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น

 

หรืออาจจะเะป็นในแง่การคิดคำนึงถึงผู้อื่น  เอาใจใส่ผู้อื่นเป็นพิเศษก็ได้ค่ะ  เช่น  รู้ว่าเขาทานเผ็ด  ก็จะไม่ทำอาหารเผ็ดที่บ้าน    เพราะเกรงใจ  กลัวเขาจะกินไม่ได้ 

 

หรือเห็นเขาท่องหนังสือสอบ  ก็จะหรี่เสียงทีวี  เพราะเกรงใจ อย่างนี้เป็นต้น

 

ในกรณีนี้ จะใช้กริยา ki o tsukau น่ะค่ะ (หนูลอกหนังสือมาเลยนะนี่  ปกติพูดไม่ค่อยคล่องหรอกค่ะ)

 

ส่วนอีกคำที่แสดงว่าเราเกรงใจเขา  ในภาษาญี่ปุ่น  ก็ คือ   Douzo o kamai naku.  น่ะค่ะ  

 

คำนี้สุภาพมาก  เช่น ผู้หลักผู้ใหญ่เจ้าของบ้านจะมาดูแลเอาใจใส่เรา หาน้ำ หาท่า ให้เอง  เราเป็นผู้น้อย  ก็ต้องรีบออกตัวใหญ่แล้วไปช่วยท่านถึงในครัว  แล้วปากก็ต้องรีบบอกว่า  โดโซะ  โอ คะมัย นะขุ  นี่ล่ะค่ะ   พร้อมกับทำหน้ากลุ้มอกกลุ้มใจไปด้วย  เพราะมันแปลว่า  ได้โปรดอย่าลำบากเลยค่ะ/ครับ

 

คือภาษาญี่ปุ่นนั้นเน้นกริยาท่าทางสีหน้าแววตาประกอบเยอะนะคะ คิดว่า   คือผิดแกรมม่าร์ไม่เป็นไรหรอกค่ะ  ถ้าเขาเห็นเราทำท่ากลุ้มอกกลุ้มใจเดี๋ยวเขาก็เดาได้เอง แหะ ๆ

 

ยังมีอีกคำนึงนะคะ  ไม่ค่อยตรงนัก  แต่ก็ใกล้เคียง  คือคำที่เจ้าของบ้านเชื้อเชิญแขกให้ทำตัวตามสบาย  "ไม่ต้องเกรงใจนะ"   ก็คือ raku ni shite kudasai.  นี่ล่ะค่ะ

 

จะว่าไปแล้ว  คิดว่ามีอีกเยอะน่ะค่ะ  แต่ตอนนี้นึกไม่ออก  แหะ ๆ

 

อีกประการหนึ่ง  ที่พอจะยืนยันความเป็นคนขี้เกรงใจของทั้งคนญี่ปุ่นและคนไทย  ก็คือ  ต้องฟังจากชาติที่สามน่ะค่ะ

 

ในที่นี้ บังเอิญเคยทำงานกับฝรั่ง  และเจ้านายก็ย้ายไปเป็นใหญ่เป็นโตที่ญี่ปุ่นพอดี๊พอดี  หลังจากไปประจำที่ฮ่องกง และ เซี่ยงไฮ้ มาแล้วก่อนหน้านี้

 

ได้แวะไปทานข้าว และคุยกับเจ้านายหลายครั้งมากค่ะ  แรกเลยเจ้านายเก่าบอกว่า  เขารู้สึกแปลกใจมาก  ที่ความรู้สึกแรกเลยที่เขามา settle down ที่ญี่ปุ่นนี่  ก็คือ  ทำไมคนญี่ปุ่นเหมือนคนไทยจังเลย

 

ก็เลยถามเขาไปค่ะว่า เหมือนตรงไหน  

 

เขาก็บอกว่า  อธิบายไม่ถูก  เหมือนที่จิตใจนะ  แล้วก็คุยไปคุยมา  ก็เลยทราบว่า  เหมือนตรงขี้เกรงใจนี่ล่ะค่ะ  

 

ฝรั่งหาคำไม่ถูกค่ะ  เรื่องของเรื่อง

 

เจ้านายเก่ายังตั้งข้อสังเกตุอย่างน่าสนใจอีกว่า  แปลกนะ  ที่ไทยก็ใกล้จีนมากกว่า  และจีนก็ใกล้ญี่ปุ่นมากกว่า  แต่ทำไมคนไทยกับคนญี่ปุ่นคล้ายกันมากกว่าล่ะ?

 

เขาบอกว่า เขารู้สึกเครียด  ตอนที่ต้องไปประจำที่จีนและฮ่องกง  เพราะรู้สึกว่าคนที่นั่นค่อนข้างก้าวร้าวรุนแรง  และผลักกันไปมาเวลาไปไหนมาไหน

 

เขาชอบที่คนไทยและคนญี่ปุ่นสุภาพอ่อนน้อม มีมารยาทค่ะ

 

ลูกชายคนเล็กของเจ้านายฝรั่งคนนี้  ก็เกิดเมืองไทยค่ะ  เขาอยู่เมืองไทยนาน  ทั้งหมดราว ๖ ปีได้  รักเมืองไทยมาก  ลูกชายเขาชอบเรียกตัวเองว่าเป็นคนไทย  (ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่ก็ฝรั่งทั้งคู่นี่น่ะค่ะ)

 

เจ้านายบอกว่า  พอมาอยู่ญี่ปุ่น  รู้สึกเหมือนได้กลับ "บ้าน" ค่ะ

 

เขาเรียกเมืองไทยว่าเป็นบ้านของเขาค่ะ

 

ฟังแล้วชื่นใจไหมคะ  พ่อแม่พี่น้อง

 

ว่าแล้ว  เราก็มารณรงค์ความเป็นไทยดี ๆ  คือความสุภาพ อ่อนน้อม มีมารยาท และเกรงใจแต่พอดี ในเวลาที่เหมาะที่ควรนี้  ให้ยืนยงคงอยู่กับประเทศชาติของเราต่อไปอีกนาน ๆ  

 

อย่างน้อยก็ตราบชั่วชีวิตของเรานะคะ

 

สวัสดีค่ะ,

 

ณัชร 

   มาโหวตให้กับ เกรงใจ ค่ะ กะการไหว้

หมอชอบดูเทนนิสหนะค่ะ คุณณัชร จำได้ว่าตอนที่ภราดรไหว้คนดูสี่ทิศหลังจากชนะอังเดร อากัสซี่ นี่ ทำให้ซาบซึ้งมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท