สู่ความตายอย่างสงบ : กระบวนการแห่งความตาย


อาการแรกๆ ของการตายเริ่มที่อาหารไม่ย่อย กลืนยาก ยกแขน ขา และศีรษะได้ลำบาก ลมหายใจสั้นลงและหอบ แขนขาเริ่มเย็น จากนั้นก็กระจายไปทั่วร่างกายโดยไม่อาจทำให้อุ่นขึ้นได้ จิตใจกระสับกระส่ายและความคิดเริ่มผุดขึ้นมาโดยไม่อาจควบคุมได้
 

สู่ความตายอย่างสงบ : กระบวนการแห่งความตาย

 
 

          และแล้วเราก็มาถึงจุดที่ชัดเจนแล้วว่า  ความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อมและเราไม่อาจหันหลังกลับ  ไม่มีทั้งยา  หรือการปฏิบัติสมาธิภาวนาที่อาจช่วยค้ำจุนร่างกายและจิตใจ  ไม่มีทั้งการสวดมนต์อ้อนวอนใดๆ ที่จะช่วยยืดชีวิตเราออกไปได้  ไม่ว่าจะเป็นเพราะโรคร้ายคร่าชีวิตหรือความชราภาพ  เรารู้แล้วว่า  เรากำลังจะตายในไม่ช้า

          การทำความเข้าใจกับสภาวการณ์ต่างๆ ทางร่างกาย  การรับรู้  และภาวะจิตตามลำดับขั้นของการตาย  อาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อความตายของตัวเราเองกำลังคืบคลานเข้ามา  ทั้งยังช่วยให้เราเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นที่กำลังจะตาย  แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม  เราก็ควรตระหนักว่าการรับมือกับความรู้สึกแปลกใหม่ขณะตาย  และการสูญเสียร่างกายซึ่งเป็นที่พึ่งพิงอันแสนคุ้นเคยนั้นเป็นเรื่องยากนัก  ด้วยเหตุนี้  เราจึงต้องฝึกฝนตนให้เกิดการระลึกรู้อันหนักแน่นถึงธรรมชาติแห่งพุทธะ  ที่จะช่วยประคองเราให้ผ่านห้วงเวลาแห่งการตายไปได้ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม

          การตายจะเริ่มขึ้นเมื่อลมปราณหลักทั้งห้าซึ่งช่วยค้ำจุนการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย  และลมปราณรองทั้งห้าซึ่งช่วยค้ำจุนการทำงานของประสาททั้งห้าหมดกำลังลง  อันจะส่งผลให้การทำงานทุกส่วนหยุดไปด้วย  ศูนย์รวมพลังของร่างกายที่เราเรียกกันว่าจักระ  ซึ่งทำงานผสานกับลมปราณหลักและลมปราณรองอย่างซับซ้อน  ก็จะเริ่มหยุดทำงาน  เมื่อพลังในแต่ละจักระสูญสลายไป  ธาตุในร่างกายซึ่งทำหน้าที่ร่วมกัน  ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ก็จะแตกสลายไปด้วย

          ธาตุเหล่านี้สัมพันธ์โดยตรงต่อการประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย  ธาตุดินเกี่ยวพันกับกระดูกและเนื้อหนัง  ธาตุน้ำเกี่ยวพันกับเลือดและของเหลว  ธาตุไฟเกี่ยวพันกับระบบย่อยอาหารและความร้อนภายในร่างกาย  ส่วนธาตุลมเกี่ยวพันกับลมหายใจและการหมุนเวียนภายในร่างกาย  เมื่อธาตุเหล่านี้แตกสลายออกจากกัน  จากธาตุหนึ่งไปสู่อีกธาตุหนึ่ง  การทำงานร่วมกันและระบบต่างๆ ของร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพลง  ขณะที่ประสบการณ์แห่งความตายทั้งทางร่างกาย จิตใจ และนิมิตจะโถมถั่งเข้ามาอย่างรวดเร็ว

          อาการแรกๆ ของการตายเริ่มที่อาหารไม่ย่อย  กลืนยาก  ยกแขน ขา และศีรษะได้ลำบาก  ลมหายใจสั้นลงและหอบ  แขนขาเริ่มเย็น  จากนั้นก็กระจายไปทั่วร่างกายโดยไม่อาจทำให้อุ่นขึ้นได้  จิตใจกระสับกระส่ายและความคิดเริ่มผุดขึ้นมาโดยไม่อาจควบคุมได้

          เราไม่อาจทรงตัวให้ตรงได้  ยกแขนขาไม่ไหว  ศีรษะห้อยตกไปด้านหลัง  และมีความรู้สึกหนักอึ้งกดทับไปทั่วร่าง  จิตหยุดกระสับกระส่ายแล้วกลายเป็นง่วงงุน  ครึ่งหลับครึ่งตื่น  มองเห็นคล้ายภาพหลอนและดวงไฟริบหรี่

          ปากคอ จมูก และดวงตาแห้งผาก  ประสาทสัมผัสทางกายลดต่ำลงอย่างมาก  เกิดความรู้สึกเจ็บปวดสลับกับพึงพอใจ  รู้สึกร้อนสลับหนาว  จิตใจเริ่มหงุดหงิดและเริ่มเห็นนิมิตเป็นหมอกควัน

          จากนั้นเราก็เริ่มจำญาติมิตรพี่น้องไม่ได้  เสียงและภาพดูสับสนวุ่นวาย  เราจะมองเห็นจุดสีแดงเหมือนหิ่งห้อย

          เราไม่อาจขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้แม้แต่น้อย  หายใจเข้าได้สั้นลงและหอบมากขึ้น  หายใจออกยาวขึ้น  ภาพและเสียงเริ่มลางเลือน  มีนิมิตปรากฏขึ้นตามกรรมที่เคยก่อไว้  ผู้ใดเคยประกอบอกุศลกรรมหนักๆ ทั้งทางกาย วาจา และใจ  อาจเห็นรูปอันน่าสะพรึงกลัว  หรือระลึกถึงความทรงจำอันเลวร้ายในชีวิต  เขาอาจส่งเสียงขลุกขลักในลำคอด้วยความกลัว  ส่วนผู้ที่กระทำแต่ความดีมีเมตตา  อาจได้พบกับนิมิตสวยงามราวกับสวงสวรรค์  เห็นภาพของมิตรสหายอันเป็นที่รักและพระอริยะเจ้า  เขาอาจมีความกลัวตายเพียงน้อยนิด

          ท้ายสุด  จะมี “เสียงครอกในลำคอ ซึ่งเป็นสัญญาณแห่งการสิ้นลม”  อันเป็นลมหายใจออกยาวเฮือกสุดท้าย  ก่อนจะตามมาด้วยการดับวูบลงของภาพ เสียง กลิ่น รส และสัมผัส  เมื่อลมปราณถอดถอนย้อนคืนสู่หัวใจ  โดยสภาพทางร่างกาย  บุคคลผู้นั้นได้สิ้นชีวิตลงแล้ว

          ไม่มีความกลัวใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าความกลัวตาย  ไม่ว่าจะเป็นความกังวลใจต่อการล้มเหลวทางธุรกิจ  ความโศกเศร้าเมื่อสูญเสียคนรัก  ไม่มีเลยเมื่อเรารู้ว่าความตายมาจ่อใกล้ที่ปลายจมูก  เราจะเกิดความกลัวยิ่งกว่าความกลัวครั้งไหนๆ ที่เคยประสบมาในชีวิต  กลัวสลับกับเสียใจต่อความว่างเปล่าของชีวิต  เราทำงานหนักและพากเพียรเพื่อจะประสบความสำเร็จ  แต่เราต้องพิสูจน์ความเพียรพยายามของตัวเองเพื่อสิ่งใดกัน?  ความโศกาอาดูรผุดขึ้นมา  เมื่อเรามองย้อนกลับไปและพบว่าชีวิตว่างเปล่าและไร้ความหมาย

          เราจะรู้สึกรุ่มร้อนวุ่นวายใจเมื่อไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือเรากำลังจะไปไหน  ความรู้สึกหลากหลายหลั่งไหลเข้าท่วมท้นจิตใจ  เราไร้ซึ่งอำนาจที่จะต่อกรกับความสับสนที่บังเกิดขึ้น

          ความเข้าใจที่เรามีต่อกระบวนการการตายและความยากลำบากในการเผชิญหน้ากับมัน  น่าจะเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้เราลุกขึ้นมาเตรียมตัวตาย  เราอาจเริ่มเตรียมความพร้อมของตัวเอง  ด้วยการทำใจให้ตระหนักรู้ถึงธรรมชาติของชีวิต  ว่าไม่ต่างอะไรกับความฝัน

          การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะยอมรับว่าชีวิตย่อมต้องเปลี่ยนแปลง  และรู้ว่าชีวิตไม่มีอะไรมากไปกว่าความฝันที่เปลี่ยนจากฝันหนึ่งไปสู่อีกฝันหนึ่ง  การมีมุมมองเช่นนี้ทำให้เรามีจุดยืนในชีวิตแตกต่างไปจากเดิม  ความยึดมั่นถือมั่นของเราจะจางคลาย  สิ่งต่างๆ ดูจะลดความสำคัญลง  และเราก็จะไม่ยึดเหนี่ยวสิ่งใดเหนียวแน่นเกินไปนัก

          การเป็นมนุษย์ผู้เปิดกว้างและละวางจากการยึดมั่นถือมั่น  จะเปิดโอกาสให้เราได้พบกับหนทางที่ถูกที่ควรในการเดินไปสู่ความตายอันงดงาม  ซึ่งก็คือการระลึกรู้ถึงธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของตัวเอง


แต่งโดย ชักดุด ตุลกู รินโปเช
แปลโดย บุลยา
หมายเลขบันทึก: 122873เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2007 02:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ช่างทำให้เห็นภาพของความน่ากลัว...ซึ่งสมควรเตรียมตัวได้ดีแท้...
  • คิดว่าบันทึกนี้จะช่วยให้คนหลายคนได้ประโยชน์จการเห็นอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้...และไม่หลงลืมความจริงแท้ของกายและจิตนี้ไปกับมายาอันเหมือนจริงที่หลอกหลอน
  • ขอบคุณนะคะ
P

สวัสดีครับคุณแหวว

  • ขอบคุณสำหรับญาติธรรมท่านนี้ที่มาเยี่ยมกัน ไม่เคยห่างหาย  เป็นกำลังใจที่ดีจริงๆ ครับ
  • ก่อนเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้  ผมลังเลใจพอสมควรว่าจะมีคนอ่านหรือไม่  เพราะหลายคนพอได้ยินคำว่าความตายก็เบือนหน้าหนี  ทั้งๆ ที่ทุกคนต้องตาย
  • ส่วนคนที่คิดว่าจะอ่านคิดว่าท่านเหล่านั้นก็คงไม่ว่างได้อ่าน
  • แต่ก็ตัดสินใจเขียนเพราะคิดว่าคงมีใครสะดุดตา  เข้ามาอ่านบ้าง
  • อย่างน้อยมีคุณแหววหนึ่งคนผมก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วล่ะครับ
  • ขอให้หายป่วยกาย  และหายป่วยใจ ไวๆ นะครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายก่อนเสียชีวิตที่กล่าวมา สามารถเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงตามความรู้ทางการแพทย์นะครับ
P

สวัสดีครับคุณหมอ

  • ผมไม่มีความรู้ทางการแพทย์เลยไม่สามารถเห็นได้ชัดว่าอาการเป็นเช่นไร  ได้แต่คล้อยตาม
  • แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นอย่างนี้เพราะท่าน ชักดุด ตุลกู รินโปเช เป็นทั้งแพทย์และลามะ
  • ยิ่งคุณหมอมายืนยันด้วยแล้วยิ่งมั่นใจเต็มที่เลยครับ
  • อาชีพหมอเป็นอาชีพที่หลายคนให้เกียรติและเคารพ  เพราะสามารถยื้อคนหลายคนจากมือมัจจุราชได้ก่อนเวลาอันควร
  • ยิ่งหมอนำพระพุทธศาสนามาหลอมรวมกับอาชีพแพทย์อย่างเป็นหนึ่งเดียว  ก็ยิ่งทำให้อาชีพนี้มีค่ามากขึ้น
  • เพราะสามารถรักษาได้ทั้งโรคทางกายและโรคทางใจได้ในเวลาเดียวกัน
  • ผมรู้สึกปลื้มใจที่เห็นหมอหลายท่านเขียนหนังสือทางพระพุทธศาสนา  โดยใช้วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์มาอธิบาย
  • อย่างคุณหมอเองผมก็ถือเป็นตัวอย่างที่น่าเคารพยิ่ง
  • ชีวิตก่อนตายนั้นสำคัญยิ่งนัก  มันส่งผลถึงชาติหน้าทีเดียวว่าเขาจะได้ไปเกิดที่ภพภูมิใด  หากมีใครสามารถช่วยเขาให้ไปยังภพภูมิที่ดีกว่า  แม้สักเวลาสั้นๆ ก็ตาม  ถือว่าได้อานิสงส์ไม่น้อย
  • หลายคนรังเกียจที่จะได้ยินเรื่องเหล่านี้  แต่หารู้ไม่ว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าเองยังตรัสบอกให้เราระลึกมรณานุสตินี้ทุกลมหายใจเข้าออก  ซึ่งถือเป็นพรอย่างยิ่ง  ทำให้เราไม่ประมาทกับชีวิต
  • ทำบ่อยๆ เข้า ความตายก็เป็นเรื่องไม่น่ากลัวอีกต่อไป  กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดา  และทำให้รู้ว่า การเกิด ต่างหากที่น่ากลัวยิ่งกว่า

ขอบคุณคุณหมอที่มาเยี่ยมกันอีกครั้งครับ

ธรรมะคุ้มครอง

ธรรมะสวัสดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท