กระบวนการเรียนรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่


แนวคิดกระบวนการเรียนรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่

แนวคิดกระบวนการเรียนรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่
 

เลือกทางเลือกไหน?
องค์ประกอบหลักๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการศึกษาทางเลือก ถ้าจะเข้าไปดูการศึกษา ทางเลือกทั้งหมดของโลก และเข้าไปดูใน ทุก รายละเอียด ของความแตกต่าง เราก็จะได้ความหลากหลายและความกว้างขวางเฉกเช่นน้ำในมหาสมุทร แต่ถ้าเราจะเข้าไปดู เพื่อ จะคิดค้นต่อ เราอาจจะไปดูที่องค์ประกอบหลักๆ ของระบบการศึกษาต่างๆ และไปถึงตัวอย่างบางตัวอย่าง ที่เป็นตัวแทน ขององค์ประกอบ หลักหนึ่งๆ ขึ้นมา เราอาจจะสามารถก่อประกอบภาพของการศึกษาทางเลือกที่มีอยู่ในโลกได้ชัดเจนขึ้น อย่างน้อย ก็ไม่หลงเข้าไป ในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่หลากหลายนั้น

พัฒนาการของมนุษย์

ในปัจจุบันภาพของ พัฒนาการมนุษย์ ได้มีการขึ้นแผนที่ไว้ อย่างชัดเจน แม้ว่าจะยังไม่ปรากฏอยู่ในตำราเรียน เพราะตำราเรียน มักจะเดินตามหลัง พรมแดนความรู้ อยู่ประมาณ ๒๐ ถึง ๓๐ ปี แต่สำหรับ นักการศึกษา ในเรื่องของการศึกษาผู้ใฝ่รู้ เราควรสืบเสาะวิทยาการ ณ พรหมแดนความรู้โดยเฉพาะในเวลาที่ศาสตร์ทั้งหลาย กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ อย่างพร้อมเพรียงกัน ดังในยุคสมัยแห่งปัจจุบันนี้ หลังจากที่เราตื่นตัวเรื่องสมองซีกซ้ายกับสมองซีกขวากันพักใหญ่ เพราะในคนป่วย เป็นลมบ้าหมู หมอได้ผ่าตัดเอารอยเชื่อมต่อระหว่างสมองซีกซ้ายกับขวาออก และได้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน ระหว่างการทำงาน ที่แตกต่างของสมองสองซีก ต่อมาก็มีคนเขียนเรื่องราวความต่างของสมองสองซีกออกมามากมาย ซึ่งก็ได้ต่อเติม องค์ความรู้ ทางการศึกษา ได้อย่างครบครันขึ้น ทำให้เห็นข้อจำกัดของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ว่าเน้นเฉพาะสมองซีกเดียว คือสมองซีกซ้ายที่ทำงาน ทางด้าน พุทธิปัญญาอันเป็นตรรกะและเหตุผล และเรื่องราวของการเรียนรู้เรื่องของภาษา

ส่วนการทำงานของสมองซีกขวา อันเป็นเรื่องราวของศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ อันไม่ติดกรอบของตรรกะ ก็ถูกนำกลับมา ให้ความสำคัญ และเห็นว่าถ้าขาดด้านความสามารถของซีกขวา เราจะได้มาซึ่งมนุษย์ไม่ครบคน แต่ก็มีข้อสังวร ของการผ่าของการแยก ว่าเราจะต้องรวมกลับมาอีกครั้งเป็นองค์รวมเสมอ เมื่อกาลผ่านไปอีก นักวิทยาศาสตร์ประสาทวิทยา ก็ได้ค้นพบว่า สมองไม่ได้ทำงาน เฉพาะ ในแต่ละพื้นที่ของสมอง แต่ในการทำงานครั้งหนึ่งๆ หลายๆ พื้นที่ของสมองจะเข้ามาทำงานพร้อมๆ กันไป ถ้าจะกล่าวในภาพ ที่ย่อยให้ง่าย ก็อาจจะกล่าวได้ว่าสมองซีกซ้ายและขวาจะทำงานร่วมกันไป ไม่ได้ทำงานแยกส่วนเด็ดขาดชัดเจน กล่าวเป็นภาษาคน ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ในจินตนาการก็มีเหตุผล ในเหตุผลก็มีจินตนาการ เป็นต้น แต่กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ก็เป็นเช่นนี้อยู่ไม่น้อย คือจะแยกออกก่อนเพื่อจะรวมเข้ามาอีก แต่ความรู้เมื่อรวมแล้วย่อมร่ำรวยกว่าเมื่อก่อนที่เราจะมาแยกออกไปนั้นอีก

ต่อมาในเรื่องราวของงานวิจัยทางสมองนี้ พอล แมคลีน ได้ค้นพบเรื่องราวของสมองสามชั้น อันมาสนับสนุนการศึกษา ที่ให้ความสำคัญ แก่ พัฒนาการมนุษย์ ได้อย่างชัดเจนยิ่ง สำนักการศึกษาที่ให้ความสำคัญแก่พัฒนาการของมนุษย์ และได้มีการนำมาใช้ ในประเทศไทย อย่างเข้มแข็งแล้ว ก็มี มอนเตสซอรี่ และ วอลดอฟ มอนเตสซอรี่ จะให้ความชัดเจน กับเด็กเล็กในชั้นอนุบาล ส่วนวอลดอฟเองนอกจากความชัดเจนในระดับอนุบาลแล้ว ยังมีภาพพัฒนาการของมนุษย์ต่อยอดไปในชั้นประถมและมัธยมอีกด้วย เรื่องมาเรีย มอนเตสซอรี่ และรูดอฟ สไตเนอนี้ก็น่าสนใจ คนแรกเป็นแพทย์หญิงคนแรกของอิตาลีเธอศึกษาเด็กอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

ในสมัยนั้นซึ่งยังอยู่ในกรอบความคิดของประจักษวาท แต่สไตเนอใช้วิธีนั่งทางใน เพราะเขาเป็นพวกรหัสนัย แต่เข้าถึง องค์ความรู้ ได้โดยจิต แต่ทำไมงานทาง การศึกษา ของเขา จึงมาสอดคล้องกับ งานวิจัย เรื่อง สมองสามชั้น ของ พอล แมคลีน แม้กระทั่งต่อมาเมื่อ นักวิทยาศาสตร์ ได้ภาพชัดขึ้นของสมอง ส่วน pre-frontal lobe ส่วนนนั้น ก็ยังอยู่ใน กรอบการมองพัฒนาการมนุษย์ ของ สไตเนอ อันเป็นช่วงอายุครบบวชในพุทธศาสนา โจเซฟ ชิลตัน เพียซ ได้เขียนเรื่องนี้ไว้มาก ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือ The Biology of Transcendence (2002) และตั้งข้อสังเกตตรงนี้ไว้ว่า ที่ตั้งของ pre-frontal lobe ก็คือที่ตั้งของตาที่สามในพุทธศาสนาของธิเบตการเปิดตาที่สามนี้สำคัญมาก ตาของมนุษย์ธรรมดาจะมองสิ่งต่างๆ เป็นทวิภาวะ (duality) แต่ความเป็นจริงทางจิตวิญญาณนั้น เราจะต้องมองพ้นเรื่องทวิภาวะออกไป เช่นพ้นดีชั่ว ถูกผิด ขาวดำ หรือได้เสียเป็นต้น

สมองสามชั้น ปัญญาสามฐาน

การค้นพบสมองสามชั้นของพอล แมคลีนนั้น อันที่จริงก็สมเหตุสมผลตามเรื่องราวของการวิวัฒนาการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ก็วิวัฒนา มาจาก สิ่งมีชีวิตที่เรียบง่ายมาสู่ความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะสมองสามชั้น ก็เป็นร่องรอยการพัฒนาการ ของมนุษย์มากจาก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตลอดจนบรรดาลิงชั้นสูงที่มาก่อนวิวัฒนาการของมนุษย์นั้นเอง แม้เมื่องานวิจัยได้แยกแยะ ความโดดเด่นของการทำงานของสมองแต่ละชั้นออกมา ก็จะเห็นความเป็นสัตว์เลื้อยคลานในสมองชั้นในสุด ความเป็นสัตว์เลี้ยงลูก ด้วยนม ในสมองชั้นกลาง และความเป็นมนุษย์ในสมองชั้นนอก (neo cortex) ได้
ที่สนุกในเรื่องสมองสามชั้น ปัญญาสามฐานนี้ก็คือการมาบรรจบกันของความรู้ระหว่างงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กับการนั่งทางใน หรือการเข้าถึงความจริง ของพวกที่ศึกษาจิตโดยใช้ตัวเองเป็นตัวกลาง ดังเช่นรูดอฟ สไตเนอ ซึ่งเป็นนักการศึกษาคนสำคัญและเอ็ดกา ไซเซ ซึ่งเป็นนักนั่งทางในรักษาผู้คนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ รวมถึงการค้นหาคนหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับคนหลังนั้นได้มีการเก็บบันทึกเรื่องราวของเขาอย่างเป็น ลายลักษณ์อักษร และงานรักษาของเขา ในหลายกรณีก็ปฏิบัติร่วมกับ โรงพยาบาลกระแสหลักนั้นเอง เขาบำบัดคนป่วยร่วมไปกับการใช้ยาและวิธีการของการแพทย์สมัยใหม่ด้วย ส่วนงานของรูดอฟ สไตเนอ จะเป็นงานทางการศึกษา ดังเขาได้แบ่งช่วงวัยทางการศึกษาของมนุษย์ออกเป็น ๓ เจ็ด หมายถึง ๗ ปีแรกเป็น willing ๗ ปีที่สองเป็น feeling และ ๗ ปีที่สามเป็น thinking ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและความเป็นมนุษย์โดยลำดับ และเวลานี้ลำดับขั้นการเจริญเติบโตของ สมองมนุษย์ก็ไม่ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วเมื่อแรกเกิด หากยังเติบโตต่อมา และจะสมบูรณ์ที่สุดเมื่อ pre frontal lobe ที่เป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนต่อ? ของนีโอคอเทกซ์ ในอายุ ๒๑ ปี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ เป็นวัยที่อนุญาติให้อุปสมบทได้! และตำแหน่งฟรีฟรอนตัลโลบนั้นอยู่ในตำแหน่งตาที่สาม ของพุทธศาสนา แบบธิเบต ที่เชื่อว่าเป็นตาที่สามารถมองพ้นทวิภาวะออกไป ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ก็ได้ค้นพบว่า ฟรีฟรอนตัลโลบเป็นส่วนสมองที่เกี่ยวพันกับ การจัดความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์ที่สลับซับซ้อนขึ้น ตลอดจนถึงเรื่องราวการตัดสินใจที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อน สุขุม ลึกซึ้ง มิใช่การตัดสินในแบบมองโลกเป็นขาวเป็นดำ
สามหน้าแห่งจิตกับไตรสิกขา

อีเลน เด โบพอต เขียน Three Faces of Mind เธอเขียนเรื่องสมองสามชั้นของพอล แมคลีนนี้เอง โดยแตกสามชั้นนี้ ออกไปเป็นสิบปัญญา โจเซฟ ชิลตัน เพียซ อัจฉริยะคนหนึ่งที่เขียนเรื่องการศึกษาจากฐานพรมแดนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ถือว่า หนังสือของเธอ เป็นหนึ่งในห้าเล่มของหนังสือที่ดีที่สุดในโลก สิ่งที่เธอทำก็คือ การโยงความเข้าใจใหม่ เรื่องสมองสามชั้น เข้ากับ ประสบการณ์การทำงานทางการศึกษาอันร่ำรวยของเธอ และปฏิวัติการมองเรื่องปัญญาที่มักจะไปเน้นเนื้อเรื่อง ไปสู่กระบวนการ และ เรื่องของพลังในที่สุด เธอเดินตามไอนสไตน์ ที่เห็นว่าพลังอาจจะเป็นปฐมฐานของโลกและของมนุษย์

ในที่นี้คงยังไม่เล่าเรื่องราวของปัญญาทั้งสิบที่เธอแจกแจงอยู่ในหนังสือของเธอ แต่จะบอกเล่าถึงภาพใหญ่ของสาม หน้าจิต หรือ สามปัญญาใหญ่โดยเทียบเคียง กับไตรสิกขา

หน้าแรกก็คือ ปัญญากาย อันเป็นส่วนที่มนุษย์มีอยู่ร่วมกับสัตว์เลื้อยคลานและอาจเทียบเคียงกับศีลสิกขาได้ สมองส่วนในสุดนี้คือ พลังชีวิต อย่างเป็นปฐมฐาน แม้ในยามสลบ ตราบใดที่ยังไม่ตายสมองส่วนนี้ยังทำงานอยู่ตลอดเวลา เทียบเคียงกับ การศึกษาของ วอลดอฟ ก็คือ will หรือ พลังแห่งเจตจำนง ความมุ่งมั่น ปรารถนา ที่ผลักดันให้กิจต่างๆ สำเร็จลุล่วง เหมือนคำว่า วิริยะทางพุทธศาสนา ที่หมายถึง ทั้งพลังงาน และ ความขยันหมั่นเพียร นอกจากนี้ อีกด้านหนึ่งของปัญญากาย เมื่อเอาเทศะหรือสถานที่เป็นตัวตั้ง ก็จะหมายถึงที่ทางที่จะโคจรไปสู่ หรือโคจรหนีห่าง ดังในพุทธศาสนา ก็มีเรื่อง อโคจรสถาน ว่าเป็นสถานที่ที่ผู้สำเหนียกใน การพัฒนาตนเอง อย่างยิ่งยวดไม่ควรจะโคจรเข้าไป
อีกด้านหนึ่งของปัญญากายนี้ก็คือ การจัดเวลาให้กับชีวิต หรือแบบแผนของการใช้เวลาในแต่ละวัน สัปดาห์ เดือน ฤดูกาลและปี ตลอดจนในแต่ละช่วงแห่งชีวิตเช่นเด็ก หนุ่มสาวหรือวัยกลางคนเป็นต้น มันเป็นขอบเขตที่มีประโยชน์เช่นเดียวกับ ชายฝั่งของแม่น้ำ ที่เป็นขอบเขตให้กับแม่น้ำ และช่วยกำกับทิศทางการไหลของแม่น้ำ แบบแผนของการใช้เวลา ก็คือขอบเขต ที่เรากำหนดให้แก่ พลังชีวิตนั้นเอง แน่นอนขอบเขตเช่นนี้เป็นได้ทั้งศักยภาพและข้อจำกัดในเวลาเดียวกันเอง
ความไม่สมดุลของชีวิต ผู้คนสมัยใหม่ก็คือ การแยกอะไรต่ออะไรเป็นเสี้ยวส่วน เรื่องปัญญาเราก็อาจจะแยกแยะเพลินไป จนเอาไปเอามาเหลืออยู่แต่การคิดใน ระนาบเดียว กับของ พุทธิปัญญา เท่านั้น ปล่อยๆ ละเลยปัญญาด้านอื่นๆ ทั้งหมด ความคิดที่ปราศจากการดูแลชีวิตที่ดี จึงสับสนและไร้พลังเป็นต้น

จะเห็นได้ว่าเมื่อเราพูดถึงเทศะและกาละไปแล้ว และเห็นได้ว่าพลังของปัญญากายอยู่ที่การจัดขอบเขตให้แก่กาลเทศะ เราอาจจะ เดาต่อไปได้ว่า อีกด้านหนึ่งของปัญญากายก็คือการทำอะไรซ้ำๆ จนเป็นนิสัยหรืออีกนัยหนึ่งก็คือการสร้างสมวินัย ถ้าเรามองเห็น ปัญญากาย เราจะไม่รังเกียจการทำอะไรซ้ำๆ จนเป็นนิสัย แน่นอนนิสัยมีพลังเสมอ นิสัยของพาลชนก็พาเข้ารกเข้าพง ในขณะที่ นิสัยของบัณฑิต ย่อมนำพาชีวิตไปสู่กระบวนการเรียนรู้
เอาแค่ว่า เวลาหนึ่งเวลาใด ของวัน เราจะนั่งลงอ่านหนังสือที่มีสาระประโยชน์ เพื่อขวนขวายหาความรู้ในเรื่องที่ไม่รู้ หน้าต่างแห่งนิสัยบานนี้ เป็น ปัญญากาย ที่เปิดไว้เป็น ประตูเรียนรู้ โลกทางหนึ่ง นิสัยของพาลชนก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คำว่า พาลชน นั้นไม่จำเป็นต้องถึงกับไปตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก เพียงแต่เป็น คนที่มีขวนขวายเรียนรู้ นั่นก็คือ พาลชน แล้ว และในที่สุด ชีวิต ที่ไม่ขวนขวายเรียนรู้ ก็อาจจะจบลง ในรูปแบบของชีวิต อันธพาล ก็เป็นไปได้มาก ปัญญากาย อาจกล่าว แจกแจงได้ พิศดารพันลึกกว่านี้ ก็ย่อมทำได้ ในที่นี้ใคร่เติมอีกหนึ่งตัวอย่าง เพื่อจินตนาการแห่งการเรียนรู้ในเรื่องนี้ให้แก่ผู้สนใจใคร่รู้ เช่นคงกล่าว ได้ว่า อินทรีย์สังวร ก็เป็น ปัญญากาย อันนี้หมายถึง การมีสติกำกับ การเคลื่อนไหว ของร่างกาย จนกระทั่งเกิด ความงดงาม ขึ้นในการยืน เดิน นั่ง นอน ท่านนัท ฮัน เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือของท่านเล่มใดเล่มหนึ่ง กับ วิถีของคนเอเชีย ที่จะกำกับกริยามารยาทของลูกผู้หญิง ท่านว่านั่นเป็น พื้นฐานที่ดีมาก ของ การมีสติกำกับการเคลื่อนไหวของกาย เด็กผู้ชาย ก็อาจม ีการกำกับการเคลื่อนไหวของกาย อยู่พอสมควร ดังจะเห็นว่าเด็กสมัยนี้ กระโดกกระเดกกว่า เด็กสมัยก่อนมาก แม้ว่ายังไม่รู้ จะวางมือไม้ไว้ที่ไหนแล้ว กิจใหญ่กว่า จะทำได้เช่นไร! เราจะเรียก ปัญญากาย ที่ย่นย่อมาจาก สามหน้าแห่งจิต มาพอสังเขปนี้ว่า ศีลสิกขา ได้หรือไม่ อย่างน้อย ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน หรือมีศักยภาพแห่งการกำกับการใช้พลังชีวิตไปในทางเดียวกัน นั่นคือ การขวนขวายเรียนรู้ เพื่อชีวิตอันเป็นกุศล

ปัญญาอารมณ์ หน้ากลางแห่งจิต กับเรื่องราวของสมาธิ
เรื่องปัญญาของมนุษย์ ทั้ง ปัญญากาย ที่กล่าวมาแล้ว และ ปัญญาอารมณ์ ที่กำลังจะกล่าวถึง ตลอดจน ปัญญาความคิด โดยส่วนใหญ่ จะทำงานอยู่ในแบบอัตโนมัติ ด้วย ความคุ้นชินและนิสัย การทำงานแบบอัตโนมัตินี้ มีประโยชน์มหาศาล มิฉะนั้นแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำ ก็คงจะเป็นไปอย่างยากเย็น แต่ด้วย ความเป็นอัตโนมัติ หลายสิ่งหลายอย่างเราจะสามารถทำไปโดย แทบจะไม่รู้ตัว แต่กิจต่างๆ ก็สำเร็จลงได้ เช่นการแปรงฟัน บางทีเราตื่นขึ้นมาแปรงฟันไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยบางครั้งเจ้าตัวอาจจะต้องนึกคิดว่า เราแปรงฟันหรือยัง เป็นต้น แม้แต่การเดิน เมื่อเราหัดเดินได้ตอนอยู่วัยเด็กหัดเดินนั้น เราซึ่งเป็นเด็กก็จะเอาแต่เดิน เพราะนั่น มันเป็นความสุขล้ำของเด็ก ที่จะได้พิชิตดินแดนแห่งการเรียนรู้ใหม่ๆ และตั้งแต่นั้นมา การเดินก็จะเป็นไปโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ก็คือว่าการเดินได้กลายมาเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องตื่นรู้ หากดำเนินไปได้อย่างเป็นอัตโนมัติ ตัวอย่างของการขับรถก็เช่นกัน ถ้าถึงทางแยกหนึ่งที่เราเคยเลี้ยวซ้ายอยู่เป็นประจำ พอมาถึงทางแยกนั้น ถ้าเราไม่ตื่นรู้ขึ้นมาล่ะก็ เป็นอันว่า เราจะเลี้ยวซ้าย ไปทันที อย่างเป็นอัตโนมัติ เรื่องของอารมณ์ก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องของพฤติกรรม กล่าวคือ ความเป็นไปของอารมณ์โดยส่วนใหญ่ ก็จะเป็นไป อย่างอัตโนมัตินั้นเอง เช่นความรู้สึกกับผู้คน สิ่งของ สถานการณ์ สถานที่ เราจะกลับไปในห้วงอารมณ์หนึ่งใด ที่เราเคยรู้สึก เมื่อได้ประสบพบเห็นกับผู้คน สิ่งของ สถานการณ์ หรือสถานที่นั้นเป็นครั้งแรก อันเป็นตราประทับใจเราไว้ เราก็จะตกเข้าไป ในห้วงอารมณ์นั้นอีกอย่างเป็นอัตโนมัติ ถ้าเป็นอารมณ์บวกที่มีรากฐานมาจากความรักและความไว้วางใจก็ดีไป แต่หลายๆ ครั้งเราก็ได้ภาพประทับที่เป็นอารมณ์ลบมา อันมีรากฐานมาจากความกลัวและความหวาดระแวงแคลงใจ
เมื่อบรรยายมาเช่นนี้ เราคงจะเดาได้เองถึงข้อจำกัดของการเป็นไปทั้งทางพฤติกรรมและอารมณ์อย่างเป็นอัตโนมัติ เพราะเมื่อพ้นวัย เปิดออกต่อการเรียนรู้ เราก็แทบจะปิดประตู และหน้าต่างที่จะเปิดออกสู่การเรียนรู้เสียเกือบทั้งหมด อาจจะเปิดไว้เพียงหน้าต่างเล็กๆ ในเรื่องที่อาจจะเป็นการเรียนรู้ในงาน หรือในงานอดิเรกหรือในการเล่น ที่เราชื่นชอบและรู้สึกว่าตนเองทำได้ดี แต่แล้วสิ่งที่เรา มีอยู่ทั้งหมดก็ถูกแช่แข็ง ในแบบแผนความเป็นไปอย่างเป็นอัตโนมัติ ปราศจากการตื่นรู้ที่จะนำพาเราไปสู่การเรียนรู้ใหม่ ดังที่ภูมิปัญญาของคนโบราณจะพูดเอาไว้ว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ชีวิตเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วของเราจึงเป็นไม้แก่ ที่แข็งแต่ไม่แกร่ง ดัดยากและหักง่ายยิ่งขึ้นทุกที เป็นชีวิตที่เปราะบาง ไม่อาจทนทานต่อสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเลย หากเราจะมองความเปลี่ยนแปลงทุกชนิดด้วยความประหวั่นพรั่นพรึง ด้วยฐานแห่งความกลัวและความหวาดระแวง
ตอนนี้จะขอกลับมา ที่เรื่องราวของปัญญาอารมณ์ ตำแหน่งแห่งที่ของมันคือสมองส่วนกลาง เป็นวิวัฒนาการ ที่เรามีมาร่วมกับ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย ดังเราจะเห็นได้ว่า เด็กเล็กจะชอบไดโนเสาร์ เมื่อโตขึ้นมา ในวัยเดียวกับที่สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เริ่มเติบโตเต็มที่แล้วนั้น เด็กจะชอบนิทานหรือเรื่องราวที่มีบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นราชสีห์หรือหมีหรือหมาป่าก็ตาม ในมนุษย์นั้นปัญญาอารมณ์จะเป็นตัวกลางที่สำคัญ ซึ่งเชื่อมโยงอยู่ระหว่างปัญญากายกับปัญญาความคิด ดังที่สมองชั้นกลาง ก็จะเป็นตัวกลางสำคัญที่เชื่อมโยง สมองชั้นในกับสมองชั้น และสมองชั้นกลางนี้เชื่อมโยงกับสมองชั้นนอกโดยผ่านเข้ามาทางสมองซีกขวา ซึ่งจะทำงานไปทางด้านความรู้สึกและการจัดความสัมพันธ์เช่นเดียวกัน ดังจะทำหน้าที่ไปทางเรื่องของการสร้างสรรค์และศิลปะ ในขณะที่สมองซีกซ้ายจะมีน้ำหนักไปทางเหตุผลและภาษา

แบบแผนของอารมณ์ แบบแผนของพลัง
คำว่า emotion นั้นมาจากคำสองคำ คือ energy + motion แปลความว่าอารมณ์ก็คือพลังที่เคลื่อนไหว บางอารมณ์ของเราโดยเฉพาะอารมณ์ที่เข้มข้นหน่อย ความรู้สึกวูบวาบของการเคลื่อนไหวของพลังในตัวเราจะชัดเจน แต่ในหลายอารมณ์การเคลื่อนไหวของพลังอาจจะไม่เด่นชัดพอที่จะรับรู้ถึงแบบแผนของพลังในกายของเราได้ แต่เรารับรู้อารมณ์ของเราได้ อารมณ์จึงเป็นหน้าปัดบอกให้เรารับรู้ถึงแบบแผนของพลังในกายของเรา

การรับรู้เรื่องแบบแผนของพลังผ่านการรับรู้อารมณ์จะบอกอะไรแก่เราได้บ้าง ถ้าเราจัดประเภทของอารมณ์ อันหลากหลายมากมาย เป็นสองพวกหลัก โดยใช้มูลฐานหลักของอารมณ์เป็นตัวจัดประเภท ก็จะมีอารมณ์อยู่สองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่หนึ่งก็จะได้แก่ อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่อง “ความรักและความไว้วางใจ” กลุ่มที่สองก็จะได้แก่อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน “ความกลัวและความหวาดระแวง” บางทีเราจะเรียกอย่างย่นย่อว่าอารมณ์บวกกับอารมณ์ลบก็ได้ โดยแต่ละประเภทจะมีแบบแผนของพลังแต่ละอย่าง โดยจะมีผลกระทบ กับสุขภาวะและความสามารถในการเรียนรู้แตกต่างกันไปด้วย
จากอารมณ์ฐานความรัก และความไว้วางใจ แบบแผนพลังก็คือ ความมีพลัง กระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเปร่า คึกคัก แจ่มใส ตาเป็น ประกาย ร่างกายจะอยู่ในสมดุล สูญเสียพลังงานน้อยที่สุด มีการใช้พลังอย่างประหยัดแต่ทรงประสิทธิภาพที่สุด ร่างกายจะมีพลัง สำรอง ที่จะซ่อมแซมสิ่งสึกหรอ และฟื้นคืนความกระชุ่มกระชวยให้แต่ตนเองได้

ในด้านการเรียนรู้ อารมณ์ฐานความรักและความไว้วางใจจะเอื้อต่อการตื่นรู้ เข้าสู่สภาวะของการมีสติและสมาธิ จึงเป็นอิสระ จาก ความเป็นไปแบบอัตโนมัติ ตื่นขึ้นมาจัดการกับเรื่องราวต่างๆ อย่างมีสติ ทั้งกับพฤติกรรม อารมณ์และความคิด เป็นเนื้อที่เปิด เป็นความเป็นไปได้ เป็น “ความว่าง” ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จึงเอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้เนื้อที่เปิดออก และทำให้ การเรียนรู้ ที่แท้จริงเป็นไปได้
ตรงกันข้าม จากอารมณ์ที่มีรากฐานมาจากความกลัวและความหวาดระแวง แบบแผนของพลังก็คือความปั่นป่วนสับสน ขัดกันเอง แย้งกันเอง และปีนเกลียวกัน จะมีการสูญเสียพลังสำรองของชีวิตไปอย่างมาก ในความขัดแย้งภายใน และการปีนเกลียวกัน ภายใน ดังกล่าว ร่างกายจะอ่อนล้าไร้พลัง ห่อเหี่ยว อึดอัด ขัดข้อง อันเป็นอาการเริ่มต้นที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนล้า ประสิทธิภาพ ในการซ่อมบำรุงต่ำ และคืนความกระชุ่มกระชวยช้าลง หรือแทบจะไม่ทำงานเอาเลย แน่นอนสภาพเช่นนี้ ย่อมเป็นปัจจัยให้โรคาพาธมา เยี่ยมเยือน ชีวิตย่อมดำรงอยู่อย่างปราศจากสุขภาวะ

ในด้านการเรียนรู้ ฐานอารมณ์ที่มาจากความกลัวและความหวาดระแวง ปิดเนื้อที่แห่งการเรียนรู้ลง ในความกลัวและ ความหวาดระแวง นั้น สมองสัตว์เลื้อยคลานเข้ามาเป็นนายใหญ่ ใช้ความฉลาดของสมองมนุษย์ ใช้ความร้ายกาจของสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ใน ความเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เป็นการตกลงร่องเดิมแห่งอารมณ์ลบ ที่อาจเรียกว่าเป็น “ร่องอารมณ์” จะเหลือคำอยู่เพียงสองคำคือ “หนีหรือสู้” เท่านั้น ความเป็นไปแบบอัตโนมัตินั้นรุนแรงกว่าความเป็นอัตโนมัติในยามปกติ เพราะ “ร่องอารมณ์” จะล็อค หรือ จำขังปัญญาไว้ให้อยู่เพียงเสี้ยวหนึ่งของสมองชั้นกลางและเสี้ยวหนึ่งของสมองชั้นนอกเท่านั้น เป็นการปิดการเรียนรู้อย่างมิดชิด และ รุนแรงยิ่งกว่า ความเป็นอัตโนมัติ ในยามปกติ และเมื่ออยู่ในร่องของอารมณ์เช่นนี้ ก็เหมือนกับคนขับรถที่เหยียบคันเร่งเต็มที่พร้อมๆ ไปกับการเหยียบเบรคอย่างเต็มที่ด้วย เครื่องยนต์คือร่างกายเรานั้นย่อมจะต้องสึกหรออย่างรุ่นแรง โดยการรับรู้เรื่องราวภายนอกตัว (และภายในตัว) อย่างเป็นปกติย่อมหมดสภาพไป อยู่แต่ในโลกแคบของเทปม้วนเก่า อันเป็นถ้อยคำที่เลวร้ายเปิดซ้ำไปซ้ำมา โดยไม่มีการเรียนรู้ใหม่ใดๆ เกิดขึ้นเลย

ปัญญาความคิด
สมองชั้นนอกคือสมองมนุษย์ ที่เป็นที่มาของภาษาและความคิด ที่มาของภาษานั้นเป็นเรื่องลี้ลับและต้องใช้เนื้อที่ต่างหากจากหัวข้อนี้ ในที่นี้ก็จะขอพูดเรื่องความคิดเป็นเรื่องหลัก
ในการศึกษาในระบบ เราถูกตีกรอบอยู่เฉพาะความคิดแบบพุทธิปัญญาที่ฝรั่งใช้คำว่า intellect เป็นปัญญาแบบตรรกะและคณิตศาสตร์ ใช้ได้ดีกับวิทยาศาสตร์ในกระบวนทัศน์เก่า แต่แม้กระนั้นก็มีประโยชน์มากมายในโลกทางวัตถุ แต่ในสังคมมนุษย์ อันละเอียดอ่อน ซับซ้อน เราต้องอาศัยเครื่องมือคิดที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนกว่าพุทธิปัญญา

ถ้าเราสร้างระบบคิด จากกรอบสมมติฐานชุดเดียว ก็เหมือนการขุดหาทองที่ฝังอยู่ในสวน โดยการขุดหลุมเดียว เอ็ดเวิด เดอ โบโน นำเสนอการคิดในแนวนอน เขาเสนอให้ขุดหลายหลุม หรือการหาสมมติฐานหลายๆ ประการ หากรอบหลายกรอบ ไม่ใช่ติดอยู่กับ กรอบเดียว แต่ความคิดก็เช่นเดียวกับ พฤติกรรมและอารมณ์ มักจะถูกจองจำอยู่ในความเป็นอัตโนมัติที่คุ้นชิน มักจะชอบอยู่ใน กรอบความคิด เดิมที่ตายตัว คิดตามเรื่องราวเดิมดุจดังแผ่นเสียงตกร่อง หรือม้วนเทปที่เปิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางทีเมื่อเราตกร่องนั้น พฤติกรรม อารมณ์ และความคิดก็จะร่วมมือกันกักขังตัวเองอยู่ในร่องนั้นเอง ความคิดก็ไม่สามารถแหวกกรอบ อารมณ์ก็ถูกกักขัง ดุจดังเป็นทาส พฤติกรรมก็เป็นไปอย่างอัตโนมัติโดยไม่อาจควบคุมได้ และนี่ก็คือที่มาของปัญหาและวิกฤตการณ์ทางสังคมทั้งหมด
ญาณทัศนะ เป็นความคิดด้วยแต่ก็มีที่มาแตกต่างจาก พุทธิปัญญา ตลอดจนการคิดทางแนวนอน หรือ การคิดสร้างสรรค์

ปัจเจกภาพหรือสมุหภาพ
ปัญญาชนชั้นนำ ของโลกตะวันตก เริ่มวิพากษ์ตนเอง เรื่องการให้ความสำคัญ หรือเน้นย้ำ ความเป็นปัจเจกภาพมาก ในขณะที่ให้ความสำคัญกับ สมุหภาพน้อยเกินไป อันที่จริง ภาษาทางสติปัญญา ของโลกสมัยนี้ ไม่เพียงพอที่จะอธิบายเรื่องของสมุหภาพ จึงต้องเป็นความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเปิดเรื่องราวของ สมุหภาพ เข้ามาในเรื่องราวแห่ง ภูมิปัญญา ของมนุษย์ ในปัจจุบัน
บางทีบางคน อาจจะเข้าใจผิดไปคิดถึง เรื่องข้อโต้แย้งระหว่าง ความคิดที่ต้องการ เปลี่ยนแปลงสังคม ที่แบ่งขั้วระหว่าง การเปลี่ยนแปลงที่สำนึก ของคน หรือ จะเปลี่ยนที่ โครงสร้างทางสังคม ซึ่งในที่สุดก็อาจจะไปลงเอยที่การพิสูจน์ทางการปฏิบัติ แต่นี่ไม่ใช่ประเด็น ระหว่าง ปัจเจกภาพ กับ สมุหภาพ ที่กล่าวถึงอยู่เลย เพราะทั้งหมดของ การโต้แย้ง ยังอยู่ใน สมมติฐาน ที่มอง มนุษย์ และ สังคมมนุษย์ ด้วย ฐานของปัจเจกภาพ คือเริ่มต้นจากมนุษย์ที่เป็น ปัจเจกภาพ รวมกันขึ้นมาเป็น สังคมมนุษย์ และเมื่อ ปัจเจกบุคคล อยู่ร่วมกัน ก็เกิด โครงสร้างต่างๆ ทางสังคมขึ้น ที่เป็น ระบบทางสังคม ขึ้นมา

อนัตตา อันเป็นหนึ่งในการอธิบาย ความเป็นจริง ที่เกิดขึ้น และ เป็นไปในโลก ควบกับทุกขา และ อนิจตา รวมเป็น ไตรลักษณ์ เราจะจัดที่ทาง อนัตตา กับ การมองโลก ที่ม ีสมมติฐาน ตั้งอย ู่บน ปัจเจกภาพ ได้อย่างไร การโต้แย้งหักล้างทางความคิด คงไม่ช่วง การวิวัฒน์ทางปัญญา เท่าใด ที่เราจะ เรียนรู้อะไร ได้หรือไม่ จากจุดเด่น (และอาจจะรวมถึงบทเรียนจากจุดด้วย) ของอารยธรรม สองกระแสนี้
ความเป็นตัวตน หรือความเป็นวัตถุ (objects) ไม่ได้จำกัดอยู่ เฉพาะกับ การมองย้อนดูตนเอง ของมนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึง การที่มนุษย์หันไปมอง ปรากฏการณ์ต่างๆ รอบๆ ตัวด้วย การแปรปรากฏการณ์ต่างๆ ให้เป็นวัตถุ นั้นเป็นเรื่องของความจำ และ การก่อประกอบโลก ขึ้นมาได้ เพื่อที่วางท่าที และบทบาทที่เหมาะสมกับโลก ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม (ซึ่งนาบธรรมก็เป็นการแปรปรากฏการณ์ทางนามธรรมให้เป็นวัตถุด้วย)
คิดแบบง่ายๆ ก็คือเมื่อมนุษย์จะเกิดมีปัญญาเหนือสัตว์ทั้งหลายนั้น ภาษาได้โผล่ปรากฏขึ้น โผล่ปรากฏคือการก่อเกิดเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม เป็นคุณภาพใหม่ของวิวัฒนาการพร้อมๆ กับภาษาคือการทำให้ปรากฏการณ์รอบๆ ตัวมีความหมายในเชิงวัตถุ (objects) ขึ้นมา และเมื่อจัดความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุเหล่านั้น โลกก็ถูกก่อประกอบขึ้นในทางวิญญาณวาท อันเป็นนิกายหนึ่งของมหายาน นั้นอาจกล่าวได้ว่า เมื่อเกิดมีวัตถุขึ้นก็มี “ตัวแทน” และ “ภาพลักษณ์” ของตัวแทนนั้นขึ้น
แต่โลกที่ก่อประกอบขึ้นทั้งหมดนั้น เป็นโลกที่ถูกปรุงแต่งขึ้น มิใช่โลกตามความเป็นจริง แม้โลกตามภววิสัย (objective world) ที่เข้าใจกันก็เป็นโลกที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาปรุงแต่งขึ้นมาตั้งแต่ที่เรามองเห็นอะไรต่ออะไรเป็นวัตถุแล้ว เมื่อเป็นต้นไม้ แม่น้ำ ภูเขาขึ้นมา ก็เป็นวัตถุขึ้นมาแล้ว เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ขึ้นมาแล้ว
นิทานเซ็นมักจะให้อะไรเราได้มากมาย เรื่องที่คล้องจองกันนี้ก็มีเรื่องเล่า กล่าวคือเมื่อจะเริ่มปฏิบัติธรรม เมื่อยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอยู่นั้น ผู้ปฏิบัติธรรมไปหนักๆ เข้าก็จะเห็นภูเขาไม่เป็นภูเขาและแม่น้ำไม่เป็นแม่น้ำ แต่แล้วเมื่อปฏิบัติไปจนถึงอีกขั้นหนึ่ง เอ! ภูเขาก็กลับมาเป็นภูเขา และแม่น้ำก็กลับมาเป็นแม่น้ำ ก็ การรับรู้ (perception) ทางวิญญาณวาทนั้น มีสามประการคือ ตัวแทน ภาพลักษณ์และตถตา อันหลังสุดคือ ความเป็นเช่นนั้นเอง ซึ่งมาก่อนการปรุงแต่งให้เป็น ตัวแทนหรือภาพลักษณ์ ขั้นที่สองของนักปฏิบัติธรรมนิกายเซน เขาได้เริ่มเห็นความเป็นเช่นนั้นเองที่ไปพ้นตัวแทนและภาพลักษณ์ และเมื่อถึงที่สุดแล้ว เขาก็ยังกลับไปใช้ตัวแทน และภาพลักษณ์อีกครั้ง แต่ด้วยคุณภาพใหม่ คือไม่ยึดติดในตัวแทนและภาพลักษณ์นั้น
ปมเรื่องของปัจเจกภาพ หรือสมุหภาพ ก็อยู่ตรงนี้เองที่ว่าจะตัดความสัมพันธ์โยงใยของสรรพสิ่ง (คำว่าสิ่งตรงนี้ก็เป็น ภาษาของโลกสมมติแล้ว) ออกเป็นห้วงๆ เพื่อก่อเกิดความรู้ความเข้าใจ และก่อเกิดโลกดังที่เราเข้าใจกันอยู่หรือไม่ ทั้งที่แต่ละก้อนแห่งความสัมพันธ์โยงใยนั้นก็มีความสัมพันธ์โยงใยอยู่ภายในที่สัมพันธ์โยงใยกับภายนอกอยู่หลากหลายทิศทาง ที่จริงจะตัดออกมาเป็นก้อนแบบอื่นๆ อีกก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตัดเป็นก้อนแบบที่ทำกันอยู่ และจะเห็นได้ว่าต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ธรรมเนียมการตัดเป็นก้อนๆ ก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย ซึ่งจะเป็นที่มาของความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมหรือจะเป็นที่มาของการเรียนรู้ก็ได้ทั้งสองทาง
นี่เองพวกโพส์ตโมเดิน กล่าวว่าการจัดประเภท (categorization) และการนิยาม ก็เป็นการกระทำทางอำนาจ เพราะมันเป็นพื้นฐานของการก่อประกอบโลก การก่อประกอบโลกจะพลิกผันแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการตัดก้อนวัตถุด้วยนิยาม ตลอดจนการจัดประเภทด้วยการนำก้อนวัตถุไปใส่กล่องของประเภทต่างๆ ดังเช่นครั้งหนึ่งที่มีวิวาทะระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ กับท่านพุทธทาส เรื่องโลกุตตรธรรม โดยหม่อมอยากจะเอาธรรมขึ้นหิ้ง หม่อมจะได้ขายเปปซี่ แต่พุทธทาสนั้นเห็นว่า โลกุตตรธรรม มันดำรงอยู่ทุกที่ทุกเวลาในชีวิตโลกๆ ของมนุษย์ ดังท่านจะพูดว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม ดังนี้เป็นต้น
แต่แล้วปัญหาไม่ใช่อยู่ที่จะนิยามหรือไม่นิยาม จะจัดประเภทหรือไม่จัด แต่ทำอย่างไรเมื่อแบ่งหรือจัดประเภทแล้ว เราจะไม่ยึดติด การแบ่งหรือการจัดประเภทแบบนั้นอย่างตายตัว อย่างยึดถือเอาจริงเอาจังแบบหัวชนฝา โดยเปิดทาง ให้แก่การแบ่ง และการจัดประเภท อย่างอื่นๆ ด้วย เปิดที่ว่าง ความว่างไว้ให้แก่ความเป็นไปได้ของการแบ่งและการจัดประเภททุกครั้งที่เกิดญาณทัศนะแห่งความรู้ใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ การเข้าสัมผัสกับตถตา (ความเป็นเช่นนั้นเอง) อยู่ตลอดเวลา แม้มีการแบ่งและจัดประเภทใดๆ นั้นถือว่า เป็นอุดมคติของการดำรงอยู่อย่างไม่ยึดติดในการปรุงแต่งใดจนเกินเลย เพื่อดำรงความเป็นอิสระอยู่ได้ตลอดเวลา และพร้อม เสมอกับวิวัฒนาการในก้าวถัดไป!

สมุหภาพและจิตไร้สำนึก
ภาพที่ให้ความกระจ่างชัดที่สุดในเรื่องของจิตไร้สำนึกก็คือภาพของคนนั่งทางใน (ที่จริงเป็นนอนทางในจะถูกกว่า เพราะเขาจะ นอนเวลา จะติดต่อกับสัตภาวะที่สูงกว่า) ภาพที่เขาเขียนขึ้น ทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง จิตสำนึกกับจิตไร้สำนึก ได้ง่ายขึ้น และการที่เขาแบ่งจิตไร้สำนึกเป็นต่ำกว่ากับสูงกว่า ก็ช่วยให้เข้าใจคำว่า intuition ของฝรั่งว่าอาจแปลเป็นคำไทย ได้สองคำคือ สัญชาติญาณสำหรับจิตไร้สำนึกที่ต่ำกว่า และญาณทัศนะสำหรับจิตไร้สำนึกที่สูงกว่า ภาพของเอ็ดการ์ เคซี (ชูมากเกอเขียนถึงเขาในแผนที่คนทุกข์ด้วย) เป็นดังนี้
รูปภาพ

ภาพของเคซีนี้ที่จริงเป็นภาพสามมิติ ให้นึกถึงลูกทุเรียนเป็นแบบก็ได้ แต่เมื่อเขียนบนกระดาษแบบง่ายๆ ก็เขียนได้เป็นภาพสองมิติอย่างที่เห็น จากภาพเราจะเห็นว่า จิตสำนึกของมนุษย์ที่เป็นปลายแหลมหรือเป็นติ่งยื่นออกมานั้น จะแ<

หมายเลขบันทึก: 46872เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2006 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท