ตลาดในอุดมคติ


คนฟังอาจแปลกใจ เพราะคิดว่านักเศรษฐศาสตร์หลงใหลในกลไกตลาดเสมอ แต่เราในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ไม่แปลกใจ เพราะกลไกตลาดที่เราเห็นอยู่ทั่วไป ไม่ใช่กลไกตลาดที่พึงปรารถนา และกลไกตลาดเองก็ไม่สามารถทำงานได้ในหลายกรณี

ตอนไปร่วมสัมมนาร่างแผนแม่บทการเงินการคลังเพื่อสังคม   มีใครบางคนในที่ประชุมบอกว่า เขาเชื่อในกลไกตลาดและเอกชน   แต่มีนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งบอกว่า  ท่านไม่เชื่อ....

  

คนฟังอาจแปลกใจ เพราะคิดว่านักเศรษฐศาสตร์หลงใหลในกลไกตลาดเสมอ   แต่เราในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ไม่แปลกใจ   เพราะกลไกตลาดที่เราเห็นอยู่ทั่วไป ไม่ใช่กลไกตลาดที่พึงปรารถนา   และกลไกตลาดเองก็ไม่สามารถทำงานได้ในหลายกรณี โดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิการบางเรื่องที่เป็นสินค้า สาธารณะ   และพฤติกรรมของผู้ผลิตที่ผลักภาระให้สังคม (ก่อผลกระทบภายนอก)  ย่อมทำให้กลไกตลาดที่ปล่อยให้เอกชนตัดสินใจเองขาดประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามที่สังคมปรารถนา ซึ่งเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็น ความล้มเหลวของระบบตลาด

  

กลไกตลาด (ที่มีผู้เล่นเกมหรือผู้ตัดสินใจ  คือ เอกชน ทั้งในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภค) ที่เป็นอุดมคติในวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นมีอยู่หนึ่งเดียว   คือ ตลาดแข่งขันสมบูรณ์     คำว่า สมบูรณ์  นี้มีนัยสำคัญยิ่ง   เพราะหมายถึงว่า  ต้องเป็นตลาดที่ไม่มีผู้ผลิตรายใดหรือผู้ซื้อรายใดมีอำนาจกำหนดราคาหรืออำนาจเหนือตลาด    จะเป็นเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ซื้อผู้ขายหลายราย  ผู้ซื้อผู้ขายมีข้อมูลเท่าๆกัน ต้นทุนการเจรจาต่อรองไม่สูง   ความสำคัญของการแข่งขัน หมายถึง การที่ผู้ซื้อผู้ขายมีทางเลือก  ใครขายแพงก็ไม่ซื้อไปซื้อของคนอื่น    ใครเข้ามารับซื้อกดราคา ก็ไม่ขาย ไปขายให้คนอื่นได้ 

     

การมีทางเลือก  เป็นหัวใจสำคัญ  ที่บางครั้งก็ใช้คำว่า เสรี     ตลาดเสรีในอุดมคติ ไม่ใช่ตลาดที่ใครอยากทำอย่างไรก็ได้   รายใหญ่เอาเปรียบรายเล็กก็ได้    แต่หมายถึงตลาดที่ผู้ซื้อผู้ขายมีทางเลือก

  

อุดมคติเช่นนี้จะมีในโลกแห่งความเป็นจริงหรือ  (ยังมีคุณสมบัติอีกหลายข้อที่ไม่ได้พูดถึงตรงนี้)   คำตอบสำหรับโลกในปัจจุบัน ก็คือ ไม่   โดยเฉพาะในโลกที่ธุรกิจมีเครื่องมือ มีกลยุทธ์การแข่งขันที่ซับซ้อน  มีเทคโนโลยีที่ช่วงชิงความได้เปรียบกันทุกขณะ  มีเงินทุนในการซื้อสื่อเพื่อให้ข้อมูลด้านเดียวโดยผู้บริโภคไม่รู้เท่าทัน

  

คำถามคือ  แล้วอุดมคติจะมีไว้ทำไม  คำตอบคงเป็นว่า   อุดมคติก็คงคล้ายไม้บรรทัด หรือบรรทัดฐานที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ในการวิเคราะห์การออกนอกลู่และใช้เป็นกรอบการทำงาน เช่น การพิจารณามาตรการป้องกันการผูกขาด  การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ผลิตผู้บริโภคในตลาดที่จะมีต่อสวัสดิการสังคม 

ตลาดโดยทั่วไปที่มีการแข่งขัน เช่น การโหมโฆษณา เพื่อทำให้สินค้าของตนดูแตกต่างเพื่อจะได้เป็นผู้กำหนดราคาได้ หรือ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดล้วนมีดีกรีของการออกนอกลู่ไปไม่มากก็น้อย    คำถามคือ  แล้วใครจะเข้ามาดูแลตรงนี้  นักเศรษฐศาสตร์เสนอว่า  คือรัฐ.....   ถามต่อไปว่า รัฐทำงานตรงนี้อย่างไร ?? โดยเฉพาะ รัฐไทย

(ข้อเสนอให้รัฐเข้ามาทำงานฝ่ายเดียว เราว่าออกจะล้าสมัยไปสักหน่อย  เพราะเป็นข้อเสนอบนสมมติฐานว่า รัฐทำงานได้)

  

ในความหมายนี้  การเปิดเสรีทางการค้าที่มีผู้ผลิตข้ามชาติบางรายมีอำนาจเหนือตลาด ย่อมไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนา  (ดูเพิ่มเติมประเด็นนี้ในการตอบคำถาม บันทึกเรื่อง นโยบายสาธารณะเพื่อคนยากจน)

  

และโดยนัยนี้   การค้าที่เป็นธรรม (fair trade)  มีหลักการหลายประการคล้ายตลาดแข่งขันสมบูรณ์  แต่จุดต่างน่าจะอยู่ที่    การค้าที่เป็นธรรมให้ความสำคัญกับผู้ผลิตซึ่งมักจะเป็นผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยที่ไม่มีอำนาจตลาด   นักเศรษฐศาสตร์มักให้ความสำคัญกับผู้บริโภค ในมุมมองที่ว่า ประชาชนทุกคน (รวมทั้งคนผลิต) ก็เป็นผู้บริโภค  (ปัญหาคือ อำนาจซื้อผู้บริโภคไม่เท่ากันในสังคมที่เหลื่อมล้ำอย่างสังคมไทย) แต่ทว่า การเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ก็การันตีความเป็นธรรมให้ผู้ผลิตและเจ้าของปัจจัยการผลิต (ไม่มี "การขูดรีด" หรือ exploitation)

  

ในโลกธุรกิจ  นักเศรษฐศาสตร์จึงกลายเป็นพวก อนุรักษ์นิยม ....

ในกระบวนการกำหนดนโยบายที่รัฐไทยยังมีอำนาจผูกขาดอยู่มากและเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์  ข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์กลายเป็นเรื่อง "ซื่อบริสุทธิ์" (นักรัฐศาสตร์ที่เราเคารพมากท่านหนึ่งบอกว่า นักเศรษฐศาสตร์น่ารักเพราะซื่อ มองโลกในแง่ดี.. naive)

 ถ้านักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ตามโลกที่ซับซ้อนไม่ทัน  บทบาทหน้าที่ของนักเศรษฐศาสตร์ก็จะหมดความหมายลงทุกที

  

โดยเฉพาะเมื่อคนไทยทั่วไปมักไม่ค่อยเข้าใจว่า เศรษฐศาสตร์คิดต่างกับธุรกิจอย่างไร 

       
หมายเลขบันทึก: 99774เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
สวัสดึครับคุณ
P

          ขออนุญาติคัดข้อความดีๆบางตอนไปรวมที่

http://gotoknow.org/blog/mrschuai/99502

ขอบคุณมากครับ

เรียน อาจารย์ปัทมาวดี ที่เคารพ 

ความรู้สึกจากการอ่านบล็อกอาจารย์ในวันนี้ ผมเกิดสงสัยถึงการนำไปใช้ในชีวิตจริงครับ

อย่างชาวบ้านทั่วไป (ผมก็หนึ่งในนั้นครับ) ที่มีภูมิรู้ด้านเศรษฐสาสตร์แบบพื้นๆ เข้าใจแค่ว่า ถ้าของมีมากคนต้องการเท่าเดิมก็ราคาตก ถ้าของหายาก คนต้องการเท่าเดิมราคาจะดี ทำนองนี้ครับ

แล้วผมจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ความรู้สำเร็จรูปที่มาจากการวิเคราะห์ของนักเศษรฐศาสตร์น่าเชื่อถือ เวลาดูข่าวในทีวี จะมีอาจารย์(จากหอการค้า)มาวิเคราะห์มาพยากรณ์เหมือนกรมอุตุเลยครับ แต่ฟังรายงานข่าวทีไรก็งงทุกที แล้วก็ไม่ค่อยเชื่อด้วย เพราะไม่เข้าใจที่เขาพูดครับ

ชาวบ้านอย่างผม ทำได้แค่ประหยัด และออมเงินครับ ส่วนกลไกตลาดที่เป็นธรรม และมือที่มองไม่เห็น นั้นนึกภาพไม่ออกครับอาจารย์

ขอบคุณครับ

เรียนคุณสิทธิรักษ์

ดีใจ..หากบทความจะเป็นประโยชน์ค่ะ

คุณโชคธำรงค์คะ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านงาน และตั้งคำถามดีๆค่ะ

ดิฉันคิดว่า นักเศรษฐศาสตร์ทำงาน 2 อย่าง  อย่างแรกคือ อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ   อย่างที่สองคือ  บอกว่าเมื่อไหร่ที่กลไกตลาดทำงานบกพร่องและต้องการการแก้ไข

การบกพร่องในเรื่องประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร  และการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม  นอกเหนือจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

ถ้ากลไกตลาดทำงานได้ดีร้อยเปอร์เซนต์  ก็คงไม่ต้องมีกระทรวงการคลัง  กระทรวงการคลังในฐานะภาครัฐ มีเครื่องมือ คือ ระบบงบประมาณ และระบบภาษี (สร้างแรงจูงใจให้ทำสิ่งดีและลดแรงจูงใจการทำสิ่งไม่ดีของระบบตลาด)  คือให้กลไกตลาดทำงานอยู่ในขอบเขตที่ "รับได้"

การพยากรณ์เศรษฐกิจก็เป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์   ใช้ข้อมูล ใช้สถิติ  การวิเคราะห์ที่ระมัดระวัง ก็เชื่อถือได้ค่ะ  แต่ความเป็นสังคมศาสตร์ที่มีตัวแปรมาก  จะเชื่อถือ 100% นั้น เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วค่ะ

ส่วนของคนทั่วไปนั้น   ตราบใดที่ยังต้องมีการ "ตัดสินใจ" "การเลือก"  ในการใช้ชีวิต  ตราบนั้น ยังมีความเป็นเศรษฐศาสตร์เกี่ยวข้องอยู่เสมอค่ะ  เพราะเมื่อคุณเลือก แปลว่า คุณได้บางอย่าง คุณเสียบางอย่าง  คุณใช้เศรษฐศาสตร์โดยไม่รู้ตัว

การต้องชั่งน้ำหนักเพื่อเลือกนี่แหละค่ะ  คือปัญหาพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงิน  เช่น  คุณจะใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง ทำงานหรือพักผ่อนกับครอบครัวดี    คุณจะเอาเงินสิบบาทไปซื้อขนมหรือหยอดกระปุกดี ...)

 

   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท