BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ฆราวาสปกครองสงฆ์ (อีกนัยหนึ่ง)


ฆราวาสปกครองสงฆ์ (อีกนัยหนึ่ง)

ต่อไปฆราวาสจะปกครองสงฆ์... ผู้เขียนได้ยินสำนวนนี้มานานแล้ว แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พูดคนแรก หรือเป็นเรื่องที่ถูกทำนายไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่... ต่อมาความเห็นของพระเถระบางรูปก็เริ่มพูดว่า เดียวนี้ฆราวาสปกครองสงฆ์ ... นั่นคือ ความเห็นที่บ่งชี้ว่า คำกล่าวนี้กำลังจะเป็นจริง ...

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนก็ได้รับการขยายความจากพระเถระบางรูปอีกนัยหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่สะท้อนสังคมสงฆ์ตอนนี้ได้ดี... และเนื่องจากวันนี้ กฎหมายรัฐธรรมนูญในประเด็นพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ไม่ผ่าน .... จึงใคร่จะนำเรื่องนี้มาเล่าผสมผสานกันไป......

.....

ตามนัยเดิม ฆราวาสก็คือชาวบ้านมีอำนาจเหนือพระสงฆ์ในการปกครอง ซึ่งชาวบ้านในที่นี้ อาจจำกัดวงให้แคบอยู่ ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ และกลุ่มคณะกรรมการวัด

การจัดตั้งวัด การขอวิสุงคาม การของบประมาณบางอย่างเพื่อบำรุงวัด ฯลฯ... ประเด็นเหล่านี้ จะต้องอาศัยราชการ ซึ่งทางราชการอาจอนุมัติ ดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว หรือปล่อยปละ วางเฉย .... นั่นคือ อำนาจเหล่านี้อยู่ที่ข้าราชการซึ่งเป็นชาวบ้าน อยู่เหนือพระสงฆ์หรือวัด ทำให้เกิดมีการแสวงหาผลประโยชน์ทางอ้อมในทางที่มิชอบ มากบ้างน้อยบ้าง ... พระผู้ปกครองบางรูปเห็นแก่พระศาสนาก็ยินยอมบางอย่าง .... ประเด็นเหล่านี้มีแน่นอน เพียงแต่ไม่ค่อยจะมีใครนำมาเปิดเผยให้ปรากฎเท่านั้น

บางวัด การจัดการวัดอยู่ที่คณะกรรมการทั้งหมด พระสงฆ์ภายในวัดไร้อำนาจ... คณะกรรมการเหล่านั้น บางแห่งก็มีนอกมีในอยู่กับวัด หรือบางคนก็อาจต้องการอำนาจ.... เรื่องราวทำนองนี้ก็สงเคราะห์ได้ว่าฆรวาสปกครองสงฆ์ ได้เช่นเดียวกัน

........

อีกนัยหนึ่งก็คือ ฆราวาสในที่นี้มิใช่ชาวบ้านผมยาว นุ่งกางเกง ใส่เสื้อลาย แต่เป็นอลัชชีห่มเหลืองนี้แหละ ... กลุ่มนี้แม้ขาดจากความเป็นพระแล้วก็ไม่ลาสิกขาไปตามวินัย ยังคงเกาะตำแหน่ง ตั้งเป็นแก็งครอบงำการปกครองคณะสงฆ์ มีการกีดกันพระสงฆ์น้ำดี มิให้เข้าสู่แก่นอำนาจ ....

นี้คือ ฆราวาสปกครองสงฆ์ (อีกนัยหนึ่ง) ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นจริงเช่นเดียวกัน และส่วนมากก็รับรู้อยู่ เพียงแต่ว่า ขาดประจักษ์พยาน หรือหลักฐานที่จะทำลายการจัดตั้งเป็นระบบของอลัชชีทำนองนี้ได้...

........

ผู้เขียนอยู่วัดมาเกิน ๒๐ ปี อยู่มาทั้งบ้านนอก ในป่า ในเมือง ทั้งวัดสำนักปฏิบัติ และสำนักเรียน .... พานพบพระสงฆ์ที่เสียสละเพื่อพระศาสนา และทุ่มเทเพื่อศาสนามาก็มิใช่น้อย...

ยืนยันได้ว่า ทั้งพระสงฆ์ดี และอลัชชีชั่ว มีอยู่ทุกกลุ่มสังคมที่ผู้เขียนอยู่มา.....

เฉพาะประเด็นต้องการปกป้องพระศาสนา โดยยกพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็มีบางส่วนที่ยอมอุทิศตัวเองเพื่อการณ์นี้ และมีบางส่วนที่รับจ้างมา.... หรือมีการเมืองระดับชาติอยู่เบื้องหลัง (ประเด็นหลังนี้ผู้เขียนไม่ทราบ และไม่แน่ใจ)

........

สรุปว่า ยังไม่เคยเจอหรือเคยเห็น ชาวบ้านซึ่งเป็นนักการเมืองระดับสูง หรือพระชั้นปกครองระดับกรรมการมหาเถรฯ ออกมาเสนอแนวคิด หรือเคลื่อนไหวเพื่อจะแก้ปัญหาพระศาสนาเหล่านี้เลย........

ผู้เขียนรู้สึกว่า ท่านเหล่านั้น ทั้งที่เป็นชาวบ้านและพระสงฆ์ เล่นไปตามกระแส ทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองให้มั่นคง และเพื่อให้อำนาจตัวเองและบริวารสูงส่งหรือยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น เท่านั้น

.......

โดยปกติ... ผู้เขียนมักสงวนท่าที ไม่ค่อยเขียนเรื่องทำนองนี้ วันนี้เล่าย่อๆ เพื่อสะท้อนบางสิ่งบางอย่าง เผื่อว่าใครจะมีปัญญาบารมีเพียงพอเพื่อแก้ไขสิ่งเหล่านี้บ้าง....... 

 

หมายเลขบันทึก: 107375เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2007 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

นมัสการ พระอาจารย์ครับ

     ร้อนครับ อ่านแล้วสะดุ้ง แต่ผมจะเอาประสบการณ์เพียง 1 พรรษา มาแลกก็กระไรอยู่นะครับ เพียงอยากสนทนาแลกกันว่าเพียง 1 พรรษาก็เห็นอะไร ๆ ดี ๆ เยอะครบ เยอะมากเช่นพระโกรธกันเพราะ เขาไปตั้งอีกรูปหนึ่งเป็นเจ้าคณะตำบล เป็นต้นครับ

นมัสการครับ  หลวงพี่

เรื่องทางโลก   ก็สักแต่ว่า รู้ก็แล้วกันนะ ขอรับ

ผมว่า ช่วงนี้ เปรต มันขึ้นมาอาละวาดเยอะ   ยิ่งเน้น วิกฤต กึ่งพุทธกาลจริงๆ

กรรมของ แผ่นดิน 

กรรมมีเอาไว้ เป็นโจทย์ แบบฝึกหัด สำหรับดูจิต ดูความคิด  สะสมสติครับ

กราบครับ

 

กราบนมัสการครับหลวงพี่

กระผมไม่เคยบวชครับ ยังไม่มีโอกาสได้บวชครับ เข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ และสังเกตพฤติกรรมของคนครับ พร้อมทั้งตัวผมเองครับ

หากตัวเองปกครองตัวเองด้วยธรรม กรรมก็จะมีแต่สิ่งดีๆ บ้างครับ ปัญหาคงลดลงบ้างครับ

สิ่งที่ท่านอาจารย์ผมเคยสอนไว้ เรื่องพระกับคนห่มผ้าเหลืองชัดเจนขึ้นทุกทีครับ.....

พุทธะ นะปลงฯ

กราบขอบพระคุณมากครับ

P
บวช ๑ พรรษา เจอพระอาจารย์ดี มีบารมีธรรมสูง อยู่ในสังคมประกอบด้วยธรรม ก็ศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนายิ่งๆ ขึ้น...
แต่บางคนไปเจอกลุ่มอลัชชี แม้ลาสึกมาแล้วเป็นสิบๆ ปี ก็ยังมีมุมมองแบบเดิมๆ.....
ทำนองนี้มีเยอะ..... แต่ปัจจุบัน พระอาจารย์ดี มีบารมีธรรมสูง ค่อยๆ หลีกเร้นยิ่งขึ้น ทำให้มุมมองด้านนี้ค่อยๆ น้อยลง.....
เจริญพร
P
แปลกใจว่า ทำไม นักปกครองมักจะเล่นตามกระแสเพื่อรักษาอำนาจ เหมือนๆ กัน ไม่ว่ายุคสมัยหรือสังคมไหนๆ ก็ตาม.....
หรือว่า ตถตา เช่นนั้นเอง
เจริญพร

บางวัด การจัดการวัดอยู่ที่คณะกรรมการทั้งหมด พระสงฆ์ภายในวัดไร้อำนาจ... คณะกรรมการเหล่านั้น บางแห่งก็มีนอกมีในอยู่กับวัด หรือบางคนก็อาจต้องการอำนาจ.... เรื่องราวทำนองนี้ก็สงเคราะห์ได้ว่าฆรวาสปกครองสงฆ์ ได้เช่นเดียวกัน

พระคุณเจ้าครับ  อย่าได้มีอำนาจครับ  ให้การศึกษานำครับ  ยังต้องสู้กับมารอีกมากครับ

นมัสการ พระอาจารย์ อีกครั้งครับ

     ตอนที่บวชเรียน จำพรรษา ณ วัดโตนด (ธรรยุตินิกาย) อ.บางแก้ว จ.พัทลุง พระอาจารย์คือตาหลวงกล้าย ปิยะธรรมโม เจ้าอาวาส ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย พระลูกวัดก็เหมือนกันไปหมด เป็นธรรมดาครับ พระก็เลือกวัดได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงแล้ว พระไม่พอจำพรรษาให้ครบ ต้องกระจาย ๆ กัน พระที่มาจำพรรษาที่วัด รวมทั้งบวชใหม่ ต่างก็ต้องการที่สงบเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ปัจจุบันท่านไม่อยู่แล้ว ละสังขารไปหลายปีแล้ว ผมยังไปทำบุญที่นี่ตลอด เห็นครับ เห็นความเปลี่ยนแปลง จนได้นั่งคุยกันในบรรดาศิษย์เก่าต่างรุ่นต่างปีที่บวช และลงมือจัดการเสียใหม่ เข้าทำนอง "ฆราวาส ก้าวล่วงสงฆ์" แต่ในมุมมองของผมนะครับ พระสงฆ์ กับ อลัชชีห่มเหลืองต่างกันครับ
     หาได้มีอะไรรุนแรงไป หรือต้องเสียหน้ากันครับ เมื่อสำนึกได้ก็ย้ายไปวัดที่ไหนไม่ได้ติดตาม ตอนนี้พระนักพัฒนาและเหล่าญาติโยม ก็สบายใจ ชุมชนขาดวัดไม่ได้ ฉันใด วัดก็ขาดญาติโยมไม่ได้ฉันนั้นครับ

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ

ผมไม่มีทั้งปัญญา บารมี และอำนาจที่จะแก้ไขสิ่งใดได้ครับ แต่ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปกครองของสงฆ์ ว่าส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นไปตามมหาปรินิพพานสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาณวารสุดท้าย ข้อ [๑๔๑-๑๔๓]

แม้พระปัจฉิมวาจาในข้อ [๑๔๓] "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ฯ" ก็ไม่ได้เป็นเรื่องการปกครองคณะสงฆ์ หรือการสืบต่อพระศาสนานะครับ แต่พระพุทธองค์กลับเตือนเรื่องแก่นของธรรมชาติ เตือนถึงความเสื่อม-ความเปลี่ยนแปลง และการถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทในทางธรรมครับ

กลับมาข้อ [๑๔๑] น่าจะชัดเจนที่สุดว่าพระพุทธองค์ทรงชี้แนะอย่างไรเรื่องการปกครองคณะสงฆ์

[๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ดูกรอานนท์ บัดนี้ พวกภิกษุยังเรียกกันและกันด้วยวาทะว่า อาวุโส ฉันใด โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ไม่ควรเรียกกัน ฉันนั้น ภิกษุผู้แก่กว่า พึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือโคตร หรือโดยวาทะว่า อาวุโส แต่ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ภันเต หรืออายัสมา ดูกรอานนท์ โดยล่วงไปแห่งเรา สงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้ โดยล่วงไปแห่งเรา พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนภิกษุ ท่านพระอานนท์กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พรหมทัณฑ์เป็นไฉน พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ ฉันนภิกษุพึงพูดได้ตามที่ตนปรารถนา ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่า ไม่พึงกล่าว ไม่พึงสั่งสอน ฯ

อย่างไรก็ตาม ลักษณะการปกครองเป็นลำดับชั้นนี้ น่าจะเป็นเพราะทางฝ่ายอาณาจักร คงจะเข้าใจได้ง่ายกว่า หากศาสนจักรใช้รูปแบบการปกครองเป็นลำดับชั้น เหมือนอาณาจักร

เรื่องนี้เกิดมานานแล้วครับ คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ข้ามวันข้ามคืน 

สงฆ์เป็นพหูพจน์ใช่ไหมครับ ถ้าเป็นเอกพจน์ใช้คำว่าภิกษุ สังฆกรรมไม่สามารถทำได้ด้วยภิกษุรูปเดียว ผมคิดว่าพุทธบัญญัติข้อนี้เป็นไปเพื่อให้สงฆ์ตักเตือนกันเอง และหาก(ฉันน)ภิกษุรูปใดละเมิดพระวินัย ก็ให้ถอนสิกขาบท หรือลงพรหมทัณฑ์

ไม่มีรูป
สาวกพุทธ
  
เจริญพรทุกท่าน

กราบนมัสการพระอาจารย์

เวลาดูข่าวเรื่องนี้ทีไร เกิดอกุศลทุกที ยิ่งเวลาฟังคำวิจารณ์ที่หลากหลาย อกุศลก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่จึงพยายามเลี่ยงๆไม่อยากรับรู้ค่ะ พร้อมกับพยายามศึกษาเพื่อให้เข้าใจพระพุทธศาสนาให้มากขึ้น ซึ่งก็ค่อนข้างโชคดีที่มีมิตรอนุเคราะห์ทั้งที่เป็นฆราวาสและพระสงฆ์ค่ะ

กราบนมัสการค่ะ 

P
Conductor  และคนอื่นๆ
เมื่อคืนเน็ตล่มเป็นระยะๆ จึงมิได้ให้ความเห็นกลับไป ก็ขออภัยมาด้วย ได้แต่เพียง เจริญพร เพื่อเป็นเครื่องแสดงออกบางอย่างเท่านั้น....
 
อ้างถึงความเห็นของคุณโยม Conductor  อีกครั้ง  เฉพาะย่อหน้าสุดท้าย....
สงฆ์เป็นพหูพจน์ใช่ไหมครับ ถ้าเป็นเอกพจน์ใช้คำว่าภิกษุ สังฆกรรมไม่สามารถทำได้ด้วยภิกษุรูปเดียว ผมคิดว่าพุทธบัญญัติข้อนี้เป็นไปเพื่อให้สงฆ์ตักเตือนกันเอง และหาก(ฉันน)ภิกษุรูปใดละเมิดพระวินัย ก็ให้ถอนสิกขาบท หรือลงพรหมทัณฑ์
ข้อความนี้ มีบางประเด็นที่เป็นคำถาม และบางประเด็นที่ใคร่จะชี้แจง.....
ประเด็นแรกเป็นคำถามว่า  คำว่า สงฆ์ เป็นพหูพจน์หรือไม่ ? .... ตอบว่า สงฆ์ เป็นได้ทั้งเอกพจน์ และพหูพจน์ โดย เอกพจน์เขียนว่า สงฺโฆ ...ส่วน พหูพจน์เขียนว่า สงฺฆา .............
แต่คำว่า สงฆ์ จัดเป็น สมุหนาม หมายถึง เป็นคำที่บ่งถึง กลุ่ม กอง พวก หมู่ คณะ เหล่า ฯลฯ ประมาณนี้.... มิใช่คำที่เป็น เอกนาม ซึ่งบ่งชี้ หนึ่งเดียว  หรือเฉพาะคนเดียว .... ทำนองนี้
...............
ประเด็นที่ใคร่ชี้แจง คือ การให้ถอนสิกขาบท และ การลงพรหมทัณฑ์...
การให้ถอนสิกขาบท เป็นการอนุญาติไว้โดยพระพุทธเจ้าว่า ถ้าประสงค์จะถอนสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ .... แต่พระอานนท์ไม่ทูลถามว่าสิกขาบทเล็กน้อยคืออะไรบ้าง... ดังนั้น จึงมีมติในการสังคายนาครั้งแรกว่า ไม่ถอน ..... ผู้สนใจลองไปค้นดูเรื่องราวตอนปฐมสังคายนา
การลงพรหมทัณฑ์ เป็นวิธีการที่พระอานนท์ทูลถามว่าจะปฏิบัติต่อพระฉันนะอย่างไร... พระพุทธบอกว่าให้ลงพรหมทัณฑ์ กล่าวคือ การไม่ว่ากล่าว ไม่ตักเตือน ไม่สนใจโดยประการทั้งปวง ... ทำนองนี้
เพิ่มอีกนิดเฉพาะเรื่องพระฉันนะ... กล่าวคือ นายฉันนะเคยตามเสด็จตอนฟ้าชายสิทธัตถะออกบวช (ทรงผนวช) ต่อมาเมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นายฉันนะก็มาบวชอยู่ด้วยในภายหลัง... เมื่อบวชแล้ว พระฉันนะ ถือตัวว่าเป็นขาใหญ่ เด็กเส้น ลูกน้องคนสนิทที่เก่าแก่.. ไม่ฟังใคร ชอบทับถ่มผู้อื่น ทำนองว่า.... ตอนนี้มาอ้างว่า เราชื่อสารีบุตร เราชื่อโมคคัลลานะ ... แต่ในคราวพระลูกยาเธอออกบวช ใครบ้างที่ตามเสด็จมา มีแต่เราคนเดียว.... ประมาณนี้
เรื่องนี้สร้างความระอาต่อพระภิกษุ-สามเณรทั่วไป พระพุทธเจ้าตรัสห้ามไว้หลายครั้งแล้ว แต่พระฉันนะก็คงทำตัวเหมือนเดิม ดังนั้น พระอานนท์ จึงทูลถามเรื่องนี้.....
..............
  
สรุปว่า ประเด็นการถอนสิกขาบท และการลงพรหมฑัณฑ์ไม่เกี่ยวข้องกันเลย....
เจริญพร
P
สังคมสงฆ์ และสังคมชาวบ้าน ก็ไม่แตกต่างกันนัก กล่าวคือ ในท้องถิ่นใดหรือยุคสมัยใดก็ตาม เมื่อชาวบ้านประกอบด้วยธรรม สงฆ์ก็มักจะเป็นเช่นนั้น ... นัยตรงข้าม ถ้าสงฆ์ไม่ประกอบด้วยธรรม ชาวบ้านก็มักจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน...
ทั้งนี้ เพราะสังคมสงฆ์และชาวบ้านในท้องถิ่นหรือยุคสมัยเดียวกัน ย่อมมีการติดต่อเชื่อมโยงกัน.....
ส่วน ผู้ที่เข้าถึงธรรมอยู่บ้าง ก็จะล่วงเลยสิ่งเหล่านี้ไป จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับภูมิธรรมของคนๆ นั้น...
เจริญพร 

จำชื่อนายฉันนะได้ครับ ส่วนเรื่องฉันนภิกษุขาใหญ่ เป็นความรู้ใหม่ ขอบพระคุณพระอาจารย์ที่แก้โง่ให้ครับ

ผมขอทดแทนด้วยการนำกลหวิวาทสุตตนิเทสจากพระไตรปิฎก มาแปะไว้ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา อยากให้ดูข้อ [๔๙๓-๔๙๔] เป็นพิเศษก่อนจะมีการแสดงพลังครั้งต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท