สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานเพลิงศพพระมารดา (นกเอี้ยง) ณ วัดบางยี่เรือใต้ (อินทาราม)


               "ครั้นถึง ณ วันจันทร์ เดือนอ้ายขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงพระกรุณาให้เชิญพระโกศพระอัฐิ สมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง) ลงเรือบัลลังก์ มีเรือแห่เป็นกระบวนไปแต่ตำหนักแพ แห่เข้าไป ณ วัดบางยี่เรือใต้ แล้วเชิญพระโกศขึ้นสู่พระเมรุ นิมนต์พระสงฆ์สดัปกรณหมื่นหนึ่ง ทรงถวายไทยทานเป็นอันมาก ครบสามวันแล้ว เชิญพระโกศลงเรือแห่กลับเข้าพระราชวัง "
          ในรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีบ้านเมืองอยู่ในยามศึกสงคราม แม้การสิ้นพระชนม์ของเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์พระราชชนนีก็ยังต้องจัดงานพระราชทานเพลิงถึง ๒ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๘ เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับจากพระราชสงครามที่เมืองสระบุรี ได้โปรดให้สร้างเมรุที่วัดอินทาราม เพื่อถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระราชชนนีใช้เวลาสร้างอยู่ถึง ๒ เดือน พระเมรุโปรดให้สร้างเป็นมณฑปและมิได้ใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจปลูกสร้างเลย
          โปรดให้รายบุคคลให้ทำกันคนละด้าน คือพระราชสงครามทำด้านเหนือหลวงศรีกาลสมุดทำด้านใน พระราชสุภาวดีทำด้านตะวันออกพระเทพพี่เลี้ยงทำด้านตะวันตก ส่วนพลับพลาโรงทึมพระสงฆ์ และทึมต่างๆ โรงไว้สังเฆต โรงฉ้อทาน ร้านน้ำ โรงพิเศษ โรงศาลาลูกขุน สามช่าง ชื่อขวาง เฉียงขวาง ระทาใหญ่ ราชวัตรทึบ ราชวัตเลว และฉัตรเบ็ญจรงค์ได้เกณฑ์กรมกองต่างๆ คือ กรมกลาโหม กรมวัง กรมมหาดไทย กรมนครบาล กรมพระคลัง กรมคลังพิเศษ กรมคลังหลวง กรมคลังนา คลังในซ้าย คลังในขวา กรมเมือง กรมแพ่ง กรมแพ่งกลาง กรมแพ่งเกษม กรมท่า กรมอาสา หกเหล่า สนม ทหาร อาสาเดโซ อาสาท้ายน้ำเป็นผู้จัดทำ


           เรื่องประกอบที่กรมกองทั้งหลายได้ทำสำหรับประกอบพระเมรุในงาน ที่วัดอินทารามคราวนี้ มีราชวัตรทึบ ๑๔๕ ราชวัตรเลว ๔๕ ราชวัตร ฉัตรเบญจรงค์ ๒๐ ฉัตร ระทาใหญ่ ๑๒ ระทา ร้านน้ำ ๒๑ ร้าน สามช่าง ชื่อขวาง เฉวียงขวาง ๔ ทิศ ยาวข้างละ ๕ เส้น ๑๒ วา ทึมพระสงฆ์ ๖ ทึม โรงพิเศษ ๑ โรง โรงศาลาลูกขุน ๑ โรง โรงโขนระหว่างช่องระทา ๑๔ โรง โรงเทพทอง ๒ โรง โรงไว้สังเขต ๒ โรง ห่างจากราชวัตรทึบออกไปที่ตั้งดอกไม้เพลิง ๒ เส้น ๑๕ วา
          ฝ่ายราษฏรนั้น กรมมหาดไทยได้เกณฑ์ให้ช่วยกันตั้งราชวัตรกระดาษ (ฉัตร) เรียงรายตามทางกรมมหาดไทยได้เกณฑ์ ไปฝึกซ้อมเครื่องเล่นมหรสพไว้ นำมาแสดงทำดอกไม้เพลิง และคนที่สำหรับถือดอกบัวคู่ตามกระบวนแห่ ให้สมทบกับราชการกรมสนมที่ทำเครื่องสูง แห่พระพรหมนำข้างขวาพระอินทร์แห่ข้างซ้าย ซึ่งมีเสมียนกรมวังเข้าสมทบด้วย
         เมื่อได้สร้างพระเมรุเสร็จแล้ว ก็โปรดให้ชักพระศพมาสู่วัดอินทาราม ณ วันอังคารแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม พุทธศักราช ๒๓๑๘ รุ่งขึ้นอีก ๒ วัน ก็ได้ถวายพระเพลิงคือวันพฤหัสบดี ๕ ค่ำ เดือน ๖ นั้น รวมเป็นเวลาประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงคราวนี้ ๓ วัน ๓ คืน มีการละเล่นมหรสพต่างๆ กัน คือกลางคืนมีโขน ๒ โรง งิ้ว ๓ โรง เทพทอง ๒ โรง รำหญิง ๔ โรง หนังกลางวัน ๒ โรง หุ่นญวน ๑ โรง หุ่นลาว ๒ โรง กลางคืนหนังใหญ่ ๓ โรง หนังใหญ่ระหว่างช่องระทา ๑๐ โรง หนังจีน ๒ โรง จัดดอกไม้เพลิงถวายพระบรมศพทั้ง ๓ คืน ซึ่งรวมดอกไม้เพลิงซึ่งจุด ๓ คืน ดอกไม้เพลิงระทา ๔๒ ระทา ไฟพะเนียง ๒๐๐ กระบอก เสือลากหาง ๑๒ สาย เพลิงพ้อม ๓ พ้อม สิงห์โตไฟ ๙  ม้าไฟ ๑๐ ตัว ดอกไม้เพลิงชนิดกระถาง ๑๓ กระถาง ขึ้นคลีม้า ๑๑ ม้า
         ในการประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระชนนีนาถของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีครั้งนี้ ยังหาจุพระทัยของพระองค์ไม่ เนื่องจากศึกพม่าอะแซ่วุ่นกี้ยกทัพมาประชิดเมืองพิษณุโลก  ถ้าจะทรงทำพระเมรุดีจริงๆ ก็เสียเวลานาน แม้ยอดพระเมรุก็ทรงให้ใช้กระดาษน้ำตระกูดแผง เอาแทนแผ่นทองดีบุก อนึ่ง ยังเป็นเวลาซุกฟ้าซุกฝนด้วยในระหว่างงาน ฝนจึงตกเปียกดอกไม้เพลิงต่างๆ จุดไม่ติดเสียเป็นอันมาก จึงทรงปรึกษากับพวกลูกขุนว่า จะเห็นควรตัดค่าบำเหน็จค่าดอกไม้เพลิงครั้งนี้เสียบ้างหรือไม่ พวกลูกขุนก็ทูลว่าควรลด เพราะดินปืนของที่ทำเป็นของหลวง จึงได้ทรงลดเงินค่าบำเหน็จค่าดอกไม้เพลิง และได้ทรงพระราชดำริว่า บ้านเมืองสงบศึกเรียบร้อยแล้ว จะถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระราชชนนีอีก ให้สมกับเป็นผู้มีพระคุณอย่างล้นเหลือ
             พุทธศักราช ๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้จัดงานถวายพระราชกุศลแด่พระบรมอัฐิพระราชชนนีอีกตามที่ได้ทรงพระราชดำริไว้ ในงานพระราชกุศลคราวนี้ทรงบำเพ็ญเป็นงานใหญ่ เพื่ออุทิศส่วนพระราชกุศลฉลองพระเกียรติของสมเด็จพระชนนีนาถ ได้เกณฑ์กรมทหารเมืองมาช่วยด้วย เมืองภาคเหนือมีเมืองลพบุรี เมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิร เมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองสุโขทัย ส่วนเมืองในภาคอื่นมีเมืองชัยนาท เมืองสิงบุรี เมืองอ่างทอง เมืองอินทร์บุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี และเมืองสุพรรณบุรี ได้กรมการเมืองเหล่านี้มาช่วยกันกับทางวัด ทำสะพานทำพลับพลาและทำปลูกโรงทึมต่างๆ สำหรับประดิษฐ์สถานพระบรมอัฐิ นี่คือข้าราชการจากหัวเมืองต่างๆ ที่มาต้องทำงานที่วัดอินทร์
             งานนี้ได้ใช้หัวหน้าที่สำคัญทั้งในกรุงและนอกกรุง มีเจ้าพระยา ๒ พระยา ๘ คน พระ ๖ คน หลวง ๘ คน ขุน ๑๑ คน หมื่น ๘ คน และได้แยกย้ายไปเกณฑ์คนทำงานต่างๆ คือ ช่างทำบุษบกร้านม้า ๕๒ คน คนหามเสลี่ยงงา ๗ คน คนทำเครื่องสูง ๑๘ คน ชาวภูษาอีก ๒ คน คนทำทึมและงานเบ็ดเตล็ด ๑,๒๓๒ คน กรมกลาโหมเกณฑ์กันทำ ๕๖๒ คน กรมอาสาหกเหล่าทำทึมสงฆ์ ๖๓ คน กรมตำรวจปลูกพลับพลา ๓๐๓ คน พวกสนมทูลข้าละอองคอยถวายข้าวห่อแก่พระสงฆ์ ๒๓๒ คน กรมสัสดีทำทึมประดิษฐ์สถานพระบรมอัฐิ ๑๙๙ คน กรมนครบาลเกณฑ์กันสร้างสะพาน ๑๐๕ คน มหาดไทยเกณฑ์คนถางหญ้าหน้าวัด ๒๘๗ คน ชายพายเรือขบวนแห่ ๑,๔๓๙ คน หญิงพายเรือมังกุขบวนแห่ ๑๕๖ คน ชายคอยทำการขบวนแห่ ๑,๒๓๒ คน กรมต่างๆ ทำราชวัตรและฉัตรใหญ่ ๖๐ คน มหาดเล็กรักษาเครื่องมนัสการ ๑๔ คน ตำรวจ ๔ คน จุดประโคมไฟ ๔ ทิศ รวมคนที่ทำการพระราชกุศล ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่วัดอินทารามครั้งนี้ เฉพาะที่จดหมายเหตุ ๖,๐๐๐ คนเศษ งานบำเพ็ญพระราชสักการะพระบรมอัฐิพระพิทักษ์เทพามาตย์ ณ วันจันทร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้ายปีวอก พุทธศักราช ๒๓๑๙ หมายกำหนดการได้สั่งไว้ดังนี้
               เวลาเช้าเชิญพระบรมอัฐิขึ้นเสลี่ยงงา ออกประตูพระราชวังตรงไปวัดโมฬีโลก (วัดท้ายตลาด) มีเครื่องสูง แตรสังข์ ปี่ กลองชนะ และเกณฑ์ผู้แห่เดินเท้าหน้าและหลัง ณ สะพานประตูใหญ่ เหนือมณฑป เรือโขมดยาทอง เรือโขมดยารายประดับเครื่องสูงแห่ไปหน้าคู่หนึ่ง เรือโขมดยาเงินประดับเครื่องสูงคุมหลัง เรือโขมดยาสีสักราดบรรทุกเครื่องประโคมแตรสังข์ เรือดั้งขุนราชเสนาบรรทุกปี่กลองชนะ นอกนั้นมีเรือกราบทูลละออง เรือแผงและเรือมังกุ พวกผู้หญิงเข้าขบวนแห่เป็นริ้วกันไป ๗๙ ลำแห่ขึ้นไปถึงบางยี่ขัน แล้วกลับมาประดิษฐาน ณ พลับพลาวัดอินทาราม
              ครั้นแห่พระบรมอัฐิไปประดิษฐานยังวัดอินทารามแล้ว ก็โปรดให้กรมกองกลาง นำเงินไปแจกเป็นมหาทานแก่พวกข้าทูลละอองที่มาในงานทุกคน ผู้ชายพระราชทานสลึง ผู้หญิงคนละเฟื้อง กับให้พระยามหาเสนาคุมเงิน ๑๐ ชั่งไปเที่ยวแจกกระยาจกวณิพก ตามในกรุงและนอกกรุง โปรดให้สังการีอาราธนาพระสงฆ์มาสบสังวาส ๑ หมื่น มีสงฆ์ที่มาเป็นพระภิกษุ ๒,๒๓๐ รูป เถรและเณร ๑๗๓๘ องค์ เมื่อเสร็จสิ้นการพระศพแล้วจึงเชิญพระโกศลงเรือแห่กลับเข้าพระราชวังกรุงธนบุรีดังเดิม
                                                              โดย   คนบ้านเดียวกัน

              สงฆ์สบสังวาสในพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจนานุมาศ (เจิม) ว่าสงฆ์ ไม่เลือกนิกายและอารามรวมกัน ในพระราชวิจารณ์รัชกาลที่ ๕  ทรงให้อรรถาธิบายว่า สบสังวาสหมื่นหนึ่งหมายถึงการถวายข้าวสงฆ์องค์ละ ๒ ห่อ ไม่ไช่ถวายเงินซึ่งเป็นวิธีของชาวกรุงเก่า
              ชมภาพจิตกรรมฝาผนังงานถวายเพลิงศพทศกัณฐ์ได้ที่นี่ค่ะ Entertainer http://gotoknow.org/file/chuanpis/Ramayana.pdf Entertainer   
  ย่อจาก : งานพระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์  โดยนายยิ้ม ปัณฑยางกูรและคนอื่นๆ กรุงเทพ ๒๕๒๘ 
              : พงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ ฉบับ พันจนานุมาศ ( เจิม )
              : เอกสารจากหอสมุดแห่งชาติ และหอสมุดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
              : ประวัติวัดอินทรารามโดยสังเขป โดย ท่านเจ้าคุณพระวิเชียรมุนี พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗

หมายเลขบันทึก: 60933เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2006 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับสำหร้บข้อมูลดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท