มหาราช.....ผู้กอบกู้ชาติไทยพระองค์เดียวของกรุงธนบุรี


            ชีวิตเราได้เกิดบนผืนแผ่นดินไทย ได้อาศัยร่มเงาของพระพุทธศาสนาให้ความสงบร่มเย็นนับว่าเป็นความโชคดียิ่งนัก ยิ่งได้มีโอกาสมาพำนักและทำมาหากินอยู่ในเมืองธนบุรีด้วยแล้ว  ถือได้ว่าเป็นโชคมหาศาลถึงแม้จะเป็นเมืองเล็กๆแต่ก็มีความสงบร่มเย็น เต็มไปด้วยคูคลอง วัด และโบราณสถานมากมาย ที่สำคํญเคยเป็นราชธานีของไทยในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินมหาราชมาแล้ว  ปัจจุบันพระราชวังธนบุรีได้เป็นที่ตั้งของกองทัพเรือ ซึ่งก็ได้มีการบูรณะและอนุรักษ์ไว้อีกทั้งได้เปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชม
            โรงเรียนของเรานั้นอยู่ไม่ห่างไกลจากวงเวียนใหญ่มากนัก หากนั่งรถไฟก็ไม่นาน อาศัยเดินเลียบตามทางรถไฟก็ไม่กี่อึดใจ ผ่านชุมชนของลูกศิษย์ที่เป็นมุสลิม ไปไม่นานก็ถึงตลาดบริเวณสถานีรถไฟ เลี้ยวซ้ายไปนิดหน่อยก็ถึงวงเวียนใหญ่ ที่นี่แหละเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่รัฐบาลไทยได้ร่วมกับปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าร่วมใจกันสร้างขึ้น  ด้วยสำนึกในพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อประเทศชาติ  โดยรัฐบาลได้ขอพระราชทานกำหนดเป็นงานรัฐพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ในวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๗  อันเป็นดิถีคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
            ต่อมารัฐบาลได้กำหนดให้มีงานรัฐพิธีถวายสักการะ ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ เรียกว่า "รัฐพิธีวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" ที่พวกเราผู้แทนกระทรวง ทบวงกรม สถานศึกษา สมาคมและประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้มาร่วมตักบาตรทำบุญและนำพวงมาลามาถวายสักการะในตอนเช้า เมื่อเข้าไปใกล้พระบรมราชานุสาวรีย์  พบคำจารึกใต้ฐานเขียนว่า "อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิม พระบรมกฤษฎาภินิหาร แห่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ผู้เป็นมหาวีรบุรุษของชาติไทย  ประสูติ พ.ศ.๒๒๗๗ สวรรคต พ.ศ. ๒๓๒๕ รัฐบาลไทยพร้อมด้วยปวงชนชาวไทย ได้ร่วมกันสร้างประดิษฐานไว้ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๗ เพื่อเตือนใจให้ประชาชนชาวไทยรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงเพียรพยายามปราบอริราชศัตรู กอบกู้เอกราชของชาติไทยให้กลับคืนคงดำรงอิสรภาพสืบมา " อ่านแล้วให้รู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านและความกตัญญูกตเวทีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อพระองค์  เกร็ดพงศาวดารที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติของพระองค์  ที่จะขอนำมาให้ชาวไทยเราได้รับทราบไว้บางประการ มีดังนี้
             สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประสูติเมื่อ วันอาทิตย์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน๕ ปีขาล  จุลศักราช ๑๐๙๖ ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗ เป็นบุตรนายอากรบ่อนเบี้ยชาวจีนชื่อ ไหฮอง กับนางนกเอี้ยง มีที่พำนักอยู่หน้าบ้านพระยาจักรี ที่สมุหนายก ( รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปัจจุบัน ) ซึ่งอยู่ใกล้กับกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยาในอดีต  ตอนคลอดนั้นเกิดมีอัสนีบาตผ่าลงตรงเสาดั้งเรือนคลอด  แต่ไม่มีผู้ได้รับอันตราย เมื่อคลอดได้ ๓ วัน มีงูเหลือมใหญ่เลื้อยเข้าไปขดในกระด้งเด็กเป็นทักษิณาวัฏแต่มิได้ทำอันตรายแก่เด็ก ซึ่งตามธรรมเนียมจีนถือว่าเป็นนิมิตหรือลางร้าย จะต้องนำเด็กไปฝังทั้งเป็นหรือไปทิ้งเสียนอกบ้าน บิดามารดาจึงนำไปยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี นับตั้งแต่ได้เด้กมาอยู่ด้วย เจ้าพระยาจักรีก็ได้ลาภผลเจริญรุ่งเรือง จึงตั้งชื่อเด็กว่า " สิน "
              เมื่ออายุได้ ๕ ขวบสมควรที่จะได้เรียนหนังสือ ท่านพระยาจักรีจึงไนำไปฝากไว้กับพระอาจารย์ ทองดี วัดโกษาวาส (วัดคลัง) การศึกษาในสมัยก่อนนั้นนิยมศึกษากันในวัด โดยเรียนหนังสือไทยและขอม เมื่ออ่านออกเขียนได้ ก็เรียนพระไตรปิฎกต่อไป  ขณะที่อยู่ที่วัดเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี พระอาจารย์ทองดี จับได้ว่า เด็กชายสินเป็นหัวหน้านำเด็กวัดเล่นการพนันแทงถั่วกันในวัด จึงสั่งลงโทษแก่เด็กทุกคน ส่วนตัวหัวหน้านอกจากโดนลงโทษแล้ว  ก็ให้นำตัวไปมัดมือคร่อมไว้กับบันไดที่ท่าน้ำหน้าศาลาวัด โดยให้แช่อยู่ตั้งแต่เช้าจนเย็น จนกระทั่งพระอาจารย์ทองดีทำวัตรสวดมนต์เย็นเสร็จในตอนหัวค่ำจึงนึกขึ้นได้  ตกใจกลัวว่าเด็กชายสินจะเสียชีวิตเพราะจมน้ำเนื่องจากว่าเป็นช่วงน้ำขึ้น น้ำจึงท่วมสูงเต็มตลิ่ง ท่านรีบไปที่ท่าน้ำให้พระส่องไฟดูพบว่าเด็กชายสินยังไม่ตาย เพราะบันไดท่าน้ำได้หลุดลอยไปติดอยู่ริมตลิ่งโดยเด็กชายสินยังคงถูกมัดมือติดกับบันไดเหมือนเดิม จึงพากันแก้มัดมือออกแล้วนำต้วไปเข้าโบสถ์ให้นั่งอยู่ท่ามกลางพระสงฆ์เฉพาะต่อหน้าองค์พระพุทธปฏิมากร แล้วพระสงฆ์ก็สวดชยันตมงคลคาถาเป็นการรับขวัญเด็กชายสิน
               ต่อมาเจ้าพระยาจักรีก็ได้นำเด็กชายสินไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ในช่วงนี้จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมในสำนักของอาจารย์ชาวญวณ จีนและแขก จนมีความสามารถฟังและพูดภาษาเหล่านั้นได้ พออายุได้ ๒๑ ปี จึงเข้าอุปสมบทกับพระอาจารย์ทองดี  วัดโกษาวาสสำนักเดิม  ในช่วงนี้ได้พบกับพระภิกษุทองด้วง (รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ) ซึ่งอยู่ต่างวัดกัน แต่ก็ได้เคยเดินไปรับพระราชทานการถวายบิณฑบาตรในพระราชวังเป็นประจำด้วยกัน กระทั่งพบซินแส
ที่เป็นหมอดูลักษณะ ได้ทำนายพระภิกษุทั้ง ๒ รูปนี้ว่าจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินสืบต่อไป ดังบทกลอนของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ประพันธ์ไว้ในหนังสือ สามกรุง หน้า ๕๔ - ๕๘  ดังนี้
                                   เกิดมาข้าพเจ้าไม่                เคยเห็น
                             สองสหายหลายประเด็น             เด่นชี้
                           ภายหน้าว่าจักเป็น                       ปิ่นกษัตร์
                         นั่งอยู่คู่กันฉนี้                               แน่ล้วนชวนหัวฯ

      ซินแสได้ทำนายพระภิกษุสินว่า :-
                                   ชายใดไกรลักษณ์พร้อม       เพราองค์
                              ศักดิ์กษัตร์ถนัดทรง                  ส่งชี้
                               สมบัติขัติยมง                         คลครอบ  ครองแฮ
                             ชายนั้นคือ ท่านนี้                      แน่ข้าพยากรณ์ฯ
       ส่วนพระภิกษุทองด้วงนั้นสินแซทำนายว่า :-
                                     ท่านเป็นบุรุษต้อง              ตามลักษณ์  ล้วนแล
                              บุญเด่น  เห็นประจักษ์               เจิดกล้า
                                 จักสู่ประภูศักดิ์                      สุรกษัตร์
                              สืบศุภวงศ์ทรงหล้า                   สฤษดิ์เลี้ยง  เวียงสยามฯ
                 
                   เมื่อลาสิกขาบทแล้วจึงกลับเข้ารับราชการดังเดิม จนได้เป็นมหาดเล็กทำราชการ ในกรมมหาดไทยและกรมวังหลวงต่อไป เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินเป็นรัชสมัยของ สมเด็จพระเจ้าสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) พระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาทรงขึ้นครองราชย์  ในปีต้นรัชกาลนี้เองมหาดเล็กสินได้รับหน้าที่เป็นผู้เชิญท้องตราพระราชสีห์ ขึ้นไปชำระความที่ศาลหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเป็นช่วงเวลาที่ตำแหน่งหลวงยกกระบัตร เมืองตาก ว่างลง  จึงโปรดเกล้าให้นายสินเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ต่อมาพระปลัดเจ้าเมืองตากถึงแก่อนิจกรรม จึงโปรดให้หลวงยกกระบัตรสิน ดำรงตำแหน่งพระยาตาก ชาวเมืองตากจึงพากันเรียกว่า พระยาตากสิน
                    มีข้อความบันทึกของพระอธิการวัดข่อยเขาแก้ว จดจารึกและเล่าต่อกันมาว่าพระยาตากสิน ได้เคยไปบำเพ็ญบุญกุศลที่วัดข่อยเขาแก้วและวัดกลางซึ่งอยู่ติดต่อกับหมู่บ้านระแหง จังหวัดตาก พระยาตากได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า " ถ้าบารมีของข้าพเจ้าจะถึงซึ่งบรมสุขแล้ว ข้าพเจ้าจะเอาไม้สำหรับเคาะระฆังนี้ขว้างปา ขอให้ถูกจำเพาะท่ามกลางเท้าถ้วยแก้วที่คอดกิ่วนั้นหักออกไป แต่อย่าให้ถ้วยแก้วนั้นแตก ข้าพเจ้าจะเอาถ้วยแก้วนั้นมาทำยอดพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ถ้าบารมีข้าพเจ้าไม่ถึงบรมสุข ก็อย่าให้ไม้เคาะระฆังไปถูกถ้วยแก้วนี้เลย " เมื่อปาไม้ออกไปก็ถูกถ้วยแก้วดังคำอธิษฐาน เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่พระภิกษุและสามเณรที่อยู่นั้น ต่างสรรเสริญบารมีของพระยาตากกันทั่วไป
                    พระยาตากสินรับราชการด้วยความสื่อสัตย์และจงรักภักดี ต่อมาพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชรถึงแก่อนิจกรรม จึงโปรดเกล้าเลื่อนให้เป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองเอกด่านหน้าในการรับศึกสมัยนั้น และเป็นช่วงพอดีกับที่ทัพพม่ายกมาล้อมพระนครไว้ พระยาวชิรปราการคนใหม่จึงต้องอยู่ช่วยราชการงานศึกในกรุงศรีอยุธยา  พระเจ้าเอกทัศน์ทรงอ่อนแอในการสงคราม แม้แต่จะยิงปืนใหญ่ต่อสู้ข้าศึกต้องได้รับพระบรมราชานุญาต พระยาตากสินจึงรวบรวม สมัครพรรคพวกตีฝ่ากำแพงเมืองออกไปทางทิศตะวันออก เดินทางผ่านเมือง นครนายก ปราจีนบุรี และระยอง ซึ่งเมืองเหล่านี้ยอมเป็นพรรคพวกด้วย แต่เมืองจันทบุรีหัวเมืองใหญ่ชายทะเลตะวันออก เจ้าเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมให้ พระยาตากสินจึงตัดสินใจตีเมืองจันทบุรี โดยให้ทหารเททิ้งอาหารหลังมื้อเย็นเสียทั้งหมด ให้ไปหากินเอาในเมืองจันทบุรี ถ้าไม่ได้ก็ต้องตายพร้อมกัน ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของพระยาตากสินทำให้ตีเมืองจันทบุรีได้ในที่สุด ( ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของค่ายทหารนาวิกโยธินของกองทัพเรือ ซึ่งยังคงมีกำแพงและคูเมืองเก่าให้เห็นเป็นร่องรอย )
                    พระยาตากสินได้รวบรวมกำลังพล สะสมเสบียงอาหาร และเตรียมเรือรบไว้ ( ปัจจุบันขุดพบอู่ต่อเรือรบ (ไม้) ที่จังหวัดจันทบุรี ) เมื่อพร้อมแล้วจึงยกกำลังทางเรือมาตีเมืองธนบุรี และนำกำลังขึ้นไปสู้รบกับพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้นจนได้รับชัยชนะ จึงได้ยกทัพเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาคืนจากกองทัพพม่า แต่ด้วยเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเสียหายมาก ไม่ควรตั้งเป็นราชธานี (บ้างว่ากษัตริย์องค์ก่อนๆ ของกรุงศรีอยุธยา ได้มาเข้าฝันขับไล่ไม่ให้อยู่เพราะไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ ) จึงได้ย้ายราชธานีมาตั้งอยู่ที่กรุงธนบุรี
                     เมื่อ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๐ พระยาตากสินได้ปราบดาภิเษกพระองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี ประชาชนขนานนามพระองค์ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรี จากนั้นจึงได้ทรงปราบปรามก๊กต่างๆที่แตกแยกกันตอนเสียกรุงศรีอยุธยา อันมีก๊กเจ้าพระฝาง ก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลก ก๊กเจ้านคร และก๊กเจ้าพิมายได้สำเร็จ  จึงทรงรวบรวมผืนแผ่นดินไทยให้เป็นปึกแผ่น และตกทอดมาเป็นมรดกของลูกหลานไทยในปัจจุบัน  ในปี พ.ศ.๒๓๒๑ ได้โปรดให้เจ้าพระยาจักรี ( รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ) ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์ ล้านช้าง และหลวงพระบาง อีกทั้งได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาประดิษฐานยังกรุงธนบุรีด้วย
                     พ.ศ. ๒๓๒๓ เกิดจราจลในประเทศเขมร จึงโปรดให้พระยามหากษัตริย์ศึกนำทัพไปปราบจราจลในเขมรอีกครั้ง แต่เมื่อมีข่าวว่ากรุงธนบุรีเกิดจราจลราษฎรถูกข่มเหงรังแก พระยามหากษัตริย์ศึกจึงส่งพระยาสรรค์ให้นำทัพลงมาปราบ แต่พระยาสรรค์คิดการใหญ่จับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ให้สละราชสมบัติและบังคับให้ทรงผนวช พร้อมทั้งตั้งตนเองขึ้นเป็นใหญ่ เมื่อพระยามหากษัตริย์ศึกเสร็จการทัพในเขมรแล้ว จึงกลับมาปราบกบฏพระยาสรรค์จนราบคาบ บรรดาขุนนางผู้ใหญ่และราษฎรจึงอัญเชิญขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา จึงเป็นอันสิ้นสุดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ทรงครองราชย์อยู่เพียง ๑๕ ปี เท่านั้น
                      จะเห็นได้ว่าพระองค์นั้นทรงมีพระคุณต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาประมาณมิได้ ทรงลำบากพระวรกายต้องกรำศึกสงคราม เอาเลือด เอาเนื้อ และชีวิตของพระองค๋รวมทั้งเหล่าบรรพชนของไทยเข้าแลกไว้ เพื่อให้ลูกหลานไทยได้มีแผ่นดินเป็นที่อาศัยและทำกิน อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา หากมีโอกาสผ่านวงเวียนใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่าน ก็ควรที่จะประนมมือถวายความเคารพนบนอบ ระลึกถึงพระองค์ท่าน อีกทั้งควรบอกกล่าวเล่าขานสดุดีวีรกรรมของพระองค์ ให้ลูกหลานได้รับรู้ว่า เมื่อเกิดเป็นคนไทยต้องรู้จักตอบแทนคุณแผ่นดิน ตามสถานะที่ตนเองจะพึงกระทำได้


                                                        
                                                                        โดย   คนบ้านเดียวกัน

                รวบรวมจาก : พงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ ฉบับ พันจนานุมาศ ( เจิม )
                                : เอกสารจากหอสมุดแห่งชาติ และหอสมุดกรมพระยา   ดำรงราชานุภาพ 
                                : ประวัติวัดอินทรารามโดยสังเขป โดย ท่านเจ้าคุณพระวิเชียรมุนี พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ 
                                : อนุสรณ์กฐิน ของ กรมสวัสดิการทหารเรือ เมื่อ ๖ พ.ย. ๒๕๐๒
                                : ประวัติวัดอินทรารามใต้ ตลาดพลู กทม. ๒๘ ธ.ค. ๒๑ 
                                : เมืองธนบุรี โดย ผศ.ทัศนีย์  ศุภเมธี วิทยาลัยครูธนบุรี พ.ศ.๒๕๒๙
                   
                        

หมายเลขบันทึก: 52836เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2006 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท