ความจีรังคือความไม่จีรัง


พึ่งสังเกตจาก TrueHits.net ว่าตอนนี้เว็บด้านการศึกษาที่เคยแข่งขันกันมาในอันดับหนึ่ง สอง สาม (Vchakarn.com, GotoKnow.org, ThaiGoodView.com) ในอดีต ตกอันดับไปอยู่อันดับที่เท่าไหร่กันหมดก็ไม่รู้แล้ว

มี วิชาการ.คอม รายเดียวที่ติดอันดับร้อยอยู่ (แต่ก็หมิ่นแหม่มจะตกอันดับ) ส่วน GotoKnow.org นั้นลงไปอันดับ 244 เชียวครับ

ในขณะที่เว็บของสื่อมวลชนขึ้นมาอยู่อันดับที่ GotoKnow เคยอยู่ในอดีต

คิดแล้วน้อยใจหน่อยๆ เหมือนกันครับ วัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของ GotoKnow คือตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อพลเมืองไว้ถ่วงอำนาจกับสื่อมวลชน แต่เราขาดซึ่งทุนทรัพย์ที่จะต่อสู้กับสื่อมวลชน เราไม่เคยได้โฆษณาหรือประชาสัมพันธ์อย่างเขา แต่อยู่ด้วยเงินบริจาคด้วยซ้ำ โชคดีได้แต่อาศัยความสงสารจากคนที่เข้าใจก็พออยู่ได้ไม่ถึงขั้นหืดขึ้นคอมากนักครับ

ผมซาบซึ้งใจในพระคุณของทุกท่านที่บริจาคให้แก่ GotoKnow เพราะท่านยินดียืนหยัดกับ GotoKnow จริงๆ

จนวันนี้ผมจะยังไม่ได้ใช้เงินบริจาคนะครับ ผมใช้เงินส่วนตัวออกไปก่อน แต่ก็อุ่นใจว่าถ้าเงินผมหมดเมื่อไหร่ เงินบริจาคก็ยังมี แต่อีกไม่นานเราจะได้ทุนสนับสนุนจาก สสส. ก็คงพอสู้ต่อได้อีกยก

นี่ล่ะวิถีชีวิตของเว็บไซต์อย่าง GotoKnow ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเว็บของสื่อมวลชน

ทำให้พอเห็นผู้ใช้ย้ายไปใช้เว็บของสื่อมวลชนสักคนนี่ผมเศร้ามากจริงๆ ครับ ถ้าผู้ใช้ย้ายไปใช้ Exteen.com หรือ BlogGang.com นี่ผมไม่รู้สึกอะไรเลย เพราถือว่าเป็นสื่อพลเมืองเหมือนกันครับ

หรือไป WordPress.com หรือ BlogSpot.com นี่ผมก็ยินดีมากครับ เพราะกลุ่มเหล่านี้คือสื่อพลเมืองและมีฐานอยู่ในต่างประเทศอีกด้วย หมายความว่าอำนาจสื่อมวลชนไทยก้าวไปไม่ถึงครับ

แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ครับ ผมเข้าใจว่าเว็บของสื่อมวลชนเขามีการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงมากกว่าครับ เปิดทีวีเจอเขาทุกวัน ก็ย่อมจะโน้มเอียงไปหาทางเขาได้เป็นธรรมดา

ในตอนนี้สื่อพลเมืองกำลังพยายามรวมตัวกันอยู่ แต่เราก็กำลังด้อยเหลือเกิน ได้แต่อาศัยจิตวิญญาณเป็นตัวขับเคลื่อนครับ ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น เราสู้เท่าที่เราสู้ได้ citizen journalism ในต่างประเทศเขาเข้มแข็งแต่ในประเทศไทยเราไปไม่ถึงไหนเพราะคนไทยไม่ได้รู้จัก citizen journalism อย่างที่ควรเป็น

ที่จริงแล้วสื่อมวลชนเขาก็เก่งน่าดู เพราะ citizen journalism ในต่างประเทศคือคู่แข่งที่น่ากลัวของ mainstream journalism แต่ปรากฎว่าพอเข้ามาในประเทศไทย สื่อมวลชนมาดัดแปลงกลายเป็นว่า citizen journalism คือ สื่อมวลชน "ชั้นรอง" จากนักเขียนของเครือเอง ดังนั้นใครอยากเป็นนักเขียนของเครือต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการเป็นดาวล้อมเดือนให้แก่สื่อมวลชนก่อน

ถ้าผมเป็นคนเขียนบล็อกปกติ ผมก็คงรู้สึกอะไรบางอย่างว่าผมไปทำงานฟรีให้กับสื่อมวลชนทำไม สิ่งที่ผมเขียนเขาสามารถเอาโฆษณาติดหราข้างบนได้เลย เรียกว่าผมเขียนฟรีส่วนเขาได้ค่าโฆษณา ในขณะที่เว็บเจ้าอื่นที่เป็นสื่อพลเมืองไม่ว่าเพื่อกำไรหรือไม่ใช่เพื่อกำไรไม่กล้าเอาโฆษณามาอยู่ในเนื้อหาที่ผู้ใช้เขียน แสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนเขามั่นใจในตัวเองแค่ไหนว่าผู้ใช้คงไม่กล้ามีปากมีเสียงกับเขา

แต่หลายคนก็หลายความคิดครับ เรื่องนี้เป็นความคิดส่วนบุคคล คงห้ามกันไม่ได้ จะเป็นสื่อมวลชนชั้นรองหรือสื่อพลเมืองเราก็ไม่สามารถห้ามใครได้

น่าสนุกดีที่เรื่องราวของการเคลื่อนไหวด้าน journalism ที่ดีๆ ในต่างประเทศที่ถือว่าเป็นมิติใหม่ด้าน journalism มีแววว่าจะมาตกม้าตายในประเทศไทยอีกแล้วครับ ประเทศเราซวยในหลายๆ เรื่อง พอมาเรื่อง citizen journalism นี่ก็คงเป็นอีกประเด็นที่กลายเป็นแบบ "ไทย ไทย" ไปอีกแล้ว เฮ้อ...

ในประเทศนี้กำลังใจสู้กำลังทุนไม่ได้ครับ เพราะกำลังทุนมีอำนาจเหนือความคิดของคนได้ง่ายเหลือเกิน ทำไมคนไทยถึงเชื่อสิ่งที่นายทุนสื่อมวลชนพูดได้อย่างสนิทใจก็ไม่รู้นะครับ

ปัญหาในประเทศไทยที่เราเจอกันทุกวันนี้ก็เพราะเราเชื่อสื่อมวลชนนี่ล่ะ ถ้าเมื่อไหร่คนไทยมองสื่อมวลชนด้วยสายตาหวาดระแวงปัญหาทุกอย่างจะลดความรุนแรงไปได้กว่าครึ่งครับ

เฮ้อ... แต่...

เอาเถอะ บ่นแค่นี้ก็พอได้ทำใจครับ ชีวิตคนจะเอาอะไรมากมายนักหนา

การเปรียบเทียบระหว่างชีวิตของเว็บสื่อพลเมืองเมื่อเทียบกับเว็บของสื่อมวลชนไทยก็มีได้เพียงนี้

หมายเลขบันทึก: 175943เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2008 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วไม่ทราบจะเขียนอะไร

แม้ว่าอาจารย์จะกล่าวว่ากำลังใจสู้กำลังทุนไม่ได้

แต่ก็ขออนุญาตส่งกำลังใจมาให้อาจารย์และทีมงาน G2K ทุกท่านค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์

    สบายดีไหมครับ ไม่ได้เข้ามาหลายวันครับ...

เรื่องการจัดอันดับ...ผมว่าปล่อยให้เป็นไปตามระบบครับขึ้นๆลงๆ เป็นเรื่องธรรมดาครับ เรื่องปริมาณคนเข้าเยี่ยมคือผลพลอยได้ครับ เน้นคุณภาพของเนื้อหาสาระตามจุดประสงค์นะครับ ยังไงผมเองส่วนตัวก็ยังชื่นชมความตั้งใจของทีมงานเสมอครับ

    อย่างเ็็ว็บที่ผมจดขึ้นมาทำตามประสงค์เล็กๆน้อยเท่าที่เราทำได้อย่าง www.schuai.net ไม่มีอะไรเลยครับ หากจัดอันดับ น่าจะอยู่ท้ายสุดของประเทศเลยครับสำหรับโดเมนนี้

ขอเป็นกำลังใจในการทำงานเพื่อสร้างใยความรู้ให้โยงเยื่อใยนี้สู่ระบบคิดของชาติครับ

มีความสุขในการทำงานครับ

นักเขียนหลายคนหายไป  ลุงเอกตามบ้างเป็นบางคน  ตัวเองมีข้อมูลมีของแต่ไม่มีอารมณ์ใช้ของเลยเสียไปก็มาก  แข่งด้วยเงินมันไม่ยาวต้องแข่งด้วยใจดีกว่า

แวะเข้ามาให้กำลังใจกับอาจารย์ครับ

ต้องไม่ท้อถอยนะครับ ผมขอสนับสนุนด้วยคน จะให้ส่งปัจจัยไปที่ไหนช่วยบอกด้วยครับ ผมจะหาเพื่อนๆเข้ามาสนับสนุนเพิ่มอีก ตอบผมทางอีเมล์กํได้ครับ

นักเขียนหลายคนหายไป  ลุงเอกตามบ้างเป็นบางคน  ตัวเองมีข้อมูลมีของแต่ไม่มีอารมณ์ใช้ของเลยเสียไปก็มาก  แข่งด้วยเงินมันไม่ยาวต้องแข่งด้วยใจดีกว่า

P

ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

 

  • กำลังใจ ไหลหลั่ง ล้นมาเถิด
  • จงบังเกิด เป็นกำลัง หนุนนำใจ
  • ใจมั่นคง จงตั้งมั่น   ไม่หวั่นไหว
  • นี้คือใจ GoToKnow ShowMedia

เจริญพร

สุดท้ายสิ่งที่เนชั่นทำคือการทำสื่อพลเมืองเสียเอง (?)

ผมเกิดคำถามว่า ความอิสระใน OKNation มีมากขนาดไหนใต้การควบคุมของนายทุน ผมมองว่า Gotoknow มีศักยภาพมากพอที่จะเป็น main stream ได้ (อย่างการรายงานสดของคุณเกษตรยะลา) ผมว่าเราสามารถทำอะไรสักอย่างที่คล้ายๆ iReport ของประชาไท ได้เลยนะครับ :D

ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดแบบอาจารย์เป๊ะเลยครับ มาตาสว่างเอาตอนที่คุยกับแชมป์ (คนทำ exteen) เขาพูดมาประโยคเดียวทำให้ผมคิดได้เลย คือ "ของพี่ถึงคนจะน้อย แต่ก็มีคุณภาพ"

ปัญหาสำคัญของการเปิดบริการ blog hosting คืออัตราส่วน active users ต่อ registered users ครับ ถ้าของ G2K มีสัดส่วนนี้สูง มีคนเขียนคุณภาพ ก็ไม่ต้องไปกลัวใครที่ไหนแล้วครับ

(แถมโดยมาก บริการที่โฆษณาเยอะ ย่อมมีอัตราส่วน turnover มากตามไปด้วยอยู่แล้ว อย่างของ Bloggang เองมีฐาน Pantip แต่ผมก็เห็นถอดใจเลิกเขียนกันไปหลายคนในระยะยาว)

ขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจครับ

สื่อพลเมืองยังต่อสู้ต่อไปแน่นอนครับ สื่อพลเมืองเป็นมดที่รอรวมพลังกันเพื่อจะเป็นทางเลือกให้แก่คนไทยในการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ ครับ

ไม่ว่าสื่อมวลชนจะพยายามแปลง citizen journalism ให้กลายเป็นแบบไทยๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่เขาแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่เขาแปลงไม่ได้คือจิตวิญญาณของสื่อพลเมืองครับ

และจิตวิญญาณของสื่อพลเมืองอยู่ในหัวใจของสื่อพลเมืองทุกคน เพราะสื่อพลเมืองคือประชาชนครับ

เมื่อใครเป็นนายทุนสื่อมวลชน สิ่งที่เขาจะสูญไปคือ journalism spirit ครับ ลองดูในแววตาเขาในทีวีก็จะรู้ดีครับ

ผมเชื่อว่าไม่นานสื่อพลเมืองก็จะรู้ตัวว่าตัวเองตกเป็นเครื่องมือของสื่อมวลชนแล้วก็ปลีกตัวออกมาเองครับ

แต่สื่อพลเมืองก็จะยืนคอยอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เราต้องรวมพลังและต่อสู้ครับ การรวมพลังของเรากำลังเกิดขึ้นครับ แม้จะเกิดช้าแต่ผมเชื่อว่าเกิดขึ้นมาอย่างเข้มแข็งครับ

ตอนนี้ผมมีกำลังใจเพิ่มขึ้นเยอะเลยครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นตัวสะท้อนว่าเราสื่อสารเรื่องประเด็นสื่อพลเมืองไม่ดี เลยไปเปิดโอกาสให้แก่สื่อมวลชนฉวยจังหวะ หมายความว่าเราต้องทำงานอย่างเข้มแข็งและจริงจังกว่านี้ครับ

เ็ห็นด้วยกับอาจารย์ครับ

เห็นด้วยกับประโยคที่ว่า "ถึงคนจะน้อย แต่ก็มีคุณภาพ" ของ mk ครับ

อันดับไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้า gotoknow ยังรักษาคุณภาพของคนเขียนไว้ได้ ยังไงก็สามารถต่อสู้กับสื่อกระแสหลักได้ครับ

เรือ่งกระแสหรือเรื่องการโปรโมท ผมไม่ค่อยศรัทธา เพราะท้ายที่สุด สิ่งที่จะทำให้คนติดตามต่อไป คือ คุณภาพครับ

  • สวัสดีครับอาจารย์ผมเคยสมัครสมาชิกที่ OKnation.net นะครับแต่ตอนนี้ไม่ได้ไปโพสอะไรเพิ่มครับ
  • สาเหตุหนึ่งที่นักเขียนหันไป OKnation.net เพราะ OKnation.net ชักชวนนักเขียนดังๆ มาเขียนบลอกเช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูย์ ไพวรินทร์ ขาวงำ ปราบดาหยุ่น ฯลฯ ซึ่งบางก็ก็อาจไม่ได้เขียนเองอาจมีคนช่วยเอาบทความมาลง มาตอบเป็นการตลาดชนิดหนึ่ง
  • ส่วนตัวผมเองที่เข้าเวป OKnation.net ก็เพื่อนำเสนอผลงานไม่ว่าจะเป็น บทความ หรือกลอน และหวังลึกๆ ว่าทาง สำนักพิมพ์ จะพิจารณารวมเล่ม ทำนองนี้นะครับ
  • คิดว่านักเขียนที่ใช้งาน OKnation.net ก็คงคิดเหมือนผมถ้า GotoKnow.org จะใช้การตลาดแบบเดียวกับ OKnation.net ก็น่าจะใช้ได้นะครับ ยกตัวอย่างเช่น จัดการประกวด ขึ้นมาสัก 1-2 รางวัลอาจจะเป็นบทความ หรือบทกวี เงินรางวัลไม่ต้องมากมาย หรือจะให้แค่ประกาศนียบัตรสวยๆ สักใบ พร้อมลายเซ็นต์ คนใหญ่คนโต สักสองสามลายเซ็นต์ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
  • สำหรับบทความบทกวี ที่ส่งเข้าประกวด ก็เป็นลิขสิทธิ์ของ GotoKnow.org โดยอาจจับมือกับ สำนักพิมพ์อะไรก็ได้สักสำนักพิมพ์ รวมเล่มแล้วนำออกวางจำหน่ายเพื่อเผยแพร่ผลงานต่อไป รายได้ก็นำมาใช้หมุนเวียนเกี่ยวกับการบริหารเวปไซต์ คิดว่ากระบวนการคัดสรรผลงานทาง มอ. เองน่าจะมีบุคคลากร สนับสุนในเรื่องนี้
  •  แนวคิดนี้คล้ายๆ รางวัล พานแว่นฟ้า ของ สภาผู้แทนราษฏร์ ที่จัดขึ้น (ประกวดบทความ-เรื่องสั้น-กวีนิพนธ์ทางการเมือง) ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี
  • เมื่อมีเวทีให้แสดงผลงาน และมีรางวัลแห่งเกียรติยศ เป็นสิ่งจูงใจแล้ว คิดว่าคงเป็นตัวกระตุ้นให้คนสนใจเวปไซต์แห่งนี้เพิ่มมากขึ้นนะครับ
  • เป็นข้อเสนอแนะที่คิดว่าน่าจะ สู้กับ OKnation.net  ได้นะครับ ท่านแม่ทัพ....ฮา..

พิมพ์ตกครับ แก้ไขนิดนึง ***เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไพวรินทร์ ขาวงงาม

**ขาวงาม...ไม้แก้แล้วครับยิ่งแก้ยิ่งผิด 555 เอาเป็นว่า เป็นที่รู้กันครับ

สวัสดีครับอาจารย์ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

  • มาเป็นกำลังใจให้อาจารย์ ดร.ธวัชชัย และทีมงานผู้ดูแลระบบทุกคนครับ
  • ไม่ค่อยได้เขียนบันทึก แต่ก็เฝ้าอ่านและให้กำลังใจบล็อกเกอร์ใน GotoKnow.org อยู่เป็นประจำนะครับ
  • ยังไม่เคยไปเขียน หรืออ่านที่บล็อกอื่น แม้แต่เว็บ.ของหน่วยงานมาขอให้ช่วยทำบล็อก ยังปฏิเสธไปเลยครับ

รักเดียวใจเดียวจ๊ะ GotoKnow.org

สวัสดีค่ะ อ.ธวัชชัย

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในฐานะที่ดิฉันต้องสวมหมวกทำหน้าที่สื่อมวลชนเป็นครั้งคราว และในฐานะที่เป็นสมาชิก Gotoknow.org แห่งนี้

ช่างบังเอิญเหลือเกิน เมื่อวานนี้ได้เจอรุ่นน้องนักข่าวประชาไทในตอนกลางวัน และพบนักข่าวเนชั่นสุดสัปดาห์ในตอนกลางคืน ดิฉันเพิ่งแนะนำ Gotoknow.org แห่งนี้ให้แก่นักข่าวเนชั่นในฐานะกัลยาณมิตรคนหนึ่ง

ข้อดีที่ดิฉันแนะนำเว็บนี้ก็คือ มิตรภาพ ของคนในเว็บนี้ ดิฉันยังไม่เคยพบการแสดงความคิดเห็นที่หยาบคาย ทว่าพบเห็นความเอื้ออาทร ยินดีแลกเปลี่ยนความรู้ แนะนำกันและกันอย่างไม่หวงวิชา เปี่ยมไปด้วยน้ำใจ ไม่มีชั้นวรรณะ และเป็นการรายงานจากภาคประชาชนจริง ๆ ไม่มีธุรกิจแอบแฝง

ในขณะเดียวกัน เมื่อวานเห็นรุ่นน้องนักข่าวประชาไทเช็คข้อมูลข่าวหนึ่งตามเว็บข่าวต่าง ๆ เธอบ่นว่า ข้อมูลข่าวนั้นคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง แถมแต่ละเว็บข่าวก็ลงข่าวผิดต่าง ๆ กันไป นี่คงเป็นผลพวงของธุรกิจข่าวที่เน้นความเร็วจนไม่มีเวลาเช็คความถูกต้อง

ยอมรับค่ะว่าสื่อพลเมืองในเมืองไทยยังไม่เข้มแข็ง แต่นับว่าก้าวหน้าจากแต่ก่อนมากแล้ว ยังมีความหวังนะคะ

ในฐานะพลเมืองคนไทยคนหนึ่ง ดิฉันเลือก Gotoknow.org แห่งนี้

ธรรมชาติของสื่อออนไลน์ มาเร็ว ไปเร็วค่ะ โด่งดังเร็ว และดับเร็ว

ขอเป็นกำลังใจให้ Gotoknow.org เติบโตอย่างมั่นคงค่ะ

P.S. น่าสนใจเหมือนกันนะคะ ถ้าสมาชิกในเว็บนี้จะมาช่วยกันวิเคราะห์ สังเคราะห์ หาข้อดีข้อเสีย เปรียบเทียบกันระหว่างสื่อพลเมืองแห่งนี้ กับสื่อมวลชน เพื่อก้าวย่างต่อไปอย่างมั่นคงขึ้น

ขออภัยค่ะเขียนยาวไปหน่อย แหะ..แหะ..

เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ขอบอกเพิ่มเติมว่า ดิฉันแนะนำเว็บนี้ให้เพื่อนนักข่าวเนชั่นก่อนจะมาอ่านพบบันทึกนี้ของอาจารย์ค่ะ

คนเราแตกต่างได้ แต่ไม่แตกแยกนะคะ

สู้ ๆ นะคะ มีคนเป็นกำลังใจให้เต็มเลยค่ะ

สู้ๆนะคะ 

เราจะก้าวไปด้วยกันค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.ธวัชชัย

เดินเข้าออกหลายรอบมาก แต่หาโอกาสโพสต์ไม่ได้ซักที อยากบอกเหมือนพี่หนิงและทุกๆคนว่า " เรา " จะเดินไปด้วยกันค่ะ

อ่านแล้วอดไม่ได้ต้องขอแว้บมาแจมว่าเมื่ออาทิตย์ก่อนได้ดูรายการของคุณสิทธิชัยที่พูดเรื่องบล็อก คิดเหมือนกันเลยค่ะว่าเขาทำแบบธุรกิจจริงๆ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็ยังไม่ใช่สื่อบริสุทธิ์ ไม่มีการพูดถึง GotoKnow เลยแม้แต่นิ้ดเดียว ทั้งๆที่ cover ไซต์อื่นๆที่เป็น providers หลายที่

แต่พี่โอ๋ก็ยังเห็นว่า GotoKnow คือที่สำหรับคนแบบเราๆนี่แหละค่ะ ไม่ต้องซีเรียสกับปริมาณ เราเห็นแล้วว่าคนดีๆที่ทำให้ดีให้สังคม ให้โลกที่เราไม่เคยรู้ มีอยู่มากมาย จงมีความสุขกับสิ่งที่เราทำและทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ก็พอแล้วล่ะค่ะ

ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะสนับสนุน GotoKnow ทุกทางที่ทำได้เสมอค่ะ การบริจาคเข้ากองทุนเป็นหนึ่งในบัญชีส่วนตัวประจำไปแล้วค่ะ และเชื่อมั่นว่าถ้าสมาชิกที่เขียนประจำทุกคนช่วยกันทำ แม้จะเป็นจำนวนคนละเพียงเล็กน้อย GotoKnow ก็จะอยู่ได้แน่นอนค่ะ 

ผมคิดว่าอาจารย์และทีมงานไม่ได้ท้อถอยหรอกครับ อาจจะตกใจกับตัวเลขบ้าง แต่พอหายประหลาดใจแล้ว โลกไม่แตกเสียหน่อย

ผมเห็นด้วยกับคุณโอ๋และอีกหลายท่าน ให้ GotoKnow เป็น GotoKnow ดีแล้วครับ ถ้าหวังรวยจากโฆษณาซึ่งต้องการ hit rate ไปสนับสนุนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (ซึ่งไม่ใช่อยู่แล้ว)

เราไม่พาดพิงผู้อื่นจะดีไหมครับ

ในกรณีของสื่อพลเมือง ยังมีจุดบอดอีกอย่างหนึ่งคือการตรวจสอบผลประโยชน์ขัดแย้งอันชวนเป็นเหตุให้สงสัยใน "ประเด็น" ที่เกิดขึ้นครับ แต่สื่อพลเมืองดีกว่าสื่อมวลชนในแง่ที่แก้ไข/ให้ข้อมูลจากอีกด้านหนึ่งได้ ไม่ต้องรอจังหวะตีพิมพ์ ไม่มีข้อจำกัดของเนื้อที่ และความถี่

สื่อพลเมืองก็เป็นดาบสองคมได้เช่นเดียวกับสื่อมวลชนครับ ไม่มีอะไร "ขาวสุดๆ" เหมือนผงซักฟอก หรือ "ดำสนิท" เหมือนภาพที่นักการเมืองป้ายสีกัน

[ความจริงแบบไหน ที่เป็นจริง]

ขอบคุณทุกท่านสำหรับกำลังใจและคำแนะนำมากครับ เรามุ่งเพื่อสร้างคุณภาพสื่อพลเมืองเป็นหลักครับ คุณภาพที่เกิดจากผู้ใช้ที่เป็นพลเมืองที่แท้จริงนั้นคือตัวพิสูจน์ตัวตนของสื่อพลเมืองครับ

เราก้าวเดินไปด้วยกันในที่สุดแล้วสื่อพลเมืองก็จะต้องเกิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนครับ

สื่อมวลชนเป็นนายทุน สิ่งที่เขาต้องมีคือ "ทุน" เพื่อต่อเป็นน้ำเลี้ยง ไม่ว่าเพื่อการโฆษณาหรือการว่าจ้างนักเขียน เมื่อไหร่เขาหมดทุนสิ่งที่เขาทำก็ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่สื่อพลเมืองมาด้วยใจที่ต้องการสื่อสาร ถ้าเราไม่ยอมแพ้กับกำลังทุนของเขาในปัจจุบันเสียก่อน ในระยะยาวเชื่อได้ว่าเราจะเป็นผู้ชนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท