อนุทินล่าสุด


นางสาว กมลรัตน์ ฉิมพาลี
เขียนเมื่อ

        วันนี้เวียนมาถึงเมื่อไร ครูปุ้มต้องทุ่มทั้งกาย ใจและจิตวิญญาณเหมือนเดิมในการสอนเดอะแก๊งส์ซ่า วันนี้ถึงกับต้องติดสินบนกันเลยทีเดียว เด็กๆเหล่านี้บ่นให้ครูปุ้มฟังด้วยประโยคเดิมๆ งานเยอะมากเลยครับ/ค่ะ ให้เขียนรายงาน ให้ซ่อมแก้ ขนาดจะใกล้สอบมิดเทอมแล้วแท้ๆเลย น่าสงสารเด็กไทยจริงๆนะค่ะ ที่ถูกยัดเยียดความรู้ให้ตลอดเวลา เด็กๆเรียนอย่างเบื่อหน่ายจากที่โรงเรียนมาแล้ว ครูปุ้มจึงต้องลดความคาดหวังในการเรียนนี้ให้เบาลงนิดหนึ่ง เพื่อไม่ให้เพิ่มภาระทางจิตใจให้กับเด็กๆ 

       เรียนเสร็จเราก็ไปนั่งดื่มนมกันค่ะ ระหว่างที่ได้พุดคุยแลกเปลี่ยน ครุปุ้มได้คิดอะไรเยอะแยะเลยค่ะ

       ครูปุ้มเห็นด้วยกับงานวิจัยขอฮาร์วาร์ด ในปี 1993 ชื่อ Report of Memory Traning Issued By Harvard University ที่รายงานว่า การรับรู้มาจากการทำซ้ำ (ทศ  คณนาพร.   2554  :  79  "พลิก720 องศาวิธีคิด เพื่อชีวิตที่รุ่งโรจน์ตลอดกาล จัดพิมพ์โดย แฮปปี้บุ๊ค) แต่คำถามต่อมาก็คือ ห้องเรียนมีเวลาให้เด็กๆได้ทำซ้ำบ่อยแค่ไหน และการทำซ้ำนั่นต้องไม่หมายถึงสิ่งที่น่าเบื่อ ครูต้องออกแบบการฝึกนั้นให้ท้าทาย ยกตัวอย่างการสอนพี่ม. 6 ของครูปุ้ม ครูปุ้มใช้วิธีการเล่าที่มาก่อน จากนั้นถามเพื่อดู concept ของผู้เรียนมามีมากน้อยเท่าไร จากนั้นต้องอธิบายอย่าลึกซึ้งโดยเฉพาะเรื่องของพื้นฐาน อย่างการสอนเรื่องพันธุศาสตร์ คุณครูรู้ไหมค่ะว่าพื้นฐานพันธุศาสตร์อยู่ที่ไหน

       "ใช่แล้วค่ะ"  เรื่องการแบ่งเซลล์ เรื่องการแบ่งเซลล์นี้ถือเป็นหัวใจของการสอนพันธุศาสตร์เลยทีเดียว เด็กๆต้องเข้าใจพื้นฐานพฤติกรรมของโครโมโซมก่อน จึงจะสามารถเรียนเรื่องนี้ได้อย่างสนุกสนาน และพร้อมที่จะทำโจทย์ที่หลากหลายได้อย่างไม่เบื่อ ครูปุ้มได้ยินพี่ๆบอกว่า "อยากเรียนวิชาอื่นเข้าใจเหมือนวิชานี้จัง" "หนูอยากเรียนชีวะทุกวัน" นั่นคือผลสัมฤทธิ์ของการสอนของครูปุ้มค่ะ

       การท่องสำคัญไหมสำหรับชีววิทยา? สำคัญล้านเปอร์เซ็นต์ค่ะ แต่การท่องแบบนกแก้วนกขุนทองนั้นก็ลืมล้านเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน คุณครูจึงต้องเชื่อมต่อ สร้างความสัมพันธ์ของสิ่งที่ต้องท่อง แสดงให้เห็นถึงที่มาที่ไปของการท่อง อย่างกฎข้อที่ 1,2 และ 3 ของเมนเดล จริงๆแล้วไม่ต้องท่องเลยค่ะ ถ้าเราสอนให้นักเรียนเข้าใจ

      ครูปุ้มได้ยินเด็กเล่าให้ฟังว่า เวลาถามครูมักจะใช้คำว่า "เค้าก็เขียนกันมาอย่างนี้" "ฉันก็เห็นมันเป็นนี้มาตลอด" ครุปุ้มเสียใจจังค่ะ อย่างเช่น คำว่า Nerve, Neuron กับ Nervous นี่ จริงๆถ้าเด็กถาม สิ่งแรกที่ครูน่าจะต้องแสดงคือ การชื่มชมค่ะ ชื่นชมที่เด็กๆช่างสังเกต ลองมาดูวิธีที่ครูปุ้มอธิบายนะค่ะ 

       Nerve นี่เป็นคำนาม เราจะใช้ทั่วๆไป มักจะวางอยู่ได้ด้านหลัง ใช้เมื่อจะบอกว่า ประสาท/เซลล์ประสาท เช่น auditory Nerve เส้นประสาทควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน

      Neuron คือคำนาม แปลว่า เซล์ประสาท  ใช้เมื่อบอกว่านั่นคือตัวเซลล์ประสาท เช่น Sensory Neuron, Association Neuron, Motor Neuron เวลาแปลก็แปลว่าเซลล์ประสาทรับความรับสึก เซลล์ประสาทประสานงาน เซลล์ประสาทสั่งการ ตามลำดับ

 

      ส่วนคำว่า Nervous เป็นคำคุณศัพท์ (adj) จำทหน้าที่ขยายคำนามก็วางหน้านาม แปลว่าเกี่ยวกับประสาท เช่น somatic nervous system  คำหลักคือคำว่าระบบ ใช่ไหมค่ะ ระบบเกี่ยวกับประสาทแบบโซมาติก ประมาณนี้ค่ะ 


          เด็กๆจะไม่ต้องจำมากมายเลยค่ะ ถ้าคุณครูช่วยอธิบายผู้เรียนอย่างชัดเจน สนุกนะค่ะ ที่เด็กๆเรียนรู้ที่จะถามเรา สนุกนะคะ ถ้าเราอธิบายให้ผู้เรียนร้องอ๋อกันเป็นแถว การเรียนการสอนสนุกค่ะ... 


       อย่าลืมเพิ่มพื้นที่และเวลาให้พวกเค้าได้ฝึกซ้อมอย่างสนุกสนานด้วยนะค่ะ




ความเห็น (1)

Central Nervous System

Central = adj บอกตำแหน่ง ถ้าเป็นคำนามคือ center ค่ะ

Nervous = adj แปลว่าเกี่ยวกับเส้นประสาท

System = นามหลักค่ะ

ระบบที่เกี่ยวกับประสาทส่วนกลาง

Peripheral Nervous System

ก็เหมือนกันค่ะ

นางสาว กมลรัตน์ ฉิมพาลี
เขียนเมื่อ

เด็กคณิต...ไม่พิศมัยชีวะ

        การสอนนักเรียนที่มีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาเรียนอยู่แล้วนี่เป็นงานหนักพอสมควร ทั้งๆที่วิชาชีววิทยา น่าจะเป็นวิชาที่เด็กๆเรียนรู้ได้ง่าย ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ประสบการณ์เกี่ยวกับวิชาชีววิทยาของเด็กกลุ่มนี้คงโหดร้ายน่าดูถึงทำให้เด็กไม่ชอบชีววิทยาเลย....
        ถึงแม้การสอนครั้งนี้จะเป็นเพียงการสอนพิเศษเด็กๆ 4 คน แต่ทุกครั้งที่ลงมือสอน ทุกครั้งที่มีบทบาทเป็นนางเอกของห้อง ครูปุ้มต้องทำให้พระเอก(เด็กๆ) หลงรักครูปุ้มและวิชาชีววิทยาให้ได้ ต้องรักษากฏหมายของการเป็นครูชีววิทยาค่ะ สอนให้เด็กรักวิชาชีววิทยาคือกฏหมายสูงสุดของการเป็นครู เพราะความรักนี่เป็นพลังที่สำคัญมากนะค่ะ ถ้าเด็กรักในสิ่งที่เค้าเรียนรู้ ครูแทบจะไม่ต้องทำอะไรนอกจากเป็นผู้อำนวยความสะดวกจริงๆค่ะ แต่สำหรับเด็กกลุ่มนี้ ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาแห่งห้วงของความรักค่ะ
       เทคนิคการสอนที่ดีที่ครูปุ้มประสบมาด้วยเอง คือ การทำข้อสอบค่ะ เด็กๆจะไม่รู้เลยว่าความรู้ที่เค้าได้รับตอนนี้ต้องสังเกตอะไร ต้องสนใจอะไรเป็นพิเศษ ต้องเข้าใจระดับไหน จนกว่าจะเจอสถานการณ์จริง การสร้างเหตุการณ์หรือสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้นำความรู้ไปใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สามารถทำได้ง่ายๆ คือการให้ทำแบบทดสอบค่ะ แบบทดสอบมีอยู่มากมายหลากหลาย ทั้งสร้างจากผู้เชี่ยวชาญแบบเป็นมาตรฐาน คือข้อสอบระดับชาติต่างๆ และข้อสอบจากหนังสือต่างๆมากมาย ครูจึงไม่ใช่เพียงผู้ที่เลือกๆข้อสอบมาแล้วให้นักเรียนทำ แต่ครูต้องมีเทคนิคในการเลือกข้อสอบค่ะ
      ครูปุ้มเห็นด้วยกับความคิดที่ว่า "ไม่ใช่เรียนเพื่อทำข้อสอบอย่างเดียว องค์ประกอบอื่นก็มีความสำคัญ" แต่กว่าจะไปถึงองค์ประกอบต่างๆ การทำข้อสอบก้สำคัญเหมือนกันค่ะ

.....โชคดีที่ได้เป็นทั้งคุณครูและนักศึกษาปริญญาเอกในเวลาเดียวกัน การมีบทบาทควบคู่กันอย่างนี้ ทำให้ครูปุ้มได้เห็นมุมมองที่มากขึ้น เห็นปัญหากว้างขึ้น รวมทั้งคิดวิเคราะห์มากขึ้นค่ะ

...ทำไมครูปุ้มถึงชอบเรียนในบางวิชาและไม่ชอบเรียนในบางวิชา....

   ลองตั้งคำถามและหาวิธีการตอบคำถามของตัวเอง พบว่า
   วิชาที่ครูปุ้มชอบ เป็นวิชาที่คุณครูสอนเข้าใจ  คุณครูให้เวลาและให้ความสนใจในตัวเรา เห็นพัฒนาการของตัวเอง ยิ่งได้ลองใช้ ได้เห็นวิธีการ ได้ฝึกผิด-ถูก ยิ่งทำให้หลงรักในวิชานั้น

  วิชาที่ไม่ชอบเรียน คุณครูสอนไม่เข้าใจ คุณครูพูดอะไร พูดกับใครก็ไม่รู้  ไม่เคยได้ลองใช้ ทำไปทีไรผิดทุกที แต่ไม่รู้ว่าผิดยังไง จะถูกต้องทำยังไง และไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วตัวเองอยู่ตรงจุดไหน......

     เมื่อได้คำตอบ ครูปุ้มก็ค่อยๆคิดและหาวิธีการ ที่สำคัญที่สุดคือความใจเย็น ไม่พยายามทำเหมือนจับความรู้ใส่สมองเค้า ครูปุ้มจะค่อยๆพยายามแทรกซึม และปล่อยให้เค้าค่อยๆซึมซับไปในที่สุด

      เมื่อวานนี้ครูปุ้มต้องสอนเรื่องคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิต ถ้าให้เนื้อหาก็คือการบรรยายอย่างเดียว เพราะที่บ้านนักเรียนมีแค่ไวท์บอร์ดเท่านั้น แต่ครูปุ้มเริ่มด้วยการชวนคุยค่ะ "รู้ไหม กะเทยนี่คือเรื่องธรรมชาติจริงๆนะ" ได้ผลค่ะ คนหนึ่งที่กำลังดีดกีตาร์ก๊องแก๊งๆ คนหนึ่งที่กำลังร้องเพลง คนหนึ่งที่นอนกับโต๊ะ คนหนึ่งที่นั่งบิดยางลบ ค่อยๆเงยหน้ามองครูปุ้ม

     
"มันธรรมชาติตรงไหนครับครู" ตัวแสบคนที่หนึ่งเริ่มยิงคำถาม "ปกติสิ่งมีชีวิตมีการสืบพันธุ์อย่างไรบ้าง" "เสียบครับ" ดูเอาเถอะค่ะ คำตอบของเด็กทุกวันนี้ แต่อย่าเพิ่งหงุดหงิดเป็นอันขาดค่ะ  ต้องค่อยๆตะล่อมกลับเข้ามา "การเสียบนี่ต้องเกิดระหว่างเพศหนึงกับเพศชายใช่ไหมค่ะ" แต่ Lizard บางชนิด มีเฉพาะเพศเมีย มันจะทำยังไง" ได้ผลสุดๆค่ะ เริ่มสนใจ เปิดชีทหานู่นี่นั่น เริ่มมองมาทีกระดาน เร่งเร้าให้อธิบาย ครูปุ้มต้องค่อยๆเล่าเรื่อง Sex reversal, parthenogenersis และการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศของสิ่งมีชีวิตบางชนิด

     2 ชั่วโมงที่ต้องสอนเด็ก 4 คนนี้เหมือนโดนสูบวิญญาณไปสักครึ่งชีวิต เพราะเหนื่อยมาก ต้องมีลูกล่อลูกชน ต้องเกลี้ยงกล่อม ตะล่อมให้เข้าทาง ต้องรอบรู้เพื่อจะตอบข้อสงสัยต่างๆ อย่างชัดเจน

     ในระหว่างที่เด็กๆเรียนรู้จากครู สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการที่ครูเรียนรู้จากเด็ก หาวิธีช่วยเหลือและพัฒนาเค้าให้ได้รับรู้ในความสามารถของตนเอง

     วันนี้ครูปุ้มยังทำให้เด็กๆรักชีววิทยาไม่ได้  แต่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตเด็กๆจะไม่รักชีววิทยานี่ค่ะ อย่างน้อยตอนนี้เด็กก็มีพฤติกรรมการเรียนที่ดีขึ้น มีสติมากขึ้น และสามารถทำใบงาน แบบฝึกหัดตรงหน้าได้นานมากขึ้น รวมถึงการเดินไปหยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่นก็ลดลง

     "เมื่อได้รับบทให้เป็นนางเอก ไม่ว่าจะเป็นหนังใหญ่ หนังเล็ก ครูปุ้มทุ่มทุนสร้างเสมอค่ะ เพราะหน้าที่ของครูปุ้มคือ ทำให้เด็กรักชีววิทยาค่ะ สอนให้เด็กรักชีววิทยาไม่ได้นี่ ผิดกฏหมายตายเลย"



ความเห็น (2)

คุณครูปุ้มน่าจะเขียนเป็นบันทึกดีกว่าอนุทินนะคะ เพราะใส่คำสำคัญที่ทำให้กลับมาค้นได้ รวบรวม อ้างอิงได้ มีประโยชน์ในวงกว้างค่ะ คุณครูเขียนได้ดีมีพลัง น่าจะมีคนนำเทคนิคของคุณครูไปใช้ประโยชน์ได้ด้วยค่ะ ศึกษาวิธีใช้งานได้ที่ คู่มือการใช้ GotoKnow (ฉบับย่อ) .pdf นะคะ

ขอบคุณมากๆค่ะ

ที่แนะนำมือใหม่อยากแบ่งปันค่ะ

เดี๋ยวปุ้มศึกษาวิธีก่อนนะค่ะ

ยังงงกับรูปแบบบล๊อกอยู่ค่ะ

ขอบคุณมากๆนะค่ะที่มาให้กำลังใจปุ้ม

นางสาว กมลรัตน์ ฉิมพาลี
เขียนเมื่อ

       นักเรียนแนวใหม่....กับครูใจครูแนวเดิม การเรียนปริญญาเอกนี่เป็นงานที่หนักหนามาก ทุกครั้งที่ตื่นมาจะระลึกว่า เราเอาเวลาที่จะสอนเด็ก เอาเวลาราชการมา เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ วิธีการ รูปแบบ ไปฝากโรงเรียนและเด็กๆที่รอเราอยู่ ไม่มีแม้วินาทีเดียวที่จะลืมความตั้งใจนี้....ตอนนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้นเสมอ Special Things : บางสิ่งที่พิเศษ ชีวิตมักมีเรื่องราวที่เกินคาดคิดเสมอ ที่สิ่งหนึ่งที่จะตอบเราได้ว่าเรามาถูกทางไหม คือเป้าหมายที่เราวางไว้ พี่กวางรุ่นพี่ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์ฯที่กำลังจะจบป.เอก บอกว่ามีเด็กอยากเรียนชีววิทยา

       พี่กวางแอบโปรโมทว่าเราเก่งมาก เด็กๆเลยอยากเรียนกับครูปุ้ม ครั้งแรกตอบปฎิเสธไปเต็มปากเต็มคำว่า "ไม่ค่ะพี่ งานหนูเยอะมากจริงๆค่ะ หนูกลัวไม่ไหว เดี๋ยวเด็กๆจะเสียเวลาเปล่า" ตอบปฏิเสธเพราะคิดกับตัวเองว่าจะไม่สอนพิเศษเก็บเงินกับเด็ก เพราะที่ถนนหักพิทนี่สอนพิเศษให้เด็กฟรีๆแถมขนมบ้างมาตลอด และอีกอย่างเป็นนักเรียนของโรงเรียนชื่อดัง กลัวว่าเราจะจะฝีมือไม่ถึง กลับมาถึงห้อง หยิบหนังสือชีววิทยาขึ้นมาอ่าน แอบคิดถึงเด็กๆที่ถนนหักพิท คิดไว้ว่ามีติวตอนไหนอยากกลับไปช่วยติวมาก แต่เวลาไม่อำนวยเลย คิดถึงการสอนชีวะเหมือนกันนะเนี่ย คิดถึงภาพที่เราเป็นนางเอกหน้าห้อง มีพระเอกคือนักเรียนของเราห้อมล้อม พูดคุย ส่งเสียงกันตลอดเวลา อื้ม คิดถึงจัง

        อย่าปฏิเสธทุกโอกาสที่เข้ามาในชีวิต

        พี่กวางเฟสมาหาอีกครั้ง "ปุ้มเด็กๆอยากเรียนจริงๆนะ สอนอะไรก็ได้ สอนยังไงก็ได้" สมองกำลังจะปฏิเสธอีกรอบ แต่มือพิมพ์ตอบไปแล้ว "ได้ค่ะ" แล้วปุ้มจะคิดค่าเรียนยังไง "เอาอย่างนี้แล้วกันค่ะพี่ หนูขอไปเจอเด็กก่อน ขอสอนสักครั้งก่อน เด็กอาจจะไม่ชอบสไตส์การสอนของหนูก็ได้ค่ะ ถ้าชอบแล้วค่อยว่ากัน " คืนนั้นตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ นั่งทำชีทแบบฝึกหัดทั้งคืน การที่หายจากการสนำไปหนึ่งปี ทำให้รู้ว่า ความรู้ทางชีวะ เราถดถอยไปมากเลย ตอบตัวเองว่าคิดถูกแล้วที่สอน เพราะมันคือการทบทวนความรู้ ทำให้เราอัพเดตความรู้ตลอดเวลา และที่สำคัญทำให้คิดเทคนิคการสอนรวมถึงการสร้างหนังสือเรียนในสไตส์เรา

          พบกันครั้งแรก เด็กสาวน้อยสองคน ท่าทางช่างพูดช่างจา ยิ้มหวานประจบคุณครูคนใหม่ของเค้า คาบแรกผ่านไป ไม่รู้ว่าใครติดใจใคร เพราะหลังจากนั้นมา เรามีความสุขในทุกช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกัน เสียงเจื้อยแจ้วเจรจา เล่าเรื่องราวที่ตนเองพบเจอมาในโรงเรียน เสียงถาม-ตอบ เสียงหยอกล้อ หัวเราะกัน บางครั้งก็กุมขมับกับการทำข้อสอบ ....ครูหลงรักหนูทั้งสองเต็มหัวใจ โรงเรียนที่ครูสอนมีข้อจำกัดในความพร้อมทางกายภาพของผู้เรียน ครูต้องสอนวิชาคนมากกว่าวิชาชีวะ ในขณะที่หนูสองคนมีความพร้อมทางกายภพเกินร้อย แต่ความรักและเมตตาของครูที่มีให้เด็กทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันเลย..... ไม่ใช่เฉพาะหนูที่เรียนรู้จากที่ครูสอน แต่ครูปุ้มเองก็เรียนรู้จากเด็กๆเช่นกัน สอนยังไงหนูจะเข้าใจ สอนยังไงหนูจะไม่เบื่อ เด็กๆคุยเรื่องอะไรกันบ้างในวันนี้ อะไรที่เด็กๆสนใจ สังคมรอบตัวของหนูเป็นยังไง ครูใส่ใจและสนใจเสมอ มัจะช่วยให้ครูพร้อมเกินร้อยเมื่อต้องกลับไปสอนที่โรงเรียน พัฒนาการของหนูสองคนน่าทึ่งมาก แม้ว่าหนูจะบอกกับครูปุ้มว่า "ครูปุ้มค่ะ หนูเรียนตั้ง 8 วิชา ความรู้มันก็ตีกันนะค่ะ, หนูการบ้านเยอะ, หนูเตรียมสอบวิชาต่างๆมากมาย" แต่ครูเห็นแววตาและความตั้งใจ รวมถึงฝีมือที่หนูพัฒนาเรื่อยๆ เราพิชิตยอดเขาและเดินลงเขาอย่างสง่างามแน่นอนค่ะ อีกกลุ่มหนึ่งที่ครูปุ้มได้สัมผัสคือแก๊งส์ 3 หนุ่ม 1 สาว กับกลุมนี้ครูปุ้มต้องทุ่มพลังกายและพลังใจมากกว่าร้อย เพราะน้องๆไม่มีใจให้ชีวะเลยแม้แต่นิดเดียว ครูปุ้มรู้เลยว่านี่คืองานหนักของครูปุ้ม แต่ครูปุ้มไม่ยอมนะค่ะ ผิดกฏหมายการสอนมาก ถ้าทำให้เด็กรักชีววิทยาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสอนในรูปแบบไหนครูต้องให้เกียรติวิชาชีพครูเต็มที่ และสัญญาว่าอีกในนานพวกหนูจะหลงรักชีววิทยาเต็มเปาเช่นกัน บูรณาการความรักและการสอน

         ทุกครั้งที่ออกแบบการสอนเด็ก ครูปุ้มเองได้ใช้้ทั้งวิชาชีววิทยาที่รักยิ่งกว่าอื่นใดและวิชาหลักสูตรและการสอนที่ครูปุ้มหลงใหลเป็นชีวิตจิตใจ มาร่วมด้วยช่วยกันเสมอ ครูปุ้มจึงมีแต่กำไรกับกำไร แม้เด็กๆจะบอกครูปุ้มว่า "ครูปุ้มคิดแค่นี้มีจะมีเงินเติมน้ำมันมาสอนหนูไหมค่ะ" ผู้ปกครองจะบอกว่า "ครูปุ้มไม่ต้องเกรงใจ คิดอีกก็ได้ค่ะ" ครูปุ้มอยากบอกว่า "ครูปุ้มรักการสอนและสอนเด็กๆด้วยหัวใจเสมอ ส่วนอื่นนั่นคือปัจจัยที่เกื้อหนุนเท่านั้น....

         สำหรับครูปุ้มเด็กๆคือ เด็กก็คือเด็ก เค้าพร้อมจะเรียนรู้ เด็กรับรู้ถึงความรักที่ครูมีให้ด้วยหัวใจ เด็กใช้เวลาไม่นานที่จะดูว่าครูคนไหนจริงใจและทุ่มเทกับเค้า เด็กโหยหาปฏิสัมพันธ์อันดีงามระหว่างตัวเค้าและคุณครู เด็กๆอยากรู้ อยากเห็น อยากให้ครูยอมรับและเด็กทุกคนมีศักยภาพในตัวเองอย่างที่ท่านนักปราชญ์ทั้งหลายบอกกล่าวคุณครูเสมอ การศึกษาในทุกวันนี้ ครูปุ้มก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่ามาถูกหรือมาผิดทาง อำนาจของครูปุ้มมีจำกัด แต่พลังและความรัก No limited เสมอจ๊ะ ทุกครั้งที่สอน นั่นคือชีวิตช่วงเวลาที่มีความสุข

       ทุกครั้งที่ตอบคำถามนั่นคือช่วงเวลาที่มีชีวิตชีวา ทุกครั้งที่ช่วยกันคิดนั่นคือช่วงเวลาที่ท้าทาย และทุกครั้งที่เด็กๆเข้าใจนั่นคือรางวัลของครู เด็กๆจ๊ะ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก การเรียนเก่งอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบที่ตอบโจทย์ชีวิตอยู่ แต่การเรียนก็ยังเป็นวิธีการที่ช่วยเสริมสร้างความยุติธรรมให้กับชีวิตเราอยู่ดี ครูปุ้มอยากให้เด็กเข้มแข็ง เรียนรู้การตั้งเป้าหมาย เหมือนที่ครูปุ้มพาทำแผนที่ปีนเขาให้นั่นแหละจ้า เรียนรู้ความพยายาม ความอดทน เรียนรู้ที่จะสร้างความสามารถของตนเอง เรียนรู้ที่จะรักตัวเองและคนอื่น เรียนรู้ที่จะเท่าทันโลก

       ขอบคุณเด็กนักเรียนทุกคนที่เรามีช่วงเวลาด้วยกัน นักเรียนสารคามพิทยาคมที่ครูปุ้มฝึกสอน นักเรียนถนนหักพิทยาคมที่ครูปุ้มสอน และเด็กๆกลุ่มล่าสุดที่ครูปุ้มได้สอน ถึงเด้กๆจะมีความแตกต่าง หลากหลาย แต่ขอยืนยันว่าครุปุ้มทุ่มเทและทำหน้าที่ของการเป็นครูกับทุกๆคนอย่างเต็มที่ ครูปุ้มรักและศรัทธาในวิชาชีพนี้จ๊ะ ที่สำคัญเด็กๆก็เป็นที่รักของครูปุ้มเช่นกัน พยายาม มุ่งมั่น มีความสุข สนุกกับสิ่งที่ทำในทุกๆวันนะจ๊ะเด็กๆ

ปล.ครูรู้ว่าหนูเหนื่อยกับงานมาก แต่ขอให้รู้ไว้ว่า ทุกอย่างมีเหตุผลในตัวเอง มุ่งมั่นและทุ่มเทให้เต็มที่นะจ๊ะ ทุกคน

 


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท