เมืองไทยแข็งแรง


ชมฬนาฎ
ได้อ่านเนื้อความการเกิดระบบสารสนเทศเมืองไทยแข็งแรงของคุณแล้ว ขออนุญาตถามหน่อยนะคะ ดิฉันเคยทำงานที่สถานีอนามัย อยู่กัน 2 คนกับน้องอีกคน งานก็มากมาย ทั้งเมืองไทยแข็งแรง งานพัฒนามาตรฐานPCU และงานอื่น ๆ ทุกกรมกอง อยากทราบว่าคุณเคยทำงานอยู่ระดับบน จริงๆแล้ว ระดับกระทรวงเขาเคยคิดเรื่องความสมดุลบ้างไหมคะ ไม่ได้ต่อว่าหรือประชดนะคะ สงสัยจริงๆ ว่า ระดับบนเขามองข้างล่างยังไงน่ะค่ะ มีวิธีการทำงานยังไงหรือคิดแต่นโยบายเป็นส่วนๆไม่ได้มองรวมทั้งหมด ไม่ได้มองเรื่องความพอเพียงของคนกับงาน หรือว่าจริงๆแล้วมีคนข้างบนดูแลเราหรือเปล่า หรือวางแต่นโยบายแต่ไม่ได้คิดเรื่องอื่น ขอโทษนะคะ ไม่ได้ต่อว่าคุณนะคะ แต่สงสัยจริงๆค่ะ ในฐานะผู้ปฏิบัติเท่านั้นเอง ตอนนี้ไม่ได้ทำงานในสถานีอนามัยแล้ว อยู่ สสอ.ค่ะ แต่ความรู้สึกก็ยังข้องใจอยู่ถึงวิธีการคิดหรือการทำงานของระดับกระทรวงค่ะ


ความเห็น (1)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (1)

Fake Guru
เขียนเมื่อ
not yet answered


ความเห็น (1)

คุณเคยอยู่สถานีอนามัย ตอนนี้ไม่ได้อยู่แล้วไปอยู่ สสอ. วันนึงไม่แน่คงจะได้ไปอยู่ สสจ.ก็อาจเป็นไปได้ใช่ไหมครับ และวันนึงคงได้รับคำถามที่มีลักษณะคล้ายกับที่ถามผมอยู่นี้ได้เหมือนกัน

 ต่อคำถามที่ถาม ดูเหมือนคุณอาจจะเข้าใจไปว่าผู้บริหารในกระทรวงหรือเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง อาจจะไม่เคยอยู่ในระดับรากหญ้าหรือรากแก้วมาก่อนกันเลย แต่ที่จริงแล้วหลายๆ ท่านผ่านงานแบบนั้นมาก่อน แม้แต่ตัวผมเองก็ผ่านงานแบบเดียวกับคุณมาหลายปีก่อนที่จะมาอยู่ส่วนกลางครับ

เราคงไม่ discuss กันว่าคนอยู่ส่วนกลางคือพวกที่อยู่บนหอคอยงาช้างไม่เข้าใจว่าระดับปฏิบัติเขาทำงานกันอย่างไร แน่นอนครับ หลายๆคนก็เป็นแบบนั้นอย่างที่คุณว่า และไม่ยอมรับฟังความคิดของคนอื่นถือตัวว่าสิ่งที่ทำดีแล้วนั้นก็มีมาก เป็นพวกประเภทที่หลวงปู่ชาเรียกว่า "ฉลาดมันโง่" ไม่ได้รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปมีผลกระทบต่อคนมากมายถ้าทำด้วยความตั้งใจดีก็พออนุโลมได้ แต่ทำด้วยหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่างเป็นสิ่งที่ควรประนาม แต่นี่เป็นสังคมแบบราชการครับที่พวกเราชินกับการทำใจยอมรับมัน

 แต่ผมว่าเราคงไม่มาถกกันเรื่องนี้ เอาในประเด็นเนื้องานดีกว่านะครับว่างานของสถานีอนามัยนั้นต้องทำอะไรหลายอย่างเยอะแยะไปหมด แล้วงานหลักๆ ของเรามีอะไร

ทำไมครู อาจารย์ สอนนักเรียนในโรงเรียนถึงดำรงตำแหน่งได้ถึงระดับ 7 และอาจจะได้ถึงอาจารย์3 ระดับ8หรือ9 ได้ครับ งานครูอาจารย์นั้นมีงานสอนที่นับเป็นชั่วโมงต่อวันหรือสัปดาห์ที่แน่นอน ผลงานที่ทำการสอนมีความชัดเจนนับในเชิงปริมาณได้ และจะต้องใช้ความรู้ความสามารถสอนนักเรียนในลักษณะวิชาชีพครับ

แต่งานในสถานีอนามัยของเรานั้นแตกต่างแต่ละวันนั้นอาจจะแยกย่อยได้ประมาณนี้

ทุกวันจันทร์-ศุกร์

- ตรวจคนไข้ ถ้าสถานีอนามัยขนาดเล็กก็ประมาณ 10-20 คนต่อวัน กลาง 40-60 ส่วนใหญ่ๆ ก็ 100-200 คน ดังนั้นสถานีอนามัยจะต้องมีคนประจำในเรื่องการรักษาพยาบาลเบื้องต้นอย่างน้อย 1 คน

วันอังคาร พุธ พฤหัส

- มีคลินิก ตรวจสุขภาพเด็ก ANC และมะเร็งปากมดลูก จำนวนมากน้อยขึ้นกับเขตรับผิดชอบและประชากรเหมือนงานรักษาพยาบาล งานแบบนี้จะมีพยาบาลเทคนิกหรือวิชาชีพ ทำอยู่ 1 คน

 เหล่านี้ถือเป็นงาน routine ที่จะต้องทำทุกวัน ในแต่ละวันอาจจะเกลี่ยกันไปทำงานที่อาจจะต้องช่วยกันได้ เช่นคนไข้น้อย คนทำรักษาพยาบาลก็อาจจะไปช่วย ANC หรือตรวจพัฒนาการเด็กครับ หรือพยาบาลก็อาจจะไปช่วยตรวจคนไข้ได้

 

งานที่ไม่ใช่งานที่ต้องทำเป็นกิจวัตประจำคือ 

-ส่วนวันอื่นๆ ก็อาจจะออกพื้นที่พบปะชาวบ้าน ไปให้สุขศึกษา พบผู้นำชุมชน หรืองานรณรงค์ต่างๆ เป็นคราวๆไป งานเหล่านี้เป็นงานที่ต้องจัดสรรเวลาในการทำงานและตัวคนให้เหมาะ ส่วนใหญ่แล้วหัวหน้าสถานีอนามัยหรือน้องผู้ชายจะทำในส่วนพบปะชุมชน ส่วนน้องผู้หญิงจะทำเรื่องเยี่ยมบ้าน เยี่ยมหลังคลอด ทำนองนี้

งานประชุม เป็นงานที่หัวหน้าสถานีอนามัยต้องออกไปเป็นประจำ อาทิตย์นึงอาจจะ 1-2 วัน

ผมถามคุณโดยอยากให้คิดอย่างไม่มีอคติว่า งานทั้งหมดที่ผมเล่ามานั้นนอกเหนือจากงาน routine คุณจะนับมันออกมาให้อยู่ในเชิงปริมาณได้อย่างไรครับ เมื่อเราอยากจะให้มีนักวิชาการระดับ 7 หัวหน้าสถานีอนามัย 7 จพง.7 เราจะต้องเอาผลงานที่วัดและประเมินผลได้ในเชิงปริมาณไปคุยกับผู้มีอำนาจครับ เราไม่สามารถไปต่อรองหรือบอกเขาเพียงวาจาโดยไม่มีหลักฐานได้ว่า งานเยอะแยะไปหมด งานนั่นงานนี่ก็มี แต่ไม่มีหลักฐานให้เห็นถึงงานและผลที่ได้จากการปฏิบัติงานไปแสดงเลย หรือตอนนี้ แทบทุกตำแหน่งได้ระดับ 7 แล้ว ความเข้มข้นในการวัดผลในรูปแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ ที่พวกเราเองเรียกร้องมันเอง(เรียกร้องซี) กำลังเป็นตัวบีบให้เราทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้ผลงานออกมาในเชิงปริมาณที่วัดผลได้ไงละครับ

สำหรับผมแล้วคิดว่า งานในสถานีอนามัยนั้นมีมากจริงๆ เห็นด้วย แต่ถ้าจะพูดอย่างไม่มีอคติก็อาจพูดได้ว่ามันเป็นสิ่งที่เราเลือกทำหรือไม่ทำได้ใช่หรือไม่ จัดลำดับความสำคัญของมันได้ งานบางอย่างแทบไม่ได้ออกไปทำก็สามารถเขียนรายงานออกมาได้ยาวเหยียดว่าไปทำอะไรมาบ้าง ซึ่งมันไม่ใช่ผลแห่งการปฏิบัติงานเลยครับ ปัจจุบันข้าราชการจึงสับสน เพราะไม่เข้าใจคำว่าการบริหารงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ พวกเราต้องทำความเข้าใจคำว่าผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงาน ไม่ใช่ไปมุ่งเน้นว่าคุณได้ทำอะไรไปบ้างครับที่เป็นเพียงผลผลิตจากการทำงานเท่านั้น ไม่ใช่ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่จะไปใช้ต่อรองอะไรได้ครับ ดังนั้น เมื่อนักวิชาการและหัวหน้า ได้ถึงระดับ 7 แล้ว ความเข้มข้นแห่งความสัมฤทธิ์ผลของงานมันก็ต้องตามมาเป็นของคู่กันครับ

มันเป็นธรรมดาครับที่เรามักจะมองไม่เห็นสิ่งที่คนอื่นทำและคนอื่นก็มองไม่เห็นคุณค่าและสิ่งที่เราทำแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพวกเราเรียกร้องความก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วยตัวพวกเราส่วนใหญ่เองที่อยากจะได้ซีสูงๆกัน

ดังนั้น ผลสัมฤทธิ์จากการปฏิบัติหน้าที่ จะเป็นตัววัดครับว่าคุณค่าของเราเป็นอย่างไร ไม่ใช่ผลผลิตหรือการที่เราบอกว่าเราทำงานเยอะแยะไปหมดเลย เพราะมันไม่มีหลักฐานเป็นได้แค่คำกล่าวอ้างเลื่อนลอย บางคนอาจจะทำงานหนักรณรงค์เต็มที่ก็จริง ไข้เลือดออกก็อาจจะยังสูงอยู่ในพื้นที่ก็ได้ แล้วจะใช้อะไรตัดสินครับก็คงจะฝากเอาไว้ให้หาคำตอบเองนะครับในฐานะที่เป็นลูกสาธารณสุขเหมือนกันและอย่างที่กล่าวนำ ผมเคยทำงานในลักษณะแบบคุณมาก่อนแล้วหลายปี จึงคิดว่าอคติในคำตอบของผมนั้นจะมีหรือไม่คงจะให้คุณพิจารณาตัดสินเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท