การจัดการ


การจัดการความรู้
 สังคมปัจจุบันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Iearning Society) แหล่งความรู้มีมากมายมหาศาลเกินกว่าที่จะเรียนรู้ได้หมด ลองนึกวาดภาพการเรียนรู้ในสมัยอดีต ที่ศิษย์ต้องดั้นด้นเดินทางมาหาพระอาจารย์ สมัยตักศิลาต้องเรียนรู้โดยมีพระอาจารย์ถ่ายทอดวิชาการให้ เรียนรู้กันใต้ต้นไม้ ในถ้ำ ในป่ามนุษย์มีลักษณะพิเศษคือสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา การเรียนรู้และสั่งสมความรู้ พัฒนาวิชาการต่าง ๆ ให้ก้าวหน้า ทำให้มีการคิดค้นสิ่งต่าง ๆ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ หาคำตอบจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทำให้ทราบความจริงต่าง ๆ มากมาย และที่สำคัญคือ วิชาการที่เป็นความรู้เหล่านั้นมีผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ความสะดวกสบาย การแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย การเดินทาง ยามเจ็บป่วยก็มียารักษาโรค และวิธีการรักษา ทำให้มนุษย์อยู่ได้ และมีสภาพที่เหนือกว่าสัตว์ต่าง ๆ ทั้งหลายในโลก มนุษย์ไม่มีเขี้ยว ไม่มีเล็บ หรืออาวุธประจำตัว ที่จะต่อสู้เยี่ยงสัตว์ทั้งหลาย แต่ด้วยการที่มีความรู้และเก็บสั่งสมความรู้ รู้จักคิด รู้จักเหตุผล ทำให้การใช้ปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน
ความรู้คืออะไร    
นิยามของคำว่า ความรู้ (knowledge) เป็นสิ่งที่ยากที่จะกำหนดขอบเขตของความหมาย แต่ถ้าเราเริ่มจากคำว่า "ข้อมูล" หรือ "ข้อเท็จจริง" สิ่งที่ได้คือความจริงต่าง ๆ ที่ปรากฏเกิดขึ้น การดำเนินการต่าง ๆ ทำให้เกิดข้อมูล เช่น เมื่อเรามีการซื้อขายสินค้า ก็มีการจดบันทึกหลักฐาน เช่น การออกใบเสร็จ ใบสั่งของ เอกสารกำกับ เป็นรายการแสดงการดำเนินการ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าข้อมูล ข้อมูลจึงเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการทั้งในระดับส่วนตัว ระดับการทำงานร่วมกัน และระดับกลุ่ม องค์กร ตลอดจนระดับสังคม และชุมชนต่าง ๆ   เมื่อกิจกรรมที่ดำเนินการ หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงมีการบันทึกเรื่องราว ทำความจริงเหล่านั้นให้ปรากฏในสิ่งที่สามารถเก็บรวบรวมได้ การดำเนินกิจการขององค์กรจึงต้องทำเป็นระบบ มีการเก็บข้อมูลการดำเนินการขององค์กร รูปแบบขั้นพื้นฐานคือ "ระบบบัญชี" องค์กรทุกองค์กรที่เป็นธุรกิจจึงต้องทำบัญชี มีระบบการดำเนินการที่ชัดเจน เช่น บัญชีแยกประเภท บัญชีลูกหนี้ เจ้าหนี้ ทรัพย์สิน บัญชีต้นทุน หรือแม้แต่การดูแลการผลิตก็มีการทำบัญชีสินค้าคงคลัง เก็บรวบรวมข้อมูล เก็บข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการ เมื่อมีการเก็บข้อมูล ก็มีการประมวลผล เพื่อให้ได้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการ การที่มีข่าวสารที่เกิดการประมวลผล บางทีก็เรียกว่า "สารสนเทศ" (Information) เช่น ประมวลผลเพื่อให้รู้สถานะขององค์กร ให้รู้งบการดำเนินการที่เรียกว่ากำไร ขาดทุน 
การมีสารสนเทศทำให้ผู้ดูแลกิจการสามารถใช้สารสนเทศเพื่อประโยชน์ต่อองค์กรได้ คำว่า "ความรู้" มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่า "สารสนเทศ" ทั้งนี้เพราะสารสนเทศทำให้เกิดความรอบรู้ การคิดตัดสินใจใด ๆ ย่อมต้องอาศัยความรอบรู้และประสบการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเชิงการตัดสินใจเหล่านั้นต้องอาศัยสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการคิดและตัดสินใจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงพอกล่าวได้ว่า ข้อมูลเป็นฐานของการดำเนินการเพราะเป็นข้อเท็จจริง สารสนเทศคือผลของการประมวลผลข้อมูลข่าวสาร และความรอบรู้ใช้สารสนเทศเป็นฐานในการสร้างให้เกิดการคิดและตัดสินใจ
 ฐานความรอบรู้ และการเรียนรู้ขององค์กร 
"ความซับซ้อน" เป็นปัญหาใหญ่ของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน งานการบริหาร งานดำเนินการในองค์กรมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม การแข่งขันเชิงธุรกิจทำให้ต้องพัฒนาองค์กรในทุก ๆ ด้าน โลกของธุรกิจเป็นโลกแห่งการแข่งขันเสรี การใช้ความรอบรู้ในการดำเนินการทางธุรกิจจึงเป็นสิ่งจำเป็น การแก้ปัญหา (Problem Solving) การคาดคะเนเหตุการณ์ การตัดสินใจล้วนแล้วแต่เป็นงานที่จำเป็นจะต้องใช้ความรอบรู้หากพิจารณาจากการดำเนินกิจการใด ๆ บทเรียนจากอดีตจะสอนให้เราได้เรียนรู้ ความผิดพลาดจากการดำเนินการย่อมเป็นครูที่ดี องค์กรก็ต้องมีการเรียนรู้จากบทเรียนที่ตนเองกระทำ การสั่งสมความรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ขององค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้องค์กรจึงต้องมีการเก็บรวบรวมประสบการณ์ เก็บความรู้ และจัดการความรอบรู้ ที่เรียกว่า Knowledge Management มีการจัดการกับฐานความรู้ (Knowledge Base) สามารถสะสมและรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ และนำความรู้มาแบ่งกันใช้งาน (Knowledge Sharing) ให้กับทุกคนในองค์กรยุคสมัยปัจจุบันจึงเป็นยุคที่เริ่มได้ยินคำว่า Know-ledge Management มากขึ้น การจัดการความรอบรู้ในองค์กร และให้องค์กรได้มีองค์ความรู้ที่จะใช้ประโยชน์ จึงเป็นศาสตร์ที่เริ่มมีการกล่าวถึงและมีวิธีการที่หลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
  ความรอบรู้มาจากข้อมูล  
หากพิจารณาถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ พบว่า เราได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มากขึ้น มีการเก็บรวบรวมข้อมูล คิดค้นหาเทคนิคในการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้มากและรวดเร็ว เราใช้บาร์โค้ด ใช้เครื่องอ่านแถบแม่เหล็ก ใช้วิธีการอ่านข้อมูลแบบต่าง ๆ เพื่อให้การเก็บรวบรวมข้อมูลได้ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วเมื่อเก็บข้อมูลไว้จำนวนมาก จำเป็นต้องจัดการและดูแลข้อมูล ระบบการจัดการและดูแลข้อมูลเรียกว่า ดาต้าแวร์เฮาส์ (Data Warehouse) เมื่อเก็บข้อมูลจำนวนมากจำเป็นต้องมีวิธีการขุดค้นจากที่เก็บที่เราเรียกว่า ดาต้ามายนิง (data mining) ขบวนการที่จะได้ความรู้จึงต้องหาวิธีการขุดคุ้ยข้อมูลจากสิ่งที่เก็บไว้ในแวร์เฮาส์ วงรอบของการได้มาซึ่งความรอบรู้จึงเรียงลำดับขั้นตอนได้ฐานความรอบรู้ขององค์กรจึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่องค์กรต้องการ โดยเริ่มจาก การหาแหล่งข้อมูล การเก็บรวบรวม ข้อมูลที่เก็บอาจอยู่ในรูปข้อความ ตัวหนังสือ ทั้งมีแบบฟอร์ม และไม่มีรูปแบบ ข้อความเอกสาร รูปภาพ แผนที่ เสียงพูด ภาพเคลื่อนไหว รวมถึงวิดีโอ ข้อมูลยังรวมถึงแนวคิด วิธีการ ความคิดเห็น การสรุปผล ที่เกิดขึ้นจากทั้งภายใน และภายนอกองค์กรปัจจุบันมีเทคนิคการจัดรวบรวมข้อมูลได้มากแบบ เทคนิคเหล่านี้ได้รับการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ในยุคแรกเรามักเน้นเฉพาะข้อมูลที่เป็นรูปแบบ เพื่อจัดข้อมูลเป็นไฟล์ เป็นฐานข้อมูล การประมวลผลจึงเน้นจากฐานข้อมูล แต่ด้วยขีดความสามารถของคอมพิวเตอร์และเครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้น รูปแบบของการเก็บรวบรวมข้อมูลจึงเปลี่ยนแปลงไป อินเทอร์เน็ต/อินทราเน็ตทำให้การใช้ข้อมูลมีรูปแบบที่ง่ายขึ้น ข้อมูลแบบเอกสาร ข้อความ รูปภาพ สามารถนำมาเก็บไว้และเรียกค้นได้ ดังที่เราใช้เขียนเว็บเพจต่าง ๆ ระบบการค้นหาก็ได้พัฒนามีระบบ search engine เพื่อค้นหาเอกสารแบบเต็มฉบับเทคนิคสมัยใหม่จึงเน้นกันในเรื่องการจัดการเอกสาร การจัดการรูปภาพ (Image Management ) ระบบการจัดการเอกสารได้รับการพัฒนาจนทำให้ระบบการเชื่อมโยงแบบอิเล็กทรอนิกส์ถึงกัน เช่น การใช้โลตัสโน้ตเพื่อทำงานแบบเวิร์กโฟวล์ เป็นต้น
ทำไมต้องจัดการให้มีดาต้าแวร์เฮาส์  
การดำเนินกิจการขององค์กรย่อมเกี่ยวโยงกับระบบอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์มากขึ้น มีการจัดการข้อมูลข่าวสารในระดับต่าง ๆ กันมาก ตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และองค์การเมื่อมีการใช้ข้อมูลข่าวสาร และการดำเนินการในรูปแบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดการข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ เทคนิควิธีการจึงได้รับการพัฒนาให้รองรับการดูแลข้อมูลจำนวนมาก มีความซับซ้อนกว่าระบบฐานข้อมูลปกติ ระดับดังกล่าวจึงต้องพัฒนาจากคำว่า ดาต้าเบส มาเป็น ดาต้าแวร์เฮาส์ มีการสร้างรูปแบบของข้อมูลหรือใส่เงื่อนไข กรอบคำอธิบาย รวมถึงแอตทริบิวต์เพิ่มเติมลงในข้อมูลเพื่อให้ระบบประมวลผลได้ง่ายขึ้น เช่น ระบบการทำดัชนี ระบบช่วยค้นหา สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่าเมตาดาต้า (metadata)เมื่อมีการใช้งานในงานด้านต่าง ๆ ก็มีการขุดคุ้ยหรือที่เรียกว่า การคัดแยกข้อมูล เพื่อทำรายงานหรือประมวลผลให้ได้ตามที่ต้องการ
  ดาต้ามายนิง  
ในศตวรรษที่ 1960 การดำเนินธุรกิจเน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นหลัก และนำข้อมูลมาประมวลผล โดยเฉพาะการประมวลผลแบบแบตช์ ครั้นถึงศตวรรษที่ 1980 การใช้ฐานข้อมูลแบบออนไลน์เริ่มแพร่หลาย มีระบบจัดการฐานข้อมูลช่วยทำให้การเรียกค้นข้อมูลแบบออนไลน์ได้ แต่เมื่อข้อมูลขยายเพิ่มมากขึ้น การทำงานมีลักษณะเงื่อนไขซับซ้อนมากขึ้น ขีดความสามารถของคอมพิวเตอร์ดีขึ้น โดยเฉพาะในยุคหลังศตวรรษ 1990 ระบบการจัดการแบบดาต้าแวร์เฮาส์ โดยเน้นความเกี่ยวโยงของข้อมูลในทุกทิศทุกทาง และข้อมูลมีลักษณะไดนามิก เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาลกอริธึมการค้นหามีความหมายและมีความสำคัญ ระบบการจัดการเรียกใช้ดาต้าแวร์เฮาส์จึงต้องมีการพัฒนาและเป็นที่มาของระบบดาต้ามายนิง     ลักษณะเด่นของดาต้ามายนิงที่แตกต่างจากระบบออนไลน์ฐานข้อมูลคือ มีลักษณะการคาดคะเนเพื่อค้นหาข้อมูลให้ได้ใกล้เคียงกับที่ต้องการมากที่สุด โดยดูจากรูปแบบความต้องการของผู้ใช้ ทั้งนี้เพราะข้อมูลในแวร์เฮาส์มีมากมายมหาศาล เงื่อนไขการค้นหาอาจต้องการแปลความอย่างชาญฉลาด รวมถึงการจัดรูปแบบให้ตรงกับความต้องการ
การจัดการความรอบรู้้ 
วิธีการจัดการความรอบรู้จึงเป็นเทคนิคที่ผสมผสานวิธีการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องการจัดการฐานข้อมูล ดาต้าแวร์เฮาส์ ดาต้ามายนิง ระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ในองค์กรในระบบการจัดการองค์กร มี CIO ทำหน้าที่ดูแลระบบสารสนเทศขององค์กร ปัจจุบันมีผู้กล่าวถึง CKO คือ Chief Knowledge Officer หรือผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ บริหารและจัดการในเรื่องความรอบรู้ขององค์กร
  ศาสตร์ของการจัดการความรอบรู้ยังกว้าง  
การดำเนินการจัดการความรอบรู้เป็นการใช้เทคโนโลยีประกอบกันหลายอย่างที่ต้องพัฒนาประกอบร่วมด้วย เช่น
     1.ระบบผู้ชำนาญการ เป็นระบบที่นำเอาข้อมูลและความรอบรู้มาถ่ายทอดหรือจัดการให้เกิดประโยชน์
     2.Visualization เป็นการนำเอาข้อมูลมาแสดงผลให้สื่อความและเข้าใจได้ง่าย เช่น แสดงเป็นรูปภาพ แสดงเป็นโมเดล สามมิติ รูปภาพ เป็นต้น 
     3.ฟัซซีลอจิก เป็นศาสตร์แห่งการแยกแยะความกำกวม หรือการแก้ปัญหา การไม่ชัดแจ้งในเงื่อนไข หรือการกระทำบางอย่าง 
     4.NLP การประมวลผลธรรมชาติ เพื่อทำให้ระบบเชื่อมโยงกับมนุษย์ง่ายต่อการใช้งาน และมีความเข้าใจร่วมกันระหว่างเครื่องจักรกับมนุษย์
     5.นิวรอลคอมพิวติง การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาและให้ระบบมีวิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา 
     6.การประมวลผลภาพและการประมวลผลเสียง เพื่อให้คอมพิวเตอร์ติดต่อกับผู้ใช้ได้ง่ายขึ้น
การจัดการความรอบรู้และขยายการใช้งานความรอบรู้จึงเชื่อมโยงกับระบบปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ได้รับความวางใจมานานแล้ว และมีผู้สนใจศึกษากันมาก แต่เรื่องของการจัดการความรอบรู้เริ่มเห็นผลในเรื่องการใช้งาน เพราะระบบคอมพิวเตอร์สามารถเก็บข้อมูลได้จำนวนมาก มีระบบการจัดการแบบแวร์เฮาส์ และมีระบบมายนิง ทำให้การเชื่อมต่อกับปัญญาประดิษฐ์และระบบผู้ชำนาญการมีความเป็นไปได้
อนาคตการจัดการความรู้  
ด้วยขีดความสามารถของความจุ และความเร็วที่คอมพิวเตอร์ทำงานได้เพิ่มขึ้น การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการจัดการข้อมูลข่าวสารจึงเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น การจัดการความรู้จึงเป็นเรื่องที่องค์กรสมัยใหม่กำลังให้ความสนใจ อนาคตของการจัดการความรู้ยังเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไป
 
 
 
 
 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9914เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2005 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท