ประชุมภาคีจัดการความรู้ภาคราชการ ครั้งที่ 1 (ตอนที่ 5 : TRIS)


             บันทึกต่อจากความเดิม  ( Linkความเดิม

 

วาระ 2.5 แนวทางความร่วมมือด้าน KM ของ TRIS

            คุณสมชาย   ไตรรัตนภิรมย์  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท  TRIS  นำเสนอในส่วนของ TRIS  ที่มีบทบาทในการไปประเมิน KM ในหน่วยราชการ    ซึ่งมีที่มาจาก ก.พ.ร.  ตามพระราชกฤษฎีกา โดยในปี 2547 นั้นถือว่า KM เป็นเรื่องใหม่ การกำหนดตัวชี้วัดในการประเมินจึงไม่ตีกรอบให้ตายตัว ไม่ได้บอกให้ว่าต้องทำแผนดำเนินการอย่างไรที่ชัดเจน (ในปี 2548)  เพราะต้องการให้ความไม่ตายตัว (ไม่ชัดเจน)  ทำให้หน่วยงานราชการเกิดกระบวนการเรียนรู้  และเมื่อมีแผนนำไปดำเนินการสักระยะหนึ่ง  ได้เรียนรู้แล้วต้องการปรับแผน  (ซึ่งเดิมทาง TRIS ก็เห็นว่าหลายหน่วยงานยังมีการทำ KM แบบ Training  ไม่ใช่  Learning)  ดังนั้นในปีต่อมาทาง ก.พ.ร.  ก็เปิดโอกาสให้มีการนำแผนไปปรับใหม่  แนะนำให้ลองเพิ่มกระบวนการเรียนรู้, กิจกรรมเรียนรู้ที่มีการแลกเปลี่ยนเป็นประจำ, มีห้องสมุด  ฯลฯ      ส่วน TRIS เอง เมื่อมีแผนมา  ทาง TRIS ก็ประเมินไปตามนั้นว่าทำตามแผนได้เท่าไหร่      เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะไปติดกันอยู่ที่ตัวคะแนนประเมินมากกว่าการเห็นประโยชน์ในการทำจริง  จึงทำให้หลายหน่วยงานคิดว่าเป็นภาระเพิ่ม     ก.พ.ร. ก็เห็นถึงปัญหานี้   จึงได้ติดต่อกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติให้เป็นที่ปรึกษาจัดอบรมให้กับหน่วยงานต่างๆ  เพื่อปรับฐานคิดของหน่วยงานให้เป็นฐานเดียวกัน  แล้วปี 2549  ก็กำหนดให้ส่วนราชการทำแผน KM โดยใช้ยุทธศาสตร์ของหน่วยงานมาเป็นเป้าหมาย (Knowledge Vision) แล้วเลือกทำ 1 ยุทธศาสตร์ก่อนเพื่อเป็นต้นแบบ (pilot project) ให้เห็นว่ามันเป็นประโยชน์ เห็นความสำเร็จเกิดความมั่นใจขึ้นก่อน    ดังนั้นบทบาท TRIS  เป็นการประเมินตามแผนที่ได้ตกลงกันไว้   ส่วนหลักเกณฑ์รูปแบบน่าจะอยู่กับ ก.พ.ร. และ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ความเห็นที่ประชุม

                ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช   เห็นว่าจากการนำเสนอผลความก้าวหน้าในการทำ KM  ของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมภาคีจัดการความรู้ภาคราชการในครั้งที่ 1 นี้ เทียบกับการประเมินของ TRIS คงไม่น่าเป็นห่วง เพราะน่าจะผ่านการประเมินได้ง่ายและเลยจุดที่ต้องห่วงคะแนน KM  5 %    แต่ที่กำลังทำอยู่นี้น่าจะเพื่อประโยชน์ที่จะส่งผลต่อประสิทธิผล ประสิทธิภาพของงาน คืออีก 95 % ที่เหลือ    คะแนนจึงเป็นตัววัดที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเตือนสติเราไม่ให้ผิดทิศทาง   เป้าหมายที่สำคัญคือ ชีวิตการทำงานที่ดี  ชีวิตเพื่อนร่วมงานที่ดี ทำงานให้แก่สังคมได้ดี เกิดการเรียนรู้ขึ้นภายในองค์กร/ ในสังคม

                คุณพรสกล  ณ ศรีโต  (ที่ปรึกษาสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์ จังหวัดชุมพร) ให้ความเห็นว่าระบบราขการมีข้อจำกัดหลายอย่าง  จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินการใช้แบบผสมผสาน   KM Concept นั้นต้องให้ความเป็นอิสระ  โดยเฉพาะอิสระทางความคิด  แต่กรอบของ ก.พ.ร.  หลายอย่างเป็นแบบสั่งการ Top-down จึงทำให้ขัดกัน   การให้กรอบใหญ่ๆ เป็นแนวคิดจึงน่าจะดีกว่าและให้คิดอย่างอิสระ   แต่ไม่ควรปล่อยให้คิดแบบอิสระแบบครึ่งๆ  โดยมี template มาบังคับทีหลัง ทำให้หน่วยราชการถูกบล็อกต้องรื้อและแก้ใหม่หมด (ที่ทำไปเดิมใช้ไม่ได้)    หรือถ้าเช่นนั้นทิศทางของ ก.พ.ร. ต้องชัดเจนกว่านี้   อาจจะแจ้งให้กรอบและ template และเงื่อนไขต่างๆ มาให้หมดพร้อมกันจะได้ทำได้ง่ายขึ้น      และเห็นว่า KM นั้นเนื้อแท้เป็นเรื่องที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่องานได้มาก       โดยคุณพรสกล  เสนอว่า สคส. อาจจะต้องลงมาช่วยมากกว่านี้ และตอนนี้กำลังคนใน สคส.  อาจมีน้อยไป

                ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช   ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมในส่วนของการทำงานของ สคส.   ว่าเป็นการทำงานแบบภาคีเครือข่าย  เช่น พรพ., สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, สสส., กรมอนามัย, กรมส่งเสริมการเกษตร  และอื่นๆ  เมื่อหน่วยงานใดต้องการติดต่อขอการสนับสนุน  สคส. ก็อาจจะเชื่อมโยงให้ทำงานกับเครือข่าย      สคส. จึงคิดว่าคนจำนวนน้อยและทำงานในลักษณะเครือข่ายนี้จะทำให้คล่องตัวทำงานได้ง่ายและดี ยั่งยืนกว่าจะขึ้นกับ สคส. ทั้งหมด (เพราะ สคส. มีอายุโครงการในขณะนี้ที่จำกัด)   

วาระที่ 3  กำหนดการประชุมครั้งต่อไป

                ที่ประชุมเห็นว่าการประชุมนี้เป็นประโยชน์และควรจัดต่อเนื่องเป็นระยะๆ  (ทุก 3 เดือน)  โดยหน่วยงานภาคราชการที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักมาการประชุมกันเอง   

                นัดประชุมภาคีการจัดการความรู้ภาคราชการ ครั้งที่ 2 (ครั้งต่อไป)  วันที่ 16 กุมภาพันธ์   2549  ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล     โดยจะแจ้งรายละเอียดเวลา, สถานที่ และวาระการประชุมต่อไป  (ติดต่อประสานงานโดย วรรณา   เลิศวิจิตรจรัส  02-298-0664-8 ต่อ 112,  e-mail : [email protected])            

 

หมายเลขบันทึก: 9857เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2005 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท