บทความชุด นักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ (ตอนที่ 4)


การทำงานในการทำงานส่งเสริมการเกษตร ถ้าจะให้งานประสบผลสำเร็จนั้น ต้องมีการสร้างทีมทำงาน เพื่อสนับสนุนให้การทำงานในพื้นที่เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

            เชิญอ่านบทความชุดนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ  เป็นการเขียนจากประสบการณ์และเรียนรู้จากการทำงานเอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  คงไม่สมบูรณ์มากนักแต่ก็อาจมีบางแง่คิดที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานพัฒนาได้ 

(ลิงค์  ตอนที่ 1  / ตอนที่ 2  / ตอนที่ 3)

             ตอน “การสร้างทีมงานและเครือข่ายการทำงาน”

             งานส่งเสริมการเกษตร หลายท่านมักคิดว่าเป็นงานที่ทำเกี่ยวกับการพัฒนาหรือปรับปรุงทางด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ผลผลิตพืช สัตว์ ประมง หรือการแปรรูป ที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตการเกษตรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรคือการพัฒนาคน (เกษตรกร) เพื่อให้คนได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนวิธีคิดและกระบวนการผลิตไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นการดำเนินการที่ต้องควบคู่กันไป ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ระหว่าง คนผู้ผลิต(เกษตรกร) กับการผลิต(เกษตรกรรม)

            ดังนั้น นักส่งเสริมการเกษตร จึงต้องมีความรู้ในหลายๆ ศาสตร์และมีศิลปะในการทำงาน คือ มีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำงานกับคน กลุ่มคน กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง รวมไปถึงการเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่การที่เราจะเรียนรู้ในทุกเรื่องให้เก่งและสามารถทำงานได้เพียงลำพังคนเดียวนั้นคงเป็นเรื่องยาก การทำงานในปัจจุบันจึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างทีมงานและเครือข่ายในการทำงาน เพื่อสนับสนุนให้การทำงานส่งเสริมการเกษตรประสบผลสำเร็จได้ตามความมุ่งหวัง

การสร้างทีมงาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

     ทีม หมายถึง ชุด , หมู่ , คณะ ( Team )

     งาน หมายถึง สิ่งหรือกิจกรรมที่ทำ มักใช้คู่กับคำว่า การ เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ,ได้การได้งาน

            ในการทำงานที่ผ่านมา(ในระบบราชการ) ทีมงานเกิดขึ้นจากการออกคำสั่งแต่งตั้ง ที่เรียกว่า “คณะทำงาน” ทีมงานมักไม่ได้เกิดขึ้นโดยเริ่มจากการสมัครใจ หรือการมีเป้าหมายร่วมกัน ก่อน แล้วจึงมาทำงานร่วมกันเป็น “ทีมทำงาน” ทีมงานหรือทีมทำงานที่ดีนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเสมอไป เพราะการตั้งทีมงานโดยการออกคำสั่ง บางครั้งคณะทำงานก็ไม่ได้ทำบทบาทหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ เพราะไม่มีความพร้อมหรือไม่มีความต้องการที่จะทำ อีกทั้งวัฒนธรรมการทำงานตามระบบราชการที่ส่งผลในเชิงลบต่อการทำงานเป็นทีม ที่พบเห็นจนกลายเป็นเรื่องปกติ มักเป็นดังนี้

  • ทำงานเท่าที่ตนเองรับผิดชอบ ตามกรอบงานที่กำหนดไว้ ไม่สนใจงานที่นอกเหนือจากที่รับผิดชอบ ทำงานของใครของมัน เป้าหมายองค์กรจะเป็นเช่นไรไม่สนใจ (เพราะไม่ต้องรับผิดชอบ)

  • ไม่มีวัฒนธรรมการแข่งขัน การแข่งขันในที่นี้คือการแข่งขันที่มุ่งเน้นความสำเร็จทั่วทั้งองค์กรเหมือนองค์กรธุรกิจ แต่จะเน้นหรือวัดกันที่ความสำเร็จ และความก้าวหน้าของบุคคล

            ดังนั้น การทำงานในการทำงานส่งเสริมการเกษตร ถ้าจะให้งานประสบผลสำเร็จนั้น ต้องมีการสร้างทีมทำงาน เพื่อสนับสนุนให้การทำงานในพื้นที่เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยอาจเริ่มต้นจากคนที่สนใจในงานที่จะทำที่คล้ายๆ กันก่อน ร่วมลงมือทำงานช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แล้วจึงพัฒนาเป็นทีมงานที่มั่นคงและเข้มแข็งต่อไป

            ตัวอย่างเช่น การที่หลายๆ ตำบล ในอำเภอเดียวกันได้กำหนดแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าว โดยใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร แต่ในการดำเนินการดังกล่าว ต้องดำเนินการในทุกสัปดาห์ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน เริ่มตั้งแต่ การเตรียมดิน จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว และในกระบวนการถ่ายทอดดังกล่าว ยังต้องใช้เทคนิควิธี และความรู้ความสามารถ ซึ่งหลายคนอาจมีความหนักใจ แต่หากว่าทุกคนมาร่วมกันทำงานเป็นทีม งานดังกล่าวก็จะเป็นเรื่องง่าย

            โดยการปรึกษาหารือเพื่อบูรณาการแผนการถ่ายทอดของแต่ละคน กำหนดการทำงานร่วมกันเป็นทีมงานช่วยเหลือกัน แบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนรับผิดชอบ ใครจะเป็นวิทยากรหลัก ใครจะเป็นผู้ประสานงาน หรือผู้บันทึกผลการดำเนินงาน ฯลฯ ตามที่แต่ละคนถนัด ก็จะทำให้เกิดทีมงาน และงานก็จะสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี นอกจากการทำงานเป็นทีมจะช่วยให้การทำงานทั้งกระบวนการเป็นไปด้วยความราบรื่นแล้ว ทุกคนยังได้มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเทคนิควิธีการทำงานซึ่งกันและกันอีกด้วย

การสร้างเครือข่ายการทำงาน

            การทำงานในพื้นที่บางครั้งอาจพบว่า มีความซับซ้อนและเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับปัญหาด้านอื่นๆ หลายปัญหา ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในด้านการผลิตทางการเกษตรเท่านั้น ดังนั้น การจะแก้ไขหรือพัฒนาไม่สามารถดำเนินงานได้เพียงลำพังหน่วยงานของเราเพียงหน่วยงานเดียวได้ คือทำให้บรรลุผลสำเร็จได้ยาก เราก็คงต้องปรับเปลี่ยนวิธีหรือกลยุทธ์ในการทำงาน ให้เกิดการสร้างเครือข่ายการทำงาน เป็นการเชื่อมกลุ่มหรือทีมทำงานหลายๆ ทีมเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายเดียวกัน ทำให้เกิดพลังในการทำงานมากยิ่งๆ ขึ้น ไม่ยึดติดกับสังกัด หรือเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เป็นการพัฒนาในเชิงบูรณาการสามารถประสานคน ทรัพยากรและเทคนิคการทำงานไปพร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ เป็นการทำงานอย่างสร้างสรรค์

            เช่น ในการพัฒนาผลผลิตข้าวจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรแล้ว ได้ผลผลิตข้าวเปลือกที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย หากจะพัฒนาเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกร คงต้องพัฒนาไปสู่การแปรรูปและการจำหน่าย ซึ่งอาจเกินขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ในระดับตำบล ดังนั้น หากจะทำงานให้สำเร็จได้ก็คงต้องประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องและมีศักยภาพ เช่น อบต. พาณิชย์ โรงสีข้าว พัฒนาชุมชน อุสาหกรรม ธกส. กลุ่มอาชีพที่แปรรูปข้าวเพื่อจำหน่าย เป็นต้น เพื่อร่วมกันทำงานที่ต่อเนื่องจากผลลัพท์ที่ได้จากกระบวนการเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรนั่นเอง สิ่งที่จะเกิดขึ้น อาจทำให้มีช่องทางจำหน่ายข้าวเปลือกได้เพิ่มมากขึ้น ราคาสูงขึ้น หรือการพัฒนาไปสู่การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของเครือข่ายและโอกาสของแต่ละพื้นที่

            นอกจากการเกิดเครือข่ายในการทำงานที่สนับสนุนและต่อยอดจากการผลผลิตตามตัวอย่างที่ยกมากล่าวแล้ว รูปแบบของเครือข่ายอาจเกิดขึ้นในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป อาจมีแกนหรือตัวร่วม/กระตุ้นให้เกิดที่หลากหลาย เช่น เครือข่ายของปัญหา เครือข่ายของกลุ่มคนผู้ปฏิบัติ เครือข่ายของกิจกรรม/อาชีพที่เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งเครือข่ายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ/วิธีการ เป็นต้น

            ในการทำงานส่งเสริมการเกษตรนั้น จะเห็นได้ว่าการสร้างทีมงานและเครือข่ายการทำงานเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างและกระตุ้นให้เกิดการสร้างทีมงานและเครือข่ายการทำงาน ทั้งภายในหน่วยงาน และในพื้นที่การทำงาน การมีทีมงานและเครือข่ายการทำงานจะส่งผลให้การทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งๆ ขึ้น เพราะอย่าลืมว่าการส่งเสริมการเกษตรนั้นเป็นการพัฒนาคนผู้ผลิต(เกษตรกร) กับการผลิต(เกษตรกรรม)

            การทำงานในพื้นที่จึงต้องมองในลักษณะองค์รวมคือพัฒนาในทุกด้านไปพร้อมๆ กันและบูรณาการการทำงานไม่แยกส่วน แยกเขาแยกเรา หลายคนมารวมกันเป็นหนึ่ง(ทีมงาน) หลากหลายทีมงานมาเชื่อมประสานกันเป็นเครือข่าย เชื่อมกิจกรรมและกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน ย่อมก่อให้เกิดเป็นพลังอันมหาศาล พลังที่สามารถขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร ให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของกรมส่งเสริมการเกษตร และขับเคลื่อนสังคม ประเทศชาติในลำดับต่อไป…..

วีรยุทธ  สมป่าสัก

 

หมายเลขบันทึก: 9846เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2006 03:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท