เพลงพื้นบ้าน จากการปฏิบัติจริง 8 (เพลงเรือ)


ต้องมีเรือลอยเทียบกัน ระหว่างฝ่ายชายกับหญิง
 
 เพลงพื้นบ้าน 
จากการปฏิบัติจริง                          
(ตอนที่ 8) เพลงเรือ 
   
          เพลงเรือ เป็นเพลงพื้นบ้านภาคกลาง เล่นกันตามริมน้ำ ในแม่น้ำโดยใช้เรือ
ล่องไปตามลำน้ำ พายเรือไปแล้วก็ร้องเพลงไปด้วย มีเล่นกันมากแถบจังหวัดอยุธยา 
อ่างทอง สุพรรณบุรี และอื่น ๆ นิยมเล่นกันในฤดูน้ำหลาก ราวเดือน 11-12 น้ำ
กำลังเต็มตลิ่ง ประจวบกับเทศกาลลอยกระทง การเล่นใช้เรือเป็นอุปกรณ์โดยมีเรือ
ของพ่อเพลง 1 ลำ  เรือของแม่เพลง 1 ลำ (ฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง) เครื่องดนตรี
ที่ใช้ได้แก่การปรบมือ หรือจะมีฉิ่ง กรับร่วมด้วยก็ได้  การเล่นเพลงเรือในสมัยก่อน 
ถ้าเล่นในตอนกลางคืน จะต้องมีการจุดไต้ จุดตะเกียงให้แสงสว่าง ส่วนการร้องก็เป็น
เพลงเกี้ยวพาราสี เพลงประคารม อย่างเพลงพื้นบ้านทั่วไป เพียงแต่เล่นกันในน้ำ 
หรืออาจจะนำเอาไปเล่นในท้องนาเวลาลงแขกเกี่ยวข้าวด้วยก็ได้      
 
        ผมมีโอกาสได้ดูการแสดงเพลงเรือ แบบบนบกโดยเพลงคณะหวังเต๊ะ เมื่อสมัย
ที่ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา โดยมีแม่ประยูร  ยมเยี่ยม เป็นแม่เพลง ดูแล้วสนุกมาก 
ยังจำตอนที่คุณลออ ร้องเสียดสีฝ่ายแม่เพลงได้ ผมได้ฝึกฝนตนเองโดยการหาเนื้อ
เพลงเรือ เอามาฝึกหัดร้อง เพลงเรือมีท่วงทำนองคล้ายเพลงเต้นกำ คำเกริ่นขึ้นต้น
เพลง และลงเพลงด้วยคำว่า เอย แล้วลูกคู่ก็ร้องรับ วรรคหลังทั้งหมด หนึ่งเที่ยวและ
มาย้อน เฉพาะครึ่งวรรคหลัง และร้องย่ำ ในคำที่ 4-5 ของวรรคหลัง ก่อนจึงลงเพลง   
 
        เนื่องจากว่าเพลงเรือต้องใช้อุปกรณ์ประกอบในการแสดง ดังนั้นผมและเด็ก ๆ 
จึงไม่ค่อยที่จะได้มีโอกาสนำเสนอเพลงเรือบ่อยนัก เรียกว่าในรอบหนึ่งปี บางทีเรา
ไม่มีโอกาสได้นำเสนอเพลงเรือเลย นอกเสียจากหน่วยงานระดับ อบต. หน่วยงานราช
การที่เขาจัดงานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมก็มีโอกาสได้แสดงสาธิตบ้าง เช่นที่ อบต.รั้ว
ใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี  ที่บ้านบางปลาหมอ ดอนกำยาน อำเภอเมือง และใน
ห้องประชุมที่ผมได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากร บรรยาย และสาธิตการแสดงเพลงพื้นบ้าน 
อย่างที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลพบุรี  ที่โรงเรียนหนองฉางวิทยา เป็นต้น ส่วนการ
แสดงตามปกติทั่วไป ใครนำเอาเพลงเรือมาแสดงดูจะไม่ได้บรรยากาศ ถึงแม้ว่าจะปรุง
แต่งอย่างไรก็ตาม ทั้งนี้เพราะเพลงเรือเป็นเพลงที่คนสมัยแต่ก่อนโดยเฉพาะหนุ่มสาว 
เขามาพบกัน และมีโอกาสได้ใกล้ชิดกันในเทศกาลลอยกระทง  
 
       ได้ฟังแม่บัวผัน จันทร์ศรี ท่านเล่าว่า สมัยก่อนพอเล่นเพลงเรือเสร็จ พวกผู้ชาย
ก็จะพายเรือไปส่งสาว ๆ จนถึงท่าน้ำท้ายบ้านเลย ระหว่างทางก็ร้องเพลงเรือแสดงความ
อาลัยอาวรณ์ เรียกว่าเป็นเพลงจาก สำหรับที่หน้าห้องอบรม ผมร้องเพลงเรือหลายครั้ง
เท่าที่พอจำได้ก็เมื่อมีการอบรมปฏิบัติการเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ปี 
2543 ที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1  ที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ทับแก้ว) ปี 2549  
ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ปี 2549            
 
        สำหรับตอนลงเพลง ของเพลงเรือจะสนุกก็ตอนที่เรานำเอาเอาช่อมาใส่ก่อนลง
เพลงให้ลูกคู่รับ ผมขอนำตัวอย่างบทเพลงเรือ โดยยกเอาบทเพลงเก่า ฉบับดั้งเดิมมาให้
ท่านได้รู้จัก  ดังนี้ ครับ
 
        
                   
        เอ่อ เออ เอิ้ง เอ้ย. เหลือบชม้ายแลเห็นสายสมร  มาในฝั่งสาคร (ฮ้า ไฮ้) น้ำเชี่ยว
        ลูกสาวท่านผู้ใด  ไม่มีใครกลายกล้ำ  ลอยมาในลำ  (ฮ้า ไฮ้) น้ำเชี่ยว
        มีหมากมีพลู  ก็เอามาสู่กันเคี้ยว       น้องจะว่าพี่เกี้ยว  เลยเอย
(ร้องรับ)  น้องจะว่าพี่เกี้ยว เอ้ย เลยเอย     มีหมากมีพลูก็เอามาสู่กันเคี้ยว มีพลู มีพลู  
        ก็เอามาสู่กันเคี้ยว                        น้องจะว่าพี่เกี้ยว พี่เกี้ยวเลยเอย  (ฮ้า ไฮ้)
        เฮ้..เปรียบเหมือนพรานไพรด้วยใจคนอง เที่ยวได้ด้อมได้มอง (ฮ้า ไฮ้) แอบเมียง
       จะเอาบ่วงเข้าไปคล้อง กลัวหนูน้องจะช้ำ  พี่จึงคอยลูบคลำ น้ำเสียง
       มันจะหวานหรือขม มันจะกลมหรือเกลี้ยง  ตื้นลึกไปสักเพียง ไรเอย
(ร้องรับ) ตื้นลึกไปสักเพียง เอ้ย ไรเอย     มันจะหวานหรือขม  มันจะกลมหรือเกลี้ยง  
       หวานขม หวานขม  มันจะกลมหรือเกลี้ยง ตื้นลึกไปสักเพียง                
       ตื้นลึกสักเพียง สักเพียงไรเอย  (ฮ้า ไฮ้)
       เฮ้...น้ำท่วมทำนบ สานจบเพลงปลอบ  ให้สวยน้องแม่ตอบ  คำมา
       แต่พอหมดเพลงตอบ ให้แม่ตอบคำถาม       อย่าให้เหลวไปอย่างน้ำ (ฮ้า ไฮ้) นะหล่อนจ๋า
       มีมั่งก็ร้อง นึกว่าฉลองศรัทธา             คอต้นไม่ร้องให้คอสองแม่ว่า
       เหลืองเอ๊ยใบยอ  โอ้แม่ช่อจำปา         เผยพักตร์ออกมาพา  มาพาทีเอย
(ร้องรับ) เผยพักตร์มาพา มาพาทีเอย คอต้นไม่ร้องให้คอสองแม่ว่า ไม่ร้อง ไม่ร้อง 
       ให้คอสองแม่ว่า  เผยพักตร์มาพา         เผยพักตร์ขึ้นพา ละขึ้นพาทีเอย (ฮ้า ไฮ้)
       เอ่อ เออ เอิง เอย..  ได้ยินน้ำคำมาร่ำสนอง เสียงใครมาเรียกหาน้อง ที่ในล่า
       แต่พอเรียกก็ขาน แต่พอวานก็เอ่ย        หนูน้องไม่นิ่งทำเฉย (ฮ้า ไฮ้) เชยชา
       การจะเล่นจะหัว หนูน้องไม่มัวกระบวน   ถือน้ำลอยนวล  (ฮ้า ไฮ้) หรอกพี่จ๋า
       แต่พอเรียกหาน้อง ฉันก็ร้องขึ้นว่า        เหลืองเอ๊ยใบยอ  หอมแม่ช่อชบา
       เหลืองเอ๊ยใบข่อย  ถึงจะด้อยราคา       กันเสียเมื่อเวลา นี้เอย  (ฮ้า ไฮ้)
(ร้องรับ) กันเสียเมื่อเวลา นี้เอย  แต่พอเรียกหาน้อง ฉันก็ร้องขึ้นว่า   หาน้อง หาน้อง 
       แม่หนูก็ร้องว่าจ๋า กันเสียเมื่อเวลา         เอ้ย เมื่อเวลา เวลานี้เอย (ฮ้า ไฮ้)
บทเพลงเรือ  (ชำเลือง มณีวงษ์ / เขียนขึ้นมาใช้ในการร้องยุคปัจจุบัน)
(ชาย) เอ่อ เออ เอิ้ง เอ้ย..  
        เดือนสิบเอ็ด  น้ำนอง   เดือนสิบสอง   น้ำหลาก    
        มาลอยกระทง  ฝากรัก (ฮ้า ไฮ้)         แม่ทรามวัย
        พี่เป็นหนุ่ม  สุพรรณ                        พี่ก็ด้น  ดั้นมา
        พี่ลอยลำ   นาวา     (ฮ้า ไฮ้)            มาแสนไกล
        หวังจะร่วม  บนบาน                        อธิษฐาน  ขอขมา  
        ต่อพระแม่  คงคา       (ฮ้า ไฮ้)         คืนเดือนหงาย
        เคยได้ล้าง ดื่มกิน  ชุบชีวินร่างกาย     มาขอขมาวอนไหว้  แม่คงคา

(ร้องรับ) มาขอขมาวอนไหว้ แม่คงคาคยได้ล้าง ดื่มกิน ชุบชีวินร่างกาย ดื่มกิน ดื่มกิน     
        ชุบชีวินร่างกาย  มาขอพรวอนไหว้  เอ้ย..  แม่คงคา. (ฮ้า ไฮ้)
(หญิง)  เอ่อ เออ เอิ้ง เอ้ย..  
         พอได้ยิน   น้ำคำ           ที่พี่มาร่ำ  หาน้อง                 
         คืนเพ็ญ  เดือนสิบสอง  (ฮ้า ไฮ้)     ต้องออกไป
         พบหน้าหนุ่ม  สุพรรณ                  ที่ได้ดั้น  ด้นมา
         พี่ลอยลำ   นาวา         (ฮ้า ไฮ้)     มาใกล้ ๆ 
         มาขอร่วม  บนบาน                      อธิษฐาน  ภาวนา  
         ต่อพระแม่  คงคา       (ฮ้า ไฮ้)      คืนเดือนหงาย
         นึกว่าร่วมประเพณี  ที่แสนดีของไทย   แล้วขอพรวอนไหว้  แม่คงคา
(ร้องรับ)  แล้วขอพรวอนไหว้  แม่คงคานึกว่าร่วมประเพณี ที่แสนดีของไทย  
         ประเพณี ประเพณี ที่แสนดีของไทย แล้วขอพรวอนไหว้ เอ้ย..แม่คงคา..(ฮ้า ไฮ้)   
                           
          ความไพเราะและสนุกสนานของสำนวนการร้องเพลงเรืออยู่ที่การหาคำว่าช่อมาใส่ 
เช่น  เหลืองเอ๊ยใบยอ.. โอ้แม่ช่อดอกแค  หรือ เอ๊ย..แม่ช่อจำปาหรือพ่อช่อ ใบชาแล้ว
ก็ลงเพลง
กันเสียเมื่อเวลา นี้เอย (ฮ้า ไฮ้) พูดถึงเพลงเรือ อยากให้ถึงเทศกาลลอยกระทง
เสียแล้วซี จะได้ มีความสุขกับบรรยากาศเก่า ๆ กันบ้าง 
           

(ชำเลือง มณีวงษ์ เพลงเรือ 2550)
หมายเลขบันทึก: 97959เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • พี่ชำเลือง ผมเคยได้ยินครูเพลงเก่าๆเล่าว่า
  • ที่วัดประตูสาร เคยมีผีมาเล่นเพลงเรือด้วยนะ
  • เห็นไหม เสน่ห์ของเพลงพื้นบ้าน
  • ไม่เว้นแม้กระทั่งผี ยังอดใจไว้ไม่อยู่

อ.พิสูจน์

  • จริงหรือ ที่ว่ามีผีมาเล่นด้วย น่ากลัวจัง
  • อาจจะเป็นกุศโลบายของคนรุ่นเก่าที่เขามีวิธีต่าง ๆ
  • แต่ก็น่าเก็บเอามาคิดนะ
  • เพลงเรือ ยังคงเป็นเสน่ห์ที่น่าสนใจอยู่มาก
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท