ประชุมภาคีจัดการความรู้ภาคราชการ 1 (ตอนที่ 4 : KM กรมส่งเสริมการเกษตร)


จุดเริ่มต้นเป้าหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญมากส่งผลถึงการเดินต่อไป

        บันทึกต่อจากความเดิม (Link ความเดิม)

 

วาระ 2.4 ความก้าวหน้าการจัดการความรู้ กรมส่งเสริมการเกษตร

                คุณนันทา   ติงสมบัติยุทธ์  (นักพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี) ตัวแทนคณะทำงาน KM กรมส่งเสริมการเกษตร  นำเสนอการทำ KM ของกรมส่งเสริมการเกษตร ว่าเริ่มต้นคล้ายๆ กับหน่วยงานราชการทั่วไป  คือ เริ่มจากตั้งคณะกรรมการในปี 2548  แล้วมีการปรับคณะกรรมการเช่นกันให้ครอบคลุม โดยประกอบด้วยตัวแทนหน่วยย่อย กองต่างๆ  14 กอง   จากนั้นก็เชิญทีม สคส. นำโดย  ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด  ไปทำ Workshop เบื้องต้นในเดือน มี.ค.  2548  ให้ความรู้กับคณะทำงาน, ผู้บริหารกรม, เกษตรจังหวัด และตัวแทนนักวิชาการเกษตรทั้ง 76 จังหวัด (ปูพรม)  และเน้นหนักจริงที่ 9 จว. นำร่องที่กรมได้คัดเลือกมา (ดูจาก 9 จว. เป็นตัวแทนครอบคลุมทุกภาค หลากหลาย และมีต้นทุนการดำเนินงานเข้มแข็ง)    หลังจากนั้นทีมกรมก็ให้ทั้ง 9 จว. ลองกลับไปทำแผนและลงทำในพื้นที่  โดยทีมกรมก็แบ่งงานกันเพื่อที่จะเป็นพี่เลี้ยงและผู้ประสานงานกับทุกจังหวัดนำร่อง (ร่วมเรียนรู้ ช่วยเหลือ ประสานงานไปด้วยอย่างใกล้ชิด)  มีการประชุมติดตามงานเป็นระยะๆ    ซึ่งในการทำของแต่ละจังหวัดในช่วงแรกนั้นก็ยังเกร็งและติดกับเครื่องมือที่ได้เรียนรู้ไปบ้าง  จนต้องปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ  จนผ่านมา 1 ปีแล้วเราก็มาถอดบทเรียนรู้ของกลุ่ม คุณอำนวย และ คุณเอื้อ ของ 9 จังหวัด  เพื่อนำมาปรับแผนดำเนินงานต่อในปี 2549  ซึ่งเป็นประโยชน์มากเพราะทั้ง 9 จังหวัด ได้ลองเดินและเรียนรู้เองว่าเป็นอย่างไร  รู้ปัญหาอุปสรรคและเทคนิค    นอกจากนี้กรมได้มีการมอบรางวัลให้กับทั้ง 9 จ. นำร่อง ซึ่งเป็นขวัญและกำลังใจให้ (รางวัลที่ให้ถือว่าเป็นเทคนิคของกรมทางด้านจิตวิทยาอย่างหนึ่ง เพื่อให้กำลังใจ และ บางจังหวัดรู้สึกว่าเขายังทำอะไรไม่มากเท่าไหร่ เมื่อได้รับโล่ห์รางวัลก็ต้องกลับไปตั้งใจทำให้ดีขึ้นสมกับรางวัล)

                คุณธุวนันท์   พานิชโยทัย  (ผอ. กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร) เลขากลุ่ม KM กรมส่งเสริมการเกษตร  นำเสนอเพิ่มเติมว่า ทีมคณะกรรมการ KM ของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่คัดเลือกมาจากทุกกอง, หน่วยย่อย, ผู้แทนเขต, สำนัก  เป็นจุดดีของทีมที่มีความหลากหลาย และเป็นปากเสียงหรือช่วยเผยแพร่ขยายงานได้อย่างดี (ซึ่งได้รับคำชมจากคณะทำงานชุดอื่นๆ ว่าเข้มแข็งที่สุด)    เนื่องด้วยส่วนหนึ่งของคณะทำงาน KM (3-4 คน) ของกรมเป็นคณะทำงานเรื่อง  Food Safty (กระบวนการส่งเสริมการผลิตพืชปลอดภัยจากสารพิษ) ของกรมส่งเสริมการเกษตรด้วย   และได้ช่วยกันเสนอผลักดันให้ใช้ KM เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ   ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบ  ดังนั้นทีมจึงสามารถผลักดัน KM ไปในวงกว้างขึ้นเพราะ  Food  Safty  เป็นนโยบายที่ต้องทำทั่วประเทศ และมีงบประมาณรองรับอยู่แล้ว (เป็นผลงานของทีมที่ภาคภูมิใจ และถือว่าเป็นผลดีที่มีคณะทำงานเป็นกระบอกเสียงและขยายผลให้ทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง)

            KM ของกรมส่งเสริมการเกษตรนั้น  คณะทำงานใช้เวลากับประเด็นที่จะทำหรือ เป้าหมาย มาก เพราะเป็นองค์กรใหญ่   จุดเริ่มต้นเป้าหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญมากส่งผลถึงการเดินต่อไป  ซึ่งในพันธกิจของกรมเน้นเรื่อง การพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้  ดังนั้น KV (Knowledge Vision) ของ KM กรมจึงใช้เป้าหมายนี้  ซึ่งก็จะแบ่งย่อยๆ ได้เป็นหลายองค์ประกอบ หลายเรื่อง  และแต่ละจังหวัดนำร่องสามารถไปประเมินตนเองและดูว่าควรจะทำเรื่องอะไรในบริบทของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน  เช่น  จ. นครศรีธรรมราช เลือกทำเรื่องการถ่ายทอดผ่านกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร, จ. น่าน ทำเรื่องวิสาหกิจชุมชน  ตามศักยภาพต้นทุนและบริบทของแต่ละพื้นที่ (ทำให้เราได้เทคนิคทำ KM และความรู้ที่หลากหลาย)  ดังนั้นจึงเป็นการวางกรอบใหญ่ๆ ให้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายองค์กร แล้วมีเป้าหมายย่อยๆ เป็นพวง  (คล้ายโมเดลฝูงปลาตะเพียน) 

                ในเรื่องการสื่อสาร KM ไปสู่ช่องทางต่างๆ ของกรม   คณะทำงานได้ใช้หลายช่องทาง ได้แก่  เว็บไซต์ (http://effiu.doae.go.th/doae%20KM/), หนังสือ, เอกสารและวารสารของกรม     มีการแบ่งงานช่วยกันเขียนบทความ (วารสารกรมส่งเสริมเกษตร ลงให้ 4 ตอนแล้ว)     และเว็บไซต์ของจังหวัดนำร่อง เช่น กำแพงเพชร  ซึ่งทำเว็บได้ดีมาก (http://kamphaengphet.doae.go.th/) (ดีกว่าของกรมกลาง) เพราะคนที่ทำเว็บเป็นผู้ที่ทำ KM ด้วยจึงเข้าใจและทำได้รวดเร็ว   

                ในบางส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เช่น เรื่อง คุณลิขิต ที่ต้องบันทึก,  เรื่อง CKO ที่ไม่ต่อเนื่อง (คล้ายกับปัญหาของกรมอนามัย)  ซึ่งก็ต้องปรับกันต่อไป  และกรมคิดว่าทั้ง 9 จังหวัดนำร่องนี้จะเป็นแกนนำในการทำ KM เกษตรต่อไปให้กับจังหวัดอื่นๆ

ความเห็นที่ประชุม

                อ. แมนสรวง   เพ็งนู   ตัวแทนจากจังหวัดสมุทรสงคราม  ซึ่งได้รับมอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นแกนการทำ KM ของจังหวัด  เสนอขอความเห็นและการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรในการทำ KM เพราะทาง จ. สมุทรสงคราม  ได้หยิบเอายุทธศาสตร์ตัวหนึ่งของจังหวัดคือเรื่อง  Food Safty มาทำ KM  ซึ่งตรงกับที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำลังทำอยู่     โดย อ. แมนสรวง  คิดว่าจะนำส่วนราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วย เช่น เกษตร, สหกรณ์, ประมง, ปศุสัตว์, อุตสาหกรรม, พานิช, สาธารณสุขจังหวัด และ ประชาสัมพันธ์   และเนื่องจากมีหลายส่วนราชการจะทำอย่างไรให้หน่วยงานเหล่านี้เอา KM ไปใช้แล้วส่งผลถึงยุทธศาตร์ Food Safty และยุทธศาสตร์อื่นๆ ได้

                คุณธุวนันท์  พานิชโยทัย  เสนอให้ทางจังหวัดสมุทรสงครามติดต่อไปที่สำนักงานส่งเสริมเกษตรจังหวัด  คุณสรณพงษ์   บัวโรย    เป็นนักวิชาการส่งเสริมเกษตร และ คุณอำนวย ที่เก่งและมีประสบการณ์ทำในกลุ่มชาวบ้านมานาน   โดยส่วนกรมกลางพร้อมจะสนับสนุนทางด้านเทคนิคต่างๆ ให้ด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 9789เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2005 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท