Communication ปัญหา Classic ในทุกองค์กร


.....เห็นไหมครับว่าเรื่อง KM, IM (Information Mgt.) และ EM (Emotion Mgt.) นั้น มันยากเหมือนกันนะครับที่จะจับมันแยกออกจากกัน

การสื่อสาร หรือ Communication ระหว่างคน ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกองค์กร.... ไม่เว้นแม้ใน สคส. ที่เป็นองค์กรขนาดเล็ก (เรียกว่า "ขนาดจิ๋ว" น่าจะเหมาะกว่า)  เรื่องมีอยู่ว่า..... ในระหว่างการประชุมภาคีจัดการความรู้ในท้องถิ่น เมื่อวันอังคารที่ 13 ธ.ค.  คุณจิ๋ม (จันทนา) จากมูลนิธิข้าวขวัญ  ได้เอ่ยถึง Workshop 3 วัน ในช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาว่า คุณ Dorothy ที่มาจาก Scotland ได้มาสร้างประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่มีคุณค่ายิ่ง เป็น Workshop ที่ผมฟังแล้วเห็นว่าตรงกับ Concept โบราณของไทยที่เชื่อว่าในสิ่งต่างๆ ทั้งหลายล้วนมี รุกขเทวดา หรือ เทพารักษ์ สิงสถิตย์อยู่ ..... คุณจิ๋มบอกต่อไปว่า เสียดายที่เชิญมาทาง สคส. แต่ไม่มีใครว่างจึงไม่ได้ไปเข้าร่วม  ซึ่งครั้งนี้คงจะเป็นการเดินทางมาเมืองไทยครั้งสุดท้ายของคุณ Dorothy  เพราะท่านมีอายุมากแล้ว..... ผมได้ฟังแล้วรู้สึกสะดุดใจขึ้นมาทันที เพราะพอได้ยินว่าท่านมาจาก Scotland ทำให้ผมนึกไปถึง มูลนิธิ findhorn (http://www.findhorn.org) ที่อยู่ใน Scotland ที่ผมเคยอ่าน Website มาเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว  อีกทั้งยังได้สมัครเป็นสมาชิก เพื่อขอรับ Eileen 's Weekly Guidance เป็นประจำทุกสัปดาห์ทาง e-mail อีกด้วย และยังคิดอีกด้วยว่าถ้ามีโอกาสจะต้องหาเวลาไปใช้ชีวิตอยู่ใน Community ของ Findhorn บ้าง.... ในตอนเลิกประชุมผมได้สอบถามคุณจิ๋มเพิ่มเติม จนได้ความกระจ่างจากว่า คุณ Dorothy นี้ก็คือ หนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิ findhorn ...พอได้ฟังเช่นนั้น ก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึกเสียดายโอกาสมากที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้  พอถามคนของ สคส. ที่รับเรื่องนี้ ก็ได้ยินแต่เสียงอุทานว่า  "..... ลืมไปว่า อาจารย์สนใจเรื่องทำนองนี้! "  นี่ก็คือ Communication Failure เรื่องที่หนึ่งครับ

เรื่องที่สอง ....... เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (14 ธ.ค.) ตอนที่พวกเรากำลังประชุมประจำสัปดาห์อยู่ ..... เราพูดกันมาถึงเรื่องๆ หนึ่ง ท่านอาจารย์วิจารณ์บอกว่าเราน่าจะนำเรื่องนี้เสนอในการประชุม Board ครั้งที่กำลังจะมาถึง (วันที่ 13 มกราคม 2549)  โดยเห็นว่าผมน่าจะเป็นผู้นำเสนอต่อที่ประชุม  ผมได้ฟังก็ตกใจเล็กน้อย... ไม่ใช่เรื่องการนำเสนอหรอกครับ  แต่เป็นเรื่องวันประชุม Board ซึ่งผมเองไม่ได้ Aware เลยว่าจะมีการประชุมในวันที่ 13 มกราคม นี้  พอเปิดสมุดนัดใน PDA ดู ก็พบว่า  เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเพิ่งจะตกลงกับหน่วยงานแห่งหนึ่ง ที่กำลังจะ kick-off เรื่อง KM โดยได้มีการนัดหมายผู้บริหารระดับสูงทั้งหลายไว้แล้ว แต่เพื่อให้แน่ใจ ผมรีบออกจากห้องประชุมเพื่อโทรไปสอบถามหน่วยงานนั้นอีกทีว่า มีโอกาสที่จะเลื่อนวันได้ไหม  ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่คิดไว้คือเขาได้ lock เวลาผู้บริหารทั้งหมดไว้แล้ว ... ในที่สุดท่านอาจารย์วิจารณ์  ก็แก้ปัญหาโดยให้ทีมงานของ สคส. แบ่งกันนำเสนอกันแทนผม.... ผมเองยอมรับว่ารู้สึกไม่ค่อยจะดีเลย เพราะที่จริงแล้วการประชุม Board นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผมมาก ผมมักจะได้ความคิดดีๆจากที่ประชุมมาคิดต่ออยู่เสมอ... ในใจก็ได้แต่คิดอย่างมีอารมณ์ว่า "ทำไมไม่มีใครบอกผมเรื่องวันประชุม Board เลย"   นึกย้อนไปย้อนมาก็พบว่า  ครั้งที่แล้วผมก็ไม่ได้เข้าประชุม Board เช่นกันเพราะมีการเปลี่ยนวันมาตรงกับช่วงที่ผมเดินทางไปจีนพอดี ผมก็เลยไม่ได้รับทราบกำหนดวันประชุมสำหรับครั้งต่อไป  และพอไม่มีใครบอกผมเรื่องนี้ ก็เลย "หลุด" ไป ไม่ได้ลงบันทึกไว้ใน สมุดนัด (PDA) ..... ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ยอมรับว่าเป็นการ "เพ่งโทษ" ไปที่คนอื่นทั้งสิ้น ...... คิดไปว่า ทำไมไม่บอกให้ผมรู้ว่าจะมีการประชุม Board วันไหนตั้งแต่แรก  ผมจะได้ไม่ไปรับนัดที่ซ้ำซ้อน .... ยอมรับว่าช่วงแรกๆนั้นผมมองเห็นว่าเป็นความผิดของคนอื่นทั้งสิ้น  ต่อมาเมื่ออารมณ์ค่อยๆ สงบลงจึงได้เห็นว่า ตัวผมเองก็มีส่วนที่ทำให้การสื่อสารนี้ผิดพลาดด้วยเช่นกัน    เพราะหากผมติดตามสอบถามหลังจากที่กลับมาจากจีน   ผมก็คงจะทราบว่า การประชุม Board ครั้งต่อไปเป็นวันใด  และก็คงจะเอามาลง book ไว้ ไม่ให้เกิดการนัดหมายที่ซ้ำซ้อนอย่างคราวนี้.....

ที่เล่ามานี้ คงจะไม่ใช่กรณีที่จัดได้ว่าเป็นเรื่อง "การจัดการความรู้" แต่เพียงอย่างเดียว  จะเห็นได้ว่ามีมิติในเรื่อง "การจัดการข้อมูล สารสนเทศ (Information Management)" เกี่ยวข้องอยู่ด้วยและที่สำคัญคือมีเรื่อง"การจัดการอารมณ์ความรู้สึก" ปนอยู่เช่นกัน  .....เห็นไหมครับว่าเรื่อง KM, IM (Information Mgt.) และ EM (Emotion Mgt.) นั้น มันยากเหมือนกันนะครับที่จะจับมันแยกออกจากกัน

คำสำคัญ (Tags): #attitude#holistic#development
หมายเลขบันทึก: 9749เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2005 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ่านเรื่องของอาจารย์แล้วได้ข้อคิดดี ๆ เยอะเลย  แต่ดิฉันไม่ค่อยมีปัญหาอย่างของอาจารย์หรอกค่ะ ไม่ใช่เพราะว่าดิฉันมีการจัดการข้อมูลข่าวสารที่ดีนะคะ  แต่เป็นเพราะมีงานไม่เยอะเหมือนอาจารย์ต่างหาก  ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์นะค่ะ

ที่ทำงานของดิฉันเป็นสถานที่ classic ค่ะ   เมื่อได้ไปร่วมงาน KM2 ที่ รร.มิราเคิลแล้ว  เหมือนได้พบลายแทงสมบัติที่มีผู้ชี้จุดให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง  ไม่ใช่แต่พบทางแก้เรื่องการสื่อสารเท่านั้นแต่ยังใช้ทำ KM ได้ด้วย นั่นคือการได้คำชี้แนะจาก True และ ปูนไทย เรื่องการใช้ Intranet ในการทำ KM ในองค์กร   ทำให้มีกำลังใจที่จะเดินก้าวแรก  เพราะมั่นใจด้วยเห็นการเดินทางของผู้ที่ก้าวไปก่อนแล้ว  ต่อไปนี้จะพยายามพาองค์กรไปสู่ยุค postclassic ให้ได้ค่ะ

ผมว่าเรื่องการสื่อสารในองค์กรเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตลอด และคนทั่วไปก็เป็นเหมือนอย่างที่อาจารย์ได้กล่าวถึงก็คือ พอมีปัญหามีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็มักจะมองไปก่อนเลยว่า--ใคร--ทำให้ฉันเป็นแบบนี้ แต่เมื่อพอเย็นลงแล้วนำกลับมาทบทวนทุกครั้งก็พบว่า อ๋อ ก็ฉันเองไง (อีกแล้วที่เป็นคนทำให้เกิดปัญหา) ผมเลยคิดว่า การสื่อสารเนี่ย มันควรจะเริ่มต้นจากตัวเองก่อน ว่าเราสามารถสื่อสารกับตัวเองได้เข้าใจหรือเปล่า มีความระมัดระวังรอบคอบดีไหม ดังก่อนที่จะสื่อสารกับใครต้องสร้างจิตสำนึกให้สั่งเป็นธรรมชาติ เตือนตัวเองก่อนว่าถ้าเราสั่งแบบนี้แบบนี้กับตัวเองแล้วเราจะรู้เรื่องไหม บางครั้งเรื่องที่เราสั่งงานไป เราเองก็ยังไม่รู้เลยว่า ในการปฏิบัติงานจริงจะเป็นอย่างไร และมีปัญหา อุปสรรคอย่างไร บ้าง จะสื่อสารให้มีประสิทธฺภาพ ต้องเริ่มจากตัวเอง ไม่ใช่เริ่มจากคู่สนทนา นะครับ

ขออนุญาต แจมนะครับ

ด้วยความเคารพในอาจารย์ประพนธ์

ขอเรียนว่า  

 

ตอนที่อาจารย์เกิดอารมณ์นั้น   อาจารย์เห็นจิตหรือไม่

รีบฉวยโอกาส ตอนที่เกิดอารมณ์นั้น  โอปนยิโกย้อนดูจิตตน  

ถ้าดูจิตไม่ชัด  ก็ดูกายก็ได้  เพราะ กายที่เปลี่ยนแปลงเป็นผลพวงของจิตที่เกิดอาการ

 

ช่วง ที่จิตเกิดอาการ  ขอให้หยุดความคิดทั้งหมด   เอาความคิดที่มีอยู่มาใช้เพื่อ ดูกาย (ดูบริเวณที่ลมกระทบรูจมูก หรือ  ดูการยุบเข้าออกของพุง  หรือ กำหนดรู้ ที่การเคลื่อนไหวของอวัยวะก็ได้)  ดูให้เข้าใจว่า  เป็นเช่นนี้เองหนอ เวลาจิตเกิดอาการเป็นแบบนี    ความคิดปรุงแต่งเป็นแบบนี้   หลงความคิดเป็นแบบนี้ ฯลฯ

ี้

ดูกาย จนว่า จิตจะปกติ  กายจะผ่อนคลาย   ความคิดจะหยุดปรุงแต่ง    นั้นแหละ  อาจารย์จะเข้าใจ กระบวนการ (Process) ของขันธ์ห้า

ดูจิต ดูกาย ดูเวทนา (ทุกข์เพราะ ไม่สามารถไปประชุมbooardได้)  ดูธรรม (นิวรณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นต้น)

ดูหรือรู้  ก็คือ สติ    ทำบ่อยๆ สติจะพัฒนาจากน้อยกลายไปเป็นมหาสติ

ได้มหาสติ เมื่อไร  อาจารย์จะพบ สุดยอดความรู้  เป็นความรู้ที่ทำให้หลุดพ้น  

 

ขอให้โชคดีครับ 

จงจำไว้ว่าชีวิตคือการแก้ปัญหาปัญหาที่ไม่สิ้นสุดเราจะเรียกปัญหาว่า อุปสรรค์หรือโอกาสอะไรก็ได้ตามแต่ที่เราจะเรียกและแต่ละครั้งเราได้รับรางวัลในเชิงคุณค่า มันคือ ควาสุข การเติบยโต และพันธกิจเป็นเป็นรางวัลที่มากกว่าความมั่งคั่งในรูปของเงินอะไร

ดีใจที่ทำได้และเคลื่อนไหวได้ เป็นแอคชั่นขึ้น เป็นกิริยาขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท