หมู่บ้านพลัม


http://www.thaiplumvillage.org/

ร่วมสมทบทุนสร้างหมู่บ้านพลัมประเทศไทย

ชุมชนหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธ์แห่งสติ ตามแนวทางท่านทิช นัท ฮันท์

ผู้สนใจสามารถร่วมทำบุญได้ที่

มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ เพื่อหมู่บ้านพลัม

ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีเลขที่ 043-264728-2

บัญชีออมทรัพย์ สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่

 

 

ชีวิตนักบวช ก้าวย่างสู่อิสรภาพ

http://www.thaiplumvillage.org/

 

 

หมายเลขบันทึก: 97447เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2007 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2550

   18.00 - 21.00 น.


 
ปาฐกถาธรรม "สู่ศานติสมานฉันท์ : ความรักอันไม่แบ่งแยก"
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถ.วิภาวดี-รังสิต กรุงเทพฯ
ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 2,000 คน

18.00 น. เริ่มกิจกรรม
18.30 - 19.00 น. นั่งสมาธิ
19.00 - 21.00 น. ปาฐกถาธรรม "สู่ศานติสมานฉันท์ : ความรักอันไม่แบ่งแยก"
 
   หมายเหตุ 1. คณะผู้จัดมีความจำเป็นต้องปิดประตูอาคารในเวลา 18.30 น.
     เพื่อความสงบระหว่างการภาวนา จึงขอความร่วมมือจากทุกๆ ท่าน
    ในการรักษาเวลา
2. กรุณาปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดในระหว่างร่วมกิจกรรม


(สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 085-318-2938-9 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไป)
ประวัติของท่านติช นัท ฮันห์ ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ ให้เป็นผู้มีผลงานอันโดดเด่นและเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนทั้งโลก โดยท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ.2492 ขณะอายุ 23 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปไซ่ง่อน เพื่อช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนาและเขียนบทความ ซึ่งถูกต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลอย่างมาก พ.ศ.2505 เมื่อได้รับการเสนอทุนจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ จึงเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา
 หนึ่งปีต่อมา ท่านติช นัท ฮันห์ ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ท่านตัดสินใจเดินทางกลับเวียดนาม เพื่อมาทำงานด้านความร่วมมือระหว่างพุทธมหายานและหินยานในประเทศ นอกจากนี้ ท่านยังตระหนักถึงวิธีการต่อสู้เพื่อสันติภาพ หยุดการสนับสนุนสงคราม โดยปลุกจิตสำนึกต่อคนทั่วโลก จน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เสนอนาม ติช นัท ฮันห์ ขึ้นรับรางวัลโนเบล สาขาเพื่อสันติภาพ
          การทำงานเช่นนี้ทำให้รัฐบาลเวียดนามใต้ปฏิเสธการกลับประเทศของท่าน จนแม้รวมประเทศแล้วก็ตาม ท่านติช นัท ฮันห์ จึงลี้ภัยอย่างเป็นทางการในประเทศฝรั่งเศส โดยสอนประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเวียดนามที่มหาวิทยาลัย และสร้างอาศรมแห่งหนึ่งนอกกรุงปารีส
           พ.ศ.2525 เมื่อผู้มาปฏิบัติธรรมที่อาศรมทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ท่านจึงเริ่มก่อตั้งชุมชนแห่งใหม่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ให้ชื่อว่าหมู่บ้านพลัม ซึ่งถือเป็นบ้านของท่านจนทุกวันนี้

















I LOVE ZEN '(^---------^)'

สรุปบรรยายธรรมและเนื้อหาจาก
งานภาวนา “สู่ศานติสมานฉันท์” 23-27 พค. 2550
โดย พรรัตน์ วชิราชัย
สำนักข่าวบางบ๊วย

ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ
          
          เรามักจะคิดมากเกินไปตลอดเวลา และส่วนใหญ่มักไม่เป็นประโยชน์นัก ความคิดของเราเต็มไปด้วยความกลัว หงุดหงิด ความโกรธ เมื่อถึงเวลาที่เราต้องนอน เราไม่สามารถหลับได้ และเรามักหันไปพึ่งยานอนหลับ ความลับที่พระพุทธองค์หยิบยื่นให้เรา คือ “สติ” การกลับมาอยู่กับลมหายใจ และหยุดคิดเกี่ยวกับอดีตหรือนาคต
การกลับมาตามลมหายใจ เป็นการรวมใจและกายให้เป็นหนึ่งเดียวกันในปัจจุบันขณะ การดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะทำให้เราสามารถสัมผัส “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” เพราะชีวิตคือปัจจุบัน การมีสติอยู่เสมอจะทำให้เธอรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในปัจจุบัน หากเธอคิดมากเกินไปเสมอ เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน เธอจะไม่มีความสามารถที่จะสัมผัสความงดงาม สดชื่นจากพระอาทิตย์และธรรมชาติได้
เราไม่จำเป็นต้องตายเสียก่อนจึงจะก้าวสู่อาณาจักรของพระพุทธเจ้าได้ หากแต่อยู่กับปัจจุบันอย่างเต็มที่เราจะสามารถสัมผัสกับดินแดนสุขาวดีหรือสรวงสวรรค์ได้ พระพุทธเจ้าอยู่ตรงนั้นเสมอ 24 ชั่วโมง ดินแดนสุขาวดีหรือสรวงสวรรค์อยู่ตรงนั้นเสมอ 24 ชั่วโมง
ความสุขคือการตรัสรู้ เราไม่มีหนทางแห่งการตรัสรู้ แต่การตรัสรู้คือหนทาง วิถีแห่งการตรัสรู้เริ่มแรกคือ การมีสติอยู่เสมอ ไม่ว่าเธอกำลังเดิน นั่ง หรือดื่มชา โปรดรู้ไว้ว่าการตรัสรู้ที่ยิ่งใหญ่มาจากการตรัสรู้เล็กๆ น้อยๆ ในปัจจุบันขณะ
เราชินที่จะวิ่งอยู่เสมอ เราวิ่งเพราะเรามีความกลัว และเมื่อเราวิ่ง เราไม่สามารถจะดูและตัวเราและคนที่เรารักได้ เราวิ่งเหมือนดั่งเช่นองคุลีมาร ที่วิ่งตามพระพุทธองค์ พระพุทธองค์คือตรัสถามองคุลีมารว่า “เราหยุดแล้ว ท่านต่างหากที่ไม่หยุด”
การมาปฏิบัติภาวนาเช่นนี้ก็เพื่อเรียนรู้ที่จะหยุด

ภาวนากับก้อนกรวด
          ที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส มีเด็กหลายคน จากหลายประเทศมาร่วมฝึกปฏิบัติด้วย
วิธีที่พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์สอนการภาวนากับเด็กๆ คือ “ภาวนากับก้อนกรวด” เป็นวิธีการง่ายๆ ที่มีความสุข เริ่มจากเราควรมีถุงเล็กๆ สำหรับเก็บก้อนกรวด 4 ก้อน เมื่อเราต้องการทำสมาธิภาวนา ให้หยิบถุงนี้ขึ้นมา และนั่งล้อมกันเป็นวงกลม เด็กคนหนึ่งเป็นผู้เชิญระฆัง 3 ครั้ง เพื่อเชื้อเชิญให้เรากลับมาสู่บ้านที่แท้จริง
เมื่อเริ่มภาวนา เราหยิบก้อนกรวดก้อนแรก) ขึ้นมา ประสานไว้บนมือ พร้อมให้ก้อนกรวดก้อนนี้เป็นตัวแทนของ “ดอกไม้” หายใจเข้า ฉันเป็นดั่งดอกไม้ หายใจออก ฉันสดชื่น (ดอกไม้/สดชื่น) การภาวนาเช่นนี้เป็นการฟื้นฟูความสดชื่น แจ่มใส ความเป็นดอกไม้ในตัวเรา
          มนุษย์เองก็เป็นดอกไม้เช่นกัน เราเป็นดอกไม้แห่งมนุษยชาติ เด็กๆ ก็คือดอกไม้ พวกเขามีความสดชื่นอยู่เสมอ เราควรภาวนาดอกไม้อยู่เสมอ เพราะมันจะช่วยรักษาความสดชื่นให้กับเรา และเราจะมีความสามารถหยิบยื่นดอกไม้ให้คนรอบข้างได้
          หลังจากภาวนาก้อนกรวดก้อนแรกเสร็จ เราวางก้อนกรวดก้อนนี้ลง พร้อมหยิบก้อนกรวดก้อนที่สองขึ้น โดยให้มันเป็นตัวแทนของ “ภูเขา” คือความมั่นคงในตัวเรา
          หายใจเข้า ฉันเป็นดั่งขุนเขา หายใจออก ฉันมั่นคง (ขุนเขา/มั่นคง)
หากเราปราศจากความมั่นคงหนักแน่นแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะมีความสุขได้ เพราะเมื่อเราเป็นคนอ่อนไหว เราก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ใครได้ รวมถึงตัวเราเองด้วย ฉะนั้นการภาวนาในเรื่องนี้จึงสำคัญมาก
สำหรับก้อนกรวดก้อนที่ 3 คือตัวแทนของ “น้ำใส” เราจะภาวนาว่า หายใจเข้า ฉันเป็นดั่งน้ำใส หายใจออกฉันสะท้อนสิ่งต่างๆ ดั่งที่มันเป็น (น้ำนิ่ง/สะท้อน)
เมื่อเราโกรธ อิจฉาหรืออยู่ในภาวะอารมณ์ที่รุนแรง เราไม่สามารถที่จะมองสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เราอาจมีความคิดเห็นที่ผิดและมีอคติต่อสิ่งนั้น การภาวนาเช่นนี้ช่วยบ่มเพาะความนิ่ง ใส ชัดเจน ไม่บิดเบือน ให้แก่ตัวเรา
ก้อนกรวดก้อนสุดท้าย เป็นตัวแทนของ “ความว่าง” หายใจเข้า ฉันเป็นดังความว่าง หายใจออก ฉันเป็นอิสระ (ความว่าง/อิสระ) ความว่างในที่นี้ หมายถึง พื้นที่ว่างในหัวใจและพื้นที่ว่างรายล้อมเรา เมื่อเรารู้สึกเป็นอิสระ เราจะมีพื้นที่มากมายแบ่งปันอยู่อื่น เราจะพร้อมที่จะให้พื้นที่กับผู้อื่น โดยเฉพาะบุคคลที่เรารัก
หลายครั้งความรักของเรามักเป็นกรงขัง ฉะนั้นเมื่อเรารักใครสักคน เราต้องคอยดูอยู่เสมอว่า เราได้ให้ที่ว่างแก่เขามากพอหรือไม่ อย่าทำให้ความรักของเธอกลายเป็นกรงขัง

เมล็ดพันธุ์ในตัวเรา
          ในจิตใจของเรามีซับซ้อน ซึ่งแบ่งได้คร่าวๆ เป็น 2 ชั้นคือ จิตสำนึก และ จิตใต้สำนึก จิตสำนึกเป็นดั่งห้องรับแขก จิตใต้สำนึกเป็นดั่งใต้ถุนบ้าน ภายในใต้ถุนบ้านหรือจิตใต้สำนึกมีเมล็ดพันธุ์ของอารมณ์มากมายทั้งในแง่ดีและไม่ดี เติบโตผ่านประสบการณ์ การเลี้ยงดู และส่งทอดผ่านบรรพบุรุษ
          อารมณ์นั้นเกิดจากการประกอบของจิต หรือ จิตสังขาร จิตใต้สำนึกจะจดจำสิ่งที่เกิดบนจิตสำนึกได้ เราควรฝึกสติอยู่เสมอเพื่อที่เมล็ดพันธุ์แห่งสติเข้มแข็ง เมื่ออารมณ์ในแง่ลบเกิดขึ้น เราก็จะเชื้อเชิญให้เมล็ดพันธุ์แห่งสติขึ้นมาโอบอุ้ม เสมือนแม่ที่อุ้มลูก
          คนที่ไม่เคยฝึกปฏิบัติย่อมไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร และพยายามที่จะกั้นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่พึงพอใจให้ขึ้นมาจากจิตใต้สำนึก โดยทำสิ่งต่างๆ เช่น หาหนังสือพิมพ์มาอ่าน ฟังแพลง ดูโทรทัศน์หรือขับรถไปข้างนอก การบริโภคสิ่งต่างๆ ด้วยความไม่มีสติเช่นนี้รถน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความอยาก ความโกรธ ความรุนแรง การบริโภคเช่นนี้ยิ่งทำให้จิตใจของเราแย่ขึ้นไปอีก
          การทำเช่นนี้เป็นการปิดวงจรของจิต ทำให้เกิดความเศร้าซึม โรคจิต หรือ โรคทางกาย สาเหตุที่เราป่วยกาย ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเราไม่รู้จักวิธีการดูแลจิตใจของเรานี่เอง
          ลมหายใจช่วยให้เราสามารถทำให้เราตระหนักรู้ และเอาความปิดกั้นนั้นออก เมื่อเราเกิดอารมณ์เหล่านั้น เราก็สามารถเชื้อเชิญลมหายใจแห่งสติมาโอบอุ้มความรู้สึกเหล่านั้น เมื่อความโกรธได้อาบน้ำแห่งสติ สภาพแห่งจิตใจของเราจะดีขึ้น
          พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์แนะนำให้เราฝึกปฏิบัติ เพื่อเป็นการดูแลจิตใต้สำนึกของเราดังต่อไปนี้
1.          บริโภคอย่างมีสติ หลีกเลี่ยงการรดน้ำเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดี
2.          สร้างพลังแห่งสติให้เข้มแข็ง
3.          ไม่เก็บกดอารมณ์ของเรา
4.          อนุญาตให้อารมณ์ของเราขึ้นมา พร้อมโอบรับด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งสติ
5.          รดน้ำเมล็ดพันธุ์ที่ดีๆ เช่น การฟังบรรยายธรรม บริโภคและสัมผัสสิ่งที่ดีงาม


ประสานรอยร้าว ความกลัวและความรุนแรงในภาคใต้
พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ของไทยให้ทุกฝ่ายมาร่วมนั่งพูดจากันอย่างสันติ เพื่อบรรเทาความขัดแย้งและระแวงสงสัยในกันและกัน โดยให้กลุ่มดังกล่าวมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความกลัว ความระแวงสงสัย ความเจ็บปวดต่างๆ พร้อมทั้งต้อง “ฟังอย่างลึกซึ้ง”
ท่านแนะนำให้ รัฐบาลไทยเชิญผู้มีปัญญาในสังคมทั้งหมด ผู้แทนและเชื้อเชิญทุกฝ่ายในความขัดแย้งนี้มา ฟังกันอย่างลึกซึ้ง ด้วยความเมตตากรุณา เพื่อให้รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีความโกรธแค้นชิงชังและสงสัยคลางแคลงเพราะอะไร แลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจกัน
จากการฟังเช่นนี้เอง เราจะตระหนักว่า เราเองก็ได้ทำอะไรผิดพลาดเช่นกัน เราควรใช้โอกาสนี้ในการขอโทษและสัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก เพื่อสมานไมตรีที่ดีต่อกัน

เริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์
วิธีเริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์ หรือ Beginning Anew คือ วิธีการดูแลรักษา และสมานความสัมพันธ์ที่ขัดแย้ง ไม่เข้าใจกัน
“การเริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์” คือ วิถีทางในการดูแลความรู้สึกของกันและกัน ด้วยการมองและรับฟังกันและกันอย่างลึกซึ้ง ด้วยสายตาแห่งสติและความรัก
การเริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นด้วยการหว่านวาจาแห่งรัก รดน้ำดอกไม้แห่งการชื่นชมจากใจจริง บอกเล่าความทุกข์ในใจ แบ่งปันความเจ็บปวดและขอความช่วยเหลือจากเพื่อน การกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดความเข้าใจและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง
เราจะร่วมเรียนรู้วิธีการ ขั้นตอน การเริ่มต้นใหม่ ในความสัมพันธ์ในครอบครัว หมู่เพื่อน ในที่ทำงาน หรือแม้แต่ตัวเราเอง

วิธีจัดการความโกรธ
          เมื่อเราโกรธใครคนหนึ่งสิ่งที่พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ได้แนะนำคือการกลับมาตามลมหายใจ เชื้อเชิญพลังแห่งสติขึ้นมาโอบอุ้มแห่งความโกรธ เมื่อเราสงบขึ้น ขอให้เราพยายามสื่อสารกับคนที่เราโกรธด้วยข้อความที่เต็มไปด้วยสันติ พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ได้แนะนำสามประโยคหลักในการประสานความรู้สึกและความสัมพันธ์ดังต่อไปนี้
1.          ที่รักฉันกำลังโกรธ ฉันอยากให้เธอรู้
2.          ฉันพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว
3.          กรุณาช่วยฉันด้วย และกรุณาอย่าทำอย่างนี้อีก
การทำเช่นนี้เป็นการบอกให้คนทั้งคู่ ทั้งผู้ที่โกรธและทำให้โกรธได้มองอย่างลึกซึ้งในตัวเองและอีกฝ่าย ทั้งสองฝ่ายจะมองอย่างลึกซึ้งว่าได้ทำอะไรกับอีกฝ่ายและพยายามปรับปรุงพฤติกรรม การสื่อสารเช่นนี้ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น เราควรบ่มเพาะวาจาแห่งรักและฟังกันอย่างลึกซึ้งเพื่อดูแลความสัมพันธ์ต่อไป

ข้อฝึกอบรมสติ ๕ ประการ
ข้อฝึกอบรมสติ ๕ ประการ หรือ ศีล ๕ ประการที่เรารู้จักกันดี ท่านติช นัท ฮันห์ได้นำศีล ๕ มาตีความใหม่ ให้มีเนื้อหาร่วมสมัย เข้ากับสภาวการณ์สังคมปัจจุบัน โดยมีมิติที่กว้าง ลึก ตระหนักรู้และเอาใจใส่ในทุกกระทำของชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นข้อฝึกอบรมสติข้อ ๑ ที่ไม่เพียงแต่ห้ามการทำลายชีวิต แต่ยังหมายถึงการปกป้องชีวิตและธรรมชาติ
ข้อ ๒ ซึ่งคือการไม่ลักทรัพย์ ท่านได้หมายรวมไปถึงการตระหนักรู้ถึงความอยุติธรรมทางสังคมและจิตใจที่พร้อมจะแบ่งปัน
ข้อ ๓ ไม่ประพฤติผิดในกาม ที่เน้นย้ำความซื่อสัตย์และเคารพในพันธะสัญญาของคู่สมรส การไม่ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
ข้อ ๔ คือการตั้งมั่นที่จะพูดความจริง ไม่พูดเท็จ และยังรวมถึงการบ่มเพาะนิสัยการพูดถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความมั่นใจ ความสุข และความหวัง
สำหรับข้อสุดท้ายที่เป็นข้อห้ามการดื่มสุราและอบายมุข ท่านได้ขยายหมุดหมายไปถึงการละเว้น “การบริโภค” ทุกประเภทที่ไม่ถนอมร่างกายและจิตวิญญาณ ท่าน ติช นัท ฮันห์ ยังหมายถึง การผลิตและบริโภคข้อมูล ข่าวสาร หรือสื่อบางประเภททีทำร้าย ทำลายจิตสำนึกที่ดีด้วย
ข้อฝึกอบรมสติ ๕ ประการจึงไม่ใช้ “ข้อห้าม” แต่คือการตระหนักรู้และเอาใจใส่ต่อการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง

พุทธศาสนาสมสมัย
เราควรจะทำให้พุทธศาสนาให้ใหม่อยู่เสมอ ค้นคว้าวิธีการใหม่ๆ ในการนำเสนอพุทธศาสนา เพื่อให้เข้ากับสมัยใหม่ กับคนรุ่นใหม่ เราควรจะอธิบายคำสอนที่ง่ายและเป็นรูปธรรม
คนรุ่นใหม่ ไม่เข้าวัดอีกแล้ว เพราะเราไม่ได้ทำพุทธศาสนาให้ใหม่ เราต้องทำให้พุทธศาสนาให้น่าสนใจ และมองให้ลึกซึ้งในคำสอนของพุทธองค์
การปฏิบัติควรนำมาซึ่งความสมานฉันท์ สงบ สันติ และความสุข พระพุทธเจ้ากล่าวว่าพระธรรมนั้นมีความงามในขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย เราต้องใช้ความพยายามที่จะใช้ปัญญาไหวพริบ ความคิดสร้างสรรค์เพื่อทำให้พระธรรมเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

มองอย่างลึกซึ้ง : ไร้การเกิด ไร้การตาย
          เมื่อเรามองอย่างลึกซึ้งในสรรพสิ่ง จะพบว่าไม่มีการเกิด หรือการดับ แต่เป็นการสืบเนื่อง ดั่งเช่นเมฆ เมื่อมองอย่างลึกซึ้ง เราอาจถามว่า ก้อนเมฆมาจากไหน และจะไปไหนเมื่อตายแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเราและก้อนเมฆคืออะไร?
          ก้อนเมฆได้เกิดมาก่อนจะเป็นก้อนเมฆ เคยเป็น ฝน หิมะ ตอนนี้กลายเป็นน้ำชาในมือเรา และกำลังกลายเป็นคำพูดบรรยายธรรม ฉะนั้นการเกิด การตายนั้นหามีไม่ แต่เป็นการสืบเนื่องของชีวิต
          เช่นเดียวกับตัวเราเอง ก่อนที่เราจะเกิด เราอยู่ในครรภ์ของมารดามาก่อน เราอาจบอกว่าเราเกิดเมื่อปฏิสนธิ แต่เราอาจถามว่าเราอยู่มาก่อนนั้นหรือเปล่า? ถ้ามองให้ลึกซึ้งเราดำรงอยู่ก่อนหน้านั้น ครึ่งหนึ่งอยู่ในพ่อ ครึ่งหนึ่งอยู่ในแม่ ฉะนั้นในขณะที่เราเกิด คือ ช่วงขณะแห่งการสืบเนื่อง
          ความคิดว่ามีการเกิด การตาย เป็นความจริงจากการสมมุติความจริงขึ้น แต่หากเรามองอย่างลึกซึ้งเราจะเห็นความจริงสูงสุด คือ ธรรมชาติของการไร้การเกิดและการตาย หรือ นิพพาน

 

มองอย่างลึกซึ้ง  "ไร้การเกิด"

            ไร้การก่อ

             ขอบคุณนะครับที่นำมาให้อ่าน ผมได้รับสิ่งที่ดีที่สุดวันหนึ่งของชีวิตทีเดียว

thank krub kun
P

 

 "ก่อการร้าย" เป็นการกระทำที่ ไร้การก่อประโยชน์  ไร้การเกิดบุญ เกิดกุศล ซึ่งไม่มีทางที่จะได้ไปอยู่กับพระเจ้า หรือขึ้นสวรรค์แน่นอน
"ไร้การก่อ"  เป็นวิธีการที่เราชาวพุทธ ต้องร่วมมือกันกระทำครับร่วมมือกันเผยแพร่  เพื่อนำสันติภาพและความสงบสุขมาสู่บ้านและแผ่นดิน(Earth)ของเรา
 

"Real Battles For  Real Freedom" 

"ฮินดูไม่อยากตาย พุทธไม่อยากเกิด อิสลามและคริสต์อยากขึ้นสวรรค์ "

ปาฏิหารย์การตื่นอยู่เสมอ...

ไม่น่าเชื่อว่าหลวงปู่จะอายุ 80 แล้ว

 

เด็กน้อย...กับการภาวนา
บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขให้กับเด็กๆ

บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขให้กับเด็กๆ ตามแนวทางหมู่บ้านพลัม

พรรัตน์  วชิราชัย
สำนักข่าวบางบ๊วย

ทุกครั้งที่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ขึ้นบรรยายธรรม ท่านมักเชื้อเชิญเด็กๆ มานั่งด้านหน้าเสมอ ท่านบอกว่าเด็กๆ คือความสดชื่น คือความแจ่มใส คือดอกไม้ที่บานอยู่ทุกขณะ อีกด้านหนึ่งท่านอยากให้เด็กๆ ได้มีโอกาสสัมผัสธรรมะตั้งแต่ยังเล็ก


บทบรรยายธรรมที่ท่านกล่าวกับเด็กๆ จึงเปี่ยมเป็นด้วยความรัก ความเอ็นดู และ เป็นรูปธรรม ซึ่งเด็กๆ สามารถนำไปใช้ต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการภาวนากับก้อนกรวด การเชิญระฆังแห่งสติ การมองอย่างลึกซึ้งไปในผลส้ม ฯลฯ


หมดบรรยายธรรมช่วงแรก เด็กๆ จะเดินกันเป็นแถวเพื่อออกนอกห้องประชุม พร้อมวิ่งเล่นไปทั่ว บ้างนั่งเล่นของเล่น กินขนม คุยเล่มหยอกหัว ภิกษุและภิกษุณีนั้นก็ช่วยดูแลดอกไม้น้อยๆ ไม่ห่างตา
ซนอย่างนี้ พอหลวงพี่ชวนมานั่งล้อมวงและเชิญระฆังร่วมกัน เสียงระฆังน้อยๆ ก็ก้องกังวานใสไม่แพ้ใคร
ฟังสิๆ เสียงระฆังอันประเสริฐ นำฉันมาสู่บ้านที่แท้จริง

เปิดกว้างดั่งสายน้ำฉ่ำเย็น
คุณแม่โม่ย หรือ นางสุวรรณา โชคประจักษ์ชัด อุชุคตานนท์ ซึ่งพาลูกสาว “น้องพลัม” และ ลูกชาย “น้องปราณ” มางานภาวนา “สู่ศานติสมานฉันท์”  23-27 พค. 2550 ด้วย เอ่ยปากกับเราว่า “หมู่บ้านพลัม” เป็นสถานปฏิบัติธรรมแห่งเดียวที่เธอสามารถพาครอบครัวทั้งครอบครัวและเด็กๆ มาด้วยได้


สำหรับคนทั่วไปสถานปฏิบัติธรรมนั้นคือสถานที่ที่ต้องการความสงบ การพาเด็กมาด้วยเป็นเรื่องไม่ควร และน่ารำคาญ ไหนจะเสียงร้องไห้ของเด็กน้อย ไหนจะงอแงเอานู้นเอานี่ไม่เลิก


“แต่มาที่นี้มันง่ายมาก เราได้ปฏิบัติ ลูกๆ ก็ได้ปฏิบัติด้วย มีบรรยากาศสนับสนุนเรา สนับสนุนลูก หลวงปู่ท่านให้ความสำคัญกับเด็กๆ เปิดให้เด็กและคนหนุ่มสาวได้มีโอกาสก่อนเสมอ โปรแกรมของเด็กๆ ของหมู่บ้านก็เข้าใจง่ายและสนุกสนาน”


การพาเด็กๆ มาด้วย นอกจากจะเป็นการพาครอบครัวมาปฏิบัติธรรมร่วมกัน สำหรับคุณแม่สุวรรณา เธอบอกว่า มันเป็นการพาเด็กๆ มาพบสิ่งแวดล้อมที่ดี เต็มไปด้วยธรรมชาติและผู้คนที่ยิ้มแย้ม มีความสุข พวกเขาต่างมาฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงภายใน เด็กๆ ย่อมซึมซับและบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีงามโดยไม่ต้องผ่านการพร่ำบอก


“เด็กๆ มักถามว่าเมื่อไหร่จะไปอีกๆ เพราะมาแล้วสนุก ได้เจอเพื่อน ได้ร้องเพลง ได้เจอคนใจดี ฟังเสียงระฆังแล้วหยุดอยู่กับลมหายใจ”


น้องพลัม รักษิณา อุชุคตานนท์ เอ่ยเสียงเจื้อยแจ้วๆ ว่าเธอชอบมาที่นี้
“สนุกดีค่ะ หนูมีเพื่อนเยอะเลย” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
คุณแม่เล่าให้เราฟังว่า เธอเคยเดินทางไปหมู่บ้านพลัมมาก่อน ในช่วง Summer Retreat นั้นหมู่บ้านพลัมจะจัดงานภาวนาสำหรับคนหนุ่มสาว เด็กๆ และวัยรุ่นจากหลากหลายประเทศจะมารวมกันภาวนาและจัดงานรื่นเริงในวันไหว้พระจันทร์ เพื่อระลึกถึงรากเหง้าของตนเองและครอบครัว ณ เวลานั้นบรรยากาศช่างเปี่ยมล้นไปด้วยความสดใสและความสุขของครอบครัว


“พี่ไม่เคยเห็นสถานปฏิบัติธรรมที่ไหนที่เต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวเช่นนี้มาก่อน”

การภาวนากับเด็กๆ
เด็กๆ ซน และไม่อยู่นิ่ง แถมพวกเขายังมาจากคนชาติ คนละภาษา บ้างพูดไทย อังกฤษ อินเดีย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา พวกเขาเล่นตามภาษาโดยไม่คำนึงถึงภาษาเท่าไหร่นัก แต่การที่จะทำให้เขานั่งลงทำสมาธิ นั่งฟังบรรยายธรรม หรือเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะได้  เป็นเรื่องยากยิ่งกว่าจับปูใส่กระด้ง


แต่สำหรับภิกษุณีรัตนกัลยา หรือ Sister Jewel หลวงพี่ที่คอยดูแลเด็กๆ อยู่เสมอ เธอกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของเด็ก และ เราทำธรรมะให้เป็นจริงจับต้องได้


“เด็กๆ เป็นธรรมชาติและซึมซับสิ่งที่เราสอนง่าย เพียงแต่เราชวนเขามาเป็นเพื่อน คุยกับเขา เล่นกับเขา  ฟังเขา เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการความร่วมมือจากเขา มันจะง่ายมาก เขาพร้อมที่จะฟัง”  หลวงพี่ตอบด้วยท่าทีใจดีมีเมตตา


ท่านบอกกับเราว่า คำสอนหลักของเด็กนั้นไม่ต่างกับผู้ใหญ่ คือ “การมีสติ” แต่วิธีการนั้นต่างออกไปเล็กน้อย ท่านจะไม่ให้เด็กๆ ทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งนานนัก แต่ปรับกิจกรรมตามธรรมชาติของเด็ก เปิดช่วงเวลาในการเล่น การทานขนม และแทรกกิจกรรมภาวนา การวาดรูป รวมทั้งการพูดคุยแลกเปลี่ยนให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็น เมื่อทำเช่นนี้เด็กๆ ก็จะไม่รู้สึกอึดอัด แต่จะรู้สึกสนุก เพลิดเพลิน และซึมซับสิ่งดีงามเหล่านี้ด้วยความเต็มใจ


สำหรับ “การนั่งสมาธิ” หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ได้เสนอแนะให้เด็กๆ “ภาวนากับก้อนกรวด” ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายและน่าสนใจมาก เริ่มจากเด็กๆ ควรมีถุงเผ้าเล็กๆ สำหรับเก็บก้อนกรวด 4 ก้อน เมื่อเราเริ่มต้นทำสมาธิ ให้หยิบถุงนี้ขึ้นมา และนั่งล้อมกันเป็นวงกลม เด็กคนหนึ่งจะเป็นผู้เชิญระฆัง 3 ครั้ง


เริ่มภาวนา ให้หยิบก้อนกรวดก้อนแรกขึ้นมาประสานไว้ในอุ้งมือ พร้อมกับให้ก้อนกรวดก้อนนี้เป็นตัวแทนของ “ดอกไม้” ตามลมหายใจ 3 ครั้ง หายใจเข้า ฉันเป็นดั่งดอกไม้ หายใจออก ฉันสดชื่น (ดอกไม้/สดชื่น) การภาวนาเช่นนี้เป็นการฟื้นฟูความสดชื่น แจ่มใส ความเป็นดอกไม้ในตัวเรา


          หลังจากภาวนาก้อนกรวดก้อนแรกเสร็จ เราหยิบก้อนกรวดก้อนที่สองขึ้นมา โดยให้มันเป็นตัวแทนของ “ภูเขา” คือความมั่นคงในตัวเรา หายใจเข้า ฉันเป็นดั่งขุนเขา หายใจออก ฉันมั่นคง (ขุนเขา/มั่นคง)


ก้อนกรวดก้อนที่ 3 เป็นตัวแทนของ “น้ำใส” คือ ความชัดเจน ไม่บิดเบือน เราจะภาวนาว่า หายใจเข้า ฉันเป็นดั่งน้ำใส หายใจออกฉันสะท้อนสิ่งต่างๆ ดั่งที่มันเป็น (น้ำใส/สะท้อน)


สำหรับก้อนกรวดก้อนสุดท้าย เป็นตัวแทนของ “ความว่าง” หายใจเข้า ฉันเป็นดังความว่าง หายใจออก ฉันเป็นอิสระ (ความว่าง/อิสระ)


การนั่งสมาธิเช่นนี้ทำให้สิ่งที่เราทำสมาธิได้ง่ายขึ้น เป็นการปฏิบัติที่สามารถสัมผัสจับต้องได้ และไม่เพียงแต่เด็กๆ เท่านั้น ผู้ใหญ่ก็ชอบการภาวนากับก้อนกรวดเช่นกัน


นอกจากการภาวนากับก้อนกรวด หมู่บ้านพลัมยังมีบทเพลงแห่งสติมากมายให้เด็กๆ ได้ขับร้อง หนึ่งในนั้นมีบทเพลงที่เป็นคำสอนหลักสำหรับเด็กๆ คือ “Two promises” ซึ่งว่าด้วยคำปฏิญาณที่จะบ่มเพาะความรัก ความเข้าใจกับผู้คน สรรพสัตว์ ต้นไม้ และ แร่ธาตุ


“I vow to develop understanding, In order to live peacefully with people,Animals, plants and minerals, Animals, plants and minerals. Mmm ahh, mmm, ahh, mmm ahh.
I vow to develop my compassion, In order to protect the lives of people, Animals, plants and minerals, Animals, plants and minerals. Mmm ahh, mmm, ahh, mmm ahh.”


หลวงพี่รัตนกัลยา กล่าวกับเราต่อไปว่า ท่านมักชักชวนเด็กๆ บ่มเพาะความเข้าใจผ่านหลายวิถีทาง นอกจากร้องเพลงภาวนา ท่านจะชวนเด็กๆ แลกเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การมองลึกลงไปในผลส้มที่กำลังจะทาน ท่านตั้งคำถามว่า ผลส้มมีอายุกี่ปี เด็กๆ มีคำตอบมากมายตั้งแต่ 1 ปี 20 ปี 50 ปี บ้างว่าไปถึง 80 ปี ทว่าไม่มีคำตอบไหนที่ผิด แม้ว่าเวลาในการปลูกต้นส้มหนึ่งต้นนั้นใช้เวลาเพียง 3 เดือน แต่ผลส้มนั้นเคยดำรงอยู่มานานแล้วก่อนหน้านี้


หากเราลองพิจารณาดู ผลส้มนั้นใช้กว่า 3 เดือน กว่าจะมาถึงมือเรา แต่เมื่อมาอยู่ในมือเรา เรากลับใช้เวลาเพียงนาทีเดียวทานส้มหมดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ด้วยเหตุนี้ท่านจึงชักชวนให้เด็กๆ รับประทานส้มอย่างมีสติ พร้อมทั้งขอบคุณเหตุปัจจัยมากมายที่ทำให้เกิดผลส้มผลนี้ขึ้นมา


“ส้มเกิดจากน้ำ ดิน คนสวน พระอาทิตย์” เด็กน้อยคนหนึ่งตอบเสียงใส
เมื่อถามหลวงพี่ว่า สอนเด็ก แล้วเด็กสอนอะไรหลวงพี่บ้าง หลวงพี่ตอบว่า เด็กๆ ฉลาด และซื่อตรงมาก หากหลวงพี่เผลอไม่มีสติ หรือสอนสิ่งใดที่เป็นเพียงความคิด เป็นนามธรรมมากเกินไป พวกเขาจะสะท้อนกลับทันที ทำให้หลวงพี่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองหลายต่อหลายครั้ง
“พวกเขาช่วยเตือนหลวงพี่ให้กลับมาสู่ความจริง และ ซื่อสัตย์กับทุกสิ่งมากขึ้น” หลวงพี่รัตนกัลยากล่าว

พุทธศาสนากับคนรุ่นใหม่
นอกจากภิกษุ ภิกษุณีที่เป็นผู้ดูแลเด็กๆ แล้ว พี่สาวพี่ชายรุ่นโตหน่อย มักมาช่วยดูแลน้องๆ อยู่เสมอ
อาวินท์ ชัยสัมฤทธิโชค นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 สาธิตจุฬาฯ อายุ 14 ปี เขาเป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่นที่คลุกคลีกับวัดและพระตั้งแต่ยังเด็ก เขาเล่าว่าเขาเคยไปวัดป่ามหาวัน จังหวัดชัยภูมิ อาสาไปเป็นเด็กวัดอยู่ร่วมสัปดาห์ อีกทั้งยังเคยมาปฏิบัติภาวนาหมู่บ้านพลัมเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว รวมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2
อาวินท์เล่าให้ฟังว่าตอนนั้นเขาเป็นเด็กคนเดียวที่ไปงานภาวนา เขาสัมผัสความสนุกสนานและผู้ใหญ่ใจดี แม้ว่าโปรแกรมการอบรมภาวนานั้นจะไม่ต่างจากผู้ใหญ่เลย แต่เขาก็ไม่เบื่อ


แต่สำหรับเด็กวัยเดียวกัน “ธรรมะ” เป็นเรื่องที่ดูเชยเสียจนเพื่อนๆ ล้อ อาวินท์จึงเลือกที่จะแบ่งปันเรื่องราวเหล่านี้เฉพาะกับเพื่อนที่สนิทเท่านั้น
 “ผมค่อนข้างเป็นคนเซนซิทิฟ ร้องไห้ โกรธ เสียใจง่าย มางานภาวนาแล้วผมสามารถดูแลอารมณ์ได้มากขึ้น ใจเย็นขึ้น แล้วก็สนุก เพราะได้เจอคนที่คล้ายๆ กัน”


สำหรับงานภาวนาคราวนี้ หนุ่มน้อยมีความตั้งใจมาเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กๆ เขาแลกเปลี่ยนว่า เขามีความสุขมาก แม้ไม่ค่อยมีโอกาสได้ฟังบรรยายธรรมจากหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เพราะต้องดูแลน้องๆ ก็ไม่รู้สึกเสียใจ ในทางกลับกัน เขารู้สึกเป็นสุข สดใส และสนุกสนานเมื่ออยู่กับน้องๆ และเพื่อนวัยเดียวกัน
“สนุกดีครับ คอยดูแลเด็ก เด็กใสดี ผมชอบ แถมได้ฟังเรื่องที่หลวงพี่ท่านสอนให้เด็กๆ ฟังด้วย ง่ายและสนุกดี”
          สำหรับ ศุภาพิชญ์ รุ่งเรืองผล หรือ น้องปุ่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยอายุ 15 ปี เธอดูเป็นเด็กมาดมั่น ซอยผมสั้นทันสมัย สวมแว่นตากรอบดำ ปุ่นเป็นหนึ่งในอาสาสมัครพี่เลี้ยงเด็ก นอกจากนี้เธอยังเป็นชาวคริสเตียน และ มาภาวนาตามแนวทางหมู่บ้านพลัมแล้วถึง 2 ครั้ง
          เมื่อสอบถามถึงความต่างในเรื่องศาสนา น้องปุ่นตอบอย่างชัดเจนว่า
“หนูไม่รู้สึกว่ามันเป็นศาสนานะ แต่เป็นวิธีทำอย่างไรให้เรามีความสุขกับปัจจุบัน หนูเป็นคริสต์ หนูสวดมนต์ไม่ได้ แต่มาภาวนาแบบนี้หนูไม่ต้องสวดมนต์ก็มาเรียนรู้ได้ ส่วนวิธีการภาวนาก็ง่าย ไม่เคร่งครัดอะไรมาก”


นอกจากนี้สิ่งที่เธอสัมผัสได้อย่างแท้จริง คือ พระภิกษุและพระภิกษุณีที่พบนั้นใจดี เปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา
“หนูรู้สึกว่าพระที่นี้เป็นคนธรรมดาที่ใจดี แต่สำหรับพระไทย สิ่งที่เราสัมผัส คือ เหมือนท่านไม่ใช่คนธรรมดา ท่านเป็นบุคคลอีกชั้นวรรณะที่ชวนทำตัวไม่ถูก”


อีกหนึ่งพี่ใหญ่ที่ดูแลเด็กๆ คือ ญี่ปุ่น หรือ นางสาวศรินลักษณ์  พิมพ์ลิขิตศักดิ์ เธอพึ่งเรียนจบคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์มาหมาดๆ และเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา เธอได้มีโอกาสไปภาวนาและท่องเที่ยวกับคุณแม่ที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส เธอเล่าว่าประสบการณ์ 3 อาทิตย์ที่นั้น เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขและผ่อนคลายมาก เธอจึงตัดสินใจมาร่วมงานภาวนาครั้งนี้อีก แต่เมื่อถูกวานให้มาช่วยดูแลเด็ก เธอก็ไม่ปฏิเสธ


“หนูเป็นคนชอบดูแลเด็กอยู่แล้ว แต่ไม่เคยดูเด็กเยอะขนาดนี้มาก่อน เหนื่อยแต่ก็สนุกดีค่ะ” ญี่ปุ่นเล่ายิ้มๆ
เธอแลกเปลี่ยนว่าการปฏิบัติตามแนวทางหมู่บ้านพลัมนั้นง่าย และ เปิดกว้างให้คนทุกวัฒนธรรมจริงๆ เหมาะกับคนรุ่นใหม่ เพราะไม่มีพิธีการมากนัก
“พุทธศาสนาของเรามักยากเกินไป สำหรับคนไม่ได้ปฏิบัติจะคิดว่ามันคือการใส่บาตร ทำบุญ เข้าวัด เป็นเรื่องของกรรม เป็นเรื่องของเวร แต่พุทธศาสนาของหมู่บ้านพลัมจะชัดเจนว่า แค่คุณมีสติก็พอ มีความสุขในปัจจุบัน ญี่ปุ่นไม่ได้มองว่ามันเป็นศาสนา แต่เป็นแนวทางปฏิบัติ”

ในบทบรรยายธรรมวันสุดท้ายของงานภาวนา “สู่ศานติสมานฉันท์” หลวงปู่ติช นัท ฮันห์กล่าวกับผู้ร่วมปฏิบัติว่า
“เราควรจะทำให้พุทธศาสนาให้ใหม่อยู่เสมอ โดยค้นคว้าวิธีการใหม่ๆ ในการนำเสนอพุทธศาสนา เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและคนรุ่นใหม่
คนรุ่นใหม่ ไม่เข้าวัดอีกแล้ว เพราะเราไม่ได้ทำพุทธศาสนาให้ใหม่ เราต้องทำให้พุทธศาสนาให้น่าสนใจ สร้างสรรค์ ง่ายและเป็นรูปธรรม พร้อมกับมองให้ลึกซึ้งในคำสอนของพุทธองค์”
คำพูดนี้จึงคล้ายเป็นการเตือน ให้เรากลับมามองพุทธศาสนา ศาสนาประจำชาติ ด้วยสายตาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

“ชาวพุทธเปรียบดั่งมือขวา ชาวมุสลิมเปรียบดั่งมือซ้าย เราเป็นดั่งพี่น้องกัน”
ปาฐกถาธรรม “สู่ศานติสมานฉันท์: ความรักอันไม่แบ่งแยก”
ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 18.00 น. – 21.00 น.

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2550 เวลา 18.00 น. – 21.00 น. ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ได้พูดปาฐกถาธรรมในหัวข้อ  “สู่ศานติสมานฉันท์: ความรักอันไม่แบ่งแยก” ท่านได้พูดถึงปัญหาการก่อการร้ายและความรุนแรงในภาคใต้ ทางออกอย่างสันติวิธีเดียว คือ การฟังอย่างลึกซึ้งและสร้างความเข้าใจระหว่างกันกับเพื่อนชาวมุสลิม

“ชาวพุทธเปรียบดั่งมือขวา ชาวมุสลิมเปรียบดั่งมือซ้าย เราเป็นดั่งพี่น้องกัน หากเราทำให้อีกฝ่ายทุก เราก็ย่อมเป็นทุกข์ด้วย” พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์กล่าว

ท่านกล่าวต่อไปว่า ในอดีตนั้นชาวพุทธและชาวมุสลิมเคยดูแลและอยู่ร่วมกันกับอย่างสันติสุขได้ ปัจจุบันและในอนาคตก็ย่อมเป็นไปได้เช่นกัน

“การที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ มิใช่เพราะเราต่างเป็นชาวพุทธเหมือนกัน ฉันเห็นชาวพุทธมากมายมิได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่การอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสันตินั้นมีรากฐานจากความเข้าใจและความรัก หากปราศความเข้าใจ ย่อมไม่มีความรักความเมตตาต่อกัน ความรักความเมตตาต่อกัน มีพื้นฐานจาก  การฝึกปฏิบัติ และ ความเข้าใจ”

ท่านให้ความคิดเห็นว่า พี่น้องชาวมุลสิมในประเทศไทยอาจได้ข้อมูลที่ผิด จึงทำให้พวกเขามีความโกรธ ความกลัว ความไม่เข้าใจ พวกเขาได้รับการรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรง ความโกรธ และความกลัวมากเกินไป ในขณะที่เมล็ดพันธุ์แห่งความสันติ ความเป็นพี่น้อง ความรัก ความเข้าใจ ไม่ได้รับการรดน้ำอย่างเพียงพอ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง ใช้วาจาแห่งสติ และเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์

“เราควรจัดให้มีฟอรั่มของชาวพุทธ ชาวมุสลิม โดยเชิญทุกฝ่าย รวมทั้งคนที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนมาร่วมงาน เพื่อให้เขามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง ความกลัว ความโกรธ ความเศร้า และความคิดของเขา เราต้องมีความสามารถในการฟังอย่างลึกซึ้ง ในขณะที่ฟังเราอาจตระหนักว่าเราได้ทำสิ่งที่ไม่ดีมากมาย เราสามารถกล่าวขอโทษได้ การทำเช่นนี้ทำให้ความกลัว ความโกรธ ความรุนแรง ความคิดเห็นที่ผิดค่อยๆ คลายออกทีละเล็กทีละน้อย”

ท่านกล่าวต่อไปในประเด็นการก่อการร้ายว่า การก่อการร้ายนั้นมีรากฐานจาก “ความคิดเห็นที่ผิด” วิธีการถอนรากความคิดเห็นที่ผิด คือ การฟังอย่างลึกซึ้งและการใช้วาจาที่มีสติ หาใช่การใช้ลูกระเบิด

ฉะนั้นยิ่งมีการฆ่าฟันมากขึ้นเท่าไหร่ การก่อการร้ายก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

“สงครามนั้นไม่เคยสัมฤทธิ์ผล” ท่านกล่าว

หลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 911 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาฯ พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ได้กล่าวบรรยายธรรม เตือนชาวอเมริกาว่า

“อย่าปล่อยให้ความโกรธและความกลัว กลายเป็นการกระทำอันรุนแรง แต่ขอให้เธอกลับมาตามลมหายใจ เดินอย่างมีสติ ตระหนักรู้ถึงความโกรธ โอบอุ้มความโกรธนั้น และสร้างสันติภายในตนเอง พร้อมกลับมาถามตนเองว่า เหตุใดพวกเขาจึงทำกับเราเช่นนี้ เราได้ทำอะไรให้เขารู้สึกว่าเราอยากจะทำลายเขาหรือไม่?”

 แต่ธรรมะบรรยายของท่านก็หาได้ส่งไปถึงชาวอเมริกันทุกคน หลังจากนั้นอเมริกันและอิรักได้ทำสงครามกัน และพวกเขาต่างทุกข์ทรมาน

“ฉันอยากให้ชาวพุทธและชาวมุสลิมเรียนรู้ความทุกข์จากสงครามนี้ และไม่พยายามเดินตามเส้นทางดังกล่าว”

เรื่องเล่าจากพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์
ท่านเล่าว่าที่หมู่บ้านพลัมเองเคยจัดงานภาวนาให้ชาวยิวและชาวปาเลสไตน์ ในช่วงแรกนั้นเป็นการยากที่ทั้งสองฝ่ายจะอยู่ร่วมกัน พวกเขามีความกลัว ความโกรธ ความระแวงสงสัย ความไม่เข้าใจในกันและกัน เราให้เขาฝึกเดินอย่างมีสติ นั่งสมาธิ ตระหนักถึงความทุกข์ ความเจ็บปวดของตนเองและผู้อื่น
เมื่อถึงอาทิตย์ที่ 2 หมู่บ้านพลัมได้จัดให้มีช่วงเวลา “การตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้งและวาจาแห่งสติ” เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดและฟังความความกลัว ความโกรธ ความระแวงสงสัย ความไม่เข้าใจของกันและกัน การฟังเช่นนี้ทำให้อีกฝ่ายมีโอกาสได้พูดและมีความทุกข์น้อยลง แม้ว่าคำพูดของเขาอาจจะเต็มไปด้วยความเข้าใจที่ผิด แต่ก็ขอให้เราค่อยๆ อธิบายสิ่งที่ถูกให้เขาเข้าใจ วันละเล็กวันละน้อย
หลังจากนั้น 1 อาทิตย์ ชาวยิวและชาวปาเลสไตน์ มีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ในที่สุดพวกเขาสามารถเดินจับมือกันได้ ทานอาหารร่วมกัน พูดคุย และออกมาแสดงผลการภาวนา หลังจากงานภาวนาพวกเขากลับไปทำอบรมและแลกเปลี่ยนเช่นนี้ให้เพื่อนในประเทศพวกเขา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท