ศิลปะกับภูมิปัญญาท้องถิ่น


เรียนรู้คนละอย่าง นำเอามาสร้างองค์รวม

ศิลปะกับภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

           ศิลปะ(Art)มีความหมายที่สำคัญยิ่งกับชีวิตของมนุษย์ได้มีผู้ให้คำจำกัดความเอาไว้หลายอย่าง แต่โดยสรุป ศิลปะคือผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เพื่อประโยชน์และความงาม คำว่าประโยชน์เป็นคำที่กว้างและคำว่าศิลปะก็สามารถที่จะครอบคลุมคำ ๆ นี้ได้จริง ๆเพราะว่าในชีวิตของมนุษย์เราเกี่ยวข้องอยู่กับศิลปะตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นลืมตาขึ้นจนถึงวันที่ดวงตาทั้ง2 ข้างต้องหลับสนิทความงดงามที่ปรากฏขึ้นได้ในโลกนี้ส่วนแล้วแต่มีที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ถึงแม้ว่าในยุคนี้จะไม่มีผู้คนจำนวนหมื่นแสนคนมารวมพลังกันสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ให้ตื่นตาและเพิ่มศรัทธาได้อย่างในอดีตก็ตามแต่เราก็ยังมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่ฝังลึกอยู่ในหัวใจของกลุ่มคนตามท้องถิ่นต่างๆ ในสังคมน้อยใหญ่อีกเป็นจำนวนมากในเรื่องของขนาดใหญ่โตมโหฬารอาจจะไม่มีให้เห็นอีกหรืออาจจะมีก็ได้ แต่ในความประทับใจ (สุมทรียะ) น่าจะยังคงมีต่อไป

           ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Wisdom)เป็นความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษได้แก่จากคนรุ่นหนึ่งส่งมายังคนอีกรุ่นหนึ่งเป็นทอด ๆ กันมาเช่นคนรุ่นปู่สอนความรู้ในเรื่องอาชีพของตนให้กับลูก (รุ่นพ่อ)และพ่อสอนความรู้ให้กับลูก (รุ่นปัจจุบัน)ด้วยการสั่งสมความรู้ที่อาจจะมาจากความใกล้ชิด อยู่ในครอบครัวเดียวกันได้เห็นแบบอย่างและได้ร่วมปฏิบัติงานตามวิถีชีวิต จึงเป็นการสั่งสม(สะสม) หรือรวบรวมเอาเข้าไว้ในชีวิตของคน ๆ หนึ่งอย่างช้า ๆและอย่างต่อเนื่อง และที่น่าภาคภูมิใจกับคนไทยก็คือบ้านเรามีผู้ที่ทรงคุณค่าทางความรู้ในเรื่องต่าง ๆเฉพาะทางอยู่เป็นจำนวนมาก รอคอยให้ลูก หลาน เหลน โหลนเข้ามาศึกษาหัวใจคนไทยคิดอย่างไรคงไม่อาจจะทายใจได้เพียงแต่คิดเสียดายความมีเสน่ห์แห่งปัญญาที่หลายด้านสูญหายไปจากแผ่นดินของเรานานแล้วและกำลังมีอีกหลายอย่างที่จะทยอยจากเราไปเพราะไม่มีคนไปรับการสืบทอดและขาดการเหลียวแล

           ผมดีใจที่สุดเมื่อมี พ.ร.บ.การศึกษากำหนดคำว่าภูมิปัญญาไทยภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้านเอาไว้ ในหมวด 4 มาตรา 27ในวงเล็บ 3 ว่า การจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยจะต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรมกระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องต่อไปนี้ (3) ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา ภูมิปัญญาไทยและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา

           การเรียน (Learning)พฤติกรรมที่แสดงถึงการเรียนรู้ จะต้องมี  3 ด้านแต่อาจจะเน้นไปในพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง หรือรวม ๆ ก็ได้ได้แก่

           1. ความรู้ (Knowledge)คือการจัดประสบการณ์ที่ได้รับ นำมาใช้ในการแก้ปัญหาได้ความรู้เมื่อได้เรียนรู้ก็จะเกิดความคิด สะสมอยู่ในสมอง ในตัวเราซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียนหรือความรู้เกิดขึ้นได้ทุกสถานการณ์

           2. ทักษะ หรือกระบวนการ (Process)เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากฝึก การปฏิบัติ เมื่อได้ฝึกทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆก็จะเกิดความรู้ความชำนาญในการสร้างสรรค์มากขึ้นเป็นความสามารถติดตัวผู้นั้นไปตลอดในบางคนเมื่อได้ฝึกฝนทักษะอย่างกว้างขวางในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดเป็นความสามารถโดดเด่นขึ้นมาได้

           3. เจตคติ (Attitude)ความรู้ในคุณค่า ค่านิยมที่ดี ความดีงามและความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นความรู้ที่ครอบคลุมภาพรวมของสังคมที่มองเห็นคุณค่าในอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

           เราจะคุ้นเคยอยู่กับพฤติกรรมการเรียนรู้ 3 ด้าน คือด้านพุทธิพิสัย(PSYCHOMOTORDOMAIN) ด้านทักษะพิสัย(COGNITIVEDOMAIN) และด้านจิตพิสัย(AFFECTIVEDOMAIN) นั่นเอง แต่มนุษย์อยู่ตัวคนเดียวไม้ได้ ในชีวิตจริงจะต้องพึ่งพาอาศัยกันกล่าวคือจะต้องอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมหรือมีการเชื่อมโยงกันเกี่ยวข้องกันดังนั้นการเรียนในปัจจุบันจึงต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นการเรียนในภาพรวมๆ เรียกว่า ความรู้แบบบูรณาการ (องค์รวม) หรือความสมบูรณ์มากกว่าการที่จะเรียนเพียงกลุ่มสาระเดียวหรือวิชาเดียว

           คำว่า บูรณาการ (Integrated)บางท่านมีความสามารถมากสามารถที่จะนำเอาสาระที่สอนไปคลุกเคล้าเข้ากับสาระอื่น ๆ ได้ถึง 8กลุ่มสาระแต่บางท่านอาจจะเชื่อมโยงด้วยตัวของท่านเองเพียงคนเดียวด้วยสาระที่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนเพียง2 สาระก็พอแล้ว (ถ้าได้ทำจริง) หรือคุณครู 2ท่านนำสาระการเรียนรู้ที่สัมพันธ์ในต่างกลุ่มสาระมาเชื่อมโยงกัน เป็นการรวมความรู้ ตัวอย่างเช่น

           - เรียนรู้อุปกรณ์การทดลองทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเสียงเพลงอีแซวหรือการแสดงพื้นบ้าน

           - เรียนรู้กีฬาศิลปะป้องกันตัวด้วยการฝึกกระบี่กระบองผสมผสานกับการขับเสภาและเพลงแหล่

           - เรียนรู้และปฏิบัติเรื่องสีลาที่งดงามด้วยการร้องเพลง วาดภาพและเต้นประกอบลีลาพร้อมกัน

           - เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยผลงานศิลปะ (วาดภาพ ปั้นออกแบบ แต่งกลอน ร้องเพลง ดนตรี  และการแสดงพื้นบ้านฯลฯ)

จะเห็นได้ว่าการนำเอาสาระที่มากกว่า1 สาระมาจัดการเรียนรู้ร่วมกันกับสาระอื่นในกลุ่มเดียวกันหรือต่างกลุ่มกันเป็นการลดภาระงานของนักเรียนและจะช่วยให้นักเรียนได้เห็นคุณค่าของชีวิตว่าในความเป็นจริง การใช้ความรู้ไม่ได้ใช้แยกกันเป็นรายวิชาหรือใช้เพียงกลุ่มสาระใดสาระหนึ่ง หากแต่ว่าจะต้องนำมาผสมผสานกันเชื่อมโยงกันตามโอกาสหรือสถานการณ์ต่าง ๆจึงจะเกิดความสมบูรณ์

           จากความสำคัญในสิ่งนี้ ทำให้ผมจัดทำหลักสูตรศิลปะ (เพิ่มเติม)ที่ตอบสนองการเรียนรู้แบบบูรณาการให้กับนักเรียนที่เลือกเรียนวิชาเพิ่มเติมได้เรียนรู้แบบองค์รวมแทนที่จะเรียนเรื่องการวาดภาพเพียงอย่างเดียวหรือเรียนรู้เรื่องของภูมิปัญญาเพียงอย่างเดียวในภาพของการเรียนรู้ วิชาเพิ่มเติมชั้น ม.1

รูปแบบในการจัดการเรียนรู้

1.ผู้เรียนได้เรียนรู้ เรื่องของภูมิปัญญาไทยมี 9-10 ด้านและสืบหาแหล่งที่อยู่ของภูมิปัญญาไทย (ในท้องถิ่น) ว่ามีอยู่ ณที่แห่งใดบ้าง

2.เลือกเรียนรู้ตามความสนใจ (สอบถาม ฝึกปฏิบัติฝึกซ้ำจนชำนาญหรือเป็นอาชีพมีรายได้)

3.วางแผนที่จะปฏิบัติงานตามแบบครูภูมิปัญญา (ปราชญ์ชาวบ้าน)ที่ตนสนใจในห้องเรียน

4.ลงมือปฏิบัติงานภูมิปัญญานั้น ๆตามที่ได้วางแผนเอาไว้อย่างมีความสุข

5.นำผลงานที่ปฏิบัติแล้วไปเสนอ แสดง เล่า ทำให้เพื่อนดู 2-3 คน ประเมิน(จัดคุณภาพ)

6.นำเอาผลจากการประเมินมาพิจารณาปรับปรุง

7.สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เช่นวาดภาพ ปั้น ออกแบบ แต่งกลอน ร้องเพลง ดนตรีการแสดง ฯลฯนำเสนอเนื้อหาเรื่องราวของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตนเองได้ไปศึกษาหน้าชั้นเรียน(งานเดี่ยวหรือกลุ่ม  ก็ได้) เช่นแสดงเพลงอีแซวเรื่องอาหารไทยได้รสชาติ  วาดภาพตามความคิดผลผลิตจากท้องนา เป็นต้น

ในภาพรวมเมื่อได้จัดกิจกรรมตามที่ได้เล่ามาผมจัดหน่วยการเรียนรู้ ตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังโดยให้เวลาการปฏิบัติกิจกรรมมากหน่อยเพื่อที่จะให้เด็กอ่อนได้มีเวลาพัฒนาส่วนเด็กเก่งปฏิบัติฝึกกิจกรรมสู่ความเป็นเลิศและช่วยเหลือเพื่อน  ความสุขใจของเด็ก ๆมาอยู่ที่เดือนสุดท้ายของการเรียนเป็นการนำเสนอผลงานศิลปะที่ตนถนัดเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาที่ตนสนใจที่หน้าห้องเรียนตลอดเวลาแห่งการเรียนรู้มีการประเมินผลโดยครู และเพื่อน ๆแต่ในวันนำเสนอผลงานช่วงสุดท้าย จัดให้มีผู้ประเมิน 3 ฝ่ายคือ ตนเองเพื่อน และครู เมื่อการนำเสนอผลงานจบลง ผู้นำเสนอแสดงความเห็นของตนเพื่อน 1 กลุ่มแสดงความเห็น ครูให้การยกย่องหยิบจุดเด่นที่พบมาให้กำลังใจนักเรียน ผมสอนวิชานี้มา 5 ปีแล้วผู้สอนพึงพอใจ นักเรียนมาสมัครเรียนรุ่นละ 25-35 คนหากว่าท่านมีวิธีการอื่นที่ประสบความสำเร็จในการสอนแบบบูรณาการที่มองเห็นภาพของความเป็นจริงในการสอนศิลปะหรือกลุ่มสาระอื่นขอได้ฉายภาพให้มองเห็นกระบวนการออกแบบจัดกิจกรรมแนะนำผมบ้างนะครับ อยากที่จะศึกษาวิธีการเพื่อนำมาพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ต่อไป

      

คำสำคัญ (Tags): #ศิลปะ
หมายเลขบันทึก: 97082เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2007 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2019 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นความรู้มากนะค่ะ de de de de de de de de de

  • ดีใจด้วย ที่เห็นคุณค่าของการเรียนรู้แบบภูมิปัญญา ซึ่งกำลังจะสูญไป
  • ยังมีเรื่องราวที่น่าศึกษาอีกหลายด้าน ช่วยกันดำรงเอาไว้ จะอยู่ได้นานสักแค่ไหน

เป็นข้อมูลที่ดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท