เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย(18.1)


เจ้าของฟาร์มจะทำรั้วเตี้ยๆโดยรอบเพื่อกันไม่ให้สัตว์เดินออกมาบนถนน ซึ่งต่างจากบ้านเราที่มีการเลี้ยงวัวแบบปล่อยไปเรื่อยๆ จะเดินข้ามถนนหรือเดินไปตรงไหนก็ตามใจ มีผลให้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนวัวบนถนนหลวงในหลายพื้นที่

           เช้าวันที่ 25 ตื่นนอน 7 โมงเช้า เข้าห้องน้ำแต่งตัวแล้วออกมารับประทานอาหารเช้าตอนแปดโมงเช้า ทานอาหารเช้าแบบฝรั่ง ประมาณเก้าโมงเช้าก็เริ่มเรียนเรื่องความปลอดภัยในฟาร์มโดยคุณจอห์นเป็นผู้บรรยาย

            การทำฟาร์มหรือเกษตรกรของนิวเซาท์เวลส์จะเป็นการเลี้ยงสัตว์เกือบทั้งหมด พื้นที่ทั้งที่ราบและภูเขาจึงเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เขียวขจี กว้างใหญ่ไพศาล มีต้นไม้ใหญ่เป็นหย่อมๆไม่มากนัก สัตว์ที่เลี้ยงก็เป็นพวกวัว ม้า แพะ แกะ โดยที่เจ้าของฟาร์มจะทำรั้วเตี้ยๆโดยรอบเพื่อกันไม่ให้สัตว์เดินออกมาบนถนน ซึ่งต่างจากบ้านเราที่มีการเลี้ยงวัวแบบปล่อยไปเรื่อยๆ จะเดินข้ามถนนหรือเดินไปตรงไหนก็ตามใจ มีผลให้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนวัวบนถนนหลวงในหลายพื้นที่ แม้แต่รถส่งคนไข้ของโรงพยาบาลบ้านตากเองก็เคยชนวัวเกิดอุบัติเหตุขณะส่งคนไข้มาแล้วเมื่อ 5 ปีก่อนส่งผลให้ญาติผู้ป่วยขาหักไปสองคนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและในการซ่อมแซมรถอีกมากโดยที่หาตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้หรือในโรงพยาบาลบ้านตากเองชาวบ้านก็ปล่อยวัวเป็นฝูงเข้ามากินหญ้าในโรงพยาบาล เดินเพ่นพล่านอยู่บ่อยๆ สร้างความรำคาญ ความสกปรกให้แก่โรงพยาบาลแต่พอไปบอกเจ้าของก็มักมีปัญหากัน ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ควรมีการแก้ไขในเรื่องพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน อาจต้องรอให้เกิดปัญหาความเจ็บป่วยเกิดขึ้นก่อนเหมือนกรณีที่เกิดโรคไข้หวัดนกแล้วมีการจำกัดการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งหรือมีแนวคิดเรื่องการเลี้ยงสัตวืในฟาร์มระบบปิด เป็นลักษณะไม่เห็นโรงศพไม่หลั่งน้ำตาหรือวัวหายล้อมคอก ซึ่งเกือบจะทุกเรื่องในเมืองไทยที่เป็นแบบนี้คือรอแต่จะแก้ไข ไม่คิดจะป้องกัน ทำให้เกิดความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายสูงกว่า ในเรื่องสุขภาพก็รอให้ป่วยก่อนแล้วจะขวนขวายหาโรงพยาบาลที่ดีที่สุดเพื่อรักษา ในเรื่องอาชญากรรมก็คอยตามจับโจรผู้ร้ายมากกว่าการพยายามทำให้คนเป็นโจรผู้ร้ายน้อยลง เช่นทำให้คนมีการศึกษา มีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ เป็นต้น
           การทำเรื่องอาชีวเวชศาสตร์ของเขาจึงเป็นเรื่องความปลอดภัยในฟาร์มเป็นหลัก ในขณะที่ของไทยเราไปเน้นที่โรงงานอุตสาหกรรมในกลุ่มของลูกจ้างโรงงานหรือประกันสังคม โดยที่ทำเรื่องของความปลอดภัยในไร่นาสวนน้อยมาก ทั้งที่เกษตรกรกลุ่มนี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ อาจมีทำบ้างในเรื่องของยาฆ่าแมลงในเกษตรกรเป็นโครงการสั้นๆในบางพื้นที่ ไม่มีการวางระบบที่ชัดเจน  เหมือนปล่อยไปตามกรรม รวมทั้งในเขตอำเภอที่ผมอยู่ก็สนใจน้อยมาก เรามีการทำWalkthrough suryey ในโรงงานผลิตหินแกรนิต แต่ยังไม่ได้ทำในทุ่งนา สวนลำใย สวนกะหล่ำปลีหรือสวนกล้วยไข่ ว่ามีปัญหาเรื่องโรคจากการประกอบอาชีพหรือความปลอดภัยในเรื่องอะไรบ้างที่ต้องนำมาเป็นแนวทางป้องกันก่อนที่จะเกิดความเจ็บป่วย ที่เคยทำก็คือการตรวจระดับยาฆ่าแมลงในชาวไทยเผ่าม้งในเขตบ้านม้งใหม่พัฒนาเท่านั้นและก็ขาดความต่อเนื่องในเชิงป้องกัน
หมายเลขบันทึก: 9697เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2005 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท