มัทนา
มัทนา (พฤกษาพงษ์) เกษตระทัต

วิธีวิพากษ์งานวิจัยเชิงคุณภาพ (1)


วันนี้ได้รับ email จากผู้อ่าน gotoknow ถามเรื่องวิธีวิพากษ์งานวิจัยเชิงคุณภาพค่ะ

ไหนๆก็พิมพ์ไว้แล้วเลยขอมาแปะไว้ที่นี่ด้วยเลย เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นที่สนใจค่ะ

ต้องเกริ่นไว้ก่อนว่า งานวิจัยเชิงคุณภาพมีหลากหลายมาก งานแต่ละแบบก็ต้องการเกณฑ์ที่นำมาใช้วิพากษ์ต่างๆกันไป

บันทึกนี้เป็นการมองภาพรวม เป็นการกล่าวถึงอย่างคร่าวๆ ไม่เจาะจงลงลึกไปถึงการวิพาษ์งานแต่ละประเภทนะคะ

คิดซะว่าเป็นบทนำ (เขียนวงเล็บไว้ว่าเป็นตอนที่ 1 แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะมีตอนที่ 2 ตามมานะคะ แฮะๆ)

ผู้เขียนตั้งใจเขียนเรื่องงานวิจัยเชิงคุณภาพมานานแล้ว เพราะเห็นว่ามีคนให้ความสนใจกันมากขึ้น แต่ที่ไม่ได้เริ่มเขียนเพราะอยากเขียนให้ดีๆ อยากทำเรื่องยากให้เข้าใจง่ายขึ้น

เรื่องที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์นั่นเองค่ะ จริงๆควรจะเริ่มตรงนั้น แต่ในที่สุดก็มาเขียนข้ามขั้นจนได้!

เอาเป็นว่ารอติดตามต่อไปนะคะ

วันนี้มาเข้าเรื่องการวิพากษ์งานวิจัยเชิงคุณภาพก่อนค่ะ 

----------------------------------------------------------------------------

คนที่ไม่ได้ทำงานวิจัยด้านนี้ ไม่เคยเรียนด้านนี้มาเลยก็น่าจะได้ประโยชน์จากบันทึกนี้ค่ะ

จุดประสงค์ของบันทึกนี้คือการทำหน้าที่เป็น "โพย" ค่ะ ผู้เขียนจะ list เป็นข้อๆไปว่า เวลาอ่านบทความวิจัยเชิงคุณภาพนั่นควรคิดถามอะไรตัวเองในใจไปด้วย บทความแบบไหนเป็นประโยชน์ (usefulness) แบบไหนน่าเชื่อถือ (credibility)

----------------------------------------------------------------------------


1. คำถามวิจัย/จุดประสงค์งานวิจัยฟังดูมีเหตุผล มากพอที่ควรจะเสียเวลาเสียทรัพยากรมาหาคำตอบหรือไม่ งานนี้เป็นการเติมเต็มให้ gap of knowledge ได้จริงหรือไม่นั่นเอง 
 
2. คำถามแบบนี้เหมะสมกับวิธีวิจัยเชิงคุณภาพรึเปล่า 
 
3.  อธิบายว่าเป็นงานเชิงวิจัยประเภทไหน เช่น เป็น phenomenology, ethnography, case study, grounded theory, action research, participatory action research ฯลฯ (เอาวิธีมาผสมผสานกันก็ได้ค่ะ แถมแต่ละแบบก็มีโรงเรียนย่อยไปอีก เช่น traditional ethnography, interpretive ethnography เป็นต้น)
 
4. นักวิจัยมีกรอบแนวคิดเบื้องหลังงานนี้อย่างไร บ้าง มีการแสดงออกอย่างชัดเจนในจุดยืนของเขาว่ามีความเชื่อเรื่อง epistemology อย่างไร เช่น เขาใช้แนวคิดแบบ post-postivisit หรือ critical theorist หรือ post-modernist นอกจากนั้นยังมีมุมมองในเรื่องนั่นๆอย่างไร ต้องประกาศออกมาให้ชัดเจน เช่น เป็น feminist ทำงานวิจัยเรื่องสิทธิสตรี หรือ เป็นหมอทำงานวิจัยเรื่องสิทธิของคนไข้ เป็นต้น คนอ่านจะได้รู้ว่านักวิจัยมาจากมุมมองไหน (เพราะงานวิจัยเชิงคุณภาพเชื่อว่า เราไม่มีทางกำจัด bias ได้ นักวิจัยทุกคนมี preconception ในเรื่องที่กำลังศึกษา เราไม่ควรเสแสร้งพยายามจะกำจัด bias แต่ควรประกาศให้รู้แต่เนิ่นๆไปเลยว่าคิดยังไง ให้คนอ่านวิพาษ์เอง)
 
5. มีวิธีเก็บข้อมูลกี่วิธี อะไรบ้าง (individual interview, focused group discussion, observation, document analysis ฯลฯ) ถ้ามีหลายวิธี นักวิจัยได้นำข้อมูลจากแต่ละแหล่ง แต่ละเวลามาเทียบกันหรือไม่ (triangulation) ถ้าใช่งานก็น่าเชื่อถือมากขึ้น (แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็แล้วแต่จุดประสงค์การวิจัยค่ะ บางกรณีแค่สัมภาษณ์คนเดียวแต่ได้ข้อมูลลึกซึ้ง นำมาเขียนเป็นอัตชีวประวัติก็มีประโยชน์มากมาย กว่างานวิจัยที่ส่งใบสอบถามหาคนเป็นพันๆได้)
 
6. มีเกณฑ์การเลือก สถานที่ เลือก participant หรือ เลือกกรณีศึกษา อย่างไร (เช่น snowball sampling, theoretical sampling, typical case sampling, extreme case sampling, opportunistic sampling ฯลฯ) ไม้ต้องมองหาว่า random sampling หรือ มีจำนวน subject สูงค่ะ แต่ต้องดูว่า ที่เลือกมาเนี่ยะเหมาะสมกับคำถามวิจัยหรือไม่ แล้วคนๆนั้น หรือ กรณีนั้นๆ หรือ องค์กรนั้นๆ มีข้อมูลที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหานั้นๆมากขึ้น ลึกซึ้งขึ้นหรือไม่ 
 
7. ถ้าใช้การสังเกตการณ์ (observation) ให้ดูว่าใช้วิธีไหน แบบมีส่วนร่วมหรือไม่มีหรือกึ่งๆ
 
8. การเก็บข้อมูลมี follow-up interview, member check หรือ participant validation ไม๊ คืิอ มีการเอาผลวิจัยขั้นต้นกลับไปให้ participant ดูหรือไม่  participant ได้มีโอกาสชี้แจ้งหรือวิจารณ์ผลหรือไม่
 
9. มีการจัดการกับข้อมูลอย่างไร 
  • 9.1 ถอดเทปแบบไหน เช่น ถอดคำต่อคำ ถอดแบบละเอียดยิบ คือ คนตอบหยุดเงียบไป ก็ให้บันทึกไว้ด้วย เราจะวิเคราะห์ได้ว่าคนตอบลังเล ในงานวิจัยด้านนิติศาสตร์ หรือ ภาษาศาสตร์  นั้นบางครั้งจำเป็นมาที่ต้องเก็บรายละเอียดเหล่านี้ไว้ให้หมด (ใน transcript จะใช้จุดๆ "......" 6 จุดแปลว่าหยุดเงียบไป 6 วินาทีเป็นต้น) แต่งานวิจัยโดยทั่วไปจะถอดเทปแบบ verbatim ค่ะ อย่างมากก็มีการบันทึก non-verbal gestures ด้วย
  • 9.2 field note บันทึกอะไรไว้บ้าง
  • 9.3 ข้อมูลที่เป็นความลับ เก็บไว้อย่างไร มีล็อค หรือมี keyword หรือไม่ เช่น ข้อมูลเรื่องชื่อคนที่เราสัมภาษณ์ถูกเก็บเป็นความลับหรือไม่ ถ้าเราให้ confidentiality แก่ participant มาก participant อาจเปิดใจคุยมากกว่า
10. งานนี้ผ่าน ethical approval หรือไม participants มีความเสี่ยงอะไรหรือไม่ เรื่องที่วิจัยsensitiveไม๊ เช่น  การสัมภาษณ์คนไข้ที่โดนข่มขืนมา เราก็ต้องดูลึกลงไปว่าคำถามท่ี
่สัมภาษณ์ กระทบกระเทือนจิตใจคนไข้ไม๊ เป็นต้น ถ้างานนี้ผ่านคณะกรรมการด้าน ethic แล้วก็น่าเชื่อถือมากกว่างานที่ไม่กล่าวถึง ethic งานวิจัย
 
11. วิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร (open coding หรือ framework coding) มีผู้วิเคราะห์กี่คน ใช้ computer software อะไรช่วยด้วยหรือไม่ แล้ววิเคระห์พวก deviant case ด้วยหรือไม (ถ้ามีจึงดี)่
 
12. การนำเสนอข้อมูลอย่างไร เป็น theme เป็น category เป็น model อ่านแล้วเข้าใจง่ายไม๊ make senseไม๊ มีlogical flowไม๊ ตอบคำถามวิจัยไม๊ ถ้าเป็นกรณีศึกษาก็ดูว่าบรรยายละเอียดไม๊ มีการบรรยายบริบทของงานหรือไม่ แล้วเป็นแค่การรายงานผลว่า participantพูดอะไร หรือเป็นการวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีก (ยิ่งลึกยิ่งดี)
 
13. มีการเขียน implication for policy หรือ implication for practice หรือไม่ คนอ่านจะนำความรู้ไปใช้ต่อได้อย่างไร (transferability)
 
14. มีการวิพากษ์จุดอ่อนของตัวเอง 

เหล่านี้คือตัวอย่างการวิจารณ์ค่ะ อาจมีไม่ครบทุกข้อก็ได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ
 

15. ผลงานวิจัยนี้ทำประโยชน์อะไรให้แก่วงการ

----------------------------------------------------------------------------

ใครมีอะไรเสริม หรือ มีคำถาม ก็แสดงความคิดเห็นมาได้เลยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 96953เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2007 07:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (61)

คม ชัด ลึก

เป็น

เรื่องเล่าเช้านี่

เหมือน

สเก็ตข่าว(สาร)

.

ชัดเจน กระจ่าง ถ้อยคำ ลำดับเหตุ

อ่านแล้วทำได้เลย ดีจังครับ

ขอบคุณครับ

             ขอบคุณครับอาจารย์  ผมเคยเข้าอบรมเกี่ยวกับการทำวิจัยคุณภาพอยู่บ้าง  แต่ยังไม่ได้ลองทำดู นอกจากวิจัยเชิงปริมาณ

             แต่ผมคิดไว้ว่า การทำงานของผมที่ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งร่วมกับชาวบ้าน ร่วมสังเกตการณ์ ร่วมกิจกรรมในกลุ่ม สังคม  ก็น่าจะเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพได้หากเราเรียบเรียงออกมาในแบบของงานวิจัย  จึงเรียนถามว่าเป็น  grounded theory หรือเปล่าครับ  ที่จริงประเด็นนี้เคยคุยกับผู้รู้บางท่าน ก็บอกว่าใช่นะทำได้  ผมก็ไม่แน่ใจนัก เพราะเราไม่ได้ตั้งคำถามแต่แรก และไม่ได้วางกรอบแนวคิดด้วย

             เคยมีรุ่นพี่อาวุโสมากท่านหนึ่ง ท่านนำเสนอในลักษณะประสบการณ์ทำงาน ในหน้าที่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เขียนเรียงออกมาก็คล้าย ๆ บทวิเคราะห์บริบทของงานทั้งหมดในช่วงเวลาแต่ละช่วง

            ไปฟังท่านนำเสนอแล้ว ผมคิดว่าไม่เหมือนงานวิจัย แต่อาจารย์ผู้วิภากษ์ท่านหนึ่งชมไว้ว่าเป็นงานวิจัยคุณภาพที่ดีชิ้นหนึ่ง ผมก็งงเหมือนกันครับ

             ขอคำชี้แนะจากอาจารย์มัทครับผมและขออนุญาต นำบทความนี้เก็บไว้อ่านด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ

ตาหยู:ขอบคุณมากค่ะ ดีใจค่ะ เพราะคิดว่าเรื่องนี้เขียนยาก มันไม่ตรงไปตรงมาเท่าไหร่ แถมนักวิจัยจากต่างค่าย ต่างโรงเรียนก็มีเกณฑ์ไม่เหมือนกัน นี่พยายามเขียนให้กลางๆที่สุดไว้ก่อน

mr. สุมิตรชัย: การตัดสินใจว่าจะทำงานวิจัยแบบไหน ขึ้นอยู่กับคำถามที่ต้องการตอบ หรือ ผลลัพธ์ค่ะ ถึงคุณสุมิตรชัยไม่ได้ตั้งคำถามไว้ หรือ ไม่ได้วางกรอบแนวคิดลงกระดาษ แต่มัทเชื่อว่าในใจคุณก็มีทั้งจุดหมายว่าทำงานกับชาวบ้านไปเพื่ออะไร และมีแนวคิดที่ยังไม่ได้เรียบเรียงเป็นคำพูดออกมาเท่านั่นเองค่ะ

งานที่ชาวบ้านร่วมด้วยก็มักจะเข้าข่าย participatory action research ค่ะ แต่จะเป็นหรือไม่เป็นก็ขึ้นอยู่กับว่า ชาวบ้านได้ร่วมตั้งแต่การตั้งคำถามรึเปล่าแล้วผลของกิจกรรมนี่ เป็นการตอบคำถามอะไรบางอย่างอย่างเป็นระบบรึเปล่า มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นจากกระบวนการหาคำตอบ(วิธีแก้ปัญหา) ที่คุณทำร่วมกับชาวบ้านหรือไม่

คือการทำกิจกรรมมันมีวัตถุประสงค์อยู่แล้วแหละใช่ไม๊ค่ะ : )

----------- 

ส่วน grounded theory นี่ต่างไปตรงที่ ผลลัพธ์ของ grounded theory คือ theory ค่ะ 

เป็นวิธีสร้างทฤษฎี (theory) ขึ้นมาจาก(grounded) ข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์หรือการสังเกต  

ถ้าคุณสุมิตรชัยจะทำ grounded theory ก็คือต้องทำการบันทึกสิ่งที่ได้สังเกตการณ์มาลงใน field note หรือ diary อย่างเป็นระบบ หรือ สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง แล้วก็นำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อสร้างทฤษฎี เกี่ยวกับเรื่องที่สนใจทำการศึกษาอยู่

คือจะทำก็ทำได้ค่ะ แต่ไม่แน่ใจว่าจะใช้สิ่งที่ต้องการรึเปล่า

-----------

ส่วนเรื่อง "ประสบการณ์ทำงาน ในหน้าที่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เขียนเรียงออกมาก็คล้าย ๆ บทวิเคราะห์บริบทของงานทั้งหมดในช่วงเวลาแต่ละช่วง"

ก็ต้องมาดูมาวิพาษ์กันตามที่มัทเรียบเรียงไว้ 15 ข้อค่ะ : )

 

 

 

 

 

    ขอบคุณอาจารย์ที่ชี้แนะครับ  เป็นประโยชน์และทำให้ผมเห็นทางที่ชัดเจนขึ้นมาก

        หากมีโอกาสจะลองนำเสนอให้อาจารย์ดูนะครับ

"เราไม่มีทางกำจัด bias ได้ นักวิจัยทุกคนมี preconception ในเรื่องที่กำลังศึกษา เราไม่ควรเสแสร้งพยายามจะกำจัด bias แต่ควรประกาศให้รู้แต่เนิ่นๆไปเลยว่าคิดยังไง ให้คนอ่านวิพาษ์เอง"

ชอบความคิดเรื่องนี้จัง :-)

  • ตามมาอ่านและขอบคุณเอาเสื้อหนามาด้วยครับ
  • ขอบคุณครับ

15. ผลงานวิจัยนี้ทำประโยชน์อะไรให้แก่วงการ

ข้อนี้โดนใจจริงๆเลย...เห็นแต่งานวิจัยขึ้นหิ้งมามากแล้ว...เสียดายเวลาและเงินงบประมาณหลวง...

บ้างก็วิจัยเพราะตัวเองอยากทำ...ไม่รู้มีประโยชน์อะไรกับส่วนรวม...เศร้า

: (

โอชกร

P ประโยชน์ต่อวงการ กับประโยชน์ของหลวง บางทีก็ไม่เหมือนกันนะครับ

ขอบคุณทุกท่านมากค่ะ บ่าววีร์, อ. ขจิต  , อ. พี่โจ (โอชกร)

ตอนเรียนวิชา ความคิดเชิงวิพากษ์ อ.สอนไว้ง่ายๆคือให้ถามว่า "So what?"

คือ "แล้วไงอ่ะ" ถ้าตอบได้ว่าผลงานวิจัยชิ้นนี้(ไม่ว่าจะเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ) มีประโยชน์อย่างไร ถึงจะโอเค

ส่วนเรื่องการกำจัด bias นั้นต้องคุยนานค่ะ เอาเป็นว่าถ้าทำงานวิจัยเชิงปริมาณ แบบที่มีมุมมองว่า ความรู้คือกระจกของความจริง การคุม bias ก็สำคัญมากค่ะ

แล้วแต่ว่าทำงานเชิงไหนอยู่ ถ้าเลือกหัวข้อ เลือกคำถามได้ถูกเหมาะสมกับเชิง แล้ววิจัยให้มีคุณภาพตามเกณฑ์ของเชิงตัวเอง

ไม่ว่าเชิงปริมาณหรือคุณภาพก็มีประโยชน์ทั้งนั้นค่ะ

 

 ประโยชน์ส่วนตน ทำแล้วแตกฉาน ได้งานวิจัย ได้ตังค์....ประโยชน์ต่อวงการ ทำแล้วได้ความรู้มาแตกหน่อ จุดประเด็นใหม่ๆ อาจจะไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์โดยตรง .... ประโยชน์ของหลวง ทำแล้วได้คุ้มเงินภาษี กลับสู่ประชาชน...

ทำได้ประโยชน์หลายๆอย่างก็ดีนะครับ...

โอชกร

P พูดถึง bias แล้วผมนึงถึงคนที่พยายามจะเป็นกลาง แบบถอยคนละก้าว อะไรแบบนี้อะไรครับ แต่มองแล้วรู้สึกเหมือนว่าก็เป็นแค่ bias อีกแบบ (เอ๊ะแต่สงสัยไม่เกี่ยวกับวิจัย)  คุยกันนานๆ ดูเรื่อง bias ละเอียดๆ ก็น่าจะดี ดีกว่าแสร้งทำเหมือนไม่มี
 
P ได้หลายๆ อย่างก็ดีครับ  บางอย่างก็อาจจะต้องทิ้วไว้บนหิ้งสักพัก  แบบกาลิเลโอหรือเปล่า บอกว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์  ตอนนั้นก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีขึ้นมาทันที? เอแต่ว่ากาลิเลโอ ก็ไม่ได้ขอทุนรัฐบาล​?
 
  • ครูอ้อยนับถือเลยค่ะ...เป็นบันทึกที่มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ
  • ทำให้ครูอ้อยอึ้ง..เพราะงานของครูอ้อยไม่กระเตื้องเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะพี่มัท

เข้ามาอ่านเก็บข้อมูลเรื่องงานวิจัยเชิงคุณภาพ .. ชอบคำว่าเชิงคุณภาพ... ที่ไม่ใช่เชิงปริมาณ :D

ขอบคุณสำหรับเนื้อหาค่ะ ไว้จะเก็บมาคิดเรื่องงานวิจัยของตัวเองนะคะ

ณิช

ขอบคุณมาก แล้วจะเล่าต่อให้คนที่สนใจงานวิจัยฟังนะคะ

ขอบคุณคุณหมอ ที่เขียนเรื่องนี้ค่ะ เห็นมีวงเล็บ 1 แสดงว่าจะมี 2 และ 3 ฯ ตามมา...ใช่ไหมคะ

มีความเห็นเล็กๆ ค่ะว่า วิจัยถึงแม้ว่า จะขึ้นกับ stage of knowledge ของเรื่องที่ศึกษา...ก็ต้องเข้าใจ philosophy ของงานเชิงคุณภาพด้วยนะคะ ...โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องของ multiple truth

ตรงนั้นจะช่วยลดความคิดว่า งานวิจัยมี bias ไหมแบบนักวิจัยกลุ่ม postivist หรือ post-postivist ชอบนำมาวิพากษ์งานวิจัย QL

อีกกรณีหนึ่งคือ ความคลาดเคลื่อนของคนกลุ่มหนึ่งที่มักเข้าใจว่า งาน QL คืองานที่มีคุณภาพมากกว่า QT บทความของคุณหมอ ชี้ประเด็นนี้ให้เห็นชัดเจนสำหรับคนที่ต้องการทำวิจัยเชิงคุณภาพว่า QL ก็ต้องมีระเบียบการวิจัยเพื่อควบคุมคุณภาพเช่นกัน

ขอบคุณค่ะ

ผมกำลังสนใจเรื่องการทำ qualitative research ที่จะประยุคในงานของผมอยู่อ่านบทความนี้แล้วรู้สึกเข้าใจหลายอย่างกระจ่างมากขึ้น ขอบคุรแล้วรอบหน้าจะแวะมาใหม่

ในความเห็นของผมนะ เชิงคุณภาพ หรือปริมาณ ก็ล้วนแล้วแต่เป็น "เครื่องมือ" หรือวิธีการในการเข้าใจสภาวะธรรมชาติ (ของคน สัตว์ และสิ่งต่างๆ)

และมันทั้งคู่ก็เป็น "เครื่องมือ"

ใช้กรรไกรตัดกระดาษ

ใช้ค้อนตอกตะปู

ปัญหาคือคนที่จะใช้เครื่องมือไม่รู้ว่าเครื่องมือนี้ใช้ทำอะไร

ก็เลยเอากรรไกรไปตอกตะปู

แต่สำหรับเซียนกรรไกรที่ใช้กรรไกรมาจนชิน ก็สามารถเอากรรไกรมาตีตะปูก็ตีได้เหมือนกัน เพียงแต่ต้องใช้เวลานานหน่อยกว่าจะสำเร็จ

ปัญหาใหญ่กว่าก็คือ คนใช้กรรไกรกับคนใช้ค้อนชอบมาเถียงกันว่า เครื่องมือของชั้นดีกว่าของเธอ ทั้งๆ ที่มันเหมาะสำหรับการใช้งานคนละอย่างกัน

 

พี่สุธี สรุปได้ดีมาก ตรงใจมากค่ะ 

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องรู้ว่า "เครื่องมือนี้ใช้ทำอะไร"

ต้องมองโจทย์ให้แตกตั้งแต่ต้นเลย ว่าสิ่งที่ค้นหา หรือ คำถามที่มีนั้น มันเหมาะกับเครื่องมือแบบไหน

ปัญหาที่พบบ่อยๆคือ คน QL วิจารณ์ QT โดยยกตัวอย่าง QT แบบโบราณมาเป็นตัวอย่าง

QT เองก็มีหลายแบบเช่นกัน ถ้านำมาใช้ถูกก็มีประโยชน์

คุณจันทรรัตน์  กล่าวไว้ได้ถูกมากค่ะ มันต้องดูกันที่ มุมมอง ความคิด ปรัชญาเบื้องหลังการใช้เครื่องมือนั่นๆ

อย่างคน QT เองก็มีทั้งที่เป็นพวกที่คิดว่า มีความจริงสัมบูรณ์ (absolute truth) ผู้ศึกษา หรือ ผู้สังเกตการณ์ หลายๆคนที่ศึกษาเรื่องเดียวกันอยู่ ควรที่จะได้ผลการศึกษาที่เหมือนกัน ผลนั้นถึงจะจริ มีพวกที่มองว่าธรรมชาติ linear ในขณะที่มี QT อีกพวกที่เน้น ความไม่แน่นอน เน้นความสำคัญเรื่องมุมมองและตำแหน่งที่ ผู้สังเกตการณ์ยืนอยู่ พวกที่มองธรรมชาติแบบ non-linear แบบระบบ

คน QL เองก็มีแบบที่สุดโต่ง ทุกอย่างในโลกนี้อยู่ในหัวทั้งหมด  กับพวกที่เชื่อว่ามันมีความจริงในธรรมชาติ นอกหัวเราด้วย พวกนี้ก็เถียงกันเองไม่แพ้กัน

สงสัยมัทต้องเขียนตอนที่ 2, 3, 4 ต่อแล้วจริงๆค่ะ คุณจันทรรัตน์ : )

ครูอ้อย(สิริพร): อย่าท้อนะคะ ค่อยๆทำไป : ) งานมัทก็ยังไม่เสร็จค่ะ มันไม่ง่ายเลยค่ะ ต้องสู้กันไป มีอะไรให้ช่วยได้นะคะ  

อ. พี่โจ (โอชกร): เรื่องประโยชน์นี่ไม่ได้หมายถึง application ของความรู้อย่างเดียวค่ะ เพราะฉะนั้นรู้แล้วแต่ยังไม่ได้นำมาใช้ก็ได้ แต่แค่ต้องตอบได้ว่า"จะรู้ไปทำไม" 

ขอบคุณ พี่ใบบุญ คุณโรจน์ กับ น้องณิช และผู้อ่านทุกท่านมากๆค่ะ

การทำงานวิจัยเป็นกิจกรรมสูงสุดสำหรับการเรียน ผู้ทำวิจัยต้องใช้องค์ความรู้เดิมที่เรียนและแสวงหาองค์ความรู้ใหม่เข้ามาบูรณาการ เพื่อทำวิจัยให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เอาใจช่วยครับไม่นานคงสำเร็จ

คุณ Tirawat: ขอบคุณมากค่ะสำหรับกำลังใจ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

พอดี ไปทานข้าวกับเพื่อนๆมา มีเพื่อนหลายคนที่ตอนนี้ ได้รับเชิญให้ไปเป็นกรรมการตรวจงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท เห็นมาบ่นกันว่า นักศึกษาทำวิจัยกัน อ่านแล้วไม่น่าเชื่อถือ ส่งกลับให้ไปแก้ไขใหม่กันเป็นแถว

อ่านบันทึกของคุณหมอแล้วดีมากค่ะ ขอเอาใจช่วยค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

      พอดีกำลังทำงานชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการวิจัยเชิงคุณภาพ และก็กำลังกังวลใจเกี่ยวกับ bias พอดี และก็ได้ข้อแนะนำจากอาจารย์ ต้องขอขอบพระคุณมากค่ะ แล้วจะติดตามต่อไปนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ คุณsasinanda สำหรับกำลังใจ เรื่องความน่าเชื่อถือของงานวิจัยนี่ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนทำค่ะ มันขึ้นอยู่กับคนวิพากษ์ด้วย ว่าใช่เกณฑ์วิพาก๋ษ์เหมาะกับงานที่กำลังอ่านรึเปล่า : )

คุณปวริศา: ขอบคุณมากค่ะที่แวะมา ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ เรื่องความกังวลใจเกี่ยวกับ bias นี่เป็นเรื่องปกติของคนที่เพิ่งทำความรู้จักกับงานวิจัยเชิงคุณภาพค่ะ  อย่าเพิ่งงงจนท้อ แต่ให้ศึกษาให้ลึกถึงปรัชญาเบื้องหลังเครื่องมือที่เราใช้อยู่ เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะเลิกกังวล แต่หันมาให้ความสนใจว่าเราจะทำวิจัยให้มี rigor ได้อย่างไรมากกว่า : ) เอาใจช่วยค่ะ แล้วไว้จะมาเขียนเรื่องปรัชญาเบื้องหลังงานวิจัยเชิงคุณภาพเมื่อมีโอกาสค่ะ

ต้องขอบคุณอาจารย์มัทมากครับ ที่เขียนบทความนี้ขึ้นมา

งานทางเชิงคุณภาพถูกโจมตีเยอะแต่ผมมองว่า งานแบบนี้สอดคล้องธรรมชาติมนุษย์ โยส่วนตัวทำงานกับชุมชน ปรากฏการร์ที่นำมาคุยกัน สังเคราะห์กัน มีผลมากๆกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ในส่วนตัวผมสนใจ การนำเสนอข้อมูลครับ เข้าใจว่า หากงานออกมาดีขนาดไหน การนำเสนอข้อมูลที่สับสนก็ลดค่าของงานไปมากทีเดียว

สนใจมากครับ ขอตั้งคำถามต่อเรื่อง การนำเสนอแบบtheme เป็น category เป็น model  นั้นอยากขออาจารย์เจาะในรายละเอียดในโอกาสต่อไป ผมเกี่ยวข้องกับการนำเสนองานลักาณะนี้มากๆครับช่วงหลัง

 

เรียนอาจารย์มัทค่ะ

ดิฉันได้รับmail เมื่อ 2 วันก่อนแล้วค่ะเกี่ยวกับการวิพากษ์งานวิจัยเชิงคุณภาพและเมื่อวานได้ส่งตัวอย่างงานวิจัยเชิงคุณภาพไปให้อาจารย์มัทช่วยดูให้ว่าเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพหรือไม่ถ้าเป็นเชิงคุณภาพแบบไหนแต่ดูเหมือนว่าอาจารย์มัทจะยังไม่ได้รับดิฉันขออนุญาติขอ mail ที่ติดต่ออาจารย์โดยตรงได้ไหมค่ะ

                             ขอบพระคุณค่ะ

คุณเอก (จตุพร): ขอบคุณค่ะ ใช่แล้วค่ะ "หากงานออกมาดีขนาดไหน การนำเสนอข้อมูลที่สับสนก็ลดค่าของงานไปมากทีเดียว"

การวิเคราะห์ข้อมูลกับการนำเสนอจะไปด้วยกัน เริ่มทำไปพร้อมๆกันเสมอ ต่างจากงานวิจัยเชิงปริมาณที่วิเคราะห์เสร็จแล้วค่อย มาคิดว่าจะนำเสนออย่างไร

คราวหน้าจะเขียนเรื่องรูปแบบการนำเสนอและ การวิเคาระห์ควบคู่กันไปเลยค่ะ รอหน่อยนะคะ

คุณ kanchita: ได้รับเมลทุกฉบับและตอบไปทุกฉบับค่ะ แต่ไม่ทราบว่า hotmail ของคุณอ่านfont ภาษาไทยของมัทได้รึเปล่า

เมลที่คุณ kanchita ตอบกลับมาก็มีข้อความที่มัทเขียนไปแต่เห็นว่าเป็นภาษาต่างดาว

มัทใช้ gmail ค่ะมักจะมีปัญกากับผู้ใช้ hotmail บ่อยๆ

มัท google เจอว่าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน มข. ก็มีคนทำงานด้านนี้  มีตำราที่เขียนโดย อ. มข. เอง 2 เล่ม และน่าจะมีหนังสือให้ยืมจากห้องสมุดค่ะ ถ้าหาของพยาบาลหรือเวชศาสตร์ชุมชนไม่เจอ ให้ลองหาหนังสือของคณะสายสังคมศาสตร์ด้วยค่ะ คณะศึกษาศาสตร์ มนุษยวิทยา สังคมสงเคราะห์ เป็นต้นค่ะ

งานที่ส่งมาให้ดูเป็นการประเมินโครงการโดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพค่ะ

โชคดีนะคะ ลองติดต่อผู้เชียวชาญใกล้ตัวดูนะคะ มีเก่งๆแถวนั้นหลายคนเลย : ) 

ขอบคุณน้องแมนค่ะ

ทำให้พี่ไปเจอ website น่าสนใจ เรื่อง ความหมายของการวิจัย

เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพ

  • ผมกำลังศึกษาและคิดว่าจะทำงานวิจัยเชิงคุณภาพเกี่ยวกับระบบการดูแลนักเรียน(ในด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามวัย)โปรดชี้แนะด้วย
  • ยังไม่เคยทำงานวิจัยเลยครับ
  • ขอขอบคุณล่วงหน้า

ขอบคุณค่ะคุณ  chow_loei ที่ให้ความสนใจ

ถ้าไม่เคยทำงานวิจัยเลย ลองศึกษาหรือเข้าอบรมวิธีวิจัยพื้นฐานก่อนก็ดีค่ะ มีหนังสือดีๆ มีคอร์สดีๆมากมายที่เมืองไทย ถ้ามีครูช่วยให้คำปรึกษาก็จะดีมาก (ครูนี่คือเพื่อนร่วมงานก็ได้ หรือ ไปเรียนเป็นเรื่องเป็นราวก็ได้ค่ะ)

เมื่อเรียนรู้เรื่องพื้นฐานการทำวิจัยแล้ว เช่น การทบทวนวรรณกรรม การวิพากษ์วรรณกรรม การตั้งคำถามวิจัย

ค่อยมาดูต่อ ว่าคำถามของเรา เหมาะกับเครื่องมือ หรือ วิธีหาคำตอบแบบไหน

แล้วก็ไปศึกษาเรื่องเครื่องมือ หรือ วิธีนั้นๆลงลึกไปอีกที

ในขณะที่ทบทวนวรรณกรรมนั้น คุณ chow_loei ก็จะได้เห็นตัวอย่างคนที่ทำงานด้านเดียวกัน สนใจอะไรคล้ายๆกัน แล้วคุณก็จะได้ตัวอย่าง (ทั้งที่ดีและไม่ดี) พอเป็นไฟส่องทางต่อไปได้เองค่ะ จะเห็นว่าคำถามแนวนี้ คนอื่นเค้าใช้วิธีอะไรมาศึกษา แล้วเค้าได้ผลการศึกษายังไงบ้าง 

หวังว่าที่ตอบไปคงช่วยอะไรได้บ้างนะคะ : )

สวัสดีค่ะ

       ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสทำวิจัยเชิงคุณภาพ เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพกับวิถีชีวิตของคนชนบท แต่ก็เป็นมือสมัครเล่นค่ะ ที่มีประสบการณ์ยังน้อยมากๆ ได้อ่านสิ่งที่อาจารย์เขียนน่าสนใจมากค่ะ ทำให้มีความมั่นใจและเข้าใจงานวิจัยเชิงคุณมากขึ้น มี concept ในตัวเองมากขึ้น และสามารถนำมาพัฒนาตนเองให้เรียนรู้ได้มากกว่าเดิมค่ะ

สวัสดีค่ะคุณแอน

ดีใจค่ะที่ คุณแอนคิดว่าบันทึกนี้มีประโยชน์

อย่างที่ได้เขียนไปแล้วว่าจริงๆ การจะทำความเข้าใจกับงานวิจัยเชิงคุณภาพนั้น ต้องเข้าใจเรื่องมุมมองโลก รวมทั้งแนวความคิดเรื่องการได้มาซึ่งความรู้ด้วย

รอติดตามต่อไปนะคะ ไว้ว่างๆจากการเขียนthesis แล้วจะมาเขียนเรื่องนี้ต่อค่ะ

เขียนไปเรื่อยๆนะพี่ใหญ่นะ เรียนอยู่ที่นี่มาหลายปีดีดัก ไม่เคยมีสอนเลยเรื่องพวกนี้ ทำเองงูๆปลาๆ ครูพักลักจำมาเรื่อย ได้อ่านอะไรแบบนี้ค่อยรู้สึกเป็นขั้นเป็นตอนหน่อย แล้วจะกลับมาตามอ่านอีก.. แต้งกิ้ววว

ใหม่: ว่าจะเขียนให้หมดพุง ว่าเรียนอะไรมาบ้าง แต่ต้องค่อยๆเรียบเรียงเขียนยามว่าง

เรียนอาจารย์ครับ

  • ผมทำงานพัฒนาชนบท แต่ใช้ชีวิตใกล้ชิดโดยการติดตามผลงานนักวิชาการด้านเชิงคุณภาพมาพอสมควร เช่นท่านอาจารย์ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ อาจารย์ ชยันต์ วัฒนภูติ, อ.แสวง รัตนมงคลมาศ, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์ และ ฯลฯ ตัวเองก็เคยเป็นนักวิจัยมือใหม่ให้กับสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยโน้นนน... สนใจมานานตั้งแต่เข้ามาใหม่ๆแล้วงานวิจัยเชิงคุณภาพกับปริมาณกระทบกระทั่งกันในยุคแรกๆ
  • เคยคลุกคลีกับนักวิจัยต่างชาติที่มาใช้ชีวิตกับชาวเขาเพื่อทำวิทยานิพนธ์
  • สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตุเห็นคือ หลายคนเป็นมือใหม่...จึงไม่มีความคุ้นเคยในการใช้เครื่องมือต่างๆอย่างที่อาจารย์กล่าวมา การศึกษาก็ใช้เวลามาก การเอามาวิเคราะห์ก็ปวดหัวเพราะมือใหม่ เขียนไปเขียนมาก็ร้องให้เป็นวรรคเป็นเวร น่าสงสารออก.. แต่ด้วยความจำเป็นต้องทำให้เสร็จก็เลยบีบเอามากๆ
  • ผมนึกถึงกระบวนการผลิตแพทย์ ที่เขามีช่วงเวลา intern โดยมีกลุ่มเพื่อแพทย์ มีอาจารย์แพทย์คอยปรึกษากัน คอยให้คำแนะนำ สักปีสองปี ก็พอมั่นใจได้ แล้วคุณหมอมือใหม่ก็ฝึกเองต่อไป
  • นักศึกษาที่จะเอาปริญญาเอก หรือโทแล้วเพิ่งจับงานวิจับแบบนี้ ความไม่เคยชิน และไม่ชำนาญเพียงพอในการใช้เครื่องมือต่างๆ เลยหลุด...ในหลายเรื่อง หลายประเด็นโดยเฉพาะรายละเอียดยิบย่อย ซึ่งนักมานุษยวิทยาจะทำได้ดีกว่า เพราะฝึกมาทางนั้น
  • ผมเองเคยเป็นกรรมการพิจารณาวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของสถาบันแห่งหนึ่ง อาศัยที่ผมมีประสบการณ์ในพื้นที่มาพอสมควรจึงเห็นสิ่งเหล่านี้ครับ
  • ผมสนับสนุนงานวิจัยเชิงคุณภาพ เพียงตั้งข้อสังเกตุมาให้ครับอาจารย์ครับ

ขอบคุณมากๆค่ะอ. บางทรายสำหรับความคิดเห็นที่มีประโยชน์มาก

เรื่องรายละเอียดยิบย่อยนี่เห็นด้วยมากเลยค่ะ ต้องมีอาจารย์และเพื่อนร่วมงานที่ดีช่วยกันดูตลอด

ถ้าต้องทำวิทยานิพนธ์โดยไม่เคยได้ทำวิจัยโครงการเล็กๆมาก่อนนี่ลำบากน่าดูค่ะ

มัทชอบวิชาวิธีวิจัยที่นี่มาก เพราะเป็นคอร์ส 1 ปีเต็ม (3 เทอม)

เรียนทฤษฎีไปลงมือทำวิจัยไปด้วย เหมือนจริงทุกขั้นตอนแต่ให้ทำงานเล็กๆ ส่วนมากก็จะเป็นเหมือน pilot ของงานจริง ให้เรียนรู้เครื่องมือและขั้นตอนทุกขั้นตอน มีอาจารย์และเพื่อนช่วยวิพากษ์ทั้งปี จนงานเสร็จก็มีวันเสนอผลงาน

อย่างของมัทก็สัมภาษณ์หมอฟัน 5 คน ที่ทำงานกับผู้สูงอายุ ถามง่ายๆว่ามี lessons learned อะไรในการงานด้านนี้

แค่นั้นก็ได้ฝึกการเขียน proposal การขอ ethical approval การเขียน consent form การติดต่อนัดสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์ ถอดเทป การสังเกตการณ์ดูงาน การวิเคราะห์ การเขียน manuscript แล้วก็การทำ poster presentation

ครบรสเลยค่ะ project เล็กๆทำได้ใน 1 ปี แต่มาค่ามากๆ

นอกจากนั้นการรับงานเป็นผู้ช่วยวิจัยของอ.ที่ปรึกษาก็ช่วยได้มาก ได้เห็นว่าอ.เก็บข้อมูลอย่างไร เช่นเราตามไปช่วยใน focused group บ้าง ช่วยรวบรวมข้อมูลบ้าง การอ่านงานวิจัยและไปฟังตาม conference ก็ช่วยได้มากๆค่ะ เข้าใจงานมากขึ้นจากงานของคนอื่น

มัทว่าเราต้องเปิดให้นักศีกษาได้ทำกิจกรรมเหล่านี้ ก็จะช่วยได้มาก อีกทั้งมีกลุ่มกัลยาณมิตรคอยให้คำปรึกษาควยคู่ไปน่าจะช่วยได้ค่ะ

หรือไม่ก็สอนในระดับ ป. ตรี คร่าวๆ ด้วย (ที่ทันตะ และ แพทย์ มธ. ได้จัดแทรกไว้ในหลักสูตร เวชศาสตร์ชุมชน และ ทันตกรรมชุมชนด้วยค่ะ)

ค่อยๆเป็นค่อยๆไปค่ะ : )

 

 

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ดิฉันกำลังศึกษาป.โท ที่ ม.มหาสารคาม และเรียนวิชา การวิจัยทางการศึกษาอยู่ อาจารย์ให้วิพากษ์งานวิจัยเป็นงานเดี่ยว อยากทราบเทคนิค/วิธีการวิพากษ์ที่ถูกต้องตามลำดับขั้นตอน และก่อนการวิพากษ์เราต้องทำอะไรบ้างเราจึงจะสามารถวิพากษ์งานวิจัยได้ดีค่ะ (เรียนบริหารการศึกษาค่ะ)

สวัสดีค่ะคุณบัว

1) อยากทราบเทคนิค/วิธีการวิพากษ์ที่ถูกต้องตามลำดับขั้นตอน

ตอบ...เจอคำว่า "ถูกต้องตามลำดับขั้นตอน" เลยไม่แน่ใจว่าจะตอบได้ถูกใจรึเปล่านะคะ บันทึกนี้ก็ค่อนข้างครอบคลุมวิํธีการวิพากษ์แล้ว (ที่เขียนไว้ 15 ข้อ) ถ้าไม่ถูกใจอย่างไรลอง google (scholar) โดยใช้คำว่า Critical Appraisal of Qualitative Research ดูได้ค่ะ มีให้อ่านมากมาย เพราะบันทึกนี้เขียนมาจากประสบการณ์์ทางงานวิจัยสายสุขภาพหน่ะค่ะ

2) ก่อนการวิพากษ์เราต้องทำอะไรบ้าง เราจึงจะสามารถวิพากษ์งานวิจัยได้ดีค่ะ

ตอบ...ถ้าจะให้ดีจริงๆควรศึกษาเรื่องการได้มาซึ่งความรู้ (epistemology, theory of knowledge, what is science) และ ontology หรือ การศึกษาเรื่องการดำรงอยู่หรือความมีอยู่จริงของสิ่งต่างๆ ค่ะ นอกจากนั้นควรศึกษาทฤษฏีและประวัติศาสตร์ของสาขาวิชาสังคมศาสตร์/มานุษยวิทยา แล้วโยงไปว่าวิวัฒนาการของสาขาวิชาที่ตนเรียนอยู่นั้นยุคไหนเกี่ยวกับทฤษฏีไหนบ้าง เปลี่ยนแปลงกระบวนทรรศ์กันมาอย่างไรบ้าง

นี่คือถ้าจะให้ดีจริงๆนะคะ ความเข้าใจในหัวข้อเหล่านี้จะทำให้เข้าใจงานวิจัยเชิงคุณภาพมากขึ้น

แต่ว่าในการทำการบ้านเพียงชิ้นเดียวเกรงว่าจะไม่มีเวลา ถ้าทำตาม 15 ข้อแล้วสงสัยข้อไหนก็ถามมาแล้วกันค่ะ อย่าลืมอ่านความเห็นอื่นๆด้วยนะคะ

สวัสดีอีกครั้งค่ะคุณบัว

อ่านคำถามคุณบัวอีกที เริ่มไม่แน่ใจว่า การบ้านคุณบัวเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพหรือเชิงปริมาณ?

เพราะฉะนั้นขั้นตอนแรกคือ อ่าน abstract ให้รู้แน่ก่อนว่าเป็นงานชนิดไหร

ทางศึกษาศาสตร์มีงานด้านประเมินซะมาก เวลาค้นคว้าวิธีวิพากษ์เราก็เจาะจงงานประเมินได้เลย หรือถ้าเป็น action research ก็ใช้ key word เฉพาะไปเลยเวลาค้นหา จะได้เจอตรงๆ โชคดีนะคะ

หวัดดีค่ะคุณมัทนา

ไม่ต้องพิธีรีตรองมากมายเนอะ

ป้าเรียนป.เอก เมืองไทยเรานี่แหละค่ะ ที่มาพบblogของคุณมัทนาเพราะว่าป้าสอบตกวิชา qualitative research ค่ะ เป็น qualifying exam เลยต้องสอบรอบสอง รอบนี้ถ้าตกก็ต้องถูกให้ออกค่ะ ป้าเลยมาค้นคว้าใน the Internet มาหาversion ภาษาไทยอ่านเพราะที่เรียน ต้องเรียนและสอบเป็นภาษาอังกฤษค่ะ ตอนสอบรอบแรก อาจารย์ออกข้อสอบว่า งานวิจัยqualitative research เนี่ย มีจุดด้อย(weak point)ในเรื่องอะไรบ้าง อย่างเช่น validity และ reliability และมีวิธีแก้ไขอย่างไร คุณมัทนาพอจะสรุปให้ป้าฟังหน่อยได้มั๊ยคะ และสอบรอบต่อไปในวันที่ 29 สิงหา 51 นี่แหละค่ะ ช่วยป้าเก็งข้อสอบหน่อยนะคะ แฮะแฮะ

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ป้าตู่

สวัสดีค่ะป้าตู่

ไว้มัทจะตอบแยกเป็นอีกบันทึกเลยนะคะ เพราะเรื่องนี้สำคัญ มัทขอถามนิดเดียวว่า

1. ที่ว่า validity และ reliability เป็นจุดด้อยของงานวิจัยเชิงคุณภาพนี่อ.ของป้าตู่บอกมากหรือว่าป้าตู่ตอบเองค่ะ

2. งานวิจัยเชิงคุณภาพที่เรียนใช้ หนังสือเล่มไหน หรือ paper ไหน เป็นตัวหลักคะ แล้วเป็น tradition ไหน เช่น grounded theory, phenomenology, ethnography

มัทจะได้ตอบให้ตรงจุดอีกทีเพราะเรื่องนี้ตอบได้หลายมุมมองค่ะ มีคนที่คิดว่า validity และ reliability เป็นจุดด้อย แต่ก็มีอีกกลุ่มใหญ่ที่ไม่คิดว่ามันคือจุดด้อยเพราะมันเป็นคนละกระบวนทรรศน์กัน ป้าตู่ต้องดูให้ออกว่าอ.ของป้าตู่มาจากกระบวนทรรศน์ไหนอ่ะค่ะ ถึงจะตอบได้ตรงกับที่เค้าพอใจ

ไว้เขียนบันทึกใหม่เสร็จแล้วจะมาทำลิงค์ไว้ให้นะคะ

ป้าตู่ยังไม่เข้ามาใหม่เลย งั้นขอตอบที่นี่สั้นๆแทนการเขียนบันทึกใหม่ไปก่อนว่า

ส่วนตัวนั้นมัทคิดว่า weak point ของ qualitative research คือ

1. ใช้เวลาและแรงเยอะในการทำ fieldwork

2. ข้อมูลดิบเยอะ ยากต่อการวิเคราะห์

3. มีหลายค่ายมากจน แต่ละค่ายก็มีกระบวนทรรศน์ต่างกัน สื่อสารกันทีไรต้องให้ละเอียด จะมาพูดแค่ว่า ฉันใช้ Chi-square สั้นๆแล้วรู้เรื่องแบบ quantitative research ไม่ได้ พูดแต่ว่าใช้ phenomenology เฉยๆไม่ได้ ต้องอธิบายว่าทำอย่างไรไปเลย

4. ยากต่อการเขียนบทความวิชาการเพราะ journal ส่วนมากกำหนดจำนวนหน้าไว้ไม่มาก ถ้าเกิดต้องจ่ายเงิน journal ที่รับ qualitative research ยอมให้เขียนยาวๆ ยังมีไม่มากเท่า

ส่วนเรื่อง validity & reliability นี้เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ชองการใช้ qualitative research ว่าเราทำไปทำไม การทำให้งานมีความน่าเชื่อถือและมีประโยชน์ก็จะต้องทำไปตามแนวความเชื่อที่เรามีตั้งแต่ก่อนเริ่มตั้งคำถามวิจัยค่ะ

คนที่ทำงาน qualitative แล้วมีการนำเสนอค่า kappa ดู reliability ของ coder หลายๆคน ก็มีค่ะ ในโปรแกรม NVivo ก็มี function นี้ค่ะ แต่หลายคนก็ไม่สน ดูที่ confluence ของ findings แล้วก็ ความลึกในการวิเคราะห์

แต่ที่สำคัญคือทุกขั้นตอนต้องมี audit trail คือต้องมีหลักฐานหมด ทำอะไรไว้ ถ้ามีคนมาถามว่า ประโยคนี้ คนนี้พูดจริงๆเหรอ ในบรืบทไหน เราต้องมีวิธี track กลับไปได้ เพราะฉะนั้นการ จัดการข้อมูลให้เป็นระบบสำคัญมากค่ะ

 

สวัสดีครับ คุณมัทนา

ผมเป็น นศ. จากราชภัฏแห่งหนึ่งอยากถามไรสักนิดนะคับ คือผมได้โจทย์มาจาก อาจารย์ท่านหนึ่ง..

จงอธิบายประเภทของงานวิจัยเชิงปริมาณตามลักษณะข้อมูล

จงอธิบายประเภทของงานวิจัยเชิงคุณภาพตามลักษณะข้อมูล

รบกวนคุณมัทนาช่วยตอบผมทีจิค๊าฟ T-T

ขอบคุณล่วงหน้าครับ

คุณ เถกิงชาญคะ

ถ้าอ.ถามแบบนี้แปลว่าท่านมีคำตอบที่ท่านต้องการเป๊ะๆอยู่แล้ว ต้องไปหาตำราที่แบ่งประเภทงานวิจัยจ่ม"ลักษณะข้อมูล"

ทีนี้การจะหาคำตอบก็คือใช้คำว่า "ลักษณะข้อมูล" เป็น คำสำคัญ (keyword)

แล้วไปหาตาม database ที่มหาวิทยาลัย หรือลอง google หรือ google scholar โดยใช้คำนั้นดู เช่น

type of data + qualitative research ก็จะได้ผลออกมาหลายแหล่ง

เราก็เลือกดูว่าอันไหนเข้าท่าน่าเชื่อถือ

หรือลองพลิกๆหนังสือที่อ.แนะนำให้อ่านดูค่ะ

ดำรา research methods ที่ดังๆมีอยู่ไม่น่าเกิน 10 เล่มที่ใช้กันซ้ำๆก็หาดูว่าเล่มไหนแบ่งประเภทงานวิจัยจากลักษณะข้อมูล เคยอ่านเจอแน่ๆค่ะแค่ตอนนี้ยุ่งมากไม่มีเวลาหาให้ ลองหาเองตามนี้นะคะ

พี่มัทค่ะ อ่านคำแนะนำของพี่มัทแล้ว ทำให้เข้าใจกระจ่างขึ้นอ่ะคะ

แต่ก็มีคำถามอยากจะรบกวนพี่มัทหน่อยนะคะ

เพราะตอนนี้เรียนต่อโท สาขา การวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพ อยู่ค่ะ

และก็มีข้อสงสัยอยู่ว่า "การวิพากษ์งานวิจัย" กับ "การประเมินคุณค่างานวิจัย"

มันเหมือนหรือต่างกันอย่างไรค่ะ เพราะอาจารย์ให้โจทย์มาว่า ให้ไปหางานวิจัยคุณภาพมาคนละเรื่อง แล้ว "การประเมินคุณค่างานวิจัย" พอได้มาอ่านคำแนะนำของพี่มัท

เลยสงสัยว่าจะเอาไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินได้หรือไม่อ่ะคะ

แล้วงานวิจัยแต่ละ design จะใช้เกณฑ์เดียวกันในการวิพากษ์หรือเปล่าค่ะ

เพราะที่ไปหางานวิจัยมา เป็น grounded theory อ่ะค่ะ มีเกณฑ์อะไรพิเศษ

กว่า design อื่นไม๊ค่ะ

รบกวนพี่มัทช่วยตอบด้วยนะคะ จะรอคำตอบค่ะ ขอบคุณที่สู้ดดด

น้องเก็ต: คิดว่าเหมือนนะคะ แต่ที่อ.น้องเก็ตสั่งอาจจะต้องมีการสรุปรวมว่าแล้วงานนี้มีคุณค่ามากน้อยหรือไม่อย่างไร เน้นประโยชน์ที่งานนี้มีต่อนโยบายหรือการปฏิบัติงานในเรื่องที่ทำวิจัย ว่ามันเป็นอย่างไรด้วยอ่ะค่ะ

ส่วน grounded theory นั้น ไม่มี framework มาก่อน ผลการวิเคราะห์นั้นมาจาก (grounded ขึ้นมาจาก) ข้อมูลดิบทั้งหมดนั่นเอง มันก็จะมีการวิเคราะห์ที่เป็นแบบเฉพาะของมันเอง เช่น open coding ---> axial coding เป็นต้น ต้องไปลองหาอ่านดูนะคะ เช่นจากตำราของ Strauss and Corbin (1990) ได้ค่ะ พี่ไม่ถนัดเรื่องนี้เท่าไหร่ค่ะ ของพี่เป็น ethnography อ่ะค่ะ : ) หวังว่าช่วยได้บ้างนะคะ

ขอบคุณพี่มัทมากเลยคะ ที่มาช่วยไขข้อข้องใจให้เด็กน้อยตาดำๆ

แล้วจะติดตามข้อมูลดีๆจากพี่มัทต่อไปนะคะ

อาจจะมีคำถามมารบกวนอีกเรื่อยๆ อย่าเบื่อกันนะคะ

สวัสดีครับ เพื่อนๆ

ผมชื่อบุญล้อม เรียนอยู่ม.ราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ระดับ ปริญญาโท

ผมมีปัญหาการหาข้อมูลงานวิจัย เชิงปริมาณ (Quatitative) เพื่อนๆช่วยชี้แนะและช่วยบอกช่องทางหาข้อมูลให้ด้วยครับ

คุณบุญล้อม ถามกว้างมากเลยค่ะ

ตกลงต้องการค้นหาอะไรนะคะ

ผลงานวิจัยเก่าๆ หรือ รายละเอียดวิธีวิจัย หรือ ต้องการเก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัยที่ทำอยู่

จะได้ช่วยถูกค่ะ

ขอขอบคุณสำหรับวิธีวิพากษ์งานวิจัยเชิงคุณภาพ เพราะอยู่ระหว่างการค้นหางานวิจัยเพื่อนำมาวิพากษ์ค่ะ ขอบคุณสำหรับเกร็ดความรู้นี้

สวัสดีครับ คุณมัทนา ผม นศ.ปโท มข. กำลังทำวิทยานิพนธ์ โดยใช้กระบวนการ PRA เก็บข้อมูลด้สนยการสัมภาษณ์ การทำกลุ่ม การสังเกต มีข้อมูลมากพอสมควร ถอดเทปแล้ว แต่ปัญหาของผมคือไม่รู้จะเริ่มต้นนการวิเคราะห์อย่างไร อยากให้อาจารย์ช่วยแนะนำ หรือเล่าประสบการณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลหน่อยครับอาจารย์ ขอบคุณตรับ

ต้องขอโทษที่ตอบยาวไม่ได้นะคะ พอดีลูกเพิ่ง 1 เดือน

เรื่องนี้ต้องเขียนเป็นอีกบันทึกเลยค่ะ ยังไงตอนนี้แนะนำหนังสือของ Lynn Richardson คนที่คิดโปรแกรม NVivo อ่านไปพลางๆก่อนนะคะ

หรือ Interviews ของ Kvale ก็ดีค่ะ

ขอบคุณนะคะ สำหรับขั้นตอน ทำให้เรียบเรียงงานได้ดีขึ้น

พันธุ์ทอง จันทร์สว่าง : ยโสธร

ขอบคุณทุกท่าน ที่ร่วม ถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกัน

โดยเฉพาะคุณ มัทนา ..ที่ถือว่า มีความมุ่งมั่น และ เสียสละเพื่อสังคม มาก

ขอชื่นชมครับ น้อยคนนัก ที่มีความรู้แล้วจะถ่ายทอดออกให้คนอื่นได้ทราบ

พวกเราทุกคน ที่ร่วมกันเสนอแนะข้อมูลมา ขอให้ได้ผลากุศลกันทุกๆคนนะครับ

ส่วนตัวผม ที่เคยใช้ประสบการณ์ การวิพากฉบับย่อ 7 R ดังนี้

หรือใครมีอะไรที่ดีๆ ก็ ร่วมแลกเปลี่ยนได้นะครับ

7 R ในการวิพากย์งานวิจัย ประกอบด้วย

1. R :Research Idea

2. R :Research Problem

3. R :Research Question

4. R :Research Objective

5. R :Research Design

6. R :Research Framework

7. R :Research Title

คุณมัท  พี่ขอบคุณมากนะ 
ลูกคุณมัท ต้องเลี้ยงง่ายและฉลาดมากๆเลยเพราะมีคุณแม่เป็นคนดีมีเมตตา  พี่กำลังจะสอบ QE วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้  ข้อสอบเก่าของอาจารย์มีการให้วิพากษ์งานวิจัยเชิงคุณภาพก็เลยลองเข้ามาดู  อ่านแล้วได้ความรู้มากๆเลย  และก็สนุก  คุณมัท เป็นคนเขียนได้สนุกค่ะ  อ่านไปก็ขำๆ คงเป็นคนอารมณ์ดี  ถ้าลูกไม่ค่อยกวนแล้ว  คงได้อ่านงานดีๆ นะคะ

           นันทนา

 

เป็นบันทึกที่มีประโยชน์มาก ๆ ครับ

มีประโยชน์มากเลยค่ะ

เรียน อาจารย์ มัทนา

ตามที่ได้มีการวิพากย์งานวิจัย และเสนอแนวคิดต่างๆเกี่ยวกับงานวิจัยหลายรูปแบบนั้น เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจและค้นคว้าข้อมูลมากครับ ขอให้อาจารย์และลูก รวมทั้งครอบคร้ว มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์พร้อมนะครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

เดช

มีประโยชน์ในการทำรายงานมากเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ

เรียน อ.มัทค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆเลยนะคะ สำหรับข้อมูลที่มีประโยชน์เช่นนี้

กำลังจะต้องทำรายงานวิพากษ์งานวิจัยเชิงคุณภาพค่ะ

ได้อ่านบทความของ อ.มัท แล้วรู้สึกว่าคงจะจับหลักเริ่มต้นได้เป็นชิ้นเป็นอันแน่นอน

...ที่เหลือตอนนี้คือการเลือกงานวิจัยที่จะนำมาวิพากษ์ค่ะ

ขอบพระคุณอีกครั้งนะคะ

ก้อยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท