แผน"การสอนงานมือใหม่"เดือนธันวาคม


การนำการจัดการความรู้มาใช้ในองค์กร โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐนั้น เราจะต้องเข้าใจ และพยายามปรับใช้ให้เป็นเนื้อเดียวกันกับงานปกติ

     วันนี้ได้ปรึกษากับคุณสายัณห์  เกี่ยวกับการนำการจัดการความรู้มาใช้ในองค์กร ก็ได้ข้อสรุปซึ่งสรุปมาแล้วหลายๆ ครั้ง (ต้องย้ำกับบ่อยๆ) ว่าการนำการจัดการความรู้มาใช้ในองค์กรนั้น จะต้องพยายามปรับใช้ให้เป็นเนื้อเดียวกันกับงานประจำ/ปกติ ไม่ควรบอกว่านี่คือ KM 

     ในเดือนธันวาคมนี้  ทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้กำหนดแผนการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสอนงานให้แก่นักส่งเสริมการเกษตรมือใหม่ โดยได้กำหนดแผนการปฏิบัติงานไว้ 2  วัน ดังนี้

     วันที่  21 ธันวาคม  ใช้สถานที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร

     มีกิจกรรมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังนี้

  • เริ่มต้นด้วยการนำเสนอบันทึกการเรียนรู้ของนักส่งเสริมมือใหม่ในเดือนที่ผ่านมาและแฟ้มสะสมงานของตนเอง ให้แก่ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
  • การเรียนรู้ระหว่าง-หลังการปฏิบัติงาน (AAR) 
  • การฝึกการวางแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และ
  • การเล่าประสบการณ์ของนักส่งเสริมมืออาชีพ คือคุณรังสรรค์  เลิศสูงเนิน เลขาฯศูนย์บริการตำบลมหาชัย ที่ชนะเลิศลำดับที่ 1 การประกวดศูนย์ฯ ปี 48  และ คุณเชิงชาย  เรือนคำปา เลขาฯศูนย์บริการตำบลนาบ่อคำ  ที่ชนะเลิศลำดับที่ 3 การประกวดศูนย์ฯ ปี 48 และมีประสบการณ์สูงในการทำงานพัฒนากลุ่มอาชีพในตำบล 
  • ในการเล่าประสบการณ์ นักส่งเสริมมือใหม่จะทำการฝึกการใช้เครื่องมือเก็บข้อมูล ที่ได้จากการถอดประสบการณ์ของผู้เล่าและทำการสรุปเป็นองค์ความรู้ สำหรับนำไปปรับใช้ในพื้นที่       

       วันที่ 23 ธันวาคม   ฝึกปฏิบัติงานภาคสนาม

       มีกิจกรรมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังนี้

  • เริ่มด้วยการไปศึกษาการจัดการเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรส้ม ตำบลท่ามะเขือ อำเภอคลองขลุง
  • การฝึกปฏิบัติการเก็บข้อมูล จากเกษตรกรผู้ปลูกส้ม(นักวิจัยชาวบ้าน) ที่ตำบลยางสูง อำเภอขาณุวรลักษบุรี     
  • ให้ทุกคนเขียนบันทึกการปฏิบัติงาน/การเรียนรู้ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยน-เผยแพร่ และ สะสมไว้ในแฟ้มสะสมงานของตนเองด้วย

         ซึ่งขณะนี้คุณสายัณห์ ได้ทำหนังสือจากจังหวัดแจ้งและนัดหมายให้แก่นักส่งเสริมมือใหม่ และหนังสือเชิญ นักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพที่จะมาเล่าประสบการณ์การทำงาน ให้ทุกคนได้ทราบ เรียบร้อยแล้ว 

          แม้เป้าหมายของทีมงานคือการฝึกนักส่งเสริมการเกษตรมือใหม่ แต่สิ่งที่หน่วยงานจะได้รับ นอกเหนือจากนี้ก็คือ  การซึมซับและสร้างความเข้าใจในกระบวนการจัดการความรู้ให้แก่นักส่งเสริมที่มีประสบการณ์  ให้ทุกคนได้มองเห็นประโยชน์ของความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน/ประสบการณ์  อีกทั้งยังเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน   สร้างความภาคภูมิใจและเป็นกำลังใจให้กับคนทำงานอีกทางหนึ่งด้วย

วีรยุทธ  สมป่าสัก 14/12/48                                                                                                                       

หมายเลขบันทึก: 9693เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2005 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท