บทความชุด นักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ (ตอนที่1)


การทำงานส่งเสริมการเกษตร ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่หลากหลาย เพราะเป็นการทำงานเพื่อการพัฒนาคน หากเราไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนา เชื่อว่าพวกเราจะเป็นนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพกันทุกๆคน

     ผมนำบทความชุด "นักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ" ซึ่งได้เคยนำเสนอลงบนโฮมเพจของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร มีทั้งหมด 7 ตอน  มาปรับและนำเสนอใหม่  เป็นการนำเสนอแนวคิดที่เป็นประสบการณ์จากการเรียนรู้ ในบทบาทของนักส่งเสริมการเกษตรคนหนึ่ง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักส่งเสริมการเกษตรทุกๆ ท่าน ครับ

"นักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ" (ตอนที่ 1)

        “ ถ้าไม่ก้าวไปข้างหน้า ระวังจะอยู่ข้างหลัง ” เป็นคติพจน์ที่หากเราวิเคราะห์
ความหมายให้ดีจะเห็นว่าเป็นความจริงเสมอ เพราะแม้ว่าเราจะหยุดอยู่กับที่ แต่ทุกสิ่งก้าวไปข้างหน้าไม่เคยหยุดนิ่ง ก็เท่ากับว่าเราถูกทิ้งห่างให้อยู่ข้างหลังไปเรื่อยๆ แม้ว่าเราไม่ได้ก้าวถอยหลังก็ตาม พวกเราชาวส่งเสริมการเกษตรก็เช่นกัน สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ หากเราไม่ปรับแนวคิด ไม่เรียนรู้ ไม่ปรับกระบวนการทำงานแล้ว ก็ยากที่เราจะทำงานได้อย่างราบรื่นหรือบรรลุจุดหมายงานส่งเสริมการเกษตร

        ในอดีต กระบวนการทำงานของเราเน้นหนักที่การถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นการให้ในสิ่งที่เราคิดว่าเกษตรกรขาดหรือไม่รู้ แต่ปัจจุบันการให้ในลักษณะเดิมคงใช้ไม่ได้ผลอีกแล้ว เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป เกษตรกรสามารถรับรู้ข้าวสารได้ดีขึ้น รวดเร็วและหลายช่องทางมากกว่าเดิม ดังนั้น งานที่จะต้องทำในการส่งเสริมการเกษตร เราต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากผู้ให้ความรู้/ปัจจัยการผลิต ปรับเปลี่ยนมาเป็นการเข้าไปร่วมเรียนรู้ปัญหาและวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขร่วมกับเกษตรกร หรือพูดง่าย ๆ ก็คือทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้วิธีการเรียนรู้และแก้ปัญหาด้วยตัวเกษตรกรเอง ( Learn how to learn)

        จากประสบการณ์ที่ทำงานในพื้นที่ และศึกษาจากผู้รู้ วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มของอนาคต จึงใคร่ขอเสนอแนวทางในการทำงานพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรของเรา ให้ก้าวสู่การเป็นนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ นั้น ควรผ่านบันใด 6 ขั้น ดังต่อไปนี้….(เป็นแนวคิดส่วนตัวนะครับ)

1.    การปรับแนวคิด (การคิด)

         ในการพัฒนาต้องเริ่มต้นที่การพัฒนาคน แต่การจะพัฒนาคนได้นั้นต้อง พัฒนาที่ใจของคนก่อน ให้เห็นว่าแนวคิดของเรานั้นเป็นความคิดเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) เราควรจะต้องปรับแนวคิดและปรับปรุงการปฏิบัติตนเองใหม่ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ (เปลี่ยน Paradigm) ทำสิ่งที่ดีๆ และถูกต้อง ทำงานเพื่องาน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่

2.    การพัฒนาตนเอง

       เมื่อปรับแนวคิดแล้วก็มาถึงการพัฒนาตนเอง ในการพัฒนานั้นเริ่มที่การพัฒนาคน แต่ก่อนที่เราจะพัฒนาคนอื่นเราต้องพัฒนาตัวเราเองก่อน การพัฒนาตนเองนั้นคงต้องเริ่มต้นที่การเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ (ปริยัติ) ที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราปฏิบัติ ซึ่งคงต้องเริ่มต้นที่การเรียนรู้ นอกจากการศึกษาศาสตร์แล้วเราก็ต้องพัฒนาตนเองโดยการฝึกทักษะลงมือปฏิบัติตามศาสตร์(ปฏิบัติ) บ่อยๆ เพื่อให้เกิดทักษะในการทำงานซึ่งก็คือมีศิลป์ในการทำงาน และก็จะเกิดปัญญาปฏิบัติ (ปฏเวธ)

3.    การสร้างทีมงานและเครือข่ายการทำงาน

       งานพัฒนาทางด้านการส่งเกษตรเป็นงานที่ต้องทำกับคน ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยากแต่ก็ท้าทาย เมื่อก่อนเราอาจคิดว่า มีความรู้ทางด้านการเกษตรเพียงด้านเดียวก็สามารถทำงานได้ดี แต่ปัจจุบันไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการทำงาน เพราะเราต้องทำงานกับคน นักส่งเสริมการเกษตรต้องเรียนรู้หลายศาสตร์ แต่การที่เราจะเรียนรู้ทุกเรื่องแล้วทำงานคนเดียวนั้น คงเป็นเรื่องที่ยากที่จะสำเร็จได้ ดังนั้นการทำงานในปัจจุบันในองค์กรต้องมีการสร้างทีมงานในการทำงานในองค์กรด้วย เพื่อสนับสนุนการทำงาน และเพิ่มศักยภาพ หรือขีดความสามารถในการทำงานให้สูงขึ้น

4.    การสร้างระบบการทำงานในองค์กร

        การทำงานในปัจจุบัน องค์กรหรือหน่วยงาน ต้องมีการสร้างหรือพัฒนาการทำงานขององค์กรให้มีระบบ มีระบบการทำงานที่คนในองค์กรได้ร่วมกันกำหนดหรือสร้างขึ้น ภายใต้บริบทและความเหมาะสมกับลักษณะของงาน  เพราะระบบการทำงานจะทำให้งานส่งเสริมการเกษตรมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงและมีประสิทธิภาพ

5.    การปรับกระบวนการทำงานในพื้นที่

        กระแสการพัฒนาในปัจจุบันมุ่งเน้นการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง เรานักส่งเสริมการเกษตรเป็นเพียงคนเอื้ออำนวยในกระบวนการเรียนรู้เท่านั้น หรือที่เรียกว่าคุณอำนวย (Facilitator) และที่สำคัญรูปแบบของกระบวนการส่งเสริมการเกษตรในปัจจุบัน ควรปรับเปลี่ยนกระบวนการจากเดิม มุ่งสู่การส่งเสริมการเกษตรที่เน้นกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติงานแบบมีส่วนร่วม (PAR) หรือชุมชนวิจัยมากยิ่งขึ้น เกษตรกรจะเรียนรู้และแก้ปัญหาเป็น ด้วยตัวเกษตรกรเอง  เป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับเกษตรกร

6.     การบันทึกและรายงานผลการปฏิบัติงาน (การเขียน)

       ข้อสุดท้ายนี้อาจหนักใจพวกเราบ้าง เพราะเราเป็นนักปฏิบัติไม่ใช่นักเขียน แต่นักส่งเสริมมืออาชีพต้องเรียนรู้ หากเราบันทึกเผยแพร่ หรือจัดการความรู้เป็นคลังความรู้ของเรา นักส่งเสริมรุ่นใหม่ก็จะพบทางลัดการพัฒนาไปสู่จุดที่ไม่ห่างจากรุ่นพี่ๆ มากนัก การทำงานแบบต่อยอดย่อมใช้เวลาน้อยกว่าการเริ่มต้นใหม่เสมอ และคุณค่าของงานเขียนที่มีคนอ่านและเรียนรู้มัน มีค่ามากกว่างานวิจัยที่ทำแล้วเก็บไว้บนหิ้งมากมาย ดังที่ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ยกตัวอย่างคติพจน์จีนไว้ในคำนำหนังสือชื่อเขียนบทความอย่างไรให้น่าอ่านบทหนึ่งไว้ว่า “ ความจำที่ดีนั้นสู้หมึกเพียง 1 หยดไม่ได้ ”

          แนวทางทั้ง 6 ข้อ เริ่มตั้งแต่การคิดจนถึงสุดท้ายคือการเขียนที่ผมได้เสนอมานั้น อาจตรงหรือไม่ตรงกับความคิดของท่านก็ไม่เป็นไร (นานาจิตตัง) อาจจะสลับข้อ หรือว่ายังไม่สมบูรณ์ครบถ้วนก็คงไม่เป็นไร ท่านก็เพิ่มเติมเอาเอง ผมเขียนตามกำลังสติปัญญาเท่าที่มีอยู่ แต่หากมีข้อใดที่ท่านคิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์ ก็น่าที่จะคิดทบทวนและลองปฏิบัติดู เพราะการพัฒนาคนที่ว่าเริ่มต้นที่ใจนั้น วัดกันที่ว่า “ ยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่นหรือยัง ”

         คงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเรียนรู้ และพัฒนางาน(อาชีพ)ของเราด้วยตัวเราเอง การเรียนรู้และการพัฒนาที่เกิดจากข้างในย่อมมีความยั่งยืนกว่าสิ่งที่กำหนดมาจากข้างนอก อย่าให้คนนอกหรือระบบเป็นตัวบีบบังคับเราให้ต้องเปลี่ยนแปลงและต้องปรับปรุง ถึงตอนนั้นอาจสายไปแล้วก็ได้เพราะ “ถ้าไม่ก้าวไปข้างหน้า ระวัง…!.. ท่านจะอยู่ข้างหลัง”

(รายละเอียดของทั้ง 6 ขั้น ติดตามต่อได้ในตอนที่ 2 - 7 นะครับ)

วีรยุทธ  สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 9686เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2005 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท