เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย(16.9)


การฝึกอบรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของประเทศไทย

          การฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว(Family Medicine) เพื่อเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family practitioner/Family Physician) เป็นการนำแนวคิดมาจากอังกฤษและออสเตรเลียเนื่องจากการใช้คำว่าแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (GP) นั้น ชาวบ้านหรือคนทั่วไปก็จะมองว่าเป็นแพทย์ทั่วไป (Generalist) เกิดสภาพไม่แตกต่างกันในสายตาคนนอกระหว่างฝึกอบรมกับไม่ฝึกอบรม และการจูงใจให้แพทย์มาสอบหรือฝึกอบรมทำได้ยากเพราะดูเหมือนขาดเอกลักษณ์ของตนเอง ทำให้ไม่สามารถรวมกลุ่มแพทย์ที่ได้อนุมัติบัตรหรือวุฒิบัตรมาจัดตั้งเป็นวิทยาลัยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปได้ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนไปเป็นเวชศาสตร์ครอบครัว โดยประยุกต์เอาแนวคิดการฝึกอบรมแบบเวชปฏิบัติทั่วไปเดิมเข้ากับแนวคิดของเวชศาสตร์ครอบครัวโดยเฉพาะการเน้นมองผู้ป่วยแบบองค์รวม การดูแลแบบผสมผสาน ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น

           ประจวบเหมาะกับการเข้ามาของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่แบ่งการบริการออกเป็นปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ โดยมีการเน้นบริการปฐมภูมิและมีแนวคิดว่าแพทย์ที่จะทำปฐมภูมิที่รับขึ้นทะเบียนประชาชนหรือเปิดคลินิกส่วนตัวต้องเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จึงทำให้เกิดกระแสความสนใจแพทย์สาขานี้มาก พอสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัว เปิดบทเฉพาะกาล 3 ปีเพื่อรับสมัครสอบอนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวจึงมีคนมาสมัครกันมาก ทำให้ปริมาณแพทย์ที่ได้เป็นแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวมีมากขึ้นจนสามารถรวมกลุ่มกันตั้งเป็นวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และจะได้เป็นราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทยเร็วๆนี้ แต่หลังจากนั้นกระแสของเวชศาสตร์ครอบครัวก็ตกลง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคไปเน้นบริการปฐมภูมิในสถานีอนามัย  และคนที่ได้บอร์ดก็ไม่ได้ทำงานในส่วนของเวชศาสตร์ครอบครัวจริง  การพัฒนากระบวนวิชาและความเป็นอกลักษณ์ที่จะทำให้ประชาชนรู้จักจึงเกิดขึ้นน้อยมาก เป็นการเพิ่มจำนวนมากกว่าคุณภาพ

           ความรู้สึกของแพทย์ส่วนใหญ่ก็รู้สึกกับเวชศาสตร์ครอบครัวไม่ต่างจากเวชปฏิบัติทั่วไปเดิม การจะทำให้มีพลังจึงควรศึกษาแนวทางของออสเตรเลียที่อาศัยกลยุทธ์หลายประการที่ทำให้ราชวิทยาลัยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปแห่งออสเตรเลียมีพลังและบทบาทอย่างมากในการจัดระบบบริการสุขภาพโดยที่เขาไม่ต้องเปลี่ยนชื่อแบบของเรา เพราะหากเปลี่ยนแต่ชื่อ ภารกิจ รูปแบบ การดำเนินการไม่เปลี่ยน มันก็เป็นแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ เท่านั้น

                การฝึกอบรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวนั้น มีการเรียนการสอนมากว่า 15 ปีแล้วโดยเกิดที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มีภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว โดยการผลักดันของอาจารย์หมอธันยโสภาคส์ เกษมสันต์ ณ อยุธยา เดิมท่านเป็นแพทย์ศัลยกรรมกระดูก แต่ได้สนใจแนวคิดทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและนำมาเผยแพร่ในเมืองไทย จนสามารถตั้งภาควิชาขึ้นได้ ทำให้นักศึกษาแพทย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ประมาณรุ่นที่ 25 ได้เรียนวิชานี้ในปี 4และ 5 เท่าที่ผมเปรียบเทียบเนื้อหาวิชากับที่ทางวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวกำหนดก็มีเนื้อหาเหมือนกันเลย โดยเน้นที่การดูแลผู้ป่วย ครอบครัว สัมพันธภาพของแพทย์กับผู้ป่วย เป็นต้นและเท่าที่ผมเปรียบเทียบกับหลักสูตรของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในออสเตรเลียก็คล้ายๆกันโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นโดเมน แต่อีก 2 ส่วน ของเราไปฝากให้ภาควิชาอื่นๆเขาสอนให้

หมายเลขบันทึก: 9487เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2005 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท