เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย(16.8)


แพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป

             การฝึกอบรมเวชปฏิบัติทั่วไป(General Practice) เพื่อเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (General practitioner) ในเมืองไทยนั้นควบคุมมาตรฐานและกำหนดหลักสูตรโดยแพทยสภา ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป โดยมีการฝึกอบรมในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 3 ปี การเรียนจะเป็นการเรียนในสาขาวิชาหลักๆและสาขาวิชารองแบบหมุนเวียนกันไป เมื่อครบหลักสูตรแล้วก็จะสอบประมวลผลซึ่งจะมีการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ด้วย ถ้าผ่านก็ได้เป็นวุฒิบัตร(วว.)แพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป  แต่แพทยสภาก็ได้กำหนดให้แพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลที่ไม่แบ่งแผนกซึ่งถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปอยู่แล้วสามารถสมัครสอบเพื่อรับเป็นวุฒิบัตรหรืออนุมัตรบัตรได้ โดย

-          วุฒิบัตร จะเป็นกลุ่มที่เรียนอยู่ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยตามหลักสูตรของแพทยสภากำหนด 3 ปีหรือแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่แบ่งแผนกอย่างน้อย 3 ปี แล้วส่งผลงานการให้บริการ 1 ชุด และทำผลงานวิชาการ 4 เรื่องใน 4 สาขาหลักคือศัลยกรรมหรือศัลยกรรมกระดูกหรือวิสัญญี  สูตินรีเวชกรรม อายุรกรรมและกุมารเวชกรรม  อาจทำเป็นCase studyหรือReview articleหรือResearch ก็ได้พร้อมทั้งเข้าอบรมประจำปีของสมาคมเวชปฏิบัติทั่วไป 1 ครั้ง(อบรม 10 วัน) เมื่อผลงานบริการและผลงานวิชาการผ่านการประเมินจากคณะกรรมการสอบก็ได้เข้าสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์พร้อมกับกลุ่มแพทย์ประจำบ้านที่เรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งผมเองก็สอบได้วุฒิบัตรโดยทำงานในโรงพยาบาลชุมชน 4 ปี (ตอนครบ 3 ปี ก็จะสอบแต่ทำผลงานวิชาการไม่ทันเพราะต้องทำเยอะกว่ากลุ่มที่เรียนเพราะทำ 4 เรื่อง 4 สาขา) ตอนที่สอบร่วมกับแพทย์ที่เรียนในมหาวิทยาลัยด้วย ผมสอบได้คะแนนเป็นอันดับ 5 ของกลุ่มที่สอบในปี 2540

-          อนุมัติบัตร เป็นกลุ่มแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลที่ไม่แบ่งแผนก 5 ปี ทำผลงานวิชาการ 1 เรื่อง อบรม 1 ครั้ง แล้วก็สอบแบบเดียวกัน

             แรงจูงใจอันหนึ่งที่ทำให้แพทย์สอบวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรสาขาเวชปฏิบัติทั่วไปคือการที่กระทรวงสาธารณสุขให้ถือว่าเป็นสาขาขาดแคลน หากมีบอร์ดด้านนี้จะได้รับเงินเพิ่มจากเงินบำรุงโรงพยาบาลเดือนละ 4,000 บาท  ตอนที่ผมสอบได้ก็ได้เงินอยู่ 1 ปี พอปรับเป็นซี 7 ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 3,500 บาท ก็ต้องเลิกรับเงินส่วนนี้ ซึ่งดูแล้วก็ไม่เป็นธรรมนักเพราะเป็นเงินคนละส่วนกัน แต่กระทรวงบอกให้รับได้อย่างเดียว ดังนั้นการจูงใจแพทย์ให้ไปสอบก็เลยไม่ได้ผลนักเพราะถ้าอยู่ 5 ปีแล้วก็จะได้ซี 7ในปีที่ 6 จะได้เงินเพิ่มพิเศษแค่ปีเดียว ส่วนใหญ่แพทย์อยู่แค่ 3 ปีก็ไปเรียนเฉพาะทางสาขาอื่นๆหมด

            ตอนนี้ผมก็เป็นสมาชิกของสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย รหัสสมาชิก gp 491 และเป็นสมาชิกวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย รหัสสมาชิก fp 094 ถามว่ามีความภาคภูมิใจในการเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขานี้ไหม ผมตอบได้เลยว่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แต่ก็อยากให้วิทยาลัยและสมาคมได้มีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ผมเป็นรุ่นแรกที่สอบอนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวเมื่อปี 2544 แต่ก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานในวิทยาลัยหรือสมาคมฯ มีเพียงการร่วมลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการวิทยาลัย 2 ปีครั้ง เท่านั้น
หมายเลขบันทึก: 9486เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2005 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท