เยี่ยมเพื่อนทีมพุทธชินราช


การออกกำลังกายเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ต้องทำจิตใจให้ว่าง ให้ร่าเริงอยู่เสมอ

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ หลังตลาดนัดความรู้ ครั้งที่ ๒ เพียง ๑ วัน ดิฉัน ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ รศ.นพ.วิชัยเอกพลากร ได้ไปเยี่ยมทีมพุทธชินราช ที่จังหวัดพิษณุโลก เราออกเดินทางจาก กทม. ตั้งแต่ ๐๖.๓๐ น.โดยการบินไทย ไปถึงพิษณุโลกประมาณ ๐๗.๓๐ น. คุณหมอนิพัธ คุณอ้อ (รัชดา) และทีมงานมารับไปที่ศูนย์สุขภาพเมือง มีคุณหมอวีระศักดิ์ วัชรศิริยุทธ์ ร่วมให้การต้อนรับ เราเยี่ยมชมสถานที่และระบบการทำงานของศูนย์นี้ ตามด้วยอาหารเช้าประเภทปาท่องโก๋ ข้าวเหนียวหน้าต่างๆ (ของชอบของดิฉัน) ได้เจอน้องๆ หลายคนที่เคยมาทำ PA เช่น น้องส้ม น้องอาร์ม คุณมณีวรรณ

๐๙.๐๐ น.เดินทางไปเยี่ยมชมกระบวนการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบบูรณาการในชุมชน ของศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านกร่าง วันนั้นมีกิจกรรมของชมรมห่วงใยรักษาสุขภาพบ้านกร่าง (เบาหวาน) ที่ลานธรรมชาติใต้ต้นมะม่วง ของวัดนิมิตรธรรมาราม (วัดใน) ชมรมนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง นายก อบต.ก็มากล่าวต้อนรับเรา และวันนี้มีสมาชิกของชมรมออกกำลังกาย ชมรมสตรีต้านภัยมะเร็งมาร่วมแจมด้วย

พยาบาลมาให้ความรู้เรื่องการดูแลเท้าสั้นๆ ดิฉันประทับใจที่ชาวชมรมตอบคำถามอย่างแข็งขันและเล่าบอกว่าเขามีวิธีการดูแลเท้าอย่างไรบ้าง เช่น

- เช็ดถู ดูแลตลอด

- แช่เท้าได้แต่ไม่บ่อย

- ล้างเท้าด้วยน้ำอุ่นใส่น้ำมะนาว เช็ดให้แห้ง ทาครีมบำรุงผิวแล้วเท้าจะนุ่ม

- ใส่ถุงเท้า

ดิฉันสังเกตว่าชาวชมรมที่มาวันนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง สวมถุงเท้าทุกคน ได้ร่วมกันออกกำลังเท้าโดยนั่งเหยียดขากับพื้น กระดกเท้า ยกขาขึ้น-ลงสลับข้างกัน และยังร้องเพลงที่แต่งขึ้นมาเอง เนื้อหามีความครอบคลุมทั้งกาย จิต อารมณ์ สังคม เช่น เพลงสู้โรค "....ความดัน เบาหวาน ควบคุมอาหารได้นั้นจะดี....รู้โรค เป็นโรคไม่ต้องตกใจ...ไปหาหมอ ทำใจร่าเริง มายิ้มให้กัน...." เพลงออกกำลังกาย (จำชื่อไม่ได้) "....มาออกกำลังสักวันละหน่อย ความสุขเล็กๆ น้อยๆ....รักร่างกายไม่ต้องอายมาออกกำลัง....." ชาวชมรมและบุคลากรของ PCU ยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดี แต่ร่างกายค่อนข้างจะสมบูรณ์กันทั้งนั้น น้องพยาบาลบอกว่า "น้ำหนักไม่ลด แต่น้ำตาลลดนะคะ"

ประธานชมรมฯ คุณปรีชา ศรีชัย มากล่าวต้อนรับและเล่าความเป็นมาของชมรมที่เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ทาง รพ.พุทธชินราชส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมกับ สถานีอนามัย PCU ประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ทุกหมู่บ้าน คัดกรองคนที่มีอายุตั้งแต่ ๔๐ ปีขึ้นไปครบทุกหมู่บ้าน พบผู้ที่มีแนวโน้มเป็นเบาหวานในทุกหมู่บ้าน PCU ก็เจาะเลือดซ้ำแล้วส่งตรวจที่ รพ. แพทย์ให้คำแนะนำรักษาสุขภาพเพื่อไม่ให้น้ำตาลสูง ประธานชมรมกล่าวว่า "พวกเราดูแลสุขภาพตนเองไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะยังไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย จึงหารือกันและตั้งเป็นชมรม มีการติดตามผลกันทุกเดือน ปรากฏว่าได้ผลดี น้ำตาลลด จึงมีกิจกรรมโดยออกกำลังและรับประทานอาหารร่วมกันเดือนละครั้งมีการสอดแทรกการให้ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อให้เกิดประโยชน์ ใครทำอะไรแล้วน้ำตาลลดก็มาเล่าให้เพื่อนฟัง" อบต.ให้เงินเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หางบประมาณมาสร้างลานคอนกรีตไว้ให้ออกกำลังกายได้ทุกวัน ต่อมาก็หางบมาสร้างอาคารที่มีหลังคา เพื่อให้ออกกำลังกายได้แม้ว่าฝนจะตก เริ่มจากเรื่องเบาหวานแล้วแตกแขนงไปเป็นการออกกำลังกายวิถีไทย

ผู้เป็นเบาหวานชาวบ้านกร่างปฏิบัติตนได้ดี รพ.จึงส่งกลับมารักษาที่ PCU ๓-๔ เดือนจึงจะเข้าไปที่ รพ.สักครั้ง เดี๋ยวนี้คนห่วงใยสุขภาพมากขึ้น แต่ก่อนอายุเกิน ๔๐ จึงจะมาตรวจ เดี๋ยวนี้อายุ ๓๐ กว่าก็มาแล้ว เมื่อป่วยก็ได้รับความรู้จากเพื่อนผู้ป่วยด้วยกัน เขาจึงภาคภูมิใจว่าต่อไปในอนาคตโรคที่อันตรายในผู้สูงอายุจะหายไป ถ้าพี่น้องไม่ป่วยก็มีกำลังมาร่วมพัฒนา ก่อนจบประธานชมรมยังบอกว่าการออกกำลังกายเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ต้องทำจิตใจให้ว่าง ให้ร่าเริงอยู่เสมอ หลังออกกำลังกายแล้วต้องพักให้เหงื่อแห้งก่อน เวลาอาบน้ำก็ให้ฮัมเพลงไปด้วย ตรงนี้ท่านได้กล่าวติดตลกว่าควรใช้เพลงเบาๆ พร้อมยกตัวอย่างเพลงที่ไม่ควรนำมาร้อง ร้องเพลงสาธิตได้ไพเราะจริงๆ อีกด้วย (ปราศัยหาเสียงได้สบาย)

อาจารย์เทพกล่าวกับชาวชมรมอย่างอารมณ์ดี ชาวชมรมรู้ว่ารุ่นลูกรุ่นหลานต้องทำตัวให้ดี รู้ว่าสุขภาพดีต้องออกกำลังกายและกินอาหารให้ถูกต้อง และแน่นอนงานดีอาจารย์เทพของเราก็ร้องเพลงและวาดลวดลายการเต้นเอาใจแฟนๆ ด้วย 

คุณอ้อ (รัชดา) ได้ให้ดิฉันคุยกับคุณเดือนซึ่งเป็นเบาหวานมา ๒ ปี เจ้าของคำว่า "เบาหวานตัวผู้ ตัวเมีย" คุณเดือนบอกว่า "เบาหวานตัวเมีย มันลงล่าง อะไรบาด รักษาไม่หาย ต้องตัดแข้งตัดขา เป็นเบาหวานเยิ้ม ไปนั่งที่ไหนก็มีมดขึ้น ผมเป็นแผลแล้วหาย (โชว์รอยแผลที่เท้า) สงสัยเป็นตัวผู้ เบาหวานตัวผู้จะขึ้นบน ขึ้นตา" คุณเดือนยังบอกว่าวันนี้พวกผู้ชายไม่ค่อยมา เพราะไปทำนากัน คุณเดือนรู้ว่าตนเองมีน้ำตาลในเลือดเท่าไหร่ กินยาเบาหวานและยาเส้นเลือดอุดตัน พร้อมเล่าถึงความพยายามในการควบคุมอาหารของตน

เราลาชาวชุมชนบ้านกร่างกลับมาที่ รพ.พุทธชินราช ช่วงเวลา ๑๑.๒๕-๑๒.๑๕ น.คุณหมอนิพัธได้จัดให้มีการพบปะพูดคุยกับแพทย์จาก รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน และจากหน่วยงานอื่นๆ ก่อนรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน (คุณหมอนิพัธให้โภชนากรจัดอาหารเป็นชุดและคำนวณแคลลอรี่ด้วย)

๑๓.๓๐ - ๑๖.๐๐ น.มีการประชุมวิชาการเรื่องการบริบาลผู้ป่วยเบาหวานในเวชปฏิบัติ วิทยากรคือศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ และ รศ.นพ.วิชัยเอกพลากรโดยมีแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องของ รพ.พุทธชินราช และจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น แพร่ ตาก พิจิตร อุตรดิตร ลงทะเบียนเข้าประชุมเกือบ ๓๐๐ คน

การเยี่ยมเพื่อนครั้งนี้ ดิฉันได้เห็นความเข้มแข็งของชาวชุมชนบ้านกร่างที่เป็นเบาหวาน และมองเห็นศักยภาพของคุณหมอนิพัธและทีมงาน ที่จะสร้างเครือข่ายและนำ KM ไปใช้ขับเคลื่อนการดูแลผู้ป่วยเบาหวานทั้งของ จ.พิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป ในนามของเครือข่ายขอเป็นกำลังใจให้นะคะ สำหรับภาพบรรยากาศในวันนั้น ดิฉันไม่มีอยู่ในมือ รบกวนคุณหมอนิพัธและคุณอ้อช่วยเล่าและเอารูปภาพลงบล็อกด้วยนะคะ

ก่อนเดินทางกลับเราได้ไปรับประทานอาหารเย็นบนเรือนแพที่บรรยากาศดีมาก อาหารจากปลาแม่น้ำที่อร่อยจริงๆ ถ้ามีโอกาสคงจะได้กลับไปเยี่ยมอีก

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 9436เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2005 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
น่าสนุกมากครับ กับการเยี่ยมเพื่อนที่พุธชินราช เห็นบรรยากาศมากๆ และนึกถึงสถานที่ ผู้คน โรงพยาบาล ที่อาจารย์วัลลาเล่า แล้ว ทำให้เห็นภาพเก่าๆตอนที่ผมเรียนอยู่ที่พิษนุโลกด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท