บทสรุปย่อที่ยังไม่จบ ประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน


การให้โอกาส การสร้างแรงใจ และการสนับสนุนโดยมีเข็มทิศไปที่เพื่อให้เขาช่วยตนเองได้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เขาพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญต้องลงมือทำ ไม่ใช่มีแต่แนวคิด

     บทสรุปสำหรับผมในการทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน เริ่มต้นตั้งแต่การตัดสินใจไปเรียนเป็น “หมออนามัย” แทนการเข้าเรียนในระบบมหาวิทยาลัยทั้ง ๆ ที่สอบ Ent ได้แล้ว เพราะจุดหักเหในครอบครัว ขณะที่พี่ และน้อง ๆ ทุกคนกำลังเรียนอยู่ทั้งนั้น เป็นการเริ่มต้นแกมบังคับให้เริ่ม ฉะนั้นตอนนั้นจึงยังไม่ค่อยมีใจนัก จนเมื่อได้ออกพบปะชุมชนในการฝึกงานปีที่หนึ่งที่ รพ.สะเดา และปีที่สองที่ สอ.ต.ฉลุง ถึงเริ่มเข้าใจชุมชนบ้าง เริ่มมีเหตุการณ์ให้ประทับใจ แต่ยังไม่เข้าเนื้อ ไม่ฝังในกระดูก ขณะนั้นผมยังได้เรียน มสธ.ในสาขาการจัดการทั่วไปพร้อม ๆ กันไปด้วย ด้วยเหตุว่าเป็นช่วงธุรกิจกำลังบูมมาก ๆ (ปี 2532-2534)

    การเริ่มต้นทำงานที่ สอ.ต.หนองธง เป็นการจุดประกายความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ต่อชุมชน การที่ถูกสอนโดยวิถีชุมชนเรื่อย ๆ ทำให้เริ่มเข้าเนื้อ เช่น ถ้อยคำที่เพื่อนในชุมชนพูดว่า “วันนี้เงินในกระเป๋าสูหมาน (น้าหมาน) 50 บาท กับของผม (เพื่อน) และ ของหมอ (ตัวผม) แม้จะเป็นแบ็งค์ 50 บาทเหมือนกันทุกอย่าง แต่ค่ามันไม่เท่ากัน” ความลำบากมันไม่เหมือนกัน ทำให้ผมเริ่มคิดมากขึ้น การได้รับความรักจากชุมชนที่นั่นทำให้ผมมั่นใจมากขึ้น ที่นี่ผมไม่ได้พัวพันกับระบบราชการที่เป็นหน่วยบังคับบัญชามากนัก เนื่องจากเป็นเด็กจบใหม่ และห่างไกล เดินทางไป-มาลำบาก ที่นี่ผมได้เรียนรู้ว่า “เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแล้ว ชุมชนจะสอนเราเอง และสอนให้เป็นคนดีด้วยความหวังดี”

     การย้ายมาอยู่ที่ สอ.ต.นาปะขอ เป็นความผิดพลาดในการทำงานครั้งใหญ่ เพราะระบบราชการที่ผมไม่เข้าใจเขาเลย แต่ที่นี่เป็นโอกาสอีกครั้งที่ทำให้ผมเก็บซุ่มตัวเอง และฝึกฝนนำความรู้ไปใช้อย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีบทบาททางสังคมในระบบราชการที่นี่เลย จนโอกาสมาถึง ทุกอย่างเริ่มสุกงอม ผู้บริหารกลับมายอมรับ ก็ได้รับความไว้วางใจให้มาช่วยที่ สสอ.บางแก้ว ที่นี่ผมได้เรียนรู้ในการทำงานว่า “ความเจ็บปวดที่สุดที่เป็นการลงโทษจากผู้บริหาร คือ การไม่มอบหมายงานให้ทำ การปิดกั้นโอกาสให้หมด” และผมได้เรียนรู้อีกเรื่องว่า “ความจริง คือ ความจริง ไม่ต้องเอะอะโวยวายอะไร ถ้ามั่นใจว่ามันเป็นความจริง แล้ววันหนึ่งความจริงนี้จะปรากฎ” ผมจึงไม่ทุกข์ร้อนกับมาตรการใด ๆ ที่เกิดขึ้น

     การทำงานและการได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ ในขณะที่วัยวุฒิน้อย ๆ นั้น จะต้องพยายามสร้างการยอมรับเสียก่อน เพราะยังไงแล้วสังคมก็ยังยอมรับในความอาวุโสก่อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา และที่สิ่งที่เป็นเครื่องมือในการสร้างการยอมรับมชที่ง่ายที่สุดคือการนอบน้อมต่อเขา ยกให้เขาเป็นผู้รู้ที่เราต้องไปขอคำปรึกษา หารือ ให้เกียรติเขา

     วันนี้ยังเป็นหนังสือเล่มโตที่ต้องพยายามอ่าน พยายามฝึกทำ และเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน คือการทำงานชุมชนในฐานะผู้ส่งเสริมสนับสนุนมากกว่าการลงมือทำเอง ทุกวันนี้จริง ๆ แล้วไม่มีพื้นที่ที่ได้ลงมือทำเองเลย เป็นแต่เพียงคนจัดให้มีเวที สนับสนุนให้เกิดการพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน การขายแนวคิดความเชื่อเรื่องสุขภาพเป็นของชุมชน ไม่ใช่ของเรา เรามีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการลุกขึ้นมาจัดการกับสุขภาพของเขาเอง แล้วชุมชนจะไปถึงสุขภาวะ ชุมชนจะพึ่งตนเองได้จริง บทเรียนนี้ยังไม่สามารถถอดออกมาได้ทั้งหมด ที่พยายามบันทึกไว้ สะสมไว้ก็เป็นเรื่องปกติที่เคยทำ แต่เปลี่ยนรูปแบบวิธีการเท่านั้น

     การเรียนรู้ที่สำคัญในปัจจุบันก็คือ การให้โอกาส การสร้างแรงใจ และการสนับสนุนโดยมีเข็มทิศไปที่เพื่อให้เขาช่วยตนเองได้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เขาพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าเขา คือ บุคลากรสาธารณสุข ชาวบ้าน หรือชุมชน และที่สำคัญต้องลงมือทำ ไม่ใช่มีแต่แนวคิด

[ความรัก ถือเป็นจุดเริ่มต้น]
[เรื่องเล่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน สอ.ต.หนองธง, สอ.ต.นาปะขอ, สสอ.บางแก้ว, สสจ.พัทลุง]
[วิธีการไปชักชวนคนทำงานอื่น ๆ ในแวดวงมาพูดคุยกัน]
[วิธีการสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่เป็นฉันมิตร]
[การอำนวยให้เกิดเวทีพูดคุยต่าง ๆ ทั้งในส่วนคนทำงาน และชุมชน]

[บทสรุปย่อ]

หมายเลขบันทึก: 9424เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2005 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท