เรื่องเล่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน ตอน สสจ.พัทลุง


มีเรื่องให้ผมเรียนรู้อีกเยอะครับ ทั้งที่ยังไม่รู้ และรู้แบบไม่แน่ใจ

     ครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2547 (วันที่ 15 พฤษภาคม 2547) ผมก็ย้ายมาช่วยราชการที่ สสจ.พัทลุง โดยประจำอยู่ที่กลุ่มงานประกันสุขภาพ รับผิดชอบงานนายทะเบียน UC จังหวัด ระบบฐานข้อมูลประชากรและสิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพ และงานแผนงาน/ประเมินผลโครงการ UC

     เมื่อผมได้ทราบอย่างเป็นทางการว่ามติที่ประชุมที่จังหวัดตกลงให้ผมไปช่วยงานทะเบียน ฐานข้อมูล และการประเมินผล ที่ กลุ่มงานประกันฯ สสจ.แน่นอนแล้ว สิ่งที่เป็นห่วงที่สุด คือ โครงร่างวิจัยการจัดการทุนทางสังคมโดยชุมชน จึงได้นัดคุยกัน และตกลงว่าขอให้พักไว้ก่อน เนื่องจากยังไม่เริ่มเดิน ผมเสียดายโอกาสที่จะใช้โครงการนี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน (ผมมองเป็นแค่เครื่องมือฯ) เพราะกระบวนการในแต่ละลำดับขั้นตอน จะเป็นทั้งการพัฒนากระบวนการทำงานเป็นทีม กระบวนการพัฒนาวิธีคิด การทำงานร่วมกันของคนต่างวัย ผู้สูงอายุจะรู้สึกมีคุณค่าของตนเอง รวมถึงการทำให้ชาวบ้านทำวิจัยได้เองโดยไม่รู้ตัว ทัศนคติของการวิจัยจะได้เปลี่ยนไปว่าไม่ใช่เรื่องยาก ชาวบ้านก็ทำได้ และหมออนามัยก็จะได้ถือโอกาสนี้เป็นการทำงานเชิงรุก และได้พัฒนาตัวเอง รวมทั้งผมด้วยซึ่งห่างเหินการทำงานชุมชนไปมากแล้ว จะได้กลับมาทำในสิ่งที่ชอบและถนัดอีกที

     การไปอยู่ สสจ. ก็ด้วยสามัญสำนึกว่า จะไปสร้างโอกาสแก่ชุมชน แล้วจะทำตามอุดมการณ์ให้ได้ ถ้าหากว่าอยู่ไม่ได้ (รู้สึกกลัวเพราะภาพของ สสจ. ที่ผมรู้จักเป็นที่ที่ผมรู้สึกในทางลบมาโดยตลอด) จะขอกลับมาอยู่ สอ. คงไม่ยากนัก

     ช่วงที่เดินทางมาอยู่ สสจ.ใหม่ ๆ ก็สับสน วุ่นวาย เนื่องจากต้องเรียนรู้งานใหม่ ทำให้เลือน ๆ เรื่องการบันทึกช่วยจำไว้ แต่ได้บันทึกเป็นเหตุการณ์ประชุมในแต่ละวันเสียมากกว่า (บางวันประชุม เช้า-บ่าย 2 เรื่อง) และต้องเดินทางไป กทม.บ่อยมาก ซึ่งมักจะจัดโดย สปสช. อีกทั้งได้รับเป็นอาจารย์พิเศษประจำ ม.ราชภัฎสงขลา วิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข อีก ก็เลยทำให้ยุ่งมาก

     ที่นี่ผมยังทำหน้าที่ตามที่ชอบและเต็มใจ คือการให้คำปรึกษาด้านการทำวิจัย การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบเครื่องมือ การจัดทำโครงการ และการประเมินผลโครงการ รวมถึงการนัดเจอกับคนที่อยากทำวิจัยได้สะดวกเพราะเป็นศูนย์กลางมากขึ้น และที่นี่ทำให้ผมต้องขนงานประจำกลับไปทำที่บ้านบ่อยขึ้น (แต่ได้สมาธิกว่า)

     การที่ผมได้ไปอบรมที่ปรึกษากฎหมายของ สปสช.สาขา ด้าน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ผมเริ่มมองเห็นทางการลงไปทำตามสิ่งที่คาดหวังไว้แล้ว คือ การออกไปพัฒนาความเข้าใจแก่ประชาชน ในสิทธิและหน้าที่ที่ควรจะได้รับ ผมจะได้ลงชุมชนแล้วจึงได้เริ่มออกออกเดินทางเป็นวิทยากรนำเสวนาร่วมกับอนุกรรมการฯ ภาคประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ทั่วจังหวัด

     ในระหว่างนี้ผมได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประชาชนสะท้อนกลับขึ้นมาที่เกี่ยวกับโครงการ 30 บาท และตั้งใจไว้ว่าจะนำมาเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์สร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนจังหวัดพัทลุง ระยะปานกลาง 3 ปี พ.ศ.2548-2550 (คลิ้กดูรายละเอียด) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มี และไม่ได้คิดว่าจะมีก่อน โดยผมมองว่าน่าจะเป็นวิธีหนึ่ง ที่จะทำให้คนในองค์กรไม่รู้สึกว่าถูกเปลี่ยนแปลงในทันที โดยกระบวนการพัฒนาฯ ก็ได้พยายามสอดแทรกและไม่ได้เรียกว่าแผนยุทธศาสตร์อย่างชัดแจ้งในทันทีด้วยเพราะกลัวแรงต้านที่ผมเข้าไปใหม่ อีกทั้งคนที่อยู่เดิมจะรู้สึกว่าเป็นภาระมากขึ้น

     ในระหว่างที่ได้พัฒนาแผนยุทธ์ศาสตร์ฯ อยู่นั้นก็เริ่มมีแรงต้านระลองแล้วระลอกเล่าแต่เบา ๆ เพราะส่วนใหญ่รวมถึงผู้บริหารและกระแสของสังคมราชการเทมาทางนี้ ขณะนี้พร้อมแล้วที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการบริหารงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดพัทลุง หมายถึง คณะอนุกรรมการฯ หลายท่านก็เริ่มเข้ามาแลกเปลี่ยนเพื่อการยกร่าง ย้ำว่าเป็นการพัฒนายุทธ์ศาสตร์ฯ จริง ๆ เพราะจิ๊กซอร์นี้ ผู้เล่น (ประชาชน คนในองค์กรค์ ผู้บริหาร และคณะอนุกรรมการฯ) ยังไม่ได้รับคำอธิบายว่าที่แต่ละคนเล่นนั้นกำลังจะถูกเชื่อมโยง และเมื่อถูกเชื่อมโยงหรือต่อกันทั้งหมดแล้ว ผมจะกลับ สอ.หรืออยู่ต่อ (ก็นึกอยู่บ้างเหมือนกันลึก ๆ)

     เมื่อรระบบงานเริ่มเข้ารูป ออกเป็นร่างที่ชัดเจน สวยงาม มีการใช้เครื่องมือที่ผมมาพบในการจัดการความรู้เกือบครบ (ไม่ครบ) มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ภาพที่เคยรับรู้แต่งานตัวเอง ค่อย ๆ หายไป แต่ทุกคนเริ่มพูดคุยแทนกันได้ เริ่มเข้าใจงานคนอื่นมากขึ้น และมีการช่วยเหลือกันและกัน จนถึงจุดที่เรียกว่าดีที่สุด

     ในช่วงนี้ผมได้รับมอบหมายจาก นพ.ยอร์น จิระนคร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ให้จัดทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน ร่วมกับท่าน ถึงตอนนี้ท่านเลือกผมเอง เราได้พัฒนาโครงการ รูปแบบ การนำร่อง จนได้ 1 ปีกว่าแล้ว มีผลดังสรุปที่ได้บันทึกไว้ที่ สรุปฯ ไตรภาคีฯ 1 ปี ในปัจจุบันโครงการได้ดำเนินต่อ ในระยะปีที่ 2 ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมาก ดังที่ได้เปิด Blog รายงานบันทึกเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะที่ ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน

     ปลายปี 2548 ต่อถึงปัจจุบันภาพของสำนักงานในอดีตที่ผมเคยรับรู้ เริ่มหลอกหลอนเอาแล้วครับ ดีที่ผมมีงานลงชุมชน ลงพื้นที่อยู่ตลอดเวลาก็ได้ความสุขจากตรงนั้นมาทดแทนการทำงานในปัจจุบัน มีเรื่องมากมายที่จะพูดได้ เล่าได้ก็ต่อเมื่อมันเป็นประวัติศาสตร์แล้วเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านั้น ผมบันทึกไว้ทั้งหมดครับ เพียงแต่ไม่ได้ตีพิมพ์ไว้ที่นี่เท่านั้น เนื่องจากว่าแม้จะมองและคิดเชิงบวก ก็กลัวจะเป็นที่เข้าใจเชิงลบไปเสีย ทำให้เกิดความไม่สบายใจกันเปล่า ๆ ผมมองเห็นวิธีการบางอย่างที่จะอยู่ที่นี่อย่างมีความสุข คือ การอย่าพยายามคิดทั้งทางบวกและทางลบ แปลกไหมครับ ผมคงทำไม่ได้หากไม่ให้คิดอะไร

     องค์กรที่ใหญ่ขนาดนี้ คน 100 กว่าคน ในจังหวัดถือว่าเป็นหน่วยงานที่ใหญ่มาก ๆ ผมมองเห็นประโยชน์ว่าถ้าได้จัดการดี ๆ จะเป็นประโยชน์มากเลยครับ ประโยชน์แก่ประชาชน รวมถึงถ้าจัดการดี ๆ จะแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ได้เยอะทีเดียว ฮา... มีเรื่องให้ผมเรียนรู้อีกเยอะครับ ทั้งที่ยังไม่รู้ และรู้แบบไม่แน่ใจ

[ความรัก ถือเป็นจุดเริ่มต้น]
[เรื่องเล่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน สอ.ต.หนองธง, สอ.ต.นาปะขอ, สสอ.บางแก้ว, สสจ.พัทลุง]
[วิธีการไปชักชวนคนทำงานอื่น ๆ ในแวดวงมาพูดคุยกัน]
[วิธีการสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่เป็นฉันมิตร]
[การอำนวยให้เกิดเวทีพูดคุยต่าง ๆ ทั้งในส่วนคนทำงาน และชุมชน]

[บทสรุปย่อ]

หมายเลขบันทึก: 9410เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2005 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท