จิตสำนึกความปลอดภัย


สังคมไทยไม่ได้นำเอาความผิดพลาดเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนเพื่อกระตุ้นการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในใจของคนไทยและสังคมไทย

จากข่าวการเสียชีวิตของนักร้องวัยรุ่นคนหนึ่งเมื่ออเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากการเข้าร่วมเล่นเกมส์โชว์รายการหนึ่งแล้วเกิดอุบัติเหตุถังเบียร์หล่นใส่ศีรษะ จนเสียชีวิต นำมาซึ่งความสูญเสียอนาคตของชาติและความโศกเศร้ามาสู่ครอบครัวของเขา แม้จะมีการพยายามตามดำเนินคดีกับคนขับรถเครนแล้วข่าวก็ค่อยๆเงียบหมายไป เหมือนกับการสูญเสียอีกหลายๆครั้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่สังคมไทยไม่ได้นำเอาความผิดพลาดเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนเพื่อกระตุ้นการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในใจของคนไทยและสังคมไทย

                จิตสำนึกความปลอดภัย(Safety Mind) ในสังคมไทยมีการพูดถึงกันน้อยมาก เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นก็ได้แต่ลงโทษคนที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาดแล้วก็จบกัน โดยที่ไม่ได้วิเคราะห์เหตุการณ์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อจะได้แก้ไขป้องกัน  การจับคนผิดมาลงโทษจึงเป็นแค่ปลายเหตุเท่านั้น  เหตุการณ์สูญเสียที่เป็นข่าวนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นของเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  หากอยากทราบอุบัติการณ์ที่แท้จริงอาจต้องไปนั่งสังเกตการณ์ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่างๆอาจจะได้รับทราบความจริงอันน่าตกใจเกี่ยวกับความสูญเสียที่ไม่ได้ป้องกัน อันเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Behavior) ของคนไทยและนำมาซึ่งความสูญเสียมากมาย

                พฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยเกิดจากการขาดจิตสำนึกความปลอดภัยของคนไทย มีให้เห็นกันมากมายในทุกวงการ ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบนถนนหนทางที่พบว่าพฤติกรรมอันเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากมายเช่นขับรถฝ่าไฟแดง ขับรถย้อนศร ไม่สวมหมวกกันน็อค(มีหมวกกันน็อคตาเอาวางไว้ในตระกร้าหน้ารถ ถ้ามีตำรวจจึงจะใส่) ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ขับรถซิ่ง หรือในการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ที่ปล่อยเดินไปทั่วเต็มถนนหนทางจนเกิดอุบัติเหตุรถ การใช้ของมีคมอย่างไม่ระวัง ไม่มีเครื่องป้องกัน การใช้ยากำจัดศัตรูพืชอย่างไม่ระวังทั้งตัวผู้ใช้ ผลผลิตที่นำมาขาย การปล่อยให้สารเคมีไหลลงสู่แหล่งน้ำกินน้ำใช้ หรือในโรงเรียนที่มีข่าวการเสียชีวิตของนักเรียนจากของเด็กเล่น หรือในโรงพยาบาลที่มีไฟฟ้าช๊อตเด็กที่มากับผู้ป่วยจากการใช้เครื่องทำน้ำเย็น หรือการบาดเจ็บ/เจ็บป่วยในโรงงานต่างๆแต่ไม่ได้รับการแก้ไขเพราะเวลามาตรวจรักษาไม่ได้ระบุว่าเจ็บจากการทำงานทำให้บันทึกจำนวนการเกิดบาดเจ็บจากการทำงานน้อยลง การแก้ไขป้องกันจึงไม่ได้ตระหนักทำให้กองทุนทดแทนที่มีจำนวนมากไม่ได้ใช้ประโยชน์ทดแทนต่อลูกจ้างจริง เงินจึงเหลือจำนวนมาก หรือในงานแสดงรื่นเริงต่างๆที่มั้งคนเมาเหล้าทะเลาะยิงฟันกัน พลุ ประทัด ของเด็กเล่นที่เสี่ยงอันตราย รวมทั้งเกมส์โชว์ที่นำเสนอทางทีวีหลายรายการก็มีความเสี่ยงแฝงอยู่แต่เผอิญยังโชคดีไม่เกิดอันตรายขึ้น

                เพื่อลดการบาดเจ็บ การสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น คนไทยทุกคนจึงต้องหันมาใส่ใจกับการมีพฤติกรรมที่ปลอดภัยโดยการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยขึ้น ทั้งนี้สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นจิตสาธารณะหรือสำนึกส่วนรวม(Public mind) ที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทุกคนหรือประโยชน์ของสาธารณะ (Public Interest) ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่ขาดหรือมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมน้อย ทำให้เรามองประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม หลายเรื่องถือเป็นธุระไม่ใช่   แม้จะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อประโยชน์บางอย่างก็เป็นประโยชน์ของกลุ่มตนมากกว่าประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ตามหลักประชาธิปไตยแบบไทยๆที่รวมกลุ่มกันเพื่อต่อรองผลประโยชน์ทั้งในพรรคการเมืองและในกลุ่มบุคคลต่างๆที่มีผลประโยชน์ของกลุ่มตนเป็นตัวตั้ง 

                หากเราไม่ร่วมกันทำให้เรื่องจิตสำนึกความปลอดภัยและจิตสำนึกส่วนรวมให้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ให้กลายเป็นเรื่องระดับชาติที่ต้องทำทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชนทุกคน การสูญเสียในสิ่งที่ไม่ควรสูญเสียก็จะยังคงเกิดขึ้นซ้ำซากพร้อมกับกระแสที่ฮือฮาชั่วครั้งชั่วคราวแต่ก็ไม่ได้เกิดระบบการป้องกันอย่างแท้จริง ผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติก็จะสูญเสียไปด้วย
หมายเลขบันทึก: 9408เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2005 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณคะ เป้นความรุ้อย่างมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท