คนเป็นสินทรัพย์


การลงทุนเรื่องคนก็เหมือนกับการลงทุนในเรื่องเครื่องมือเครื่องจักร แต่ต่างกันที่เครื่องมืออุปกรณ์เมื่อซื้อมาแล้วจะเสื่อมสลายตามกาลเวลา แต่การลงทุนเรื่องคนจะมีคุณค่ามากขึ้นตามกาลเวลา

                 ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับ 16 พฤศจิกายน 2548 ในคอลัมน์spotlightหน้า 20 ทำให้รับทราบข่าวการเสียชีวิตของกูรูคนสำคัญในด้านการบริหารจัดการคือปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

                ปีเตอร์  ดรักเกอร์ เป็นผู้ที่กระตุ้นให้องค์การต่างๆได้เห็นความสำคัญของพนักงานในองค์การ แนะนนำให้มีการจัดตั้งองค์กรพนักงานขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากพนักงานที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆและเขาเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพนักงานที่มีความรู้หรือKnowledge Worker

                พนักงานในองค์การไม่ใช่ต้นทุน (Cost) แต่เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่า นั่นคือ Human as Assets

            จากหนังสือเรื่องThe Concept of the Corporation เขากล่าวไว้ว่า ขีดความสามารถในการทำกำไรแม้ว่าจะเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่องค์การจะสามารถทำกำไรได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อผู้บริหารได้ปฏิบัติต่อพนักงานเหมือนเป็นทรัพยากรอันสูงค่าเท่านั้น ที่สำคัญคือให้มีการจ้างงานที่ดี มีการกระจายอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่เป็นงานประจำวัน รวมทั้งให้มีส่วนร่วมในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ

                เมื่อมองว่าคนหรือพนักงานเป็นสินทรัพย์ การจ้างและพัฒนาคนจึงเป็นการลงทุนชนิดหนึ่ง(Capital budget) ไม่ใช่งบดำเนินการหรือค่าใช้จ่าย การลงทุนเรื่องคนก็เหมือนกับการลงทุนในเรื่องเครื่องมือเครื่องจักร แต่ต่างกันที่เครื่องมืออุปกรณ์เมื่อซื้อมาแล้วจะเสื่อมสลายตามกาลเวลา แต่การลงทุนเรื่องคนจะมีคุณค่ามากขึ้นตามกาลเวลา

                ในมุมมองของผมได้ใช้แนวคิดเรื่องคนเป็นสินทรัพย์มาหลายปี พยายามที่จะไม่กดค่าจ้างเพื่อลดต้นทุนเพราะหากเขาได้ค่าจ้างที่เหมาะสมเราจะไม่ได้แต่แรงกายของเขาอย่างเดียวแต่เราจะได้แรงใจด้วย  อย่างไรก็ตามในระบบราชการก็มีข้อจำกัดในเรื่องเงินเดือนค่าจ้างที่เราควบคุมไม่ได้อีกหลายประการ

                คนในองค์กรเป็นสินทรัพย์ที่อาจเป็นเพชร ทอง เงิน ทองแดง เหล็กหรือบางคนอาจจะเป็นกรวด ที่ต่างก็มีคุณค่าที่แตกต่างกันไปและมีประโยชน์ทุกอย่างเพียงแต่เราต้องใช้ให้เหมาะสมกับคุณค่าหรือความสามารถของเขา แม้บางคนจะเปรียบเหมือนกรวด แต่ก็ยังใช้ผสมปูนก่อสร้างเป็นรากฐานของอาคารได้ คนทุกคนในองค์การจึงมีประโยชน์ทั้งหมด ทำนองรกคนดีกว่ารกหญ้า ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารจะเอาประโยชน์ของเขามาใช้งานได้หรือไม่ แต่ที่แตกต่างไปจากทรัพย์สินพวกเพชร เงินทองจริงก็คือเราสามารถเปลี่ยนกรวดหรือทองแดงให้เป็นทองคำหรือเพชรได้ ถ้าเราเจียนนัยเขาเป็น นั่นคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD)
หมายเลขบันทึก: 9407เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2005 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท