เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย(14.1)


การเรียกอำเภอเป็นชื่อเมืองเป็นการทำให้เมืองเป็นที่รู้จักและสร้างจุดเด่นของเมืองแต่ละเมืองขึ้นมาได้
            เช้าวันที่ 24 ตื่นนอนเวลาเดิม รับประทานอาหารเช้าที่บ้านแล้วออกเดินทางเวลา8.45 ไปที่เมืองมะนิลลาเพื่อไปดูงานที่โรงพยาบาลมะนิลลา ดูคลินิกของหมอแคมกับหมอลินดา แล้วเลยไปดูที่โรงพยาบาลบาราบ้ากับคลินิกเสร็จแล้วรับประทานอาหารกลางวันที่โรงพยาบาล ต่อจากนั้นไปดูที่คลินิกในเมืองบิงการาและขับรถผ่านไปดูโรงพยาบาลแต่ไมได้แวะเข้าไป กลับเข้าที่พักที่โอ๊คแฮมตัน ประมาณห้าโมงเย็นได้มีเวลานั่งพักผ่อนชมทิวทัศน์รอบบ้านจนเวลาหนึ่งทุ่มจึงได้รับประทานอาหารเย็นแบบฝรั่ง พอประมาณสองทุ่มก็มีการเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยในฟาร์มหรือFarm safety โดยคุณจอห์น เทมเพอเลย์ ซึ่งเป็นFarmsafe Australia Executive Officer อยู่ที่เมืองโมรีที่อยู่ห่างไปประมาณ 200 กิโลเมตร กับคุณเบลินดา โอ๊คแฮมตัน เจ้าของบ้าน จนประมาณสี่ทุ่มจึงเสร็จสิ้นกิจกรรม ก็แยกย้ายกันพักผ่อน ซึ่งผมจะได้ทยอยบันทึกให้อ่านในรายละเอียดต่อไป

            ก่อนที่จะพูดถึงรายละเอียดของแต่ละโรงพยาบาล คงต้องดูในภาพรวมของระบบสุขภาพของออสเตรเลียก่อน การปกครองของออสเตรเลียแบ่งออกเป็นแบบรัฐหรือจังหวัด(State/Province) โดยแบ่งออกเป็น 7 รัฐ ซึ่งแต่ละรัฐจะมีขนาดใหญ่กว่าจังหวัดของไทยมาก ในแต่ละรัฐจะมีรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐเอง ปกครองเองเลือกจากประชาชน และมีเมืองต่างๆจำนวนมากคล้ายกับอำเภอในบ้านเราเช่นแทมเอร์ธ อาร์มิเดล บิงการา บาราบ้า บิลลิงเจน  ยูรัลลา เป็นต้น(คล้ายกับบ้านตาก สามเงา อุ้มผาง  แม่ระมาด แต่ของเขาเรียกเป็นเมืองทั้งหมด ส่วนซิดนีย์ของนิวเซาท์เวลส์ก็เหมือนกับอำเภอเมืองตาก) รัฐทั้ง 7  ประกอบด้วย

  1. Queensland
  2. New South Wales
  3. Victoria
  4. Tasmania
  5. South Australia
  6. Western Australia
  7. Northern Territory

          ในความเห็นของผม การเรียกอำเภอเป็นชื่อเมืองเป็นการทำให้เมืองเป็นที่รู้จักและสร้างจุดเด่นของเมืองแต่ละเมืองขึ้นมาได้ ในแต่ละเมืองมีนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งบริหารจัดการเมืองเรียกว่า Mayor of City โดยบริหารจัดการทั้งเมือง คล้ายๆกับนายอำเภอของบ้านเรา แต่นายอำเภอมาจากการแต่งตั้ง ของเขาถือว่าทั้งเมืองคือการปกครองท้องถิ่นหรือLocal government ซึ่งจะบริหารจัดการตนเองโดยการสนับสนุนของ State government ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกันแต่ของเราเป็นผู้ว่าซีอีโอ มาจากการแต่งตั้ง

           การมีเขตเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งเมืองทำให้เกิดความเหมาะสมในขนาดหรือEconomy of scale และไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าบริหารจัดการและการก่อสร้างอาคารสำนักงานมากมายเหมือนบ้านเราที่ไปกำหนดการเลือกตั้งในระดับตำบลซึ่งมีขนาดเล็กเกินไป งบประมาณกระจายเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย ทำการพัฒนาใหญ่ๆไม่ได้ ถนนสายหลักมักขาดการแก้ไข ทำให้การพัฒนาอำเภอในภาพรวมไม่ค่อยดีเพราะแต่ละเทศบาลตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลก็เอาแต่เขตตนเองเป็นหลักไม่ได้มองภาพรวมจึงขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เขตการเลือกตั้งในระดับหมู่บ้านเล็กเกินไปพอมาหาเสียงแข่งขันกัน กลายเป็นแตกแยกแบ่งหมู่แบ่งพวก พวกใครพวกมัน คนแพ้ก็ไม่ยอมเลิก คอยจับผิดกันไปเรื่อย ความร่วมมือในกิจกรรมของหมู่บ้านลดลง ต้องอาศัยเงินเป็นสื่อจึงจะเข้ามาร่วม บรรยากาศเอื้ออารีพี่น้องในหมู่บ้านจึงค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆ  ยิ่งในระดับจังหวัดมีการทับซ้อนกันทั้งเทศบาลเมืองหรือนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด ในความเห็นของผมคิดว่าน่าจะมีการบริหารในระดับจังหวัดในรูปขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยโดยในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าก็ให้ผู้ว่าเป็นทีมบริหาร ส่วนสมาชิกสภาเป็นเหมือนสภาผู้แทน ที่คอยรับฟังปัญหาจากชุมชน การใช้จ่ายงบประมาณของจังหวัดต้องผ่านสภาจังหวัด ส่วนในระดับอำเภอก็ให้มีองค์การบริหารส่วนอำเภอ มีการเลือกตั้งเช่นกันแล้วค่อยๆปรับไปสู่ระบบการเลือกตั้งโดยตรงในอนาคต การกระจายอำนาจจึงควรเริ่มที่การปกครองก่อนแล้วการศึกษา สาธารณสุขต่างๆก็จะตามมาแต่ต้องเป็นระดับที่ใหญ่พอควรในระดับอำเภอ เพื่อยกอำเภอเป็นเมืองที่บริหารโดยคนของท้องถิ่นเอง

           การอ้างว่าระดับตำบลเข้าถึงชาวบ้านดีกว่า ไม่น่าจะใช่เพราะพื้นที่ของแต่ละอำเภอในประเทศไทยเองหากเทียบกับเมืองของออสเตรเลียแล้วขนาดเล็กกว่ากันมาก แต่ละอำเภอมีความโดดเด่นของตัวเองมายาวนาน เหมือนในสมัยสุโขทัยหรืออยุธยาที่แต่ละอำเภอก็เคยเป็นเมืองที่มีการปกครองตนเองมาแล้วในอดีตโดยขึ้นกับรัฐบาลกลางที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองสูงสุด หากมองประวัติศาสตร์แล้วก็เป็นการเลือกตั้งมาจากการยอมรับนับถือของประชาชนไทย

หมายเลขบันทึก: 9404เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2005 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท