KM กับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย


KM กับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย

วิจารณ์  พานิช

9 มิ.ย.48

 

          วันนี้ (1 มิ.ย.48) ผมไปร่วมเสวนาเรื่องมองไปข้างหน้า  การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทย   ในงานรวมพลังเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทย ครั้งที่ 7/2548  จัดโดยคณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย     โดยจัดให้แก่ สมศ. {สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (มหาชน)}     ผู้ร่วมเสวนามี 3 ท่านคือ   ศ. ดร. วิจิตร  ศรีสอ้าน,   ศ. นพ. จรัส  สุวรรณเวลา   และผม     มี รศ. ดร. พฤทธิ์  ศิริบรรณพิทักษ์   คณบดีคณะครุศาสตร์  จุฬาฯ   เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

          ผมได้เสนอความเห็น 5 ประเด็น   ในเวลา 17 นาที   แต่จะเล่าเฉพาะประเด็นที่ 5 คือ     การใช้เทคนิคการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพการศึกษา

 

          โดยเริ่มจากสมมติฐานที่แตกต่างไปจากที่ยึดถือกันทั่วไป   ว่าการศึกษาไทยด้อยคุณภาพ   หมดหวัง     มาเป็นเชื่อว่าแม้ในภาพรวมการศึกษาไทยจะอ่อนแอ   คุณภาพต่ำ   แต่ก็ยังมีโรงเรียนที่คุณภาพสูง   มีครูที่มีความสามารถ   มีผลงานดีน่าภาคภูมิใจ     การจัดการความรู้จะเริ่มที่ความสำเร็จ   หรือ best practice เหล่านั้น     ต้องไปหาให้พบและเชื้อเชิญคนที่ร่วมกันสร้างความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการดำเนินการไปสู่ความสำเร็จเหล่านั้น     โดยที่ความสำเร็จดังกล่าวอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ (แต่ยิ่งใหญ่)

 

          KM เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษามีหัวใจอยู่ที่ KS – Knowledge Sharing หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้     ค้นหาคนหรือกลุ่มคนที่มีความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

 

          สิ่งที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันคือ   เรื่องราวของความสำเร็จ     ใช้เทคนิคที่เรียกว่า storytelling  ในการเล่าเรื่อง     มีการสร้างบรรยากาศเชิงบวก   เชิงชื่นชมยินดี   ไม่เน้นถูกผิด   แต่เน้นเรื่องราวของความสำเร็จ   เพราะในเรื่องราวของความสำเร็จ   มีความรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอยู่ในนั้น

 

          ดังนั้น   ควบคู่ไปกับการเล่าเรื่อง   จึงต้องมีการบันทึกประเด็นความรู้ (ที่เป็นความรู้เพื่อการปฏิบัติ) ไว้     ต้องมีมือบันทึกที่หัวไว   มือไว   ลายมือดี   บันทึกขึ้น flip chart ให้สมาชิกกลุ่มได้เห็นและช่วยกันเพิ่มเติม     บันทึกที่ได้เรียกว่า ขุมความรู้ (Knowledge Assets)     เมื่อเอามาสังเคราะห์จัดหมวดหมู่ก็จะได้ แก่นความรู้ (Core Competence) เพื่อการบรรลุคุณภาพการศึกษา

 

          กระบวนการทั้งหมดนี้ควรใช้เวลา 23 วัน     สคส. เรียกว่า ตลาดนัดความรู้

 

          ผู้จัดตลาดนัดความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา     อาจเป็นกระทรวงศึกษาธิการ,   สมศ.,   เขตการศึกษา,   สกศ.,   หรือโรงเรียน 510 โรง   รวมตัวกันจัด     สคส. ยินดีให้คำปรึกษา   และช่วยเหลือเชิงกระบวนการ   แต่ไม่ใช่ไปจัดให้     เพราะการจัดตลาดนัดความรู้ต้องมีการเตรียมตัวมาก   และต้องมีความรู้เกี่ยวกับเบื้องหน้าเบื้องหลังของกลุ่มที่จะมาแลกเปลี่ยนกัน

 

          ที่สำคัญ   ต้องไม่ใช่จัดตลาดนัดครั้งเดียวจบ   ตลาดนัดเป็นเพียงจุดเล็กนิดเดียวของระบบจัดการความรู้ทั้งหมด   ซึ่งต้องคิดวางยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ไว้อย่างน้อย 5 ปี

 

          นอกจากใช้ตลาดนัดความรู้เป็นเครื่องมือแล้ว   ควรใช้ IT เป็นเครื่องมือของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย   โดยเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดคือ blog     ผมมีแนวคิดในการใช้ blog ส่งเสริม KM อย่างเป็นระบบ   แต่จะไม่เล่า ณ ที่นี้

 

          ท่านที่สนใจเรื่องตลาดนัดความรู้   อาจไปค้นหาได้จากที่ผมบันทึกไว้ใน http://blog-for-thai-km.blogspot.com

 

          และขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่าโรงเรียนที่ดำเนินการจัดการความรู้เกิดผลอย่างน่าชื่นชมที่ผมรู้จัก 2 โรงคือ   โรงเรียนรุ่งอรุณ   กับ   โรงเรียนเพลินพัฒนา     อ่านเรื่องของโรงเรียนทั้งสองได้จากนิตยสารสานปฏิรูปฉบับเดือน เมษายน, พฤษภาคม, มิถุนายน, และ กรกฎาคม ๔๘

 

                                                                                      วิจารณ์  พานิช

                                                                                         1 มิ.ย.48

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 94เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2005 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท