การศึกษาปฐมวัย


การศึกษาปฐมวัย
ความสำคัญของการจัดการศึกษาปฐมวัย
ความสำคัญของการจัดการศึกษาปฐมวัย การศึกษาปฐมวัย เป็นการศึกษาที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นรากฐานของชีวิตมนุษย์และมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนเราเป็นอย่างยิ่ง การพัฒนาเด็กปฐมวัยควรเริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี ซึ่งนักการศึกษาและนักจิตวิทยา มีความคิดเห็นตรงกันว่าการพัฒนาเด็กในวัยนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการพัฒนาทางสมองของบุคคลโดยเฉพาะระบบประสาทและเซลล์สมองจะเจริญโตประมาณร้อย 70-80 ของผู้ใหญ่ และการศึกษาในช่วงวัยนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กได้เจริญเติบโต เต็มตามศักยภาพ โดยให้การอบรมเลี้ยงดูควบคู่กับการให้การศึกษาที่เป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หรือเรียกว่า Educare พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 13 (1) กำหนดให้บิดา มารดา หรือ ผู้ปกครองมีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐให้มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูและการให้การศึกษาแก่บุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแล ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม สติปัญญา และบุคลิกภาพ นโยบายและผนการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย (0-5 ปี) พ.ศ.2545-2549 ของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ (2545 : 4)ได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยไว้ 5 ประการคือ
1. การพัฒนามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ช่วงปฐมวัยและต่อเนื่องตลอดชีวิต
2. หลักวิชาการและการวิจัยได้แสดงว่าปัจจัยแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่เหมาะสม สามารถเปลี่ยนโครงสร้างและประสิทธิภาพการทำงานของสมองมนุษย์ได้เวลาที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในการพัฒนาสมองคือ ในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต
3.การพัฒนาคุณภาพมนุษย์ที่ยั่งยืน และป้องกันปัญหาสังคมในระยะยาว จำเป็นต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปฐมวัย โดยเน้นให้ครอบครัวเป็นแกนหลักและชุมขนเป็นฐานที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการพัฒนาเลี้ยงดูเด็กทุกขั้นตอน
4. แนวคิดในการพัฒนาเด็กเพื่อให้มีพัฒนาการทุกด้านอย่างสมดุลนับตั้งแต่งปฏิสนธิจวบจนเจริญวัยจำเป็นต้องมีการตื่นตัวและผนึกกำลังกันทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันส่งเสริมครอบครัวให้พ่อแม่มีความรักความรู้ สามารถเลี้ยงดูบุตรหลายได้ถูกวิธี
5. ผู้ดูแลเด็ก ครู รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เจริญเติบโต พัฒนาไปในทางที่พึงประสงค์ บุคคลเหล่านี้ต้องมีหลักวิชาและทักษะต้องการในการเลี้ยงดูเด็ก กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดปรัชญาการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546 กระทรวงศึกษาธิการ : 2546 :3-4 ไว้ว่า เป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง5 ปี (5 ปี 11 เดือน 29 วัน ) บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่นองต่อธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ตามศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคมวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ด้วยความรักความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคน เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม นอกจากนี้ยังได้กำหนดหลักการสำคัญของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ดังนี้  
1. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการที่ครอบคลุมเด็กปฐมวัยทุกประเภท
2. ยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และวิถีชีวิตของเด็กตามบริทของชุมชน สังคม และวัฒนธรรมไทย
3. พัฒนาเด็กโดยองค์รวมผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย
4. จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
5. ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัวชุมชน และสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก การจัดการศึกษาปฐมวัย นับได้ว่า เป็นการจัดการศึกษาเพื่อปูพื้นฐานสำหรับชีวิตในอนาคตของบุคคลอย่างแท้จริง ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้งครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ครูปฐมวัย ที่เปรียบเสมือน พ่อแม่คนที่ 2 ของเด็ก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กให้มีพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา เต็มตามศักยภาพ โดยเฉพาะทักษะการคิด ครูปฐมวัยจะต้องแสดงหาเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้เหมาะสมตามวัย โดยยึดหลักการของ Brain Based Bearning และ Brain Based Teaching การพัฒนาสมองซีกซ้ายในด้านการคิด จะต้องเเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กให้มากที่สุด เพื่อส่งผลให้เด็ก เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุขในสังคม อันจะส่งผลต่อประเทศชาติต่อไป (เอกสารประกอบการอบรมรมครูปฐมวัย 5/2548 สพท.นม.5 นครราชสีมา)
คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 93723เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2007 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นักจิตวิทยาการศึกษาปฐมวัย

เป็นครูสอนเด็กปฐมวัยมานาน(มาก) ทำให้มั่นใจว่า เด็กที่เติบโตขึ้นมาจากครอบครัว สภาพแวดล้อม การดูแล อบรมสั่งสอน ที่เหมาะสม  เป็นการการวางรากฐานที่มั่นคง ซึ่งจะทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท