AAR การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 6 (2)


AAR การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ  ครั้งที่ 6 (2)

         ดังได้เล่าแล้ว (click) ว่าผมจะไปร่วมประชุมนี้ในวันที่ 7 ธ.ค.48   และได้ส่งการบ้านวิจารณ์ผลงานทางวิชาการในหัวข้อ "โลก  รัฐ  ท้องถิ่น  ในศตวรรษที่ 21 : การบริหารจัดการในยุคสังคมฐานความรู้"   รวม 3 เรื่องไปแล้ว   ต่อไปนี้เป็น AAR การไปร่วมประชุมดังกล่าว

สิ่งที่ได้เกินคาด   ได้แก่
     (1) ได้ฟังปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การเมืองการบริหารของไทยในศตวรรษที่ 21"  โดย ศ. ดร. นิธิ  เอียวศรีวงศ์   เป็นการประเทืองปัญญาของผมอย่างยิ่ง   ประเด็นสำคัญได้แก่   ปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์มีมาก   ทำให้ผมเกิดความคิดว่า   ในสมัยโบราณมนุษย์ยังไม่ค่อยเข้าใจธรรมชาติและควบคุมธรรมชาติได้น้อย   มีความลี้ลับมาก   ก็มีศาสตร์ว่าด้วยการเอาอกเอาใจและติดสินบนเทวดา   สมัยนี้มนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมากขึ้นและมีความสามารถควบคุมธรรมชาติ   โดยอาศัยความรู้และเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น   แต่ความกระจ่างเชิงความรู้และความคล่องแคล่วเชิงเทคโนโลยีนั่นเอง     ได้สร้างความลี้ลับยุคใหม่   หรือสิ่งที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ชุดใหม่ขึ้นมา   อย่างน้อย ๆ ก็ระบบทุนก็เป็นความลี้ลับอย่างหนึ่งที่มนุษย์โดยทั่วไปคุมไม่ได้   ระบบนโยบายสาธารณะก็น่าจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง   เมื่อมีความลี้ลับก็ต้องมีศาสตร์เข้าไปคลี่คลาย   คลี่คลายไปเปลาะหนึ่ง   ก็จะเกิดความลี้ลับใหม่ขึ้นมา   สมัยก่อนความลี้ลับเป็นเรื่องของมนุษย์กับธรรมชาติ   สมัยนี้เป็นความลี้ลับระหว่างมนุษย์กับมนุษย์   คือเกิดจากมนุษย์รู้ไม่เท่ากัน   ใครรู้มากกว่าก็คิดเอาเปรียบคนอื่น   ฟัง อ. นิธิประโยคเดียว   ผมจินตนาการมาเสียไกล   ขอย้อนกลับไปที่หัวใจที่ อ. นิธิเสนอ
               - อำนาจการตัดสินใจหลาย ๆ กรณีไม่ได้อยู่ที่รัฐชาติ   มันมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก
               - การสร้างวาทกรรมขึ้นมา "ปฏิบัติการจิตวิทยา"  เช่น สหรัฐ  สร้างวาทกรรมให้ "การก่อการร้าย" คู่กับ "มุสลิม"  ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วมีคนอีกหลายกลุ่มที่ใช้การก่อการร้ายเป็นเครื่องมือต่อสู้   เพราะเขาไม่ได้รับการเปิดโอกาสให้ต่อสู้ด้วยวิธีการอื่น   หรือเขาเสียเปรียบมากเกินไปถ้าต่อสู้ด้วยวิธีการอื่น
               - ระบบข่าวสารข้อมูล   เป็นเสมือน "สนามต่อสู้" ระหว่างการรับรู้ - เรียนรู้ของประชาชน   กับผู้มีอำนาจที่ต้องการควบคุม
               - กลุ่มต่อต้านโลกาภิวัฒน์มี 2 พวกคือ  กลุ่มก่อการร้ายกับขบวนการประชาชน   อ. นิธิเตือนว่า 2 กลุ่มนี้จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกันได้ง่ายมาก
               - อันตรายหรือมิจฉาทิฐิในศตวรรษที่ 21   คือการพยายามสร้าง uniformity ให้แก่โลก,  สังคม,  ประเทศ,  ชุมชน   ต้องตระหนักว่า uniformity ต่างกับ unity
     (2) ได้รับฟังคำบรรยายของ ศ. ดร. ติน  ปรัชญพฤทธิ์   เรื่องบทบาทของภาครัฐในสังคมอุดมปัญญา
               - เปลี่ยนจาก provider เป็น facilitator
               - ทั้ง "จัดการความรู้" และ "จัดการความไม่รู้"
               - ผู้นำแบบควาย  กับผู้นำแบบห่าน
                       ฝูงควายจะเดินตามจ่าฝูงอยู่ตัวเดียว
                       ฝูงห่านที่บินอยู่   จะผลัดกันบินนำ
     (3) ได้ชื่นชมแนวทางจัดการประชุมแห่งชาติ   ที่มีห้องย่อยถึง 6 ห้อง   มีคนเข้าร่วมประมาณ 1 พันคน   มี theme ของการประชุมที่ยอดเยี่ยม  คือ "โลก  รัฐ  ท้องถิ่น : การปะทะทางอารยธรรม  ธรรมาภิบาล  และท้องถิ่นนิยม"   แล้วนักวิชาการช่วยกันอธิบายความหมายตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น   และตามทฤษฎีที่มีอยู่   ผมคิดว่านี่คือการทำหน้าที่ของนักวิชาการต่อบ้านเมืองและต่อสังคมโลก   คนที่ตีความได้คมมากอีกคนหนึ่งคือ  รศ. ดร. เกษียร  เตชะพีระ   ฟังแล้วผมเกิดความรู้สึกว่าประเทศก่อการร้ายหมายเลขหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกา   แต่คิดอย่างนี้อาจผิด   เพราะคนอเมริกันเกือบทั้งหมดไม่ได้มีส่วนคิดแบบนั้น   สงสัยอาจจะต้องเปลี่ยนใหม่ว่ารัฐบาลบุช   เป็นผู้ก่อการร้ายอันดับหนึ่งของโลก   นี่ก็จินตนาการไปตามที่ได้รับฟังการอภิปรายนะครับ

จุดอ่อนที่เห็น
     - พิจารณาจากบทความวิชาการที่ผมเป็นผู้วิจารณ์   วิธีวิทยาด้านการวิจัย (research methodology) ในสาขานี้ของไทยยังอ่อนแอ
     - วัฒนธรรมการนำเสนอและการอภิปราย   การเคารพต่อเวลา   เคารพผู้ฟัง   เคารพประธาน   มหาวิทยาลัยคงจะต้องฝึกฝนคนของตน   โดยเฉพาะนักศึกษาปริญญาเอกของตน   เมื่อออกไปนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการในนามของนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัย   การแสดงออกในลักษณะไม่มีอารยธรรมทางวิชาการ   เป็นการเสียชื่อมหาวิทยาลัยนั้นด้วย  ผมจะไปแจ้งผู้บริหารของมหาวิทยาลัยนั้นโดยตรง   ไม่ขอตำหนิตรง ๆ ณ ที่นี้

                                 

                                          ป้ายการประชุม                  

                               

                        อ. ดร. จันทนา สุทธิจารี ประธานจัดการประชุม  

         ในตอนต่อไปจะเล่าเรื่องการวิจารณ์บทความวิชาการ 3 บทความ

วิจารณ์  พานิช
 8 ธ.ค.48
 เชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 9268เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2005 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท