วิธีการในการดึงองค์ความรู้จากบุคคลในหน่วยงานก่อสร้าง


เป็นความรู้ที่ไม่มีสอนในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยที่ไหนเลย ถ้าอยากรู้ต้องหาจากประสบการณ์

     วิธีการในการดึงองค์ความรู้จากบุคคลที่อยู่ในองค์กรออกมานั้น บางครั้งอาจเป็นเรื่องยากเพราะอาจต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกในองค์กรด้วย  จึงอาจต้องใช้วิธีการที่ไม่ทำให้คนในองค์กรถูกบังคับ ตัวอย่างหนึ่งที่ผมใช้อยู่ในปัจจุบันคือการใช้การพูดคุยและทำตัวเองเป็นกระดานข่าว ถ้าเปรียบก็คือผมก็เหมือน weblog gotoknow.org ในองค์กร

      องค์กรของผมเป็นบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง มีคนงานก่อสร้างประมาณ 150 คน กระจายอยู่ตามหน้างานก่อสร้างประมาณ 10 แห่ง ทุกหน้างานจะมีหัวหน้าชุดช่าง และโฟร์แมนคอยควบคุมงาน ผมเป็นวิศวกรที่คอยมีหน้าที่ในการบริหารงานก่อสร้างในภาพรวม การติดต่อประสานงานระหว่างหน้่างาน และหน่วยงานต่างๆทั้งภายในและภายนอก  ในทุกๆวันเสาร์จะมีการประชุมร่วมกันเพื่อวางแผน แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับนิสัยคนไทยคือการไม่พูดในที่ประชุม ไม่กล้าพูด ไม่อยากพูด และไม่ชอบเขียน ชอบทำงานตามประสบการณ์เดิมๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ค่อนข้างยาก    โดยเฉพาะในระดับช่างที่มีการศึกษาน้อย ซึ่งการบริหารและการทำงานร่วมกันบางครั้งต้องใช้กุศโลอุบายและการให้ข้้้้้้้้อมูลชักจูง  ดังนั้นการทำให้คนในองค์กรนำความรู้มาแลกเปลี่ยนกันจึงค่อนข้างยาก บางครั้งมีอาการหวงวิชาดวยซ้ำ

      วิธีการของผมจึงเริ่มต้นด้วยการทำตัวเองเป็นกระดานข่าว  คือเมื่อผมไปตรวจงานในหน่วยงานต่างๆก็จะต้องพูดคุยและทักทายกับโฟร์แมน หัวหน้าช่าง และช่างบางคนเป็นปกติอยู่แล้ว นอกจากจะพูดคุย สั่งงานแล้ว ผมจะเพิ่มหัวข้อที่เจาะถึงการดึงความรู้เข้าไปในการพูดคุยโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว

วันที่ 1

ผม           :       "เป็นไงลุงวันนี้"

ช่างไม้ ก.  :       "ไม่เป็นไร แต่ฝนจะตกเดี๋ยวต้องหาผ้าใบมาปิดไม้อัดก่อน เดี๋ยวโดนฝนแล้วมันจะอ่อนและพอง"

ผม           :       "เอ๊ะ ...แล้วโดนน้ำนานแค่ใหนไม้ถึงจะพอง"

ช่างไม้ ก.  :       "ที่จริงโดนฝนหนักๆก็ไม่เป็นไรหรอกยังใช้ได้(ใช้ทำไม้แบบก่อสร้าง)แต่ผิวจะไม่สวย"

                       "ถ้าเปียกไม้มันจะอ่อน"

หลายวันต่อมา  ผมได้ไปตรวจงานอีกหน่วยงานหนึ่ง

ผม           :       "เป็นไง งานใกล้เสร็จแล้วใช่ไหม"

โฟร์แมน ข.:       "ครับ ....งานที่ต้องใช้แบบเหล็กเสร็จหมดแล้ว เหลือแต่ส่วนงานส่วนโค้งที่ต้องดัดไม้แบบให้โค้ง

                        ไ้ม้มันหนาดัดยากเดี๋ยวไม่สวย ถ้าใช้ไม้บางเกินดัดง่ายกว่าแต่กลัวว่าแบบจะแตกตอนเทคอนกรีต"

ผม           :       "เอางี้สิ ลองฉีดน้ำให้ไม้อัดเปียกแล้วอ่อนจะดัดง่าย พอโค้งแล้วก็ตอกคำ้ยันยึดเอาไว้...ลองดู"

โฟร์แมน ข.:       "จริงสินะ"

    ดังตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงเรื่องหนึ่ง ที่ผมทำตัวเองเป็นกระดานข่าวที่นำข้อมูลหรืออาจเป็นความรู้จากคนหนึ่งไปบอกต่อกับอีกคนหนึ่ง แต่จะมีความพิเศษตรงกระดานข่าวที่มีชีวิตนี้ จะสามารถสรุป วิเคราะห์ เรื่องเล่าที่บางครั้งผู้เล่าก็ไม่รู้ว่ามันเป็นความรู้มาถ่ายทอดให้ผู้อื่นในรูปแบบของความรู้ได้ และผู้รับฟังก็พร้อมรับฟังเพราะผู้ที่เล่าเป็นหัวหน้าของตัวเอง

    เรื่องราวข้างต้นอาจเป็นเรื่องเทคนิคช่างที่ง่ายๆเพราะอยากให้ผู้อ่านที่ไม่มีความรู้ทางช่างก็สามารถเข้าใจและนึกภาพตามได้ ที่จริงแล้วยังมีองค์ความรู้ทางด้านเทคนิคต่างๆอีกมากมายที่ถูกค้นพบโดยผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้  เป็นความรู้ที่ไม่มีสอนในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยที่ไหนเลย ถ้าอยากรู้ต้องหาจากประสบการณ์หรือดึงมาจากองค์ความรู้จากผู้ที่เคยมีประสบการณมาแล้ว  แผนการของผมอีกขั้นต่อไปคืออยากจะรวบรวมความรู้เหล่านี้เป็นรายลักษณะอักษร ซึ่งคงจะเริ่มในอีกไม่นาน

คำสำคัญ (Tags): #tacit#knowledge
หมายเลขบันทึก: 915เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2005 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

   ก็เป็นวิธีการที่ดีน่ะครับ...สำหรับวงการก่อสร้าง...เพราะความรู้...ประสบการณ์...และฝีมือของช่างที่เก่งๆ มักจะไม่ได้มีการถ่ายทอดต่อๆกัน...สำหรับคนที่ต้องการจะให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ของช่าง...จึงต้องหาเทคนิคต่างๆมาใช้...แล้วแต่ความเหมาะสม...สำหรับผมก็เคยอยู่ในวงการก่อสร้าง...ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการสังเกตุ...ครูพักลักจำ (แอบดูด้วยความตั้งใจ) ...และก็สอบถามด้วยความใฝ่รู้...ซึ่งส่วนใหญ่ช่างทุกคนจะให้คำแนะนำที่ดี...หากเราสอบถามด้วยความอยากรู้และนอบน้อม...ผมเชื่อว่าคนทุกคนมีจิตใจของความเป็นครู...ความมีเมตตา...ยินดีที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเองให้กับผู้อื่น...ขึ้นอยู่กับว่า...เราแสดงออกให้เค้ารับรู้ว่า...เราอยากเรียนรู้จริงๆ...หรืออยากลองภูมิ...ซึ่งที่ผ่านมาผมได้ความรู้...ประสบการณ์ที่ดี...ไม่ว่าจะจากช่างหรือคนงาน...ไม่ว่าเค้าจะมีการศึกษาสูง...หรือต่ำกว่าผม...ผมก็ยังเชื่อว่าคนเหล่านั้นรู้ในหลายๆสิ่งที่ผมไม่เคยรู้...ผมจึงยึดถือคติ..."คนทุกคนสามารถเป็นครู...ผู้ให้ความรู้แก่ผมได้"

เป็นวิธีดึง tacit knowledge และนำไป share ที่น่าสนใจเข้ากับรูปแบบของงานมากครับ ผมจะติดตามอ่านว่าคุณจิรศักดิ์บันทึกเป็นขุมความรู้ (knowledge repository) อย่างไรนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท