การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรง หากเพิ่งเริ่มเป็น ควรพักการใช้งานของมือ ไม่กำหรือบีบอะไรรุนแรง ทานยาแก


สาเหตุของโรคนิ้วล็อกเกิดจากการใช้งานของมืออย่างรุนแรง ในการบีบ กำ หิ้วของหนักๆ ซ้ำๆ ซึ่งการกำมือ บีบ กระแทกจะเกิดการบดกันของเข็มขัดรัดเส้นเอ็น ทำให้บวมอักเสบและหนาขึ้นเป็นผังพืดยึดตัวแข็งจนเสียความยืดหยุ่น
เจาะแทน"ผ่า" รักษาโรคนิ้วล็อก

ปฤษณา กองวงค์ รายงาน

หลายท่านคงรู้สึกแปลกใจว่าทำไมอยู่ๆ นิ้วมือก็เหยียดออกหรือกำอะไรไม่ได้เหมือนปกติ ซึ่งผู้ที่อยู่ในวัยทำงานจะประสบปัญหานี้มากที่สุด

น.พ.วิชัย วิจิตรพรกุล
ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน เผยว่า โรคนิ้วล็อก หรือ Trigger Finger เป็นภัยที่แฝงมากับการใช้งานของมือที่ผิดวิธี โดยจะมีอาการกำไม่ได้เหยียดไม่ออก อาจเป็นเพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วก็ได้ และคนไทยมีโอกาสเป็นมากกว่าชาวยุโรป ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย ถึง 80% และผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นมากกว่าคนปกติ รวมทั้งคนที่ขาไม่ดี ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน

โรคนี้ไม่ใช่โรคที่เกิดทางพันธุกรรม แต่ก็มีโอกาสพบในเด็กตั้งแต่แรกเกิด ในอัตราส่วน 1 : 1,000 คน ส่วนใหญ่มักเป็นที่นิ้วโป้ง อยู่ในท่างอเหยียดไม่ตรง ซึ่งพ่อแม่จะทราบหลังจากที่เด็กมีอายุ 1 ขวบ

สาเหตุของโรคนิ้วล็อกเกิดจากการใช้งานของมืออย่างรุนแรง ในการบีบ กำ หิ้วของหนักๆ ซ้ำๆ ซึ่งการกำมือ บีบ กระแทกจะเกิดการบดกันของเข็มขัดรัดเส้นเอ็น ทำให้บวมอักเสบและหนาขึ้นเป็นผังพืดยึดตัวแข็งจนเสียความยืดหยุ่น

อาการเริ่มจากเจ็บบริเวณฐานนิ้วนั้นๆ นิ้วมีความฝืดในการเคลื่อนไหว สะดุดหรือกระเด้งเข้าออกเวลางอหรือเหยียด และมีอาการล็อกในท่าที่นิ้วงออยู่ เหยียดไม่ออก หรือนิ้วเบียดอยู่แต่งอไม่ได้ หากปล่อยทิ้งไว้นิ้วมือนั้นอาจเปลี่ยนรูปเป็นโก่ง งอ บวม นิ้วเกยกัน แบไม่ออก เจ็บปวด มือไม่มีกำลัง หรืออาจมีอาการนิ้วชาร่วมด้วย และท้ายที่สุดข้อต่ออาจจะยึด ข้อเหยียดออก ขยับไม่ได้ ทำให้มือพิการได้


ปัจจัยสำคัญในการเป็นโรคนิ้วล็อกคือความแรงในการบีบ กระแทก บีบ กำ บด สับ ความถี่ ความบ่อยในการใช้มือกำเครื่องมือ อีกปัจจัยคือความเสื่อมของวัย ซึ่งพบในคนวัย 45 ปีขึ้นไปจำนวนมาก แต่บางครั้งในคนหนุ่มสาวกระชากกิ่งไม้ด้วยมือเปล่าแล้วเกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรงฉับพลันและพัฒนาเป็นนิ้วล็อกได้ในเวลาอันใกล้ หรือหิ้วถุงพลาสติกหนักๆ ซ้ำอีก

น.พ.วิชัย กล่าวด้วยว่า ลักษณะของกิจกรรมในการใช้มือจนทำให้เกิดนิ้วล็อกของแต่ละนิ้วอย่างสัมพันธ์กัน เช่น ครู นักบริหาร นักวิชาการ มักเป็นนิ้วล็อกที่นิ้วโป้งขวาเพราะใช้เขียนหนังสือมากและใช้นิ้วโป้งกดปากกานานๆ ช่างไม้มักเป็นที่นิ้วกลางขวา แม่บ้านที่ชอบหิ้วถุงพลาสติกในแต่ละนิ้ว มักจะเป็นที่นิ้วกลางและนิ้วนาง

นักกอล์ฟ ซึ่งต้องกำไม้มาบดกระแทก มักเป็นที่นิ้วกลาง นิ้วนางของมือซ้าย นักแบดบินตัน ส่วนคนทำงานช่าง ที่ต้องใช้มือกำบีบเครื่องมืออย่างแรงและบ่อยๆ มักเป็นที่นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางของมือขวา เป็นต้น

การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรง หากเพิ่งเริ่มเป็น ควรพักการใช้งานของมือ ไม่กำหรือบีบอะไรรุนแรง ทานยาแก้อักเสบ และทำกายภาพบำบัดโดยการแช่น้ำ ในรายที่เป็นมาก แพทย์จะฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ บวมของเส้นเอ็น อาการจะดีขี้นใน 2-3 วัน แต่อยู่ได้ไม่นาน เพียง 3-6เดือนเท่านั้น ก็จะกลับมาเป็นอีก



ในรายที่อาการรุนแรง แพทย์จะเลือกรักษาโดยการผ่าตัด เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทำให้โรคหายขาด

ในอดีตการผ่าตัดรักษาโรคนี้ จะเปิดแผลโดยเริ่มจากการกรีดที่ฐานนิ้วประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร แยกชั้นผิวหนังกับไขมันออกก็จะเห็นปลอกเอ็นรัดเส้นเอ็นอยู่ จากนั้นก็ตัดปลอกเอ็นตามแนวยาว แล้วเย็บผิวหนังกลับเข้าไปอย่างเดิม ซึ่งมีข้อเสียคือ ใช้เวลานาน มีค่าใช้จ่ายสูง ดูแลรักษาแผลยาก มีรอยแผลเป็น ทำให้มือเจ็บหรือตึงรั้ง อาจมีผลกระทบต่อเส้นประสาทผิวหนังของนิ้วได้มากกว่าการรักษาด้วยการเจาะผ่านผิวหนัง

น.พ.วิชัยเผยอีกว่า ดังนั้น จึงได้คิดวิธีการรักษาแบบใหม่ ซึ่งคล้ายกับวิธีการเปิดลงไปผ่าตัด แต่ต่างกับที่ใช้ Blade Probe เป็นอุปกรณ์ Probe ที่ทันตแพทย์ใช้เขี่ยตรวจฟันมาดัดแปลงกลึงลับเป็นพร้าเล็กๆ ปลายมีขนาด 0.5-1 มิลลิเมตร เจาะผ่านผิวหนังของฝ่ามือตรงตำแหน่งที่อยู่ของเข็มขัดเส้นเอ็น แล้วตัดตัวปลอกเข็มขัดนี้ให้แยกจากกันก็จะทำให้เส้นเอ็นของนิ้วที่ล็อกเคลื่อนผ่านไปได้สะดวก อาการล็อกจะหายทันที

การรักษาด้วยวิธีการเจาะเขี่ยนี้ ใช้เวลาเพียง 5 นาที ในรายที่เป็นหลายนิ้วในมือเดียว ก็สามารถทำพร้อมกันได้ แต่ถ้าเป็นอีกมือหนึ่งแนะนำให้ทำ หลังจากที่มืออีกข้างหายดีแล้ว

ถ้านิ้วล็อกทั้ง 5 นิ้วใช้เวลารักษา 15-20 นาที มีแผลกว้างไม่ถึงหนึ่งมิลลิเมตร อยู่ที่ฐานของนิ้วนั้นๆ ถือเป็นวิธีการใหม่ที่สะดวก ง่าย และประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งอยู่ราวๆ 1,000-2,000 บาท บัตร 30 บาทอยู่ในโครงการรักษาได้

การผ่าตัดด้วยวิธีนี้สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ป่วยมาก เนื่องจากเจ็บตัวน้อยมาก ไม่มีแผลเป็น หายเร็ว ไม่ต้องเปิดแผล ไม่ต้องทำแผล เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่กลัวการผ่าตัด อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาท โดยมีผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีนี้ไปแล้วกว่า 6,200 ราย

ข้อควรระวังหลังผ่าตัด อย่าให้โดนน้ำเพราะอาจติดเชื้อ และในช่วง 2 เดือนแรกอย่าทำงานหนัก

อย่างไรก็ตาม เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคม น.พ.วิชัยและสโมสรโรตารีเจริญนครได้จัดโครงการนิ้วล็อกเฉลิมพระเกียรติ ออกรักษาผู้ป่วยโรคนิ้วล็อกตามชุมชนต่างๆ โดยไม่เสียค่าจ่ายใดๆ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545

ในปีนี้เป็นปีที่ 4 ได้วางเป้ารักษาให้กับผู้ป่วยโรคนิ้วล็อกในเดือนธ.ค.นี้จำนวน 80 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระชนมายุ ครบ 80 พรรษา นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ยังจัดโครงการนิ้วล็อกสัญจร ที่จ.จันทบุรี จ.นครราชสีมา จ. เพชรบุรี จ. สุรินทร์ จ.อุบลราชธานี จ.อุดรธานี จ.สุรินทร์ จ.นครสวรรค์ และจ.สระบุรี เพื่อรักษาผู้ป่วยและถ่ายทอดความรู้ให้แพทย์ในจังหวัดต่างๆด้วย และในเดือนนี้ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ อีก 40 รายนำโดยสโมสรโรตารี เจริญนคร ร่วมกับสโมสรโรตารีเพชรบูรณ์

โรคนิ้วล็อกมีสาเหตุที่ชัดเจน หากรู้จักระมัดระวังก็จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บของปลอกหุ้มเอ็น เพื่อเราจะได้มีมือไว้ใช้งานได้ต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9100เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2005 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์หมอวิชัยคะ อาจารย์สามารถดูวิธีการใส่รูปลงในบันทึกได้ที่นี่คะ http://gotoknow.org/Insertimg_html 

หากอาจารย์ต้องการสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อมาได้ที่ http://gotoknow.org/contact นะคะ

ขอบคุณคะ

จันทวรรณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท