การเปลี่ยนผ่านในวงการท้องถิ่น


ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทย ที่กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน(Transitional Period)อันสำคัญของท้องถิ่น ได้สะท้อนให้เห็นภาพการทำงานขององค์กรท้องถิ่น ที่เป็นไปตามนิยามของการทำงานทางเมืองที่ว่า การเมืองจะต้องเป็นเรื่องของประชาชน ที่ทำโดยประชาชน และทำเพื่อประชาชน ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงไปสู่การแข่งขันกันทำในสิ่งที่ดีงาม ทำในสิ่งใหม่กว่า ที่เป็นนวัตกรรมทางความคิด และนำหน้าทางนวัตกรรมในการทำงาน ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นเสมือนห้วงเวลาการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ซึ่งกำลังค่อยๆ ทยอยลบภาพเก่า ๆ เดิม ๆ ที่ไม่ค่อยดีงามหรือภาพอันน่าสะพรึงกลัวของการเมืองท้องถิ่น

รางวัลพระปกเกล้า : คำตอบยืนยันในเกรียติภูมิของท้องถิ่น
ปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนา และเพิ่มแรงกระตุ้น การทำงานที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งของชุมชน เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าถึงและตรวจสอบได้ และอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทย ที่กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน(Transitional Period)อันสำคัญของท้องถิ่น ได้สะท้อนให้เห็นภาพการทำงานขององค์กรท้องถิ่น ที่เป็นไปตามนิยามของการทำงานทางเมืองที่ว่า การเมืองจะต้องเป็นเรื่องของประชาชน ที่ทำโดยประชาชน และทำเพื่อประชาชน ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงไปสู่การแข่งขันกันทำในสิ่งที่ดีงาม ทำในสิ่งใหม่กว่า ที่เป็นนวัตกรรมทางความคิด และนำหน้าทางนวัตกรรมในการทำงาน ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นเสมือนห้วงเวลาการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ซึ่งกำลังค่อยๆ ทยอยลบภาพเก่า ๆ เดิม ๆ ที่ไม่ค่อยดีงามหรือภาพอันน่าสะพรึงกลัวของการเมืองท้องถิ่นที่มีแต่ผู้รับเหมาก่อสร้าง นักเลงหัวไม้หรือกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ นับวันที่จะค่อย ๆ เลือนลางหายไป เป็นห้วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นองค์กรที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น องค์กรท้องถิ่นที่ใช้ความรู้เป็นเครื่องมือประกอบการทำงานก็มีมากยิ่งขึ้นและนับวันที่จะเพิ่มทวีความมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเสมือนหนึ่งการส่งผ่านพัฒนาการของสังคมที่เปลี่ยนผ่านจากสังคมแบบดั้งเดิม(Primitive Society ) ไปสู่สังคมเกษตรกรรม(Agricultural Society) เชื่อมร้อยต่อไปสู่สังคมอุตสาหกรรม(Industrial Society) สังคมยุคข้อมูลข่าวสาร(Information Society) และสังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge Based Society) เป็นต้น สิ่งที่จะเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์โจทย์ดังกล่าว ก็จะเห็นได้จากการที่ผู้นำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)  เพราะว่าขณะนี้มีผู้นำมีพฤติกรรมใฝ่รู้มากขึ้น บางที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพด้วยการศึกษาอบรม ทั้งในหลักสูตรระยะสั้นบ้างระยะยาวบ้าง การเปิดโอกาสของการแลกเปลี่ยนรู้ร่วมกันในศาสตร์สาขาเดียวกันบ้าง และข้ามศาสตร์สาขาบ้าง มีการศึกษาต่อทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นโดยตรงบ้าง หรือสาขาที่แตกต่างกันออกไปเป็นลักษณะสหสาขาวิทยาการบ้างตามลำดับ มีท้องถิ่นอยู่จำนวนหลายแห่งด้วยกันที่ผู้นำ หรือผู้บริหารท้องถิ่นมีความรู้จบการศึกษาถึงระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลายแห่งเช่นกันที่ผู้นำในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)กำลังเข้ารับการศึกษาต่อทั้งสอง - สามระดับดังที่กล่าวมาข้างต้นด้วยแล้ว

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ ดูเหมือนหนึ่งว่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สิ่งที่ดีงามขึ้น เป็นการนำเอาประสบการณ์ ผสมผสานกับความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้รับ และแปลงไปสู่การปฏิบัติ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นการก้าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทีเดียว

สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐบาลภายใต้การกำกับของรัฐสภา ซึ่งมี พันธกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตย และ ต้องการที่จะส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลในการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดทำโครงการรางวัลพระปกเกล้าสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความเป็นเลิศด้านความโปร่งใสและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2548 ขึ้น และมีการมอบรางวัลดังกล่าวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2548 ซึ่งตรงกับวันสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า

โดยก่อนหน้านี้ทางสถาบันฯ ได้จัดทำหนังสือเชิญชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ ด้วยการประชาสัมพันธ์ ผ่านทางโทรทัศน์ วิทยุ สื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร website ของสถาบันฯ และจัดทำหนังสือส่งไปยังท้องถิ่นจำนวน 7,850 แห่ง ทั่วประเทศ จากนั้นจึงได้ทำการวิจัยและประเมินเพื่อคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการเพื่อรับรางวัลพระปกเกล้า ตามขั้นตอนและกระบวนการ ทั้งการศึกษาข้อมูลเชิงลึกในพื้นที่ ฟังความคิดเห็นจากประชาชน ประเมินกิจกรรม และ ผลงานที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างน้อย 5 ขั้นตอน กล่าวคือ

ขั้นตอนที่ 1 การรับสมัครให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการ

ขั้นตอนที่ 2 การประเมินคุณสมบัติขั้นต้น

ขั้นตอนที่ 3 การประเมินความโปร่งใส และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

ขั้นตอนที่ 4 พิจารณาคัดเลือก และทำการการศึกษาข้อมูลในระดับพื้นที่

และขั้นตอนที่ 5 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย เป็นการพิจารณาคัดเลือกเพื่อเข้ารับรางวัล

คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่สำคัญ 21 ท่าน โดยมี รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เลขาธิการสถาบัน เป็นที่ปรึกษา ศาสตราจารย์อนันต์ เกตุวงศ์ เป็นประธานกรรมการ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต รองเลขาธิการสถาบันฯ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 รองศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันฯ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 และ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกรรมการ เป็นต้น ในปี 2548 นี้ มีองค์กรปกครองส่วนท้อถิ่นที่ได้รับรางวัลพระปกเกล้า สำหรับสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศด้านความโปร่งใส และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 20 แห่ง เป็นหน่วยงาน องค์การบริหารส่วนจังหวัด 2 แห่ง เทศบาล 9 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 9 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับประกาศเกียรติคุณสถาบันพระปกเกล้าสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศด้านความโปร่งใส และการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 23 แห่ง เป็นหน่วยงาน องค์การบริหารส่วนจังหวัด 2 แห่ง เทศบาล 12 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 9 แห่ง เทศบาลตำบลปริก เป็นองค์กรหนึ่งในจำนวนองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลพระปกเกล้า สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

เศรษฐกิจพอเพียง ร้อยเรียงวิถีชุมชน คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ประชาสังคมสันติสุข
เป็นวิสัยทัศน์ของเทศบาลตำบลปริกที่เกิดจากพี่น้องประชาชน และกลุ่มแกนนำชุมชน  องค์กรชุมชน รวมทั้งพนักงานของเทศบาลและผู้บริหารได้ร่วมกันคิดและกำหนดขึ้นมาบนพื้นฐานของลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และสภาวะแวดล้อม ของท้องถิ่นอันไม่ไกลเกินความจริงนัก  

ในช่วงระยะที่ผ่านมา เทศบาลตำบลปริกภายใต้การนำของนายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีผู้ที่ผ่านประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชน และคลุกคลีอยู่กับวงการด้านการพัฒนาสังคมมาโดยตลอด เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ มากมายหลายประการ อย่างน้อยที่สุดผลงานที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่มุ่งเน้นคน และชุมชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ก็ได้ส่งผลให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ถึงการทำงานทางการเมืองท้องถิ่นที่ดี จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะประชาชนเป็นทุนทางสังคม(Social Capital) อันยิ่งใหญ่ ที่จะช่วยหนุนเสริมให้ท้องถิ่นสามารถขับเคลื่อน และพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้

เทศบาลตำบลปริก มีความโดดเด่นในเรื่องการให้ความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมของประชาชน เริ่มตั้งแต่กระบวนการในขั้นต้น ได้แก่ การจัดทำเวทีประชาคม ประชุมเชิงปฏิบัติการ ประชุมกลุ่มย่อย สนทนากลุ่ม(Focus group) เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันตัดสินใจ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งในส่วนที่เป็น วิสัยทัศน์ พันธกิจ และนโยบายหลัก 8 ประการ ที่ฝ่ายบริหารได้นำมาใช้เพื่อการพัฒนาเทศบาล ต่างมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ชุมชน และภาคีภาคส่วนต่าง ๆ โดยนำเอาข้อมูลที่ได้จากระบวนการร่วมคิดของชุมชน มากลั่นกรอง จัดลำดับความสำคัญ ระดมสมอง เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเทศบาล 3 ปี  แผนปฏิบัติการประจำปีเป็นการนำเอานโยบายแปลงไปสู่แผน และการปฎิบัติ


ที่ผ่านมา เทศบาลตำบลปริกเป็นองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรู้เห็นรับผิดชอบต่อการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง การเป็นกรรมการจ้างและตรวจการจ้าง กรรมการควบคุมการก่อสร้างในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การติดตามและประเมินผลความสำเร็จของโครงการและกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทศบาลได้แสดงงบประมาณรายรับ-รายจ่ายให้ประชาชนทราบ โดยผ่านสื่อหนังสือรายงานสรุปผลการดำเนินงานประจำปี (ปีละครั้ง โดยแจกจ่ายให้กับพ่อแม่พี่น้องทุกครัวเรือนในวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี)   สารต้นปริก (ซึ่งเป็นวารสารราย 4 เดือน)   แผ่นพับ  แผ่นปลิว  การติดประกาศในกระดานข่าวประจำชุมชนและสำนักงาน การประชาสัมพันธ์ผ่านระบบกระจายเสียงแบบไร้สายในรายการนายกเทศมนตรีคุยกับประชาชนเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง (ในวันจันทร์แรก และจันทร์ที่สามของเดือน) มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ จัดกิจกรรมกลุ่ม อบรมและสร้างวิทยากรกระบวนการในระดับชุมชน เพื่อเป็นพลังหนุนเสริมในการขับเคลื่อนเรื่องการจัดทำแผนชุมชน ตลอดจนแผนพัฒนาเทศบาล

ในขณะเดียวกัน เทศบาลตำบลปริกยังมีโครงการที่แสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แสดงถึงแนวทางการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ โครงการหนึ่งสายน้ำหนึ่งตำบล โครงการหน้าบ้านน่ามอง โครงการเยี่ยมแม่และเด็กหลังคลอด ที่สร้างสัมพันธ์สายใยเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับองค์กร  กิจกรรมการเดินเคาะประตูบ้านเพื่อถามทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน  การพัฒนาชุมชนร่วมกับพี่น้องประชาชนในแต่ละชุมชนเดือนละหนึ่งครั้ง  ร่วมกับคณะการจัดการสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ส่งเสริมการทำวิจัยเชิงปฎิบัติแบบมีส่วนร่วม (Participatory /Action Research) โดยมีประชาชนมาเป็นนักวิจัยผู้ช่วย โครงการจัดการขยะและเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชน โครงการการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน โครงการความร่วมมือกับโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ นอกจากนั้น เทศบาลตำบลปริก ได้เปิดโอกาสของการเรียนรู้ให้กับพนักงานขององค์กร เพื่อสร้างศักยภาพขององค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) มีแผนพัฒนาบุคลากรที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การเป็นหน่วยบริการสังคม (Social Service Sector)และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้หรือสังคมอุดมปัญญา (Knowledge Based Society) ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น ตามพันธกิจ และวิสัยทัศน์ ของเทศบาล เป็นต้น

**********************

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 8837เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2005 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รายงานตัวครับท่านนายกฯ  ติดตามอ่านอยู่นะครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท