ลองสกัด Actionable Knowledge จากบทสัมภาษณ์ดู


ดร.ธวัช วิรัติพงศ์ วัย 55 ปี คนสงขลาโดยกำเนิด นับเป็นคนไทยแค่หนึ่งเดียวในทีมนักวิจัยนาซา โครงการ "ดีพ อิมแพกต์" หรือโครงการยิงจรวดเจาะดาวหางเทมเปลเพื่อค้นหาความลับของจักรวาล เมื่อ 4 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา

     จากบทสัมภาษณ์ หนึ่งเดียวใน NASA ดร.ธวัช วิรัติพงศ์ โดย ชมพูนุท นำภา ซึ่วตีพิมพ์ที่หนังสือพิมพ์มติชน Online วันนี้ (4 ธ.ค.2548) ก่อนอื่นผมขอนำเข้าสู่บทเรียนก่อนนะครับ ดร.ธวัช วิรัติพงศ์ วัย 55 ปี คนสงขลาโดยกำเนิด นับเป็นคนไทยแค่หนึ่งเดียวในทีมนักวิจัยนาซา โครงการ "ดีพ อิมแพกต์" หรือโครงการยิงจรวดเจาะดาวหางเทมเปลเพื่อค้นหาความลับของจักรวาล เมื่อ 4 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา งานอาชีพหลักทำที่องค์การบริหารการบินอวกาศ หรือนาซา โดยมีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้จัดการ "โครงการปรับปรุงระบบเครื่องรับสัญญาณจากห้วงอวกาศ ความถี่ย่านเคเอแบนด์ (32 GHz)" โดยสัญญาณดังกล่าวส่งไปให้กับเสาอากาศของนาซาที่สหรัฐ สเปน และออสเตรเลีย มูลค่า 1,600 ล้านบาท ซึ่งจัดว่าใหญ่ที่สุดในกองที่ทำงาน ท่านคงต้องไปอ่านเต็ม ๆ ตามที่ทำ Link ไว้ให้นะครับ

     ท่านได้พูดถึงอะไรบ้างที่จะจับมาเป็นความรู้ปฏิบัติ หรือ Actionable Knowledge ได้ เนื่องจากบทสัมภาษณ์นั้นยาว แต่อ่านได้ไม่เบื่อหรอกครับ เข้าไปอ่านดู ส่วนผมจะขอเลือกจับเท่าที่ทำได้ 5 ประเด็นเนื้อหา แต่หลายประเด็นความรู้ปฏิบัติ เอามาดูว่าอันนี้เป็นความรู้ปฏิบัติ หรือ Actionable Knowledge หรือไม่นะครับ โดยถือเอาที่ผมทำตัวหนาไว้นะครับ

          1. เริ่มแรกเลยบ้านท่านบอกว่ามีพี่น้องหลายคน พ่อแม่มีลูกทั้งหมด 9 คน ต่อมาแม่เสียชีวิต พ่อแต่งงานใหม่มีน้องกับแม่ใหม่อีก 2 คน รวมเป็นทั้งหมด 11 คน แต่โชคดีที่พ่อเป็นคนชอบให้ลูก ๆ เรียนหนังสือ จะส่งลูกไปเรียนเมืองนอกหลายคน บางคนไปเรียนที่ฟิลิปปินส์ บางคนไปมาเลเซีย ที่ปีนังก็มี มีผมที่ได้ไปเรียนสหรัฐอเมริกาคนเดียว ไปเรียนต่อปริญญาโท-เอก ซึ่งการไปเรียนแบบนี้ไม่ใช่ว่าต้องเก่งมากถึงจะไปได้ แต่ว่าต้องเป็นคนตั้งใจเรียน ตั้งใจว่าเราจะเรียนให้จบให้ได้ เพราะเวลาไปแล้วมันมีอุปสรรคมาก ทั้งคิดถึงบ้าน ทั้งเรื่องภาษา ทั้งเรียนไม่รู้เรื่อง หลายอย่าง

          2. ชีวิตมันไหลไปเรื่อยๆ ก่อนเข้าทำงานหัวหน้าผมถามว่า "ออกแบบจานดาวเทียมแบบนี้ได้ไหม?" ผมตอบว่า "ได้" แต่พอหัวหน้าเดินออกไปแล้ว ผมเปิดพจนานุกรมใหญ่เลยว่าตัวนี้แปลว่าอะไร จากนั้นไปตีสนิทกับคนที่เก่งด้านนี้ วิธีตีสนิทคือเราจะต้องอ่านงานที่เขาทำให้เยอะ ๆ คนฝรั่งดีอย่างคือถ้ารู้ว่าเราสนใจงานเขา เข้าใจงานเขา เขาก็จะสนใจที่จะมาพูดคุยกับเรา ผมจะอ่านหนังสือที่เขาเขียนอย่างละเอียด แล้วถ้ามีคำถามอะไรก็จะถาม เรียกว่า "สมาร์ท เควสชั่น" คำถามจะเป็นตัวบ่งว่าเรารู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง เมื่อมีการพูดคุยกันงานของเราเลยไม่มีปัญหา  ที่นาซา เขาถือว่าสิ่งที่สำคัญไม่ใช่เครื่องมือ แต่สิ่งที่สำคัญคือ คน คนเป็นบุคคลที่มีค่าของนาซา เพราะฉะนั้นตึกอาจจะพังได้ ไฟไหม้เครื่องมือพังได้ แต่คนสำคัญที่สุด ประสบการณ์ที่สั่งสมอยู่ในคนพวกนี้สำคัญที่สุด เขาจะเก็บไว้อย่างดีเลย แล้วเขาจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนรุ่นหลังต่อ

          3. การทำงานที่นาซาเป็นอย่างไร ที่นั่นเขาใจกว้างมาก เขาไม่แคร์อะไร คุณจะเป็นคนธรรมดา ๆ เป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน หรือเป็นชาติอะไรก็ตาม แฮนดี้แคปเท่าไหร่เขาไม่สนถ้าคุณทำงานได้ ก็ใช้ได้ทั้งนั้น แต่ว่าถ้าทำงานไม่ได้ก็มีปัญหา สำหรับผมจำได้ว่าตอนที่ได้รับเลือกให้เป็นโปรเจ็คต์เมเนเจอร์ มีคนชาติอื่นเป็นลูกน้องหลายคน แล้วก็มีคนลองดี ผมคิดว่าจะทำยังไงกับคนพวกนี้ดี ก็วางกลยุทธ์ อย่างแรกเราต้องรู้งานเรา สองเราต้องรู้งานเขามากกว่าที่เขารู้ ดูว่างานเขาผิดตรงไหนบ้าง พอเข้าประชุมก็จะถามแต่ความคืบหน้าของงาน ส่วนที่เขาผิดผมไม่พูดสักคำ แต่พออยู่กันสองคน ผมก็เปิดให้เขาดูว่าตรงนี้ไม่ถูก เขาจึงเริ่มรู้สึกดี ว่าผมไม่ไปต่อว่าในที่ประชุม แล้วตอนหลังก็ดีกัน เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกัน ที่สำคัญคืออย่าไปหักหน้าเขา หากเขาทำอะไรดีขึ้นมาเราต้องชม มันไม่เฮิร์ตหรอกกับการที่จะพูดดีกับคนอื่น ๆ พูดง่าย ๆ ว่าเมื่อไหร่ที่เราดีกับเขา-เขาก็ดีกับเรา

          4. การทำโครงการยาเคมีภัณฑ์ในไทยมันมีความสำคัญต่อประเทศ มีความสำคัญต่อสุขภาพของคน ที่สำคัญนักวิทยาศาสตร์มีความพร้อมทางด้านนี้ และคิดว่าทำแล้วขายได้ รู้ไหมว่าการวินิจฉัยโรค หรือที่ทดสอบต่าง ๆ เช่นการตั้งครรภ์ ปีหนึ่งเราสั่งเข้าถึง 1,500 ล้านบาท รากฟันสั่งเข้า 100 กว่าล้านบาท ข้อเข่าเทียมปีละ 450 ล้านบาท อาหารทางการแพทย์ปีหนึ่ง 1,500 ล้านบาท ซึ่งของพวกนี้เราทำเองได้หมด เพราะฉะนั้นเราควรเริ่มจากพวกนี้แล้วค่อยทำสิ่งที่ยากขึ้น ถ้าทำได้มันเป็นกำลังใจ โครงการนี้งบประมาณ 300 ล้าน แต่ตอนนี้ได้มา 90 ล้าน ให้มาทำสามปีครึ่ง เป็นการวิจัยบูรณาการนำร่องแบบครบวงจร หวังผลให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเอาไปขาย เพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออก หรือช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลทางด้านการแพทย์ ผมสัญญาว่าจะทำให้ประเทศลดเงินได้ไม่น้อยกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท เท่าที่ทำมาปีกว่านี้ช่วยประเทศได้ 100 กว่าล้านบาทแล้ว

          5. มองระบบการศึกษาของเมืองไทย โดยเฉพาะเด็กเหรียญทองโอลิมปิควิทยาศาสตร์ ว่าไม่มีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ทำให้เด็กรู้จักทำรู้จักคิด เพราะความจริงแล้วเด็กพวกนี้เป็นรายได้เข้าประเทศ อย่างที่ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย รายได้จากการลงทุนทางด้านการศึกษามันกลับมาหาประเทศมหาศาล แค่ "ไซแอนซ์ ปาร์ค" (Science Park) อย่างเดียว กำไรปีละ 5 แสนล้านบาทแล้ว นี่คือผลจากการลงทุนด้านการศึกษา แต่ของเราไม่กลับมาเลย

หมายเลขบันทึก: 8836เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2005 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แชร์กันนะครับ สำหรับผม ผมจะสรุปความรู้ในแต่ละส่วน ๆ ที่ดึงออกมาเป็นคำของตัวเองด้วยอะครับ จะทำให้ผมเข้าใจได้ดีขึ้นครับ บทความน่าสนใจดีครับ ถ้าสรุปเป็นขั้นตอนได้น่าจะเป็นประโยชน์มากนะครับ เพราะได้ใช้ตลอดเวลาในการศึกษาหาความรู้

     ขอบคุณครับ ผมจะได้ลองทำตามที่คุณวีแนะนำ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท