การเรียนรู้ของครูภาวิณี


การทำงานครูพบความช่วยเหลือรอบด้านอย่างอบอุ่น

การเรียนรู้ของครูภาวิณี


                   การเป็นครูชั้นประถมปีที่หนึ่งหลายปี  มีโอกาสสัมผัสรับรู้ความรักที่เด็ก ๆ ได้รับจากพ่อแม่  ปู่ ย่า ตา ยาย  ตลอดจนญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด  ได้เห็นการแสดงออกของความรักหลากหลายรูปแบบ ตามความต้องการตามฐานะทางเศรษฐกิจ  และตามฐานะทางสังคมของผู้ใหญ่  ความต้องการเป็นความรู้สึกรวม ๆ เช่น  ต้องการให้ลูกเป็นคนเก่ง  คนดี  และมีความสุข  ผู้ใหญ่แต่ละคนจะให้ความสำคัญกับความเก่ง  ความดี  และความสุขแตกต่างกัน  บางคนให้น้ำหนักกับความดี  ส่งเสริมลูกให้เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย   พูดจาไพเราะ ช่วยเหลือผู้อื่นตามวัยและฐานะ  บางคนเน้นให้ลูกเป็นคนเก่ง   แสดงความชื่นชมยินดีอย่างมากเมื่อลูกสอบได้ที่หนึ่ง  บางคนให้ความสำคัญกับตำแหน่งที่หนึ่งมาก  ถามลูกเตือนลูก  จนลูกก็เกิดอาการต้องการที่หนึ่งทุกเรื่องเคยมีผู้ปกครองมาถามผู้เขียนในฐานะครูประจำชั้นว่า  “ผลการเรียนเทอมนี้  ลูกดิฉันได้  4  (A)  ไม่ทราบว่าเป็นลำดับที่หนึ่งของห้องหรือไม่”  “ด.ญ.อร  ได้  4  เหมือนกัน  คะแนนจริง ๆ เท่ากับลูกดิฉันหรือไม่”
“อาจารย์ช่วยประกาศลำดับที่ตามคะแนนจริงได้ไหม   ดิฉันคิดว่าจะช่วยให้เด็ก ๆ ที่ได้ที่หนึ่งมีความภาคภูมิใจ”   คำถาม  และคำแนะนำทำนองนี้มาจากผู้ปกครองที่ให้ความสำคัญกับความเก่งที่เหนือคนอื่น  จากการสังเกตเด็ก ๆ เรียนรู้ความต้องการของผู้ใหญ่  และมีพฤติกรรมคล้อยตามผู้ปกครองที่ต้องการเป็นคนเก่งทุกเรื่อง  เด็กจะมีบุคลิกค่อนข้างแข็งแกร่ง  พอใจกับการแข่งขัน  บางครั้งมากเกินไปจนกลายเป็นคนที่จะเอาชนะ แพ้ไม่เป็น  เห็นแก่ตัว ขี้ระแวง  จนเสียความสมดุลของการเป็นคนดี   สำหรับพ่อแม่ที่เน้นให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุขที่สมดุล จะไม่ให้ความสำคัญกับความเก่งที่ทิ้งเพื่อนให้ห่างตัว ภูมิใจในความโดดเด่น  พ่อแม่จะไม่ตามใจลูกอย่างไร้เหตุผล  เด็กเรียนรู้การแก้ไขตนเอง  จากการติและชม  ไม่หวงของหวงความรู้
เพื่อรับการชมเพียงคนเดียว  มีน้ำใจช่วยเหลือกันเพื่อความสำเร็จของกลุ่ม  ของห้อง  ของโรงเรียน  สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ที่ยิ่งใหญ่  คือ  เด็กมีความสุข  มีความเข้มแข็งทางอารมณ์และภูมใจที่ได้สร้างสรรค์ผลงานให้ส่วนรวม  เด็กจะพัฒนาความสามารถโดยกระบวนการของความต้องการให้มีส่วนสร้างสรรค์งานส่วนรวม
                   สังคมโรงเรียนเป็นสังคมที่ครูมีส่วนจัดสรรเพื่อเด็กให้มีโอกาสพบสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ภายใต้การวางแผนที่รู้กับเงื่อนไขการเรียนรู้ตามจริงของระบบโรงเรียน  และห้องเรียน
ครูใช้หลักการสร้างสังคมในห้องเรียนเพื่อชีวิตที่มีความสุข  ให้เด็กพัฒนาตนเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าในตนเองทุกคนตามศักยภาพของแต่ละบุคคล  เด็กเรียนรู้จากสถานที่เอื้อในโรงเรียนจากข้อจำกัดที่แตกต่างกับสภาพแวดล้อมเล็ก ๆ ของครอบครัว มาแก้ไขจุดอ่อนที่ติดมากับความคิดเดิม  ความรู้สึกเดิม  และนำความสามารถตนเองให้เข้ามาร่วมทำให้ห้องเรียนและโรงเรียนน่าอยู่  เป็นสภาพที่ท้าทายให้เด็กเป็นผู้สร้างด้วยความถนัด  ความสามารถที่แตกต่างด้วยเป้าหมายโรงเรียน  และห้องเรียนที่ปรารถนาร่วมกัน
                   ความสำเร็จของงานครู ป. 1 น่าจะวัดได้จากปรากฎการณ์ 3 ข้อ คือ  (1) จำนวนนักเรียนที่มาโรงเรียนครบถ้วน  นักเรียนทุกคนร่าเริงแจ่มใส  มีสุขภาพดี  มาโรงเรียนด้วยความรู้สึกอยากมา  ไม่ต้องบังคับ  มุ่งหาสิ่งที่อยากพบหมายรู้ของตนเอง  ต่อจากนั้น  (2)จำนวนนักเรียนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูกำหนดบ้าง  ครูวางเงื่อนไขให้นักเรียนทำโดยให้นักเรียนเลือกตัดสินใจเองบ้าง  หรือมีกิจกรรมหรือการกระทำที่นักเรียนคิดได้อยากทำอีกมากมาย  เป็นภาพการเคลื่อนไหวของนักเรียนตามประสาความอยากรู้อยากเห็น  และเกิดจากการถูกท้าทายด้วยการได้รู้ได้เห็น  ประการสุดท้าย  คือ  (3) จำนวนนักเรียนที่ทำงานอย่างมีความสุข  บอกได้ด้วยความภาคภูมิใจว่าสิ่งที่ได้ทำ และสิ่งที่ทำได้  จากประสบการณ์ของครูบอกได้ว่าความสุขในการทำงาน คือ การมีผู้ปกครองเป็นแนวร่วม  และมีผู้ช่วยเหลือรอบด้าน  และที่สำคัญที่สุดคือนักเรียน   ครูจึงทำงานอย่างไม่โดเดียว มีความช่วยเหลือรอบด้านอย่างอบอุ่น

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 8827เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2005 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท